• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขับพิษออกจากร่างกาย

ขับพิษออกจากร่างกายด้วยการขับเหงื่อ

ร่างกายของเราในยามปกติสุขก็มีพิษสะสมอยู่มาก พิษที่มีอยู่ในร่างกายได้มาหลายทางด้วยกัน เช่น
จากอาหารที่กินเข้าไป อากาศที่หายใจ น้ำที่ดื่ม สิ่งแวดล้อม หรือเกิดจากกลไกการทำงานของร่างกายเอง ฟังดูแล้วน่าตกใจว่า เราจะอยู่ได้อย่างไร เมื่อพิษมีอยู่เต็มตัว แต่โชคดีธรรมชาติได้สร้างระบบการขับพิษแก่ร่างกาย เช่น การทำลายพิษของตับ การขับถ่ายทางอุจจาระ ขับปัสสาวะ การขับเหงื่อ การหายใจ เป็นต้น

การขับพิษโดยเทคนิคการขับเหงื่อ
ในทางศาสตร์แพทย์แผนจีนมีเนื้อหาที่น่าสนใจ การขับเหงื่อเป็นการขับพิษที่เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง
ทำให้เลือดพลังในเส้นลมปราณไหลคล่อง เพิ่มการไหลเวียนเลือดส่วนผิว ทำให้สารพิษจากร่างกายขับออกได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เป็นการป้องกันโรคและเป็นการขจัดปัจจัยก่อโรค โดยเฉพาะความเย็น ลม ความชื้น ที่กระทบจากภายนอก


ประโยชน์ของการขับพิษทางเหงื่อ

1. ช่วยขจัดพิษที่สะสมในร่างกาย เวลาอาบน้ำ ถูขี้ไคล จะพบว่าคราบขี้ไคล เกิดจากเหงื่อกับเซลล์ผิวหนังที่เสื่อมตายหลุดลอก หรือกลิ่นตัวที่หมักหมม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปร่วมทำปฏิกิริยาด้วย
คนที่เป็นโรคไตที่การขับของเสียทางไตลดลง ต้องหันมาสนใจหรือใช้การขับเหงื่อช่วยอีกทางหนึ่ง

2. การขับปัจจัยก่อโรค เสียชี่ ที่อยู่ระดับผิว แพทย์แผนจีนใช้การขับเหงื่อเป็นการทะลวงขับการถูกโจมตี และการคั่งค้างของเสียชี่จากภายนอก ที่ทำให้เกิดอาการกลัวหนาว ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว เนื่องจากการกระทบลมเย็น ลมร้อน หรือลมชื้น เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน การกินยาพาราเซตามอล หรือยาแอสไพริน ทำให้ขับเหงื่อ ลดไข้ เปิดรูขุมขน มีการนำพาความร้อนออกจากร่างกาย ในความหมายของแพทย์แผนจีน การขับเหงื่อยังหมายถึงการกระทุ้ง พิษไข้ในผู้ป่วยที่เป็นหวัด ลมพิษ การขับลม และความชื้นจากการปวดข้อ การอักเสบของข้อ

3.การขับเหงื่อที่เหมาะสมช่วยป้องกันโรคทำให้อายุยืน เพราะทำให้การไหลเวียนเลือดดี ช่วยขจัดของเสียที่ตกค้างในร่างกายได้มากขึ้น ทำให้การทำงานของอวัยวะภายในดีขึ้น ของเสียตกค้างในร่างกายน้อยลง เป็นการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ

เทคนิคการขับเหงื่อเพื่อสุขภาพ

1.กินอาหารเพื่อการขับเหงื่อ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น ดื่มน้ำอุ่น 1-2 แก้ว ถั่วแดงต้มกับข้าวต้ม โจ๊กเนื้อหมู โจ๊กเนื้อไก่ร้อนๆ เติมขิง หัวหอม พริกไทย กินแล้วนอกจากจะขับเหงื่อ ขับลมเย็น แก้อาการกระเพาะอาหารเย็นแล้ว ยังเป็นการบำรุงกระเพาะ-อาหาร และม้ามแถมขับพิษได้อีกด้วย วิธีการนี้ค่อนข้างปลอดภัย เพราะไม่ทำให้เสียเหงื่อรุนแรงและมีการบำรุง ควบคู่ด้วย

