• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

‘โรคไต’ หาใช่ ‘โรคตาย’

‘โรคไต’ หาใช่ ‘โรคตาย’


โรคภัยไข้เจ็บเป็นโรคที่คนทั่วไปสนใจอยากรู้ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว โรคไตก็เช่นเกียวกัน มีผู้ให้ความสนใจพูดโรคไตกันต่างๆ บางครั้งทำให้เกิดภาพที่น่าสะพรึงกลัวจนบางคนได้ยินว่าโรคไตก็คิดว่าเป็น “โรคตาย” เลยทีเดียว โรคไตน่ากลัวจริงๆ อย่างนั้นเชียวหรือ ลองมาทำความรู้จักโรคไตกันดีไหม

ชนิดของโรคไต

โรคไตมีมากมายหลายชนิด บางชนิดไม่มีอาการ บางชนิดมีอาการมาก บางชนิดปฏิบัติตนให้ถูกต้องก็หายโดยไม่ต้องใช้ยา บางชนิดก็ต้องกินยาตลอดชีวิต เนื้อไตจะถูกทำลายมากน้อยแค่ไหนบอกไม่ได้แน่นอนจากอาการ แต่บอกได้จากการตรวจดูว่าเป็นโรคไตชนิดใด ดังนั้น การปฏิบัติตนและการรักษาก็ย่อมต่างกัน เพราะโรคไตบางชนิดหายเองได้ อาจกินยาหรือไม่กินยา รักษาหรือไม่รักษาก็หาย แต่ถ้านำยาที่เข้าใจว่าดีมาใช้กับโรคไตอีกชนิดหนึ่งก็จะเกิดอันตรายได้

ชนิดแรก ที่พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่เป็นน้อยกว่าเด็กมาก คือ โรคที่หลอดเลือดฝอยของไตอักเสบหลังการติดเชื้อที่ระบบอื่นในร่างกาย การติดเชื้อที่ระบบอื่นที่พบบ่อย คือ ที่คอ ทอนซิล และผิวหนัง ผู้ที่เป็นจะมีอาการเจ็บคออย่างมาก หรือเป็นฝีอักเสบที่ผิวหนังนำมาก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ บางครั้งอาการดังกล่าวหายไปแล้ว 2-3 วัน จึงมีอาการทางไต คือ ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะขุ่นเป็นสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อ และเริ่มบวม เมื่อตรวจร่างกาย จะพบความดันโลหิตสูงขึ้น และอาจมีน้ำและเกลือคั่งในปอดได้ ทำให้อึดอัดจนนอนไม่ลง

ในช่วงที่บวมนี้ควรต้องได้รับการรักษา และควรควบคุมอาหาร ไม่ควรกินของเค็ม โรคนี้ไตจะหายเป็นปกติได้ แต่การป้องกันก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทำได้โดยที่ถ้าคอและทอนซิลอักเสบต้องรีบรักษา ส่วนทางผิวหนังป้องกันโดยไม่แกะเกาผิวหนังหรือปล่อยให้เป็นแผลสกปรก

ชนิดที่สอง พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คือ โรคที่หลอดเลือดฝอยของไตอักเสบเช่นกัน แต่เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นจะบวมมาก บางครั้งมากกว่าชนิดแรกอีก การเปลี่ยนแปลงของเนื้อไตมีได้ต่างๆ กันหลายอย่าง แพทย์จึงมักต้องทำการตรวจเนื้อไตด้วย เพราะการรักษาและการพยากรณ์โรคต่างกัน บางชนิดหายเองได้ บางชนิดให้ยาแล้วได้ผลดี ไม่บวมพุพอง และโรคหายขาดได้ บางชนิดให้ยาแล้วไม่ได้ผล ต้องรักษาตามอาการด้วยยาขับปัสสาวะเท่านั้น

ชนิดที่สาม เป็นโรคไตที่เกิดร่วมกับโรคระบบอื่น ซึ่งมีหลายชนิดจะกล่าวถึงบางชนิดที่พบบ่อยในบ้านเราเท่านั้น คือ โรคเบาหวาน และโรคเอสแอลอี (SLE-Systemic Lupus Erythematosus)

โรคเบาหวานนั้นเป็นโรคที่คนทั่วไปคุ้นเคยดี เมื่อเป็นเบาหวานนานๆ จะเกิดโรคที่ไตด้วย แต่ถ้าควบคุมโรคเบาหวานได้ดี การทำลายเนื้อไตจะเกิดขึ้นช้าและไม่รุนแรง ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงควรกินยาและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดแม้ไม่มีอาการในระยะแรก

ส่วนโรคเอสแอลอี เป็นโรคที่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ในประเทศไทยพบในเพศชายได้ไม่น้อย และมักเป็นรุนแรง นอกจากอาการบวมแล้วยังมีไข้ ปวดบวมแดง และร้อนตามข้อต่างๆ มีผื่นแดงตามตัว โดยเฉพาะที่โหนกแก้มทั้งสองข้าง ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้ไม่คัน ถูกแดดจะเห่อมากขึ้นและแสบ อาจซีด ผมร่วง และถ้าเป็นมากจะมีอาการทางสมอง หัวใจ ปอด และลำไส้ด้วย โรคนี้ควรต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต

ชนิดที่สี่ คือ โรคไตวาย ซึ่งเป็นชนิดที่คนทั่วไปเข้าใจผิด มักคิดว่าโรคไตทั้งหมดนี้ ที่จริงแล้วโรคไตวายก็ยังมีมากกว่าหนึ่งชนิด คือ โรคไตวายชนิดฉับพลัน และชนิดเรื้อรัง ซึ่งต่างกันมาก เพราะชนิดฉับพลันนั้นหายขาดได้และมักป้องกันได้ ส่วนชนิดเรื้อรังนั้นมักเป็นต่อไปจนในที่สุดไตเสียไตทั้งสองข้าง

โรคไตวายชนิดฉับพลัน จะมีอาการปัสสาวะน้อยลงทันที บวมและมีอาการจากของเสียคั่งในร่างกาย คือเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และในที่สุดจะซึมและชัก บางรายถ้าไม่รุนแรงก็ไม่ต้องการการรักษาพิเศษ เพียงแต่ควบคุมอาหารและน้ำดื่ม ไตก็ฟื้นเองในที่สุด แต่บางรายที่ไม่มีปัสสาวะนานหลายวันอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีพิเศษ เช่น ล้างช่องท้อง หรือทำไตเทียม สาเหตุมักเกิดจากยา สารพิษ การตกเลือด และช็อก ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะยาจึงไม่ควรใช้ยาโดยไม่รู้จักยานั้นอย่างดีทั้งในด้านคุณและโทษ

โรคไตวายเรื้อรัง ในระยะแรกอาการอาจไม่มาก ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องควบคุมอาหารและกินยา ในระยะท้ายจะมีอาการจากของเสียคั่งในร่างกายเช่นกันและอาจมีอาการคันด้วย

การรักษาและการควบคุมอาหารและน้ำดื่มขึ้นกับระยะของโรค จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ควรทำตามอย่างผู้อื่น เพราะอาจเป็นคนละระยะกัน และการเปลี่ยนแปลงของสารกรดและเกลือในเลือดอาจแตกต่างกัน การรักษาด้วยยาจะได้ผลอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อไตเสียหมดทั้งสองข้าง ต้องรักษาด้วยวิธีพิเศษ

จริงหรือที่โรคไตทำให้บวม

ถ้าไม่มีอาการบวมก็เป็นโรคไตได้ ซึ่งจัดเป็นโรคไตชนิดที่สองที่กล่าวไปแล้ว คือ โรคหลอดเลือดฝอย ของไตอักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุอาจบวมหรือไม่ก็ได้ อาการที่พบ คือ มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ มีไข่ขาวในปัสสาวะหรือมีความดันโลหิตสูง พวกนี้จะทราบได้ด้วยการตรวจร่างกาย และการตรวจปัสสาวะและเลือด

โรคไตชนิดอื่นที่ไม่บวม ได้แก่ โรคติดเชื้ออักเสบที่ไต โรคไตเป็นถุงน้ำ โรคไตจากความดันโลหิตสูง และโรคนิ่วในไต

โรคติดเชื้ออักเสบที่ไต มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลัง ปัสสาวะแสบ ขัดบ่อยๆ พวกนี้ต้องรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ ส่วนใหญ่เป็นในผู้หญิง ถ้าพบในผู้ชายต้องตรวจว่าพบความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะหรือไม่

โรคไตเป็นถุงน้ำ โรคนี้เป็นกรรมพันธุ์ พบทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่เพศชายมักมีอาการรุนแรงและไตวายเร็วกว่า อาการที่พบมีปัสสาวะเป็นสีเลือด มีก้อนโตในท้องทั้งสองข้าง (จากไตที่โตขึ้น) ปวดหลัง และมีอาการติดเชื้ออักเสบที่ไตได้ง่าย โรคนี้ไม่มีการรักษาพิเศษ แต่ถ้ามีความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมความดันโลหิตให้ได้ เพื่อชะลอไม่ให้เนื้อไตถูกทำลายเร็วขึ้น

โรคไตจากความดันโลหิตสูง มักไม่มีอาการ แต่จะทำให้เนื้อไตเสียไปเรื่อยๆ ทีละน้อย การปฏิบัติตนของผู้เป็นโรคนี้ คือ ควรต้องกินยาตามแพทย์สั่ง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการ ถ้าควบคุมความดันโลหิตให้ปกติได้ เพราะสามารถป้องกันโรคที่ไตได้

โรคนิ่วในไต ถ้าก้อนนิ่วอยู่ในเนื้อนิ่วอาจไม่มีอาการหรืออาจมีปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าก้อนนิ่วหลุดมาในท่อไตจะมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง และปวดร้าวไปที่หน้าขา ปัสสาวะจะเป็นสีเลือด ถ้านิ่วก้อนเล็กอาจหลุดเองได้ ถ้าก้อนใหญ่อาจต้องผ่าตัดหรือทำการสลายนิ่ว ผู้ที่เป็นนิ่วควรได้รับการตรวจหาสาเหตุด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก

รายละเอียดเกี่ยวกับโรคไตยังมีอีกมาก ทั้งการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การทำไตเทียม และเปลี่ยนไต สิ่งสำคัญที่ควรทราบ คือ เมื่อไม่สบายเป็นโรคใดก็ตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การคิดพิจารณาและปฏิบัติตามเหตุและผล กำลังใจถือแป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ

ข้อมูลสื่อ

174-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 174
ตุลาคม 2536
โรคน่ารู้
ศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์