• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชีวิต...ความพิการ...การป้องกัน...

ชีวิต...ความพิการ...การป้องกัน...


เมื่อย้อนกลับไปมองสมัยที่ระบบบริการทางด้านการแพทย์ของเรายังไม่พัฒนาเท่าที่ควรเหมือนปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีต่างๆ ยังค่อนข้างล้าหลัง คนในสมัยก่อนจึงมักเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ กันมาก และโรคติดเชื้อต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของเราต้องเกิดความพิการทุพพลภาพ โดยเฉพาะโรคฮิตที่เป็นกันมากในสมัยนั้น คือ โปลิโอ

ถึงเดี๋ยวนี้โลกพัฒนาไปรวดเร็วมาก พร้อมๆ กับที่เทคโนลียีทางด้านการแพทย์ที่ก้าวกระโดดไปไกลอย่างไม่เคยหยุดยั้ง ขณะนี้จึงเป็นที่น่ายินดีว่า เรา-มนุษย์ผู้ชาญฉลาดสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อบางอย่างได้บ้างแล้วเมื่อค้นพบ “วัคซีน” แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า เป็นความโชคดีที่นับเนื่องแต่นี้มนุษย์เราจะไม่เกิดความพิการกันอีกต่อไป เพราะดูจากสถิติในปี 2529 ที่พบผู้พิการเพียงร้อยละ 0.74 (ประมาณ     392,200 คน) ของประชากรทั้งประเทศ (53 ล้านคน) ครั้นพอปี 2534 กลับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.8 (ประมาณ 954,000 คน) ทีเดียว เชื่อว่าคุณเองก็คงอยากทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการ เนื่องเพราะตระหนักว่าไม่มีใครจะสามารถล่วงรู้อนาคตได้ สักวันหนึ่งตัวเรา ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูงของเราคนใจคนหนึ่งอาจต้องกลายเป็น “คนพิการ” ก็ได้ หากไม่รู้วิธีป้องกัน

“พิการ” คืออย่างไร

ก่อนที่จะเข้าไปสู่ทางป้องกันและการฟื้นฟูสมรรถภาพความพิการ ลองมาดูกันก่อนว่า คนกลุ่มใดคือคนที่เราเรียกว่า “คนพิการ” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือต่อไป

คำว่า “พิการ” นี้ถ้าตีความตามพระราชบัญญัติคนพิการ อาจให้ความหมายของคนพิการว่า “เป็นคนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทางร่างกายทางสติปัญญา หรือทางจิตใจ คนที่มีความบกพร่องเพียงเล็กน้อย เช่น หูข้างหนึ่งแหว่ง ปลายนิ้วกลางกุดไป 1 ข้อ ย่อมช่วยเหลือตัวเองได้ดี เรียนหนังสือ ประกอบอาชีพได้ และไม่น่าถูกสังคมรังเกียจ โดยเฉพาะการปกปิดหรืออำพรางความบกพร่องนั้น ทำได้ง่าย เช่นนี้ย่อมไม่ต้องการการสงเคราะห์ พัฒนาและฟื้นฟูสมรรถภาพตามจุดมุ่งหมายของพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดความหมายของความพิการแต่ละประเภทและระดับความพิการ ซึ่งเป็นการกำหนดความพิการไว้เป็นแนวทางในการสงเคราะห์ พัฒนาและฟื้นฟูสมรรณภาพอย่างเหมาะสม

ลักษณะความพิการ

ในการแบ่งลักษณะความพิการนั้น นอกจากจะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ แล้ว ยังต้องแบ่งระดับความพิการที่สมควรได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟูด้วย โดยแบ่งออกเป็น

1. ความพิการทางการมองเห็น หมายถึง สายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นตาธรรมดาแล้วเห็นน้อยกว่า 6/18 (อ่านตัวอักษรได้ที่ระยะ 6 เมตร ในขณะที่คนสายตาปกติอ่านได้ที่ระยะ 18 เมตร) หรือลานสายตาแคบกว่า 30 องศา

2. ความพิการทางการได้ยิน หมายถึง การได้ยินเสียงบริสุทธิ์ที่ความถี่ 500, 1,000 และ 2,000 เฮริตซ์ ในหูข้างที่ดีกว่าที่ค่าความเข้มเฉลี่ยเกิน 25 เดซิเบลขึ้นไป

