• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยืนทำงานอย่างไรให้ไร้โรค

ยืนทำงานอย่างไรให้ไร้โรค


ยืน เป็นท่าทางที่ใช้ในชีวิตประจำวันและใช้มากในกลุ่มคนที่ต้องยืนประกอบอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น
การยืนเฝ้ายาม การยืนขายของ หรือการยืนทำงานในโรงงาน เช่น ยืนขณะประกอบอุปกรณ์ต่างๆ
 ยืนแกะกุ้งหรือชำแหละไก่ เป็นต้น และบางอาชีพต้องยืนตรงให้สวยงาม เช่น พนักงานขายสินค้าในห้าง พนักงานเหล่านี้ถ้าไม่เดินให้บริการลูกค้าก็ต้องยืนตรงประจำตำแหน่ง
 
จากการสอบถามพนักงานขายสินค้าในห้าง (โดยสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน กระทรวงแรงงาน) พบว่าร้อยละ 70 มีอาการปวดบริเวณน่อง ตามด้วยเท้า (ร้อยละ 36) ต้นขา (ร้อยละ 33) หลัง (ร้อยละ 27) และส่วนอื่นๆ เช่น ไหล่ และหลังส่วนบนอีกเล็กน้อย โชคดีที่ พนักงานเหล่านี้เป็นคนหนุ่ม-สาว ไม่มีใครมีอาการมากจนต้องเข้ารับการรักษา แต่น่าเป็นห่วงที่มีอาการปวดอยู่หลายแห่ง และยังต้องประกอบอาชีพนี้อีกนานอาจทำให้อาการลุกลามเป็นมากขึ้นและเรื้อรังได้ ในตอนนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอความรู้เกี่ยวกับผลเสียของการยืนนาน และแนวทางการแก้ไข ได้แก่ วิธีการปรับสภาพการทำงานและการปฏิบัติตัวของผู้ยืนทำงานที่ถูกต้อง

 

ยืนนานมีผลเสียอย่างไร

1.ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่องและต้นขา ขณะยืนกล้ามเนื้อน่องแบกรับน้ำหนักตัวทั้งตัว ปกติแล้วกล้ามเนื้อน่องมีความแข็งแรงมาก เราสามารถยืนขาเดียว หรือเขย่งส้นเท้ายกตัวขึ้นลงได้  แต่กล้ามเนื้อ น่องมีจุดอ่อนที่สำคัญ คือเป็นกล้ามเนื้อที่ล้าและปวดเมื่อยได้ง่าย เนื่องจากกล้ามเนื้อน่องมีเลือดมาเลี้ยงน้อย และการไหลกลับของหลอดเลือดดำต้องอาศัยการหดตัวแบบเป็นจังหวะ (มีการหดตัวและคลายตัวสลับกันไป) ถ้าต้องทำงานแบบยืนอยู่นิ่ง กล้ามเนื้อน่องต้องเกร็งตัวตลอดเวลา จะทำให้มีของเสียคั่งค้างมาก เกิดอาการปวดเมื่อยได้ 

การใส่รองเท้าส้นสูงจะทำให้กล้ามเนื้อน่องทำงาน มากขึ้น เนื่องจากรองเท้าส้นสูงมีผลให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายตกไปทางด้านหน้ามากขึ้น กล้ามเนื้อน่องที่อยู่ทางด้านหลังต้องคอยดึงร่างกายไม่ให้ล้มไปข้างหน้า ดังนั้น การใส่ส้นสูงร่วมกับการยืนนานมีผลทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่องได้ง่ายยิ่งขึ้น
และยังมีผลกระทบต่อข้อเข่าและหลังได้ นอกจากกล้ามเนื้อน่องแล้ว กล้ามเนื้อต้นขาก็อาจมีอาการปวดเมื่อยได้เช่นเดียวกัน หน้าที่หลักของกล้ามเนื้อนี้คือการพยุงหัวเข่าไม่ให้พับลงในขณะยืน ขณะยืนนานกล้ามเนื้อต้นขาต้องเกร็งตัวตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการล้าสะสมของกล้ามเนื้อ และเกิดอาการปวดที่ต้นขาได้

