• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง

ถาม : สุรนันท์/กรุงเทพฯ

ขณะนี้ผมอายุ 24 ปี มีปัญหา ต้องการถามเรื่องตากุ้งยิง ดังนี้

1.ที่ขอบเปลือกตามีตุ่มขึ้นคล้ายสิวอักเสบ มีอาการคัน และบวมแดงนานเป็นอาทิตย์ เพื่อนๆ บอกว่าสงสัยจะเป็นตากุ้งยิง (เอ! แต่ไม่ได้ไปแอบดูใครมาสักหน่อย)

2.ตากุ้งยิงคืออะไร จำเป็นต้องไปหาหมอทันที หรือไปร้านขายยาซื้อยามาหยอดเองได้ไหมครับ

3.สาเหตุของการเป็นตากุ้งยิง เกิดจากอะไร

4.ป้องกันได้อย่างไร

5.จะเป็นอันตรายต่อดวงตาหรือไม่ครับ
รบกวนคุณหมอช่วยตอบคำถามของผมด้วยครับ

 

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

จากคำถามเรื่องตากุ้งยิง ขอตอบรวมๆ ดังต่อไปนี้

1.กุ้งยิง หมายถึง ตุ่มฝีเล็กๆ ที่ขอบเปลือกตา ซึ่งอาจพบได้ที่เปลือกตาบนหรือล่าง เกิดจากต่อมขับไขมันในบริเวณนั้นมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบและบวมนูนเป็นตุ่มฝี

2.กุ้งยิงแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้ แก่ กุ้งยิงชนิดหัวผุด และชนิดหัวหลบใน หรือ stye)

กุ้งยิงชนิดหัวผุด เป็นการอักเสบของต่อมขับไขมันบริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา จะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นชัดเจน ตรงบริเวณขอบตา มีลักษณะสีเหลือง ตรงกลางรอบๆ นูนแดง และกดเจ็บ
กุ้งยิงชนิดหัวหลบใน (ภาษาอังกฤษเรียกว่า internal hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมขับไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตา (เนื้อเยื่อสี ชมพูที่อยู่ลึกจากขอบตาเข้าไปต้องปลิ้นเปลือกตาจึงจะเห็น)
หัวฝีจะหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตา คนไข้จะรู้สึกปวดที่เปลือกตา เมื่อใช้นิ้วคลำกดดูจะพบตุ่มแข็งและเจ็บ เมื่อปลิ้นเปลือกตาจะเห็นหัวฝีมีลักษณะสีเหลืองๆ บางครั้งต่อมขับไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตานี้ อาจมีการอุดตันของรูเปิดเล็กๆ ทำให้มีเนื้อเยื่อรวมตัวอยู่ภายในต่อม กลายเป็นตุ่มนูนแข็งๆ ไม่เจ็บปวดอะไร ภาษาหมอเรียกว่า"คาลาเซียน" (chalazion) ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ตาเป็นซิสต์ บางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบ คล้ายกุ้งยิงชนิดหัวหลบในได้

3.สาเหตุที่ทำให้ตาเป็นกุ้งยิงคือ การติดเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อหนอง)
ซึ่งอาจแปดเปื้อนจากมือ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า น้ำ หรือฝุ่นละอองในอากาศได้
4.กุ้งยิงเป็นโรคที่พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เด็กอายุ 4-10 ขวบ มีโอกาสเป็นกุ้งยิงได้บ่อย เป็นเพราะยังไม่รู้จักรักษาความสะอาด เช่น อาจเล่น คลุกฝุ่น  แล้วใช้มือที่สกปรกขยี้ตา
เมื่อโตขึ้นแล้วจะไม่เป็นบ่อย คนที่เป็นกุ้งยิงบ่อยๆ อาจมีปัญหาส่งเสริมดังนี้

