• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แตงกวา ผักผลที่เป็นสัญลักษณ์ของผิวสวย

แตงกวา ผักผลที่เป็นสัญลักษณ์ของผิวสวย

“...สวยจริงนะน้องสาว ผิวขาวเหมือนกับผลแตงร่มใบ”

เนื้อเพลงที่นำมาขึ้นต้นบทความตอนนี้เป็นท่อนแรกของเพลงลูกทุ่งสมัยเก่าชื่อ “แม่แตงร่มใบ” เป็นเพลงที่โด่งดังเมื่อประมาณ 30  ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเองแม้จะไม่สนใจด้านการร้องเพลงเท่าใดนัก แต่ก็ยังร้องเพลงนี้ได้คล่องตั้งแต่ต้นจนจบและได้ใช้ร้องหากินมาหลายครั้งแล้วเมื่อยามถูกขอร้อง(แกมบังคับ)จากเพื่อนๆในงานพบปะเพื่อนร่วมชั้นเรียน(เมื่อหลายสิบปีก่อน) เหตุที่ผู้เขียนเลือกเพลงนี้มาขับร้องเนื่องจากเนื่องจากร้องง่ายมีทำนองสนุกสนานแล้ว ยังมีตอนหนึ่งเป็นที่ถูกใจหลายๆคน(โดยเฉพาะคนขับร้อง) คือท่อนที่ว่า “หนุ่มสุพรรณฝันหวาน สงสารพี่บ้างนะแม่ยอดหญิง...” เนื่องจากผู้เขียนเป็นชาวสุพรรณฯ และต้องร้องให้ออกสำเนียงเหน่อๆ แบบชาวสุพรรณฯด้วย ซึ่งชาวจังหวัดอื่นทำได้ยากและไม่เหมือน อย่างไรก็ตามการที่ผู้เขียนนำเนื้อเพลง “แม่แตงร่มใบ” มาขึ้นต้นบทความนี้ มิได้เป็นเพราะเกี่ยวข้องกับคนสุพรรณฯแต่อย่างใด

หากเป็นเพราะชื่อเพลง “แม่แตงร่มใบ” ซึ่งเป็นสำนวนในภาษาไทยมีความหมายว่า “ผิวเนื้อนวลงาม” (มักใช้กับหญิงสาว)

โดยเปรียบเทียบกับผิวของผลแตง(ชนิดต่างๆ เช่น แตงกวาหรือแตงโม) ที่อยู่ในร่มของใบ คือถูกใบปกคลุมอยู่ ไม่ได้โดนแสงแดดแผดเผา ผิวของผลแตงร่มใบดังกล่าวจะขาวนวลงดงาม ต่างกับผิวผลแตงที่อยู่กลางแจ้งซึ่งมีสีเข้มและหยาบกระด้าง

การที่ชาวไทยนำเอาผิวของผลแตงร่มใบมาใช้เป็นสำนวนนี้แสดงว่า แตงเป็นผลไม้ที่รู้จักแพร่หลายในสังคมไทยมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะแตงบางชนิดที่ใช้เป็นผักยอดนิยมชนิดหนึ่งของชาวไทยนั่นคือ แตงกวา

แตงกวา : ข้อมูลบางประการ

           

แตงกวา เป็นพืชในวงศ์เดียวกับบวบ ฟัก และน้ำเต้า ฯลฯ นั่นคือวงศ์ Cucurbitaceae  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis sativus Linn เป็นไม้ถาล้มลุก บริเวณลำต้น(เถา)และใบมีขนอ่อนปกคลุม มีมือเกาะ ดอกสีเหลือง ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ผลรูปกลมยาวมีหลายขนาด พันธุ์ผลเล็กเรียกแตงกวา พันธุ์ผลโตเรียกแตงร้าน ผลอ่อนผิวสีเขียวปนขาว เมื่อแก่จัดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล เมล็ดแบน เปลือกเมล็ดสีขาวนวล

แตงกวามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมแถบตอนกลางของทวีปเอเชีย แต่แพร่ขยายไปทั่วโลกนับพันปีมาแล้ว ชาวไทยรู้จักแตงกวามาตั้งแต่เมื่อไรไม่มีผู้บันทึกเอาไว้ แต่คาดว่าอย่างน้อยก็หลายร้อยปีมาแล้วจนกลายเป็นผักพื้นบ้านอย่างหนึ่งในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.2416 เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว อธิบายว่า “แตงกวา : เป็นชื่อแตงอย่างหนึ่ง เป็นเถาเลื้อยอยู่บนดิน ลูกเล็กๆ แตงที่เขากินกับข้าว เป็นต้น”


แตงร้าน คือ แตงอย่างหนึ่งเหมือนแตงกวา แต่ลูกใหญ่ เขาปลูกให้เลื้อยขึ้นบนร้าน”


จากคำอธิบายข้างบนนี้ทำให้ทราบความแตกต่างระหว่างแตงกวากับแตงร้าน คือขนาดของผล และวิธีการปลูก ซึ่งแตงกวานิยมปลูกบนพื้นดิน ส่วนแตงร้านนิยมทำร้านให้เลื้อยขึ้น เช่นเดียวกับบวบหรือน้ำเต้า นั่นเอง

ภาคใต้เรียกแตงกวาว่า แตงเบา(ออกผลเร็ว) และเรียกแตงร้านว่าแตงหนัก(ออกผลช้า) ส่วนภาคเหนือเรียกแตงกวาว่า แตงขี้ไก่หรือแตงอ้ม ส่วนแตงร้านเรียกแตงช้างหรือแตงยาว

ท่านผู้อ่านที่อยากมีผิวสวยเหมือน “แตงร่มใบ” ก็ขอให้หันมากินและใช้แตงกวาบำรุงผิวกันให้มากๆ แต่ต้องเลือกแตงกวาที่ปลูกแบบปลอดสารพิษเท่านั้น จึงจะปลอดภัย

 

                                               ****************************

อาหาร : แตงกวาในฐานะผัก

แตงกวาจัดอยู่ในประเภทผักผล เพราะใช้ผล(อ่อน)เป็นผัก ชาวไทยไม่นิยมใช้ส่วนอื่นๆของแตงกวา(เช่น ยอด ใบ ดอก ฯลฯ) มาเป็นผัก คงใช้เฉพาะผลอ่อนเท่านั้น เมื่อคนไทยเอ่ยถึงแตงกวาจึงหมายถึงผลอ่อนของแตงกวาเสมอ นอกจากจะกล่าวเจาะจงเป็นอย่างอื่น ผลอ่อนของแตงกวา(หรือแตงร้าน)นับเป็นผักยอดนิยมชนิดหนึ่งของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย และอาหารแต่ละอย่างก็ล้วนได้รับความนิยมทั่วไปจนอาจกล่าวได้ว่าไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่แทบจะทุกประเทศในโลกเลยทีเดียว แตงกวาจึงเป็นผักสากลชนิดหนึ่งแน่นอน
แตงกวาเป็นผักชนิดหนึ่งในไม่กี่ชนิดที่ชาวไทยนิยมนำมากัดกินเปล่าๆทั้งเปลือก โดยไม่ต้องปรุงหรือแกล้มกับอะไรเลย เมื่อนำมาใช้เป็นผักสดจะกินกับเครื่องจิ้มต่างๆ (เช่น น้ำพริก ปลาร้า แจ่ว หลน ลาบ งบ ฯลฯ) ก็พบได้บ่อยที่สุด หรือใช้เป็นเครื่องเคียงก็นิยมมาก ที่พบเสมอคือ ข้าวผัด ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง เป็นต้น ในการใช้เป็นเครื่องเคียงนั้น แตงกวายังมีคุณสมบัติพิเศษคือ ใช้แกะสลักได้งดงาม ทำให้อาหารจานนั้นมีเสน่ห์น่ากินขึ้นอีกมาก