2. อาการปวดเมื่อยเท้า กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ที่อยู่ในอุ้งเท้าเราต้องทำงานหนัก เพื่อให้เท้าเกาะติดกับพื้นหรือพื้นรองเท้า ถ้ากล้ามเนื้อเท้าต้องทำงานแบบคงค้างอยู่นานๆ จากการยืนนาน จะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า เนื่องจากการไหลเวียนเลือดในกล้ามเนื้อไม่ดี มีของเสียคั่งค้างมาก ประกอบกับกล้ามเนื้ออุ้งเท้าเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก จึงทำให้ล้าได้ง่ายกว่ากล้ามเนื้อมัดอื่น อาการปวดเมื่อยของเท้า อาจมาจากสาเหตุที่เนื้อเยื่อบริเวณฝ่าเท้าถูกน้ำหนักตัวกดทับอยู่นาน โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้า  ตั้งแต่ผิวหนังบริเวณส้นเท้า ชั้นไขมัน และเยื่อรองฝ่าเท้า อาการปวดที่พบได้บ่อยคือ ฝ่าเท้าอักเสบหรือรองช้ำ
มักพบในอาชีพที่ต้องยืนนาน เช่น พนักงานขายของ ครู พยาบาล หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน  อาการรองช้ำที่พบได้บ่อยคือ จะเจ็บมากขณะเท้าเหยียบพื้นเมื่อตื่นนอนตอนเช้า หลังจากก้าวได้ 2-3ก้าวอาการจะลดลง

3.หลอดเลือดขอด พบได้บ่อยในอาชีพที่ต้องยืนทำงานนาน หญิงตั้งครรภ์ และคนอ้วน สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดหลอดเลือดขอดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสริมให้เกิดหลอดเลือดขอดคือการยืนนาน และการกดทับของหลอดเลือดดำใหญ่บริเวณต้นขา เช่น จากความอ้วน หรือการตั้งครรภ์  เมื่อยืนนานเลือดดำจากบริเวณเท้าและน่องจะไหลกลับได้ลำบากเพราะแรงโน้มถ่วงจะดึงเลือดลงสู่เท้า ในหลอดเลือดดำจะมีลิ้นเหมือนเป็นประตูเปิดทางเดียวกั้นมิให้เลือดไหลกลับสู่เท้า การขยับขาและน่องเป็นบางครั้งจะทำให้เกิดแรงกดบริเวณรอบหลอดเลือดดำช่วยปั๊มเลือดกลับได้อีกแรงหนึ่ง แต่ถ้าเรายืนนิ่งไม่ขยับหรือขยับน้อยมาก เลือดจะไปท้นอยู่บริเวณลิ้นที่กล่าวมา เนื่องจากผนังหลอดเลือดดำนั้นจะบางมาก ทำให้แรงดันที่เกิดจากเลือดที่ไปท้นอยู่บริเวณลิ้นหลอดเลือดดำดันผนังให้โป่งออก กรณีเป็นน้อยๆ อาจมองเห็นคล้ายใยแมงมุม เมื่อเป็นมากขึ้นจะเห็นหลอดเลือดโป่งชัดเจน หลอดเลือดขอดถ้าเป็นน้อยอาจดูไม่สวยงาม มีอาการปวดน่องและอาจเป็นตะคริวได้ในเวลากลางคืน แต่กรณีที่เป็นมากจะทำให้สีของผิวบริเวณนั้นเปลี่ยนไป ผิวหนังเป็นมันและตึง และอาจมีอาการบวมของเท้าได้ง่าย ถ้าเป็นแผลบริเวณนั้นจะรักษาหายยาก

4.ปวดเข่าและหลัง การยืนปกติทำให้เกิดแรงกดที่หัวเข่า เพราะน้ำหนักตัวจะผ่านลงไปที่เข่า  และขณะยืนกล้ามเนื้อหน้าขาและด้านหลังขา (ใต้ขาอ่อน) จะต้องทำงานประสานกันเพื่อมิให้เข่าพับลงกล้ามเนื้อน่องและกล้ามเนื้อบริเวณหน้าแข้ง และมิให้ตัวล้มไปข้างหน้า การยืนนานจะทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 กลุ่มเกิดอาการเมื่อยล้าได้ เมื่อเมื่อยล้าร่างกายจะพยายามทำการล็อกหัวเข่า โดยการเหยียดเข่าให้ตรงเพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานลดลง การทำเช่นนี้มีผลทำให้เข่าแอ่น มีแรงกดที่ผิดปกติที่หัวเข่า ทำให้ปวดบริเวณหัวเข่าได้ง่าย และการยืนในลักษณะนี้จะมีผลทำให้หลังแอ่นมากขึ้น มีผลทำให้ปวดเมื่อยหลังได้เช่นเดียวกัน
 

จะป้องกันผลเสียจากการยืนนานได้อย่างไร
คำตอบที่ง่ายที่สุดและตรงไปตรงมาคือ อย่ายืนนาน แต่อย่างไรก็ตามการนำไปปฏิบัติจริงนั้นอาจทำได้ยากถ้าต้องประกอบอาชีพที่ต้องยืนทำงาน มีข้อแนะนำหลายอย่างที่สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ดังนี้

1.ยืนบนพื้นนิ่ม พื้นที่นิ่มลดแรงกดที่เท้าได้ อาจใช้พรมเช็ดเท้านิ่มๆ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อพรมสำหรับยืนที่มีราคาแพง สามารถทดสอบพรมได้ด้วยการถอดรองเท้ายืนบนพรมนั้น หลังจากนั้นลองยืนเท้าเดียว  ถ้ารู้สึกว่าสบายเท้าและยืนได้มั่นคงถือว่าใช้ได้

2.ใส่รองเท้าที่มีพื้นนิ่มและหลวมเล็กน้อย  รองเท้าที่มีพื้นนิ่มช่วยลดแรงกดไปที่เท้าได้เช่นเดียวกับพื้นที่นิ่ม ส่วนการที่ต้องเลือกรองเท้าหลวมเพราะตกเย็นเท้าของท่านอาจบวมได้เล็กน้อยจากการยืนนาน

3.ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงในการทำงาน ในกรณีที่เจ็บส้นเท้ามาก อาจใส่รองเท้าส้นสูงได้แต่ไม่เกิน 2 นิ้ว เพื่อช่วยลดแรงกดที่ส้นเท้า

4.ยืนเท้าโต๊ะสูงหรือตู้ขายสินค้าโดยใช้แขนหรือศอกรับน้ำหนักตัวทางด้านหน้า สลับกับการใช้ก้นหรือหลังพิงผนังเป็นครั้งคราว เพื่อลดน้ำหนักกดที่กระทำต่อหลังและเท้า
5. พักการยืนบ่อยๆ หย่อนขาข้างหนึ่ง หรืออาจใช้ที่วางเท้าเป็นบล็อกสูงจากพื้นประมาณ 4-6  นิ้ว (ดูรูปที่ 1)

6. ใช้เก้าอี้แบบกึ่งนั่งกึ่งยืนในกรณีของพนัก-งานเคาน์เตอร์หรือการทำงานในโรงงาน (ดูรูปที่ 2)

7. ถ้างานที่ทำสามารถทำได้ทั้งในขณะยืนและ นั่ง ให้ยืนสลับนั่ง แต่ต้องจัดสภาพงานให้เหมาะสม เช่น โต๊ะยืนทำงานไม่ควรเตี้ยเกินไปจนต้องก้มหลัง อาจจัดโต๊ะให้ทำงาน 2 ชุด คือชุดยืนและนั่งทำงาน แล้วให้ทำงานสลับหน้าที่กันเป็นระยะๆ
8. เมื่อรู้สึกเมื่อย ให้เดินไปมาสัก 2-3 นาที  จึงค่อยนั่งลง  ยกขาทั้ง 2 ข้างพาดบนที่นั่งของเก้าอี้อีก ตัวหนึ่ง ให้เท้าอยู่สูงประมาณระดับเข่า เพื่อช่วยเลือดจากขากลับเข้าสู่หัวใจดีขึ้น ป้องกันหลอดเลือดขอด มีโอกาสพักอย่ายืนคุยให้นั่งยกขาพาดเก้าอี้ อาจจะกระดก ปลายเท้าสลับกันซ้าย-ขวาร่วมด้วย
9. กลับถึงบ้านให้นอนเอาเท้ายันกับกำแพงให้เท้าอยู่

สูงจากพื้นประมาณครึ่งเมตร แล้วกระดกปลาย เท้าขึ้นสลับกันทั้ง 2 ข้าง  ทำประมาณ 10 นาที ออกกำลังด้วยการเดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำ เป็นเวลา 15-20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อช่วยการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงขา พักผ่อนด้วยการนอนให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง สำหรับการออกกำลังกายเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องยืนทำงานนานๆ
จะนำเสนอในฉบับต่อๆ ไป


(ขอขอบคุณฝ่ายการยศาสตร์ สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน กระทรวงแรงงาน ที่ได้กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูลที่เป็นประโยชน์)

ข้อมูลสื่อ

303-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 303
กรกฎาคม 2547
คนกับงาน
ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