• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นิ่วน้ำดี

นิ่วน้ำดี


ถุงน้ำดี มีหน้าที่เก็บสะสมน้ำดีที่ตับสร้าง ไว้ใช้ประโยชน์ในการย่อยอาหารไขมัน น้ำดีประกอบด้วยสารโคเลสเตอรอล กรดน้ำดี สารฟอสโฟไลปิด และสารอื่นๆ ในบางคนสารเคมีเหล่านี้จะมีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกัน เป็นเหตุให้ตกผลึกจนจับตัวเป็นก้อนนิ่วขึ้นได้ ก้อนนิ่วอาจมีขนาดเท่าเม็ดทรายจนถึงลูกปิงปอง
จำนวนอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ บางคนอาจมีก้อนนิ่วขนาดเม็ดทรายเป็น 100 เม็ดก็ได้
ในรายที่มีอาการปวดท้องจากนิ่วน้ำดี จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด หากปล่อยทิ้งไว้อาจมีโรคแทรกซ้อนตามมาได้

ชื่อภาษาไทย  นิ่วน้ำดี, นิ่วในถุงน้ำดี 
ชื่อภาษาอังกฤษ  Gallstones, Cholelithiasis


สาเหตุ  เกิดจากสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของน้ำดี มีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีปริมาณโคเลสเตอรอลในน้ำดีมากผิดปกติ (มักไม่เกี่ยวกับการมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง) ทำให้เกิดนิ่วชนิดโคเลสเตอรอล (cholesterol stone) ส่วนในรายที่ปริมาณสารบิลิรูบิน (bilirubin เป็นสาร สีเหลืองที่เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง) มากผิดปกติ ก็ทำให้เกิดนิ่วชนิดเม็ดสี (pigment stone) บางคนอาจมีสารบิลิรูบินจับกันเป็นผลึก โคเลสเตอรอล กลายเป็นนิ่วชนิดผสม

ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วน้ำดี ได้แก่

1. มีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นนิ่วน้ำดี

2. ผู้หญิงมีโอกาสเป็นนิ่วมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ทั้งนี้เกี่ยวกับฮอร์โมนเพศหญิง และภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งส่งเสริมให้เป็นนิ่วได้ง่ายขึ้น

3. กินยาคุมกำเนิด

4. ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน จะเพิ่มปริมาณ โคเลสเตอรอลในน้ำดี

5. การกินอาหารที่มีไขมันสูง หรือน้ำตาลสูง และขาดการออกกำลัง

6. การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้นๆ

7. การป่วยเป็นเบาหวาน

8. การมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เช่น ผู้ที่เป็น โรคทาลัสซีเมีย ซึ่งมีเม็ดเลือดแดงผิดปกติและแตกง่าย

9. อายุมาก นิ่วน้ำดีจะพบมากขึ้นตามอายุ (ในสหรัฐอเมริกา พบว่าคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นนิ่วน้ำดีถึงร้อยละ 20)


ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดนิ่วน้ำดี ด้วยการ เพิ่มปริมาณของโคเลสเตอรอล หรือบิลิรูบินในน้ำดีให้มีสัดส่วนสูงกว่าปกติ และปัจจัยบางส่วนก็ทำให้ถุงน้ำดีบีบขับน้ำดีได้น้อยลง ทำให้น้ำดีคั่งค้าง และจับเป็นผลึกนิ่ว


อาการ 
ผู้ที่เป็นนิ่วน้ำดี จำนวนไม่น้อย จะไม่มีอาการแสดง (รู้สึกปกติเหมือนคนทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นก้อนนิ่วขนาดเล็ก หรือฝังตัวอยู่ ลึกในก้นถุงน้ำดี) และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อแพทย์ทำการตรวจเช็กสุขภาพทั่วไป หรือตรวจหาโรคอื่น ในรายที่ก้อนนิ่วออกมาอุดกั้นตรงบริเวณท่อน้ำดี ก็จะมีอาการปวดท้องเฉียบพลันและรุนแรง (อาจมีลักษณะปวดบิดเกร็ง) ตรงบริเวณใต้ชายโครงขวาและลิ้นปี่ อาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวา และใต้สะบักขวา และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อาการปวดท้องมักเกิดหลังกินอาหารมัน หรือตอนกลางดึก แต่ละครั้งจะปวดนาน 15-30 นาที บางคนอาจนาน 2-6 ชั่วโมง และจะทุเลาไปเอง เมื่อเว้นไปนาน เป็นแรมสัปดาห์แรมเดือนหรือแรมปี ก็อาจกำเริบได้อีก (ถ้าปวดท้องทุกวัน มักจะไม่ใช่เป็นนิ่วน้ำดี) บางคนอาจมีอาการจุกแน่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง หลังกินอาหารมัน เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง


การแยกโรค 
อาการปวดตรงบริเวณเหนือสะดือ (ใต้ชายโครงและลิ้นปี่) อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น

1.โรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น (แผลเพ็ปติก) จะมีอาการแสบท้องเวลาหิวและจุกแน่นเวลาอิ่ม นานครั้งละ 30-60 นาที
มักเป็นอยู่ทุกวันหรือทุกมื้อ เมื่อกินยาต้านกรดจะทุเลาได้

2.โรคน้ำย่อยไหลกลับ (โรคเกิร์ด) จะมีอาการ แสบตรงลิ้นปี่นานเกือบตลอดวัน และอาจเรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอ มักเป็นหลังกินอาหารมัน กาเฟอีน แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต น้ำคั้นผลไม้เปรี้ยว หรือเวลากินอิ่มจัดๆ หรือนอนราบหลังกินข้าวใหม่ๆ