2.อาบน้ำอุ่น อบไอน้ำขับเหงื่อ การอาบน้ำแร่อุ่น หรือการอาบน้ำอุ่น ทำให้รูขุมขนเปิด เหงื่อออกง่าย 
สามารถขับพิษ โดยเฉพาะในคนที่เป็นหวัดเริ่มแรก ปวดเมื่อยเอว ปวดข้อจากลมความชื้น เป็นการทำความสะอาดผิวหนัง ลดปริมาณเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ข้อควรระวังในคนปกติ ไม่ควรอาบน้ำ หรือใช้น้ำร้อนบ่อยๆ เพราะจะทำให้เลือดมาเลี้ยงที่ผิวมาก เลือดที่อยู่ภายในร่างกายน้อยลง อวัยวะภายในขาดเลือด ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขณะเดียวกันผิวหนังจะแห้งง่าย

3.ห่มผ้าหนาๆ เพื่อการขับเหงื่อ บางครั้งเรากินยาแก้ปวดลดไข้ เมื่อกระทบลมเย็น หรือเป็นหวัดจากความเย็น หรือดื่มน้ำต้มขิงใส่น้ำตาลทรายแดง แล้วไปนอนห่มผ้าให้เหงื่อออก จะรู้สึกว่าร่างกายสดชื่น และหายจากหวัดได้เร็วขึ้นในคนปกติต้องการขับเหงื่อให้มากขึ้น อาจใช้เทคนิคการดื่มน้ำอุ่นแล้วห่มผ้า ใส่เสื้อหนาๆ ให้เหงื่อออก ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด และปลอดภัย

4.ออกกำลังกายให้เหงื่อออก เช่น วิ่งเหยาะๆ เดิน กระโดดเชือก ขึ้นเขา ฝึกลมปราณ โดยใส่เสื้อผ้าที่มีความหนาพอควร ก่อนออกกำลังกายให้ดื่มน้ำอุ่นก่อน 1-2 แก้ว เมื่อกล้ามเนื้อเคลื่อนไหว ก็เกิดการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น จะมีการระบายความร้อนทางเหงื่อ เหมาะสำหรับไข้หวัดที่มีไข้ต่ำๆ และครั่นเนื้อครั่นตัว (ไม่ใช่ไข้หวัดแบบเจ็บคอ คออักเสบ ไข้สูง) จะเห็นว่าชาวชนบท หรือคนโบราณพอเริ่มมีอาการหวัดเริ่มแรก จะไปขุดดินทำให้เหงื่อออก อาการจะดีขึ้น ก็คือหลักการเดียวกัน โรคที่รุนแรง ไข้สูง อักเสบมาก ห้ามใช้วิธีนี้เพราะอาการจะรุนแรงขึ้น (โรคมักจะอยู่ระดับลึกเข้าไปกว่าระดับผิว ทำให้ร่างกายเสียน้ำแห้งอยู่แล้ว ยิ่งทำให้เหงื่อออกจะยิ่งเกิดอาการแห้งร่างกายยิ่งอ่อนแอ โรคยิ่งรุนแรง)

สรุป

การขับเหงื่อเป็นวิธีขับพิษออกจากร่างกายวิธีหนึ่ง นอกจากพิษจากของเสียที่เป็นผลจากการทำงานของร่างกายแล้ว ยังเป็นการขับพิษที่ระดับผิว จากการโจมตีของปัจจัยก่อโรคจากภายนอก ยังเป็นการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และเพิ่มการไหลเวียนเลือดมายังส่วนผิวของร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรงและชะลอความแก่ อย่างไรก็ตาม คนที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือการใช้วิธีการขับเหงื่อมากเกินไป จะมีโทษแก่ร่างกายได้ คนที่เหงื่อออกมากผิดปกติ อาจเกิดจากความร้อนในร่างกายมากเกินไป หรือร่างกายเสียสมดุลยิน-หยาง ยินพร่องทำให้เกิดความร้อนภายใน เหงื่อจึงออกง่าย หรือคนที่ร่างกายขาดพลังปกป้องผิว ก็ทำให้เหงื่อออกง่ายได้เช่นกัน