(1) มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตาเข เป็นต้นยังบอกไม่ ได้แน่ชัดว่าทำไมคนเหล่านี้ มีโอกาสเป็นกุ้งยิงได้ง่าย สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากเปลือกตาต้องทำงานมากกว่า ปกติ เช่น ต้องขยี้ตา หรี่ตา หรือเพ่งมากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นชัด

(2) สุขภาพทั่วไปไม่ดี เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ขาดอาหาร ฟันผุ ไซนัสอักเสบ อดนอน เป็นต้น

(3) ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำทำให้ติดเชื้อง่าย เช่น เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เบาหวาน กินยาสตีรอยด์ นานๆ เป็นต้น

(4) ความเชื่อที่ว่ากุ้งยิงเกิดจาก การไปแอบดูใครมานั้น เป็นเรื่องที่ชาวบ้านนำมาล้อกันเล่น ความจริงกุ้งยิงเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่วนการแอบดูนั้นไม่น่าจะทำให้ตาเป็นกุ้งยิง
นอกเสียจากว่า การกระทำนั้นมีลักษณะที่ทำให้เกิดการแปดเปื้อนเชื้อโรคที่เปลือกตา

(5) กุ้งยิงถือเป็นโรคพื้นๆ ที่ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพและดวงตาแต่อย่างใด นอกจากทำให้มีอาการเจ็บปวดน่ารำคาญ การรักษาตนเอง แต่เนิ่นๆ จะทำให้โรคหายขาดได้ภายในไม่กี่วัน

(6) การป้องกันมิให้ตาเป็นกุ้งยิง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจให้คำแนะนำเป็นแนวทางกลางๆ ดังนี้

(1) รักษาสุขภาพทั่วไปให้  แข็งแรง พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

(2) หลีกเลี่ยงการถูกฝุ่น ถูกลม แสงแดดจ้าๆ และควันบุหรี่

(3) หลีกเลี่ยงการใช้มือหรือผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาดเช็ดตา หรือขยี้ตา

(4) ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับสายตา ให้แก้ไขด้วยการสวมแว่น

(5) รักษาโรคเรื้อรัง เช่น ฟันผุ ไซนัสอักเสบ เบาหวานให้ได้ผล

การดูแลรักษาตนเอง
ตาเป็นกุ้งยิง เป็นสิ่งที่คนไข้สามารถให้การรักษาด้วยตนเอง ซึ่งควรจะกระทำตั้งแต่เริ่มสังเกตเห็น ดังนี้

1.ประคบด้วยน้ำร้อน โดยใช้ผ้าสะอาดห่อหุ้มปลายด้ามช้อน จุ่มน้ำร้อน (ขนาดพอทนได้) แล้วนำไปกดบริเวณเปลือกตาตรงตำแหน่งหัวฝี (ให้คนไข้หลับตา) พร้อมกับนวดคลึงเบาๆ ทำเช่นนี้วันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที ความร้อนจะช่วยลดการอักเสบและบรรเทาปวด

2.ใช้ยาหยอดตาที่เข้ายาปฏิชีวนะ เช่น ยาหยอดตาคลอแรมเฟนิคอล หยอดตาทุก 2 ชั่วโมง 
ระวังอย่าให้ยาหยอดตาที่เข้าสตีรอยด์ อาจทำให้โรคลุกลามได้

3.อย่าขยี้ตา อาจทำให้แพร่โรคที่ยังไม่ได้เป็นบริเวณอื่นของตาได้

4.อย่าใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ด หน้าร่วมกับผู้อื่น

โดยทั่วไปถ้าได้ดูแลตนเองดังกล่าวตั้งแต่เริ่มเป็น อาการจะค่อยๆ ทุเลาได้ภายใน 24 ชั่วโมง ก็ให้การรักษาต่อไปอีก 3-4 วัน ฝีจะค่อยๆ ยุบหายไปเอง
 

ข้อมูลสื่อ

303-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 303
กรกฎาคม 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