3. ความพิการทางการสื่อความหมาย หมายถึง ความผิดปกติในการการเข้าใจหรือการใช้ภาษา

4. ความพิการทางกาย หมายถึง ความบกพร่องหรือความผิดปกติของร่างกายที่มองเห็นได้ย่างเห็นได้ชัด เช่น แผลไฟไหม้บริเวณใบหน้า ปากแหว่งจมูกโหว่ แขนขาขาด เป็นต้น

5. ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง การสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวของมือ แขนขา และ/หรือลำตัว อันเนื่องมาจากแขนขาขาด อัมพาตหรืออ่อนแรง โรคข้อหรือกลุ่มอาการปวด หรือโรคของระบบอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยทั่วไป เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย เป็นต้น

6. พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง ความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมอง ในส่วนของภาวะการรับรู้อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ซึ่งต้องการการประคับประคองทางจิตใจ

7. พิการทางสติปัญญา หมายถึง ความสามารถสติปัญญาและพฤติกรรมการปรับตัวในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของคนปกติในระดับอายุเดียวกัน

8. พิการทางการเรียนรู้ หมายถึง ปัญหาทางการเรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษา การฟัง การอ่าน การเขียน การสะกด หรือการคำนวณ อันเนื่องจากความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในกระบวนการพื้นฐานทางจิตวิทยาของสมองที่เกี่ยวกับความเข้าใจ หรือการใช้ภาษา

เหตุใดใยจึงพิการ

เนื่องเพราะ “โลก” ได้รับการพัฒนาทางด้านวัตถุจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาของ “โรค"”อันเป็นสาเหตุของความพิการอย่างหนึ่ง ก็ได้ผันแปรไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย

- ต้นเหตุของความพิการเมื่อครั้งอดีต
ในอดีตที่ผ่านมาสาเหตุของความพิการส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ ที่รู้จักกันดี คือ โปลิโอ โรคเรื้อน วัณโรคของกระดูกสันหลังหรือข้อสะโพก โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง หรือโรคสมองอักเสบที่แทรกซ้อนโรคหัด หรือเด็กที่เป็นโรคหัดเยอรมันติดจากมารดาระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ปัจจุบันจะพบคนที่เป็นโรคในกลุ่มนี้มีอันตรายลดลงเนื่องเพราะการพัฒนาวัคซีนที่ก้าวไปไกลมาก และการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้ก็เป็นไปอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ทำให้ความพิการจากสาเหตุเหล่านี้มีจำนวนลดลง

นอกจากนี้ ในเรื่องการดูแลสุขภาพมารดาระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดและการดูแลทารกหลังคลอดในอดีต ก็เป็นสาเหตุของความพิการในเด็กทารกจำนวนไม่น้อยในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น เด็กสมองพิการจากสาเหตุที่แม่มีโรคติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เด็กน้ำหนักตัวน้อยจากแม่ขาดสารอาหาร และจากการคลอดยากทำให้สมองขาดออกซิเจน หรือการมีตัวเหลืองหลังคลอดรวมทั้งโรคตาบอดจากการขาดวิตามินเอในเด็ก ภาวะปัญญาอ่อนจากการขาดสารไอโอดีน แต่ทั้งหมอที่กล่าวมานี้ล้วนได้รับการแก้ไขด้วยการส่งเสริมการฝากครรภ์การดูแลอนามัยแม่และเด็กตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียนจนถึงวัยเรียน ดังนั้น ความพิการจากสาเหตุในกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

นั่นเป็นการฉายภาพสาเหตุของความพิการเกิดขึ้นอดีตทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันนี้นับว่าปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความพิการต่อคนในสังคมเมืองน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เราก็ยังสามารถพบเห็นได้เสมอในสังคมชนบทที่ห่างไกลออกไป

- ปัจจัยที่ก่อความพิการของคนไทยในยุกนิกส์

ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการตายของทารกและอัตราการตายจากโรคอื่นๆ ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการแพทย์ ส่งผลให้ช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิดของคนไทยยืนยาวขึ้นเป็น 63.5 ปีในผู้ชาย และ 68.8 ปีในผู้หญิง ระหว่างปี 2533-2538 (จากสถิติสาธารณสุข 2534) การที่มนุษย์เรามีช่วงชีวิตที่ยืนยาว ทำให้โอกาสที่จะได้พบพานโรคภัยหรือภาวะทางสุขภาพเป็นผลมาจากการเสื่อมสมรรถภาพตามวัยมีมากขึ้น เช่น ภาวะข้อเข่าเสื่อม กระดูกบางและหักง่าย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองเสื่อม รวมทั้งโรคมะเร็ง ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความพิการได้ทั้งสิ้น