คนเหล่านี้ต้องได้รับการปรึกษาและแนะนำจากแพทย์แผนจีน อย่ามองเพียงด้านเดียวว่าการขับเหงื่อคือการขับของเสีย ถ้าการขับเหงื่อมาก ของเสียก็ขับมาก สุขภาพก็จะดี เพราะอีกด้านหนึ่งของการเสียเหงื่อมากคือการเสียน้ำและพลัง จึงต้องเสนอวิธีการที่ไม่รุนแรงมากในการขับเหงื่อ ผู้ใช้วิธีขับเหงื่อจึงต้องพิจารณาความเหมาะสมสำหรับตนเองด้วยจึงทำให้การขับพิษด้วยการขับเหงื่อมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง

ตัวอย่างตำรายาหรืออาหารอย่างง่ายในการขับเหงื่อ
1.ขิงสด,น้ำตาลทรายแดง  ขิงสด 1 แง่ง ล้างสะอาด หั่นเป็นแผ่นบางๆ ต้มน้ำ แล้วเติมน้ำตาลทรายแดง พอเหมาะปรุงรสเอง ดื่มขณะที่ยังอุ่น สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หลังดื่มให้นอนห่มผ้าหนาๆ ให้เหงื่อออก

สรรพคุณ : บำรุงกระเพาะอาหาร ขับเหงื่อ ขับพิษ แก้หวัดจากลมเย็นระยะแรก

2. หัวหอม, พริกไทย

ทำซุปหัวหอม อาจมีเนื้อไก่ด้วยก็ได้ ใช้หอม 5 หัว หั่นบางๆ ทำเป็นแกงจืด เติมพริกไทย ปรุงรสตามต้องการ ดื่มขณะอุ่น สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หลังดื่มให้ห่มผ้าหนาๆ เพื่อให้เหงื่อออก

สรรพคุณ : ขับเหงื่อ ขับพิษ อุ่นกระเพาะอาหาร

3. ถั่วเขียว ใบชา น้ำตาลทรายแดง (หวัดลมร้อน) ใช้ถั่วเขียว 30 กรัม ทุบละเอียด ใบชา 9 กรัม น้ำ 500 มิลลิลิตร ต้ม 15 นาที กากทิ้งเอาแต่น้ำ เติมน้ำตาลทรายแดง 30 กรัม คนให้เข้ากัน กินวันละ 1 ชุด แล้วห่มผ้าหนาๆ ให้เหงื่อออก

สรรพคุณ : ขับร้อน ขับพิษ ขับเหงื่อ เหมาะสำหรับไข้หวัดที่เกิดจากลมร้อน แบบมีไข้ในระยะแรก

4. หัวหอม ชงน้ำเดือด (เด็กเล็กเป็นหวัดคัดจมูก) ล้างหัวหอม หั่นให้เป็นชิ้นละเอียด ชงในน้ำต้มเดือด ในขณะที่ยังอุ่นพอประมาณ  มีการระเหยของกลิ่นหัวหอม นำไปวางใกล้ๆ จมูกของเด็กเล็กให้สูดดมลึกๆ

สรรพคุณ : ช่วยขับพิษ กระจายความร้อน ขับเหงื่อ แก้ไข้หวัด แก้คัดจมูกในเด็กเล็ก ผลการรักษาได้ผลดีมาก

5. ขิงสด (ปวดศีรษะจากลมเย็น) ขิงสด 50 กรัม ล้างสะอาด หั่นเป็นแผ่นบางๆ ต้มในภาชนะหรือหม้อด้วยไฟขนาดแรง (น้ำ 1 ลิตร) แล้วนำไปผสมกับน้ำเย็นเพื่อใช้ในการอาบ ให้อาบรดน้ำจากศีรษะลงมา

สรรพคุณ : ขับความเย็น แก้ปวดศีรษะ ปวดถึงต้นคอ กลัวลมกลัวหนาว ถูกลมจะมีอาการมากขึ้น


 

ข้อมูลสื่อ

303-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 303
กรกฎาคม 2547
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล