• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขนมเหนียว

ขนมเหนียว

 

 

 

“ขนมเหนียว” ที่นำมาให้ชิมในวันนี้เป็นขนมไทยที่มีตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ก็ยังถูกปากคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ในอดีตกว่าจะได้กิน “ขนมเหนียว” ต้องใช้เวลานานมาก เพราะต้องเริ่มตั้งแต่เอาข้าวเหนียวไปแช่ไว้เป็นหลายชั่วโมง แล้วนำมาโม่ให้ละเอียด จากนั้นก็ต้องคอยจนกว่าน้ำจะแห้ง ซึ่งเขาจะใช้วิธีเอาแป้งที่โม่แล้วใส่ถุงผ้าไว้ ปิดปากถุงให้แน่น แล้วหาวัตถุหนักๆ มาทับไว้ เมื่อน้ำค่อยๆ ซึมออกมาหมดแล้วจึงนำแป้งมานวดกับน้ำสีต่างๆ ซึ่งสีที่ใช้จะเป็นสีธรรมชาติ เช่น สีม่วงจากดอกอัญชัน สีเขียวจากใบเตย สีเหลืองจากเปลือกลูกตาล เป็นต้น

ปัจจุบันการทำขนมเหนียวไม่ซับซ้อนหรือยุ่งยากขนาดนั้น เพราะเราสามารถไปซื้อแป้งสำเร็จรูปมาทำได้เลย โดยใช้แป้งข้าวเหนียวและแป้งข้าวเจ้า ผสมกันในอัตรา 2 ต่อ 1 คือ ข้าวเหนียว 2 ส่วน แป้งข้าวเหนียว 1 ส่วน นำมาผสมกัน แล้วนำน้ำที่ผสมสีสำหรับผสมอาหารมาค่อยๆ หยอดลงในแป้ง แล้วนวดแป้งให้เข้ากันให้ดี โดยอาจแบ่งเป็นส่วนๆ แล้วใช้สีต่างๆ ตามใจชอบ นอกจากแป้งแล้ว มะพร้าวก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญข้าวเหนียว โดยนำมะพร้าวที่ขูดแล้วไปนึ่งไฟขนาดกลางๆ นานประมาณ 15 นาที เพื่อกันบูดจากนั้นผึ่งให้เย็น แล้วนำไปเคล้าเกลือป่นเล็กน้อยพอให้ออกรสเค็ม เคล็ดลับสำหรับขั้นตอนนี้ คือ ถ้ามะพร้าวที่ขูดด้วยมือ จะได้อร่อยมากกว่าขูดด้วยเครื่องค่ะ

ได้แป้ง ได้มะพร้าวแล้ว ก็ลงมือประดิษฐ์ได้แล้วค่ะ โดยเอาหม้อใส่น้ำตั้งไฟให้เดือด นำแป้งที่นวดไว้มาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แผ่ออกบนฝ่ามือให้แบน ใส่ลงไปในหม้อน้ำเดือด พอแป้งลอยตัวก็ตักขึ้นมาแช่ในน้ำเย็นสักพักแล้วตักขึ้นรอให้สะเด็ดน้ำ นำไปผึ่งบนมะพร้าวที่เตรียมไว้ ตอนนี้ก็ถึงขั้นตอนแต่งขนมเหนียว ให้น่ากินแล้วล่ะค่ะ ส่วนใหญ่จะนำแป้งที่ผึ่งไว้แล้วมาตัดให้กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร แต่ถ้าใครชอบแบบอื่นๆ ก็ทำได้ตามใจชอบเลยค่ะ แล้วก็เอาไปคลุกเคล้ากับมะพร้าวอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ขนมที่เป็นตัวแป้งติดกัน

ยังไม่จบแค่นี้นะค่ะ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในการกินขนมเหนียว คือ น้ำตาลเคี่ยว โดยเอาน้ำตาลปีบมาผสมเล็กน้อย นำไปเคี่ยวจนน้ำตาลเหนียว ให้สังเกตจากตอนที่เราตักน้ำตาลขึ้นมาจะหนืดเป็นเส้นยาว เคล็ดลับของขั้นตอนนี้ ก็คือ การเลือกน้ำตาลปีบที่มีกลิ่นหอม และตอนเคี่ยวให้ใส่ใบเตยลงไปด้วย แล้วอย่าลืมตักออกเมื่อน้ำตาลเดือดได้ที่ ก็จะได้น้ำตาลที่มีกลิ่นหอมน่ากินทีเดียว

เคล็ดลับสุดท้าย ก็คือ ข้าวพองที่จะมารวยหน้าขนมโดยการนำข้าวตากแห้งมาทอดให้เหลืองกรอบ ก็จะได้ข้าวพองที่พร้อมจะกินคู่กับขนมเหนียวที่มีรสชาติอร่อย จนต้องบอกต่อกันเลยจริงๆ นะค่ะ สูตรขนมอร่อยสูตรนี้ ถ้าช่วยกันทำกินเองในครอบครัวก็จะเป็นการให้ความอบอุ่นและเพิ่มความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว แล้วยังมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานจากแป้งและน้ำตาลอย่างผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังอีกด้วย ลองหากินแล้วบอกต่อๆ กันไปนะค่ะ เพราะขนมไทยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก้การอนุรักษ์ไว้เช่นเดียวกันค่ะ

ข้อมูลสื่อ

173-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 173
กันยายน 2536
เข้าครัว
นาตยา