ชีวิตยุคใหม่ที่ออกกำลังกายน้อยลง
ในแง่วิถีการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแต่ละบุคคล สิ่งแรกที่สำคัญ คือ การมีการเคลื่อนไหวของร่างกายลดลง นับตั้งแต่การมีลิฟต์แทนบันได มี่เครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วยงานทางด้านเอกสาร มีเครื่องโทรสารแทนการวิ่งส่งหนังสือ แม้ผู้ใช้ตามโรงงานอุตสาหกรรมก็มักจะเป็นงานที่ใช้แรงเครื่องจักรเป็นหลักน้อย ใช้แรงคนแต่น้อยโดยมีการเคลื่อนไหวเพียงบางส่วนและในช่วงเวลาทำงานก็มักจะอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งหมดนี้ยังไม่นับการที่ต้องนั่งติดอยู่บนรถระหว่างการเดินไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงาน เพียงแค่นี้เวลาที่จะได้ออกกำลังกายเพื่อคงไว้ซึ่งความสมบรูณ์ทางสุขภาพกายก็แทบจะไม่มีเสียแล้ว ซึ่งนับวันสมรรถภาพกายก็จะถดถอยลงไปเรื่อยๆ ความสามารถในการต้านทานโรคภัย หรือสมดุลของร่างกายก็จะเสียไปเรื่อยๆ ในที่สุดโรคภัยไข้เจ็บของคนยุคใหม่ที่จะนำไปสู่ความพิการได้ทั้งสิ้นก็เริ่มจะมาเยือน

เมินอาหารไทย หลงใหลอาหารฝรั่ง
ด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ทั้งในด้านปริมาณและสัดส่วนองค์ประกอบของอาหาร และการบริโภคสิ่งซึ่งให้โทษต่อร่างกาย คนในเมืองมักจะมีการบริโภคสัดส่วนของแป้งและไขมัน โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์สูงขึ้น ซึ่งผนวกกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารนอกบ้าน หรือการกินอาหารสำเร็จรูปมากขึ้นเมื่อผสมผสานกับการมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้เกิดการสะสมของไขมันและน้ำตาลในร่างกายมากขึ้น ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคเหล่านี้ ก็คือ จุดเริ่มต้นหรือสาเหตุของความพิการนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นอัมพฤกษ์ การถูกตัดแขนหรือขา นอกจากนี้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ บุหรี่ หรือยาเกินจำเป็นก็ล้วนนำไปสู่การมีความบกพร่องของระบบต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งในที่สุดก็อาจมีความพิการเกิดขึ้น

ความเครียดบั่นทอนภูมิต้านทานโรค
จากลักษณะสังคมดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ทำให้เกิดภาวะเร่งร้อน และการแข่งขันกันมากขึ้น อันเป็นบ่อเกิดของความเครียด โดยเฉพาะในผู้ที่ขาดสติในการดำรงชีวิต สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ บั่นทอนชีวิตลงไปทีละน้อยๆ โดยเราไม่รู้ตัว เมื่อสมรรถภาพทั้งทางกายและใจเสื่อมถอยลงเช่นนี้ ความสามารถในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งที่เป็นพิษที่มีต่อร่างกาย และความสามารถในการรักษาสมดุลของร่างกายที่เราเรียกว่า ระบบภูมิต้านทานก็จะเกิดการบกพร่อง อันเป็นผลนำไปสู่ภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งพาตัวเราเข้าใกล้ความพิการหรืออาจถึงเสียชีวิตได้

สภาพแวดล้อมที่ขาดความเกื้อกูล
สภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยวดยานพาหนะ การจัดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การทิ้งขยะของเสีย การประกอบกิจการทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และการเบียดเบียนกัน ในสังคมแทนที่จะเป็นการเกื้อกูลกันและกัน ทั้งหมดนี้ทำให้สิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตไม่ปลอดภัยอีกต่อไป มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บหรือได้รับพิษได้ง่าย เช่น การเกิดอุบัติเหตุท้องถนน ในโรงงานอุตสาหกรรมทุกอย่างล้วนเป็นสาเหตุความพิการได้ทั้งสิ้น

พิการแต่กำเนิด กรรมเก่าหรือกรรมใหม่
ในกรณีความพิการแต่กำเนิดในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากปัจจัยร่วมอย่าง หากจะแบ่งสาเหตุความพิการแต่กำเนิด อาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุด้วยกัน คือ จากกรรมพันธุ์ และ สิ่งแวดล้อม

  • สาเหตุจากกรรมพันธุ์

เกิดขึ้นเนื่องจากมีความผิดปกติของบิดาหรือมารดาแล้วถ่ายทอดไปสู่ลูก ชนิดของความรุนแรงอาจมีความแตกต่างกันไป ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น ภาวะแขนขาสั้น โรคหัวใจ เป็นต้นในกลุ่มนี้ทารกจะมีโอกาสพิการถึงร้อยละห้าสิบ ส่วนความพิการที่ถ่ายทอดไม่รุนแรง เช่น คนเผือก ความผิดปกติของอวัยวะเพศบางชนิด และโรคเลือดหลายชนิดในกลุ่มนี้ถ้ามีความผิดปกติทั้งพ่อและแม่ ทารจะมีโอกาสเป็นโรคร้อยละ 25 อีกร้อยละ 25 ปกติ ส่วนอีกร้อยละ 50 จะมีความผิดปกติแบบไม่รุนแรงเช่นเดียวกับพ่อแม่

นอกจากนี้ในบางรายที่พ่อแม่ปกติ แต่การแบ่งตัวของเซลล์ของทารกในระยะแรกๆ อาจมีความผิดปกติไปก็ทำให้ทารกพิการได้เช่นเดียวกัน เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ มีนิ้วมากกว่าปกติหัวใจพิการ และปัญญาอ่อน เป็นต้น และถ้าแม่มีอายุมาก(เกิน 35 ปี) ก็มีโอกาสที่ลูกความพิการแบบนี้ได้ง่าย

  • ส่วนสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม

มีสิ่งแวดล้อมหลายชนิดที่ก่อให้เกิดความพิการในทารกได้ เช่น ความเจ็บป่วยของแม่ระหว่างตั้งครรภ์ ยาที่แม่ได้รับในระหว่างตั้งครรภ์เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะ 3 แรกจะมีโอกาสเกิดความพิการมากกว่าในช่วงระยะอื่น ซึ่งบางอย่างก็ทราบแน่นอนว่าทำให้พิการได้ บางอย่างก็เป็นเพียงแต่สงสัยว่าอาจทำให้พิการ อย่างไรก็ตามหญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วย โรคติดเชื้อต่างๆ และไม่กินยาถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะเป็นการป้องกันความพิการได้อย่างดี

ความพิการป้องกันได้
ในการป้องกันความพิการนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ ความรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของความพิการ ร่วมกับการกระทำใดๆ ก็ตามเพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดภาวะที่เราเชื่อว่า เป็นสาเหตุของความพิการขึ้นเราก็ควรจะป้องกันไม่ให้เกิดโรค การบาดเจ็บ หรือการเป็นพิษนั้นๆ โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ ควรระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงต่อความพิการอันจะเกิดต่อลูกในครรภ์มากเป็นพิเศษ ซึ่งทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้

  • หัดเยอรมัน

ในหญิงมีครรภ์ โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก มีโอกาสทำให้ทารกพิการได้มาก ซึ่งได้แก่ สมองพิการ ศีรษะเล็ก เป็นต้น การป้องกันก็ทำได้โดยการฉีดวัคซีนก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์ไม่น้อยกว่า 2 เดือน

  • กามโรค

กามโรคโดยเฉพาะซิฟิลิสมีผลทำให้ทารกติดโรคและพิการได้ ดังนั้นจึงมีการแนะนำให้มีการตรวจเลือดในหญิงมีครรภ์ ถ้าได้รับการรักษาแต่แรกจะช่วยป้องกันความพิการได้

  • อีสุกอีใส

ในหญิงมีครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสจะทำให้ทารกพิการได้เช่นกัน แต่ก็มีโอกาสพบไม่มากนัก คือ ใน 100 คนจะพบไม่เกิน 5 คน อัตราการพิการจะน้อยกว่าหัดเยอรมัน แต่ลักษณะความพิการจะคล้ายกัน และอาจมีรอยแผลเป็นตามผิวหนังด้วย

  • โรคติดเชื้ออื่นๆ

โรคติดเชื้ออื่นๆ ที่ทำให้ทารกเกิดความพิการได้นั้น อาทิ คางทูม ซึ่งมีรายงานไม่มาก น้อยกว่าอีสุกอีใส และเชื้ออื่นๆ เช่น ซิฟิลิสในทารกแรกเกิดหรือวัณโรคในทารกแรกเกิด เป็นต้น แต่โอกาสพบก็ไม่มากนักเช่นกัน ดังนั้นหญิงมีครรภ์จึงควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชนหนาแน่น เพราะอาจติดโรคได้ง่าย

  • ยาทั้งหลายมีพิษ

ในหญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงยาเกือบทุกชนิดเพราะอาจมีผลต่อทารกได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบว่าจะทำให้ทารกพิการ แต่ก็มียาเป็นจำนวนไม่น้อยที่ก่อความพิการในทารก เช่น ยารักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ยารักษาโรคลมชัก และยากรักษาเบาหวานชนิดกิน โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ทั้งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาปฎิชีวนะประเภทเตตราชัยคลีน ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระดูกและฟันทำให้ผุง่ายและมีสีเหลืองปนน้ำตาล ยาที่มีชื่อ “มัยชิน” ทั้งหลายมักมีเตตราชัยคลีนอยู่ด้วย หญิงมีครรภ์และเด็กอายุต่ำว่า 6 ขวบควรหลีกเลี่ยงยานี้

  • เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์

จากการศึกษาทารกที่คลอดจากแม่ที่ดื่มสุราจัด พบความพิการมากกว่าแม่ที่ไม่ดื่มถึงสองเท่า กลุ่มอาการนี้จะมีลักษณะเจริญเติบโตช้า ศีรษะเล็ก จมูกแบน ปากแหว่ง หญิงมีครรภ์จึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์

  • รังสี

เป็นที่ทราบกันแล้วว่ารังสีและกัมมันตภาพรังสีทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพิการของระบบประสาท ทำให้ชักหรือปัญญาอ่อนได้ง่าย โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์ เพื่อให้อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และเมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ผู้เป็นมารดาต้องพาเด็กไปรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความพิการให้แก่บุตรหลานของคุณ

แต่ถ้าความพิการเกิดขึ้นมาแล้ว การป้องกันยังอาจทำได้ด้วยการให้การรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลาจนสมรรถภาพการทำงานของอวัยวะกลับมาปกติหรือใกล้เคียงปกติ หากพ้นจุดนี้ย่อมมีความพิการเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย แต่การป้องกันยังคงมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ นั่นคือ การป้องกันไม่ให้เกิดความพิการซ้ำซ้อน ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคโปลิโอ จะมีความพิการ คือ กล้ามเนื้อบางส่วนของแขนขาอ่อนแรง ถ้าไม่มีการป้องกันระยะต่อๆ มา ผู้ป่วยก็จะมีความพิการผิดรูปของเท้าหรือขาซ้ำซ้อนความพิการอ่อนได้ จะเห็นได้ว่า การป้องกันความพิการไม่ใช่เรื่องยาก หากแต่เป็นเรื่องที่ใครจะให้ความสนใจมากแค่ไหน เพราะเมื่อยังไม่มีประสบกับตนเองหรือคนข้างเคียง ก็มักคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือเป็นโชคชะตา ต่อเมื่อบังเอิญได้ประสบ ดังนั้นเพื่อที่ทุกคนจะปลอดภัย ห่างไกลความพิการอย่างมีศักดิ์ศรี จึงควรเริ่มต้นด้วยการฝึกฝนตนให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี และร่วมหันสร้างสิ่งแวดล้อมของสังคมให้มีความปลอดภัย รวมทั้งพยายามคงไว้ซึ่งความมีน้ำใจและเกื้อกูลกัน


เวทีทัศนะ

  • นายแพทย์เอกชัย จุละจาริตต์  : ผู้อำนวยการศูนย์สิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ

“คนพิการมีความเสียเปรียบ มีความไม่เท่าเทียมในสังคม เราก็พยายามให้โอกาสเขาโดยคณะกรรมการฟื้นฟูสุขภาพคนพิการ จะประกาศออกไปให้คนพิการขึ้นทะเบียน โดยมีแพทย์มาตรวจ และออกใบรับรองให้แล้วส่งไปทางจังหวัดทางจังหวัดก็จะทำทะเบียนออกบัตรประจำตัว คนที่มีบัตรจะได้รับบริการฟรีทุกเรื่องที่คุ้มครองเกี่ยวกับสมรรถภาพ รวมทั้งการรักษาอย่างการศึกษาถ้ามีบัตรก็จะได้รับการศึกษาฟรีในโรงเรียนรัฐบาล

คนพิการที่ได้รับการฟื้นฟูแล้ว จะมีโอกาสได้รับงานทำ เพราะว่ามีพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งได้ตั้งกติกาว่า ให้หน่วยงานที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป รับลูกจ้างพิการเข้าทำงาน 0.5 เปอร์เซ็นต์ คือ 200 คนต้องรับ      1 คน ถ้าไม่รับบริษัทนั้นต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ซึ่งกองทุนนี้อยู่ในมาตราหนึ่งของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ นี้ก็จะเป็นโอกาสที่คนพิการจะได้เข้าสู่อาชีพ ในเรื่องการศึกษาเราก็ยังมีปัญหาอยู่ ถ้ามองสภาพปัญหา จะเห็นว่าคนพิการได้รับการศึกษาไม่มากเท่าที่ควร การจะได้รับการศึกษาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมนั้นน้อยมาก ซึ่งก็มีหน่วยงานหนึ่ง คือ กองการศึกษาพิเศษ สังกัดกรมสามัญศึกษา เขาสร้างความรู้ทางด้านนี้ขึ้นมาอย่างมาก คือ เอาความรู้นี้ไปสอนเพื่อจะเปิดสาขาให้เกิดโรงเรียนสำหรับคนพิการมากขึ้นๆ ”

  • แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ : แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์ศิริธรฯ

“จริงๆ แล้วสังคมจะต้องมีความทัดเทียมกัน ในทุกๆ เรื่อง ไม่เฉพาะทางด้านการแพทย์ การแพทย์ คือ จุดเริ่มต้นที่ส่งให้ผู้พิการขึ้นมาสู่ขั้นตอนของการฟื้นฟู เป้าหมาย คือ มีส่วนร่วมในสังคม เน้นการฟื้นฟูทั้งหมดครบวงจร เป้าหมายจริงๆ ของเราหรือคนทำงานที่ไม่ได้พิการ คือ ช่วยให้คนพิการสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง ไปจนถึงการสร้างงานที่มีคุณค่าเต็มความสามารถของเขา นั่นคือ เป้าหมายสูงสุด ซึ่งถ้าจะทำให้เขาไปถึงตรงนั้นได้ต้องสร้างการยอมรับกับสังคม ไม่เฉพาะฟื้นฟูให้ตัวผู้พิการเอง ต้องไปฟื้นฟูคนรอบด้าน ฟื้นฟูสังคม

จริงๆ ก็ยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องในผู้พิการเองด้วย บางคนอยู่ในระหว่างการฝึกอาชีพ เช่น ฝึกเป็นช่างทำเครื่องหนัง กว่าเขาจะสำเร็จการทำเครื่องหนังได้นี่ต้องใช้เวลา เขาจะต้องลำบากเหมือนกันกว่าจะทำได้ กับการที่เขาเลื่อนมาเป็นขายลอตเตอรี่เลย เขาได้เงินเลย คือ เหมือนกับ...เร็วที่จะหาเงินได้ แล้วก็ขายได้ง่าย ถ้าผู้พิการทุกคนคิดอย่างนี้ ขายลอตเตอรี่คืออาชีพคนพิการเท่านั้น แล้วฉันคนพิการก็ทำอาชีพนี้ได้เท่านั้น ก็ยังไม่ถูกต้อง จริงๆ ควรจะเป็นลักษณะอะไรที่เขาใช้ความสามารถ ใช้ความสามารถสร้างงานให้ได้มากที่สุด มีคุณค่ามากที่สุด

  • แพทย์หญิงอรฉัตร โตษยานนท์ : ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทย์ศาสตร์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล

“โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์อย่างที่ศิริราชนี่จะมีศิริราชมูลนิธิคอยช่วยเหลืออยู่ บางคนขาดอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ อย่างรถเข็นถ้าไม่มีเราก็ต้องช่วยเหลือให้ บางส่วนเราก็ช่วยได้ แต่ไม่ใช่ว่าทั้งหมด สมมติว่ามีคนมาหาเรา 10 คน เราก็ต้องเลือกคนที่จำเป็นที่สุด เพราะเราไม่มีศักยภาพที่จะช่วยได้ทั้งหมด ไม่อย่างนั้นเป็นความหนักหนาสาหัสของคนที่จะรับด้วย อันที่จริงคนที่มีบทบาทร่วมได้มาก คือ ครอบครัวที่จะต้องรับผิดชอบด้วย เดี๋ยวนี้คนพิการเก่งก็มีเยอะแยะ พระราชบัญญัติที่ออกมานี้ทำให้เขามีสิทธิ์เรื่องการศึกษาที่ศิริราชเราสนับสนุนตั้งแต่แรกที่มีโรงเรียนมาแล้ว เราเปิดเป็นชั้นเรียนพิเศษสอนเด็กเจ็บป่วยในโรงพยาบาล บางทีเด็กตาบอดรักษาเป็นปี หรือเด็กสมองพิการที่มารับการรักษากับเราที่มีปัญญาอ่อนไม่มาก หรือพวกที่เป็นโรคทางร่างกายซึ่งจำเป็นต้องมาเป็นการรักษา เขาก็จะได้เรียนหนังสือไปด้วย อันนี้เรามีมาตั้งแต่ปี 2513 จนกระทั่งปัจจุบันทำเป็นโรงเรียน เราดีใจที่ได้ช่วยสังคมในฐานะตรงนี้ด้วย”

  • สมลักษณ์ ลิ้ม : มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

“เรื่องทัศนคติที่คนในสังคมมีต่อคนพิการ ถ้าเราเทียบเมื่อสิบปีที่แล้วจะเห็นว่าทัศนคติของคนในสังคมต่อคนพิการค่อนข้างไม่ดี เช่น เรื่องการฟื้นฟู จะมองว่าคนพิการแล้วพิการเลยไม่สามารถฟื้นฟูได้ หรือคนพิการไม่มีคักยภาพในการที่จะทำอะไรได้ อีกอันหนึ่ง คือ ความรู้สึกอับอาย ถ้ายิ่งครอบครัวใดมีลูกหรือหลานเป็นคนพิการเขาจะเก็บเพราะเขารู้สึกอายสังคมว่าลูกเขาพิการแล้วเขาจะผิด ตรงส่วนนี้คิดว่าเป็นจุดที่อ่อนมากๆ แล้วเป็นผลกระทบที่ทำให้เรื่องคนพิการถูกเก็บมาตลอด

แต่จากสิบปีที่ผ่านมาในช่วงนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ในแง่การฟื้นฟูเริ่มมีการยอมรับมากขึ้น ว่าคนพิการสามารถฟื้นฟูได้ตามศักยภาพของคนพิการนั้นๆ เริ่มมีมากขึ้นทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา สังคม อาชีพ ในความช่วยเหลือนี้ คนพิการไม่ต้องการช่วยเหลือทุกอย่างไปหมดแต่ช่วยเหลือให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่อยากให้ช่วยมาก คือ เรื่องทัศนคติในการเปิดโอกาสยอมรับ เช่น หน่วยงานบริษัท หรือห้างร้านเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองงาน หรือให้ลองฝึกทำงานดูว่าตรงส่วนไหนที่เขาสามารถทำได้

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จริงๆ แล้วขณะนี้เรามี พ.ร.บ.ฟื้นฟูเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ปัญหา ก็คือว่าเรายังไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ อย่างคนพิการเองบางคนยังไม่รู้เรื่องเลยว่ามี พ.ร.บ. แล้วมีผลประโยชน์อย่างไรและเขาต้องทำอย่างไร คือ ต้องไปขึ้นทะเบียนอะไรอีกมากมายก่ายกอง หรือเขาจะเรียกร้องผลประโยชน์ของเขาได้อย่างไร”

  • พันโทต่อพงษ์ กุลครรชิต : นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

“ประเทศสหรัฐฯ เขาเริ่มมีการเคลื่อนไหว คนพิการเริ่มมองสิทธิตัวเองขึ้นมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว สวีเดน 70 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่น 40 ปีที่แล้วแต่เมืองไทย คือ 10 ปีที่แล้ว อีกจุดหนึ่ง คือ ด้านเศรษฐกิจ ประเทศที่เจริญแล้วเขามีเวลาพอที่มาเจือจานผู้ด้อยโอกาสในสังคมตรงจุดนี้ผมเข้าใจว่าถ้าบ้านเราเหมือนอเมริกาเหมือนญี่ปุ่น ก็คงจะไม่มีปัญหาเท่าไหร่ และยิ่งคนไทยใจบุญนะ ตอนนี้เราเข้าใจว่ารัฐบาลมีปัญหาหลายส่วนที่จะแก้เพียงแต่ว่าจุดที่เราขอ คือว่าให้แก้ปัญหาทุกปัญหาไปพร้อมๆ กัน อย่าเอาคนพิการไว้ต่ำสุดว่าอยู่เฉยๆ น่าเดี๋ยวเราจะทำอะไรเสร็จแล้วจะหันมาดูแลให้ ข้อเท็จจริงไม่ใช่ ควรไปพร้อมๆ กัน กลไกของรัฐฯ มีพร้อมทุกอย่างแล้ว แต่ผมมองผู้บริหารประเทศยังไม่มีนโยบายอะไรที่เด่นชัดเลย

สำหรับคนพิการ ทำให้กลไกที่มีอยู่ขยับตัวช้า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายให้ชัดว่าต้องอย่างนี้ๆ มันไปได้ครบทุกอย่าง ฉะนั้นผมถึงว่าถ้าถามว่าหวังอะไร ผมหวังว่ารัฐบาลต้องมีนโยบายที่เด่นชัด ถ้ารัฐบาลกล้าเด่นชัดขึ้นมาเมื่อไหร่กลไกก็ทำงานเอง ผมอยากฝากไปถึงเพื่อนผู้พิการด้วยว่า ขอให้พวกเราพยายามที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ทันกับโอกาสที่สังคมกำลังจะเปิดให้ ผมยกตัวอย่างว่า ขณะนี้มีสถานประกอบการเอกชนจำนวนมากต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน แต่คนพิการเราเองยังพัฒนาตัวเองไม่ทัน แต่ว่าจากนี้ไปให้เราพยายามพัฒนาตัวเองตามขึ้นมา โอกาสกำลังจะเปิดให้ทั้งทางด้านการแพทย์ การศึกษา การอาชีพ และทางด้านสังคม เพื่อจะได้สอดคล้องกัน”

  • นิภาพรรณ ทิพยจักร : ตัวแทนคนพิการ

“วันหนึ่งอยู่ๆ ก็ปวดหลังขึ้นมา ทุกวันนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ หมอบอกว่ามีก้อนเลือดไปติดแถวๆ บริเวณไขสันหลัง จึงไปผ่าตัดเอาก้อนเลือดออก เมื่อก่อนตอนเป็นปีแรกนี่ไม่รู้สึกตัวเลย ชา ขาอ่อนแรง ระบบการเคลื่อนไหวนี่เสียตั้งแต่ลิ้นปี่ลงไปเลย ด้านความรู้สึกตัว อยากให้คนอื่นเขายอมรับเราได้ว่าคนพิการเหมือนคนปกติ ถ้าเขาให้โอกาสเราได้เรียนหนังสือเหมือนคนปกติ ให้มีงานทำ เราก็เหมือนคนอื่น ๆ แต่ข้อจำกัดของเราอยู่ที่ว่าถ้านั่งรถเข็นนี่บันไดแค่ 2 ขั้นเราขึ้นไม่ได้แล้ว ถ้าคนอื่นๆ ช่วยเรา ทำลิฟต์ให้เรานิดนึง เราก็ทำงานชั้น 4 ได้

ถ้าเรามีโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่น เราทำงานได้ เราเรียนได้ เราก็ไปไหนมาไหนได้ แล้วสุดท้ายเราก็จะสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้ จริงๆ แล้วอีกอันหนึ่งที่อยากจะได้ คือ สวัสดิการทางการแพทย์ แม้ว่าพระราชบัญญัติคนพิการมีผลใช้แล้ว แต่ว่ามันออกเป็นกฎกระทรวงต้องผ่านอะไรก่อน ต่อรองกันมาเรื่อยๆ ตอนนี้เราจะไม่ได้อะไรเลยในฐานะคนพิการ ก็เหมือนประชาชนทั่วๆ ไป ไปโรงพยาบาลก็ต้องเสียสตางค์ค่ายา ไม่มีสิทธิพิเศษอะไรนอกจากถ้าบอกเขาว่าตอนนี้เราจนจริงๆ ไม่มีเงินจ่าย ก็คือ ไปหาที่ฝ่ายประชาสงเคราะห์ สังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลนั้นๆ เขาก็จะจัดการให้ แต่กว่าจะผ่านขั้นตอนนี้ก็ช้า”

ข้อมูลสื่อ

175-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 175
พฤศจิกายน 2536
บทความพิเศษ