3.โรคตับ (เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง) จะมีอาการจุกแน่นใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลีย ตาเหลือง ตัวเหลือง (ดีซ่าน) มักเป็นติดต่อกันนานหลายวัน

4.ถุงน้ำดีอักเสบ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ดีซ่าน ปวดและกดเจ็บตรงใต้ชายโครงขวา

5. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะมีอาการจุกลิ้นปี่ และปวด ร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร ไหล่หรือต้นแขน นาน 2-5 นาที มักเป็นหลังออกแรง เครียดหลังกินอิ่ม หรือสูบบุหรี่ มักพบในคนอายุมากกว่า 40-50 ปี หรือในคนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง คนอ้วน หรือคนที่สูบบุหรี่จัด

การวินิจฉัย 
ในรายที่สงสัยเป็นนิ่วน้ำดี แพทย์จะทำการตรวจพิเศษ ได้แก่ การถ่ายภาพด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
หรืออัลตราซาวนด์ (ultrasound) บางครั้งอาจจำเป็นต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือส่องกล้องเข้าไปตรวจภายในช่องท้อง หากสงสัยเป็นโรคแผลเพ็ปติก หรือโรคเกิร์ด อาจต้องส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะลำไส้ หากสงสัยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจทำการตรวจคลื่นหัวใจ นอกจากนี้ อาจทำการตรวจเลือด และอื่นๆ ตามสาเหตุที่สงสัย


การดูแลตนเอง

หากมีอาการจุกแน่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง ให้กินยาต้านกรดชนิดน้ำขาว 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน ถ้าได้ผลให้กินนานประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ถ้ากินแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการกำเริบใหม่ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์
หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ก็ควรรีบ ไปพบแพทย์

1.ปวดท้องเฉียบพลันและรุนแรง

2.อาเจียน

3.มีไข้

4.ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง)

5.อ่อนเพลีย

6.น้ำหนักลด

7. มีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ และร้าวขึ้นคอ ขากรรไกร ไหล่ หรือต้นแขน

8.มีอาการท้องอืดเฟ้อ กินยาต้านกรดแล้วไม่ทุเลา

9.มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

 

การรักษา
ถ้าเป็นนิ่วน้ำดีชนิดไม่มีอาการ คือแพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญ (เรียกว่า "silent stone") ก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างใด เนื่องเพราะมักเป็นนิ่วก้อนไม่ใหญ่ และอยู่ลึกที่ก้นถุงน้ำดี ซึ่งไม่ก่อเกิดอันตราย ต่อผู้ป่วย แพทย์จะนัดติดตามดูเป็นระยะ จนกว่าจะมีอาการชัดเจน (เช่น ปวดท้อง) จึงค่อยทำการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นนิ่วน้ำดีที่มีอาการปวดท้อง หรือจุกแน่นท้อง แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนนิ่วและถุงน้ำดีออก

ในปัจจุบันนิยมใช้กล้องส่องเข้าทางหน้าท้อง แล้วทำการผ่าตัดผ่านกล้องส่อง จะเกิดแผลเล็กน้อย
ร่างกายฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติภายในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อย ซึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง แต่ถ้ายังถ่ายบ่อย แนะนำให้ลดอาหารมันและของเผ็ด
กินผักผลไม้ให้มากๆ ในรายที่มีข้อจำกัดไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์อาจให้กินยาละลายนิ่ว ซึ่งจะได้ผลเฉพาะนิ่วชนิดโคเลสเตอรอลขนาดเล็ก บางรายแพทย์อาจรักษาโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสลายนิ่ว แล้วให้กินยาละลายนิ่วตาม

 

ภาวะแทรกซ้อน  

ถ้าเป็นนิ่วน้ำดีชนิดไม่มีอาการ มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรตามมา แต่ถ้ามีอาการปวดท้องเนื่องเพราะนิ่วน้ำดี หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบ หรือท่อน้ำดีอักเสบ (มีไข้ หนาวสั่น ปวดท้องรุนแรง ดีซ่าน) บางรายอาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้  อาเจียน) นอกจากนี้ ยังอาจกลายเป็นมะเร็งถุงน้ำดี แม้ว่าผู้ที่เป็นมะเร็งถุงน้ำดี มักตรวจพบว่าเป็นนิ่วน้ำดีร่วมด้วยถึงร้อยละ 75-90 แต่ผู้ที่เป็นนิ่วน้ำดีส่วนใหญ่จะไม่กลายเป็นมะเร็งถุงน้ำดีตามมา
 
การดำเนินโรค
ในรายที่เป็นนิ่วน้ำดีชนิดไม่มีอาการ จะรู้สึกสบายดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉลี่ยทุกๆ 100 คน จะมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นประมาณปีละ 1-2 คน ส่วนในรายที่เป็นนิ่วน้ำดีชนิดมีอาการ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นตามมาในภายหลัง ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหลัง ผ่าตัดมักจะหายเป็นปกติ ยกเว้นบางรายอาจมีอาการ ถ่ายเหลวบ่อย ซึ่งจะค่อยๆ ทุเลาไปได้เองเป็นส่วนใหญ่


การป้องกัน  
โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้

1.รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่าให้น้ำหนักเกิน

2.ในรายที่น้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักลงทีละน้อย อย่าลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ

3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

4.ลดการกินอาหารมัน และควรกินผักผลไม้ให้มากๆ

ข้อมูลสื่อ

303-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 303
กรกฎาคม 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