นอกจากใช้เป็นผักสดและเครื่องเคียงแล้ว แตงกวาถูกนำไปปรุงอาหารประเภทยำชนิดต่างๆมากที่สุด ยำใหญ่ ยำแตงกวา(แตงร้าน) แตงกวายำทรงเครื่อง ยำเป็ดย่าง ยำปลาหมึกสด ยำญวน ยำญวนแปลง ยำฉงน ฯลฯ

แตงกวาใช้ทำแกงจืดได้ดี เช่น แกงจืดแตงกวาหรือแตงร้าน แกงจืดแตงกวาสอดไส้ และแกงจืดจำแลง เป็นต้น หรือใช้แกงส้มก็ได้ เช่น แกงส้มแตงกวากับกุ้งสด
คนไทยปัจจุบันคงนิยมกินส้มตำมะละกอทั่วไป  หากจะใช้แตงกวาตำแทนมะละกอก็จะได้รสชาติอร่อยไปอีกแบบ จะใส่แมงดานาลงไปให้มีกลิ่นฉุนก็ได้

หากจะนำไปปรุงอาหารประเภทผัดก็ใช้แตงกวาได้ทั้งผัดธรรมดา และผัดเปรี้ยวหวาน ซึ่งนอกจากจะถูกใจชาวไทยแล้วยังถูกใจชาวต่างประเทศด้วย

แตงกวายังใช้ปรุงอาหารได้อีกมากมายหลายตำรับ ในที่นี่คงไม่นำมากล่าวถึงได้ครบถ้วน เนื่องจากความจำกัดของเนื้อที่คอลัมน์และความรู้ของผู้เขียนเอง

ประโยชน์ด้านอื่นๆ

ประโยชน์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งคุณผู้หญิงทั้งหลายทราบกันดีก็คือ ด้านการเสริมความงาม โดยเชื่อว่าแตงกวาช่วยบำรุงผิว ลบรอยฝ้า ทำให้ผิวละเอียดอ่อนนุ่มแล้วสมานผิว การนำแตงกวามาใช้อาจใช้ผลแตงกวาอ่อนสดมาฝานบางๆตามขวาง และแปะบนผิวหนัง โดยเฉพาะตามบริเวณใบหน้าและเปลือกตา หรือใช้น้ำจากผลแตงกวา ผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิว เช่น ครีมล้างหน้า ครีมทาตัว หรือสบู่ เป็นต้น
กลิ่นแตงกวาที่สกัดโดยแอลกอฮอล์มีกลิ่นหอมสดชื่น นิยมใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางต่างๆในปัจจุบัน

 

                                                *********************************

สมุนไพร

แตงกวาอาจจัดเป็นผักสารพัดประโยชน์ได้ชนิดหนึ่ง เพราะมีผู้นำไปใช้มากมาย เช่น ด้านรักษาโรคในฐานะสมุนไพรอย่างหนึ่ง แพทย์แผนโบราณของไทยใช้แตงกวารักษาโรคนิ่ว ขัดเบา หรือปัสสาวะพิการ แพทย์แผนโบราณชาวจีนใช้ผลแตงกวารักษาโรคผิวหนัง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้น้ำคั้นจากใบสดรักษาเด็กที่อาหารไม่ย่อย ใช้เนื้อในเมล็ดสด(แก่)รักษาพยาธิ เป็นต้น

ผลแตงกวาอ่อนสามารถนำไปทำน้ำแตงกวาสำหรับดื่มได้ดี นอกจากให้คุณค่าทางโภชนาการแล้วยังช่วยย่อยอาหาร และแก้กระหายน้ำด้วย

 

                                          *******************************************

 
 

ข้อมูลสื่อ

211-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 211
พฤศจิกายน 2539
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร