• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้เครื่องประดับ

แพ้เครื่องประดับ

เมื่อหมอบอกคนไข้ว่า “ผื่นที่ทำให้คุณต้องมาหาหมอวันนี้ เกิดจากคุณแพ้ตุ้มหูที่คุณใส่อยู่ทุกๆวันนี่เอง” คนไข้จะมีท่าทางงุนงงฉงนใจเพราะไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้

“หนูใส่มาตั้งนานแล้วไม่เคยแพ้นี่คะ”

“ของที่ใส่มาตั้งนานอาจเพิ่งมาแพ้ก็ได้ เพราะเพิ่งเกิดภูมิแพ้” หมอชี้แจง

“แต่คู่นี้หนูเพิ่งซื้อมาใหม่ ใส่ได้ไม่นานเอง” เธอค้านต่อ “หนูซื้อใหม่เพราะคิดว่าตัวเองเป็นเชื้อรา หนูซื้อยาเชื้อราตามโฆษณามาทาแล้วไม่ดีขึ้น จึงคิดว่าต้องกินยาหนูจึงมาหาหมอ”

“ถ้าคุณแพ้ตุ้มหูคู่หนึ่ง ถึงแม้จะเปลี่ยนคู่ใหม่ถ้าทำด้วยวัสดุอย่างเดียวกันมันก็คงแพ้ของใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนสักกี่คู่” หมอพยายามอธิบาย

เอ มันแพ้ได้ยังไง แพ้อะไร หนูไม่เข้าใจ คุณหมอรู้ได้ยังไงว่าหนูไม่ได้เป็นเชื้อรา หนูอยากทราบว่าเป็นเชื้อราหรือเปล่า” เธอยังยืนยันความคิดเดิม

ตัวอย่างการสนทนาข้างต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในห้องตรวจโรคผิวหนังระหว่างหมอกับคนไข้ที่มีผื่นที่ผิวหนังซึ่งเกิดจากการแพ้เพราะคนทั่วไปยังไม่เข้าใจว่าสารเคมีบางชนิดสามารถทำปฏิกิริยากับผิวเกิดเป็นผื่นคันขึ้นมาได้ สารเคมีที่เป็นเครื่องใช้ประจำตัวที่ไม่รวมเครื่องสำอางอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนัง ได้แก่ สารประเภทโลหะ เครื่องหนัง ยางยืด รวมไปถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่

สารประเภทโลหะที่นำมาใช้ประโยชน์นั้นมีมากมาย ยกตัวอย่าง ตะกั่ว ทองแดง ดีบุก สังกะสี เงิน โครเมียม และนิกเกิล

เครื่องประดับที่ทำด้วยวัตถุโลหะ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ สายนาฬิกา ตุ้มหู ตะขอเสื้อ กระดุม ส่วนที่เป็นโลหะของกระเป๋า  รองเท้า ส่วนประกอบสำคัญของวัตถุโลหะดังกล่าว ได้แก่ นิกเกิล ซึ่งเป็นโลหะเนื้ออ่อน หาง่าย ราคาถูก และสามารถรวมตัวกับโลหะชนิดอื่นได้ง่าย นำมาทำให้เป็นรูปร่างต่างๆ และทำลวดลายได้ละเอียด เหมาะสำหรับนามาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้เครื่องประดับตามที่เราเห็นวางขายกลาดเกลื่อนในท้องตลาด

ส่วนคุณสมบัติของนิกเกิลในทางการแพทย์ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังคือ นิกเกิลสามารถรวมตัวกับโปรตีนที่ผิวหนังเกิดเป็นสารแปลกปลอมกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ที่ผิวหนังของผู้ใช้ เมื่อเกิดภูมิแพ้ขึ้นคราใดที่ถูกกับสารประเภทเดียวกันนั้นอีกก็จะเกิดปฏิกิริยาผิวอักเสบขึ้นบริเวณที่สัมผัส เกิดเป็นผื่นแดงลอก บางครั้งพุพองมีน้ำเลือดไหล ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกับเชื้อราเมื่อมองด้วยตาเปล่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถบอกได้ว่า ผื่นนั้นเกิดจากอะไรกันแน่

ผื่นคันที่ผิวหนังไม่ใช่จะเกิดจากเชื้อราได้อย่างเดียวตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ถ้าแพทย์มีข้อสงสัยหรือเพื่อให้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าแพ้อะไรก่อนที่จะบอกให้ผู้ที่มีภูมิแพ้เลิกใช้สารนั้นโดยไม่มีความผิดพลาด ควรทำการทดสอบผิวหนังที่เรียกว่า “แพทช์เทสท์” (Patch test) หลักการก็คือปิดสารเคมีที่ต้องการทดสอบบนผิว แล้วทิ้งไว้ 48  ชั่วโมง แล้วจึงเปิดดูว่ามีปฏิกิริยาภูมิแพ้เกิดขึ้นหรือไม่

ถ้ามีอาการแพ้เกิดขึ้น กล่าวคือ บริเวณที่ผิวหนังถูกสารเคมีเกิดอักเสบบวมแดงขึ้นมา ก็จะบอกได้ชัดเจนว่าผู้นั้นแพ้สารที่ทดสอบ การทดสอบไม่มีความเจ็บปวดอะไร จะมีบ้างก็คืออาจรู้สึกร้อนเนื่องจากต้องปิดพลาสเตอร์ไว้บนผิว 2  วัน โดยไม่ให้บริเวณนั้นถูกน้ำ

การรักษามีขั้นตอนดังนี้คือ
1. วินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นโรคแพ้ไม่ใช่เชื้อรา
2. หาว่าสารอะไรเป็นสาเหตุ
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารต้นเหตุ
4. รักษาโดยการใช้ยาทา
5. รักษาด้วยยากินซึ่งมีความจำเป็นน้อย เมื่อใช้ยาทาที่ถูกกับโรคอาการคันก็จะหายไปเอง การกินยาแก้แพ้ไม่มีผลในการรักษาโรคชนิดนี้ อาจจะทำให้ง่วงนอนไปเปล่าๆ

การวินิจฉัยไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์แต่ฝ่ายเดียว หากผู้ป่วยคอยสังเกตและมีความรู้เรื่องสารเคมีในเครื่องใช้ก็ทำให้เกิดผื่นแพ้ได้ ก็อาจวินิจฉัยด้วยตัวเองโดยไม่ต้องไปลองใช้ยาเชื้อรา ขั้นต่อไปก็คือปรึกษาแพทย์เพื่อความแน่ใจและทำการทดสอบผิว เมื่อรู้สาเหตุแล้วหลีกเลี่ยงได้ผื่นก็จะหายไป การรักษาส่วนใหญ่หายด้วยยาทา การใช้ยากินมีความจำเป็นน้อย ยกเว้นในรายที่เป็นมาก ส่วนยาแก้คันหรือยาแก้แพ้มีฤทธิ์เพียงรักษาอาการคันไม่ได้รักษาการอักเสบของผิวหนัง

สรุป โรคผิวหนังจากภูมิแพ้โลหะเป็นโรคที่พบได้บ่อย วิธีรักษาคือ หาสาเหตุและป้องกัน การป้องกันทำได้ยากเพราะการสัมผัสโลหะมีอยู่ตลอดในชีวิตประจำวัน จึงอาจมีผื่นขึ้นใหม่อยู่เสมอ อาจจำเป็นต้องใช้ยาเป็นคราวๆไป

 

 

ข้อมูลสื่อ

211-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 211
พฤศจิกายน 2539
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์