• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผักตบ : ผักพื้นบ้านดั้งเดิมที่ถูกลืม

ผักตบ : ผักพื้นบ้านดั้งเดิมที่ถูกลืม

 

        

 

 

ผักพื้นบ้านของไทยหลายชนิด มีชื่อเรียกนำหน้าด้วยคำว่า “ผัก” เสมอ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักขม และผักตบ เป็นต้น ผักที่มีคำว่า “ผัก” นำหน้าชื่อเหล่านี้ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในบริเวณประเทศไทยนี้เอง มิได้นำเข้ามาจากภายนอกดังเช่นพืชผักอีกหลายชนิด โดยเฉพาะพืชผักที่นำเข้ามาในช่วงหลัง เช่น ผักจีน และผักจากเมืองหนาว (temperate) ชนิดต่าง ๆ แต่ก็มีข้อยกเว้นบ้าง เช่น ผักขมจีน และผักตบชวา เป็นต้น

แม้ชื่อของพืชต่างประเทศเหล่านั้นจะมีคำว่าผักนำหน้าเช่นเดียวกับผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย แต่ก็มีชื่อถิ่นที่นำเข้ามาต่อท้ายเสมอ เช่น คำว่า จีน และชวา เป็นต้น แสดงให้เห็นว่านำเข้ามาจากจีนและชวา การที่คนไทยเรียกผักจากต่างประเทศโดยใช้คำว่า “ผัก” นำหน้าคงเป็นเพราะผักเหล่านั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยที่เรียกชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “ผัก” มาก่อนแล้ว เช่น ผักขมหรือผักตบนั่นเอง
ผักจากต่างประเทศบางชนิดเมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้วมีการขยายแพร่พันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นทุกที จึงทำผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยที่มีชื่อเดียวกัน ถูกลดความสำคัญลงจนกระทั่งคนไทยส่วนใหญ่ลืมไปว่ามีผักชนิดนั้นอยู่ ดังเช่น กรณีผักตบ(ไทย)กับผักตบชวา

ผักตบ( ไทย ) นั้นมีอยู่คู่ชาวไทยมาแต่เดิม ส่วนผักตบชวาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ผักตบชวาในประเทศไทยนั้นมีผู้นำเข้ามาจากเกาะชวา ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง แต่ผักตบชวาขยายพันธุ์ออกไปตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วมาก จนคนไทยทั่วประเทศพบเห็นและรู้จักกันเป็นอย่างดี
ส่วนผักตบไทยซึ่งมีอยู่แต่เดิมนั้นขยายพันธุ์ได้ช้ามาก และมีข้อจำกัด คือไม่สามารถลอยไปตามน้ำได้เหมือนผักตบชวา ปัจจุบันจึงพบขึ้นอยู่ในที่ชื้นแฉเพียงไม่กี่แห่ง คนไทยน้อยคนจะมีโอกาสได้พบเห็นผักตบ(ไทย) ยิ่งการนำมาประกอบอาหารในฐานะผักยิ่งน้อยลงไปอีกหลายเท่า จึงอาจกล่าวได้ว่าผักตบ(ไทย) กลายเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมที่ถูกลืม

 

อดีตและปัจจุบันของผักตบ(ไทย)
ผักตบ(ไทย) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Monochoria hastata solms อยู่ในวงศ์ Pontederiaceae เช่นเดียวกับผักตบชวา (Eichhornia crassipes Solms) ผักตบเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามโคลนเลน มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน (Tropical) ของทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย
เหง้า( ลำต้นใต้ดิน )ของผักตบ ฝังอยู่ในโคลนเลน ใบและดอกโผล่พ้นโคลนและน้ำขึ้นมาในอากาศ ก้านใบยาวประมาณ 80-90 เซนติเมตร ใบรูปหัวใจปลายเรียวแหลม มีหูใบแหลม ดอกเกิดเป็นช่อกระจุก โผล่ออกมาตรงก้านใบ มีกลีบเลี้ยงหุ้มช่อดอกเอาไว้ ดอกมีสีน้ำเงินอมม่วง นับว่าเป็นสีงดงามเป็นที่ชื่นชมของคนไทยในอดีต

ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ. 2416 กล่าวถึงดอกผักตบเอาไว้ว่า “...ดอกมีสีเขียวเหมือนดอกอัญชัน งามนัก...” ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 กล่าวถึงดอกผักตบว่า “ดอกสีขาบ...” ซึ่งสีขาบก็คือสีน้ำเงินแก่ แต่สีของดอกผักตบเป็นสีเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ในอดีตเมื่อเอ่ยถึง “สีดอกผักตบ” ก็จะรู้จักกันทั่วไป ดังเช่นใช้เรียกสีของพลอยชนิดหนึ่งว่า “พลอยสีดอกผักตบ” เป็นต้น เมื่อดอกผักตบโรยแล้วจะติดผล มีลักษณะเรียวบิดเป็นเกลียว ข้างในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่มากมาย สามารถงอกขึ้นเป็นต้นได้อีกในที่เหมาะสม


ในอดีตประเทศไทยมีพื้นที่ชื้นแฉะตลอดปีเหมาะแก่การเจริญเติบโตของผักตบอยู่มาก จึงพบผักตบขึ้นอยู่ทั่วไป ชาวไทยนำผักตบมากินเป็นผักสามัญชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถเก็บมากินได้ตลอดปี ส่วนของผักตบที่นำมาใช้เป็นผักก็คือก้านใบ ใบอ่อน และช่อดอก โดยใช้กินได้ทั้งสุกและดิบ แกงส้มผักตบเป็นแกงส้มที่แพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่งของชาวไทยภาคกลางในอดีต ผักตบจึงเป็นผักประจำครัวของชาวไทยภาคกลางอีกอย่างหนึ่ง มีคำโต้ตอบของหนุ่มสาวชาวไทยภาคกลางในอดีตที่แสดงถึงความนิยมผักตบ นั่นคือ ชาวหนุ่มมัก จะถือโอกาสเมื่อมีงานบุญ (เช่นงานบวช) ที่มีการระดมสาว ๆ มาช่วยทำครัว เจ้าหนุ่มจะเข้าไปเมืองมองข้าง ๆ ครัวแล้วเอ่ยถามสาว ๆ ที่กำลังทำครัวอยู่ว่า “มี( หัว )หอมบ้างมั้ย ขอหอมบ้างสิ” เป็นการดูท่าทีของสาว ๆ หากสาวไม่พอใจก็จะตอบว่า “ปอมไม่มีหรอก มีแต่ผักตบจะเอามั้ย” ทั้งนี้เพราะทั้งหอมและตบมีความหมายสองอย่าง คือเป็นทั้งคำนาม ( ผัก )และกิริยา

เนื่องจากคำว่า “ตบ” มีความหมายไปในทางร้ายได้ คือกิริยาตบ (ตี) ชาวไทยในอดีตจึงเห็นว่าผักตบเป็นชื่อไม่สุภาพ ทำให้ผักตบมีชื่อเรียกให้สุภาพยิ่งขึ้นอีกชื่อหนึ่งว่า “ผักสามหาว” เช่นเดียวกับที่ผักบุ้งมีชื่อสุภาพว่า “ผักทอดยอด” นั่นเอง ความรุ่งเรืองของผักตบคงจะค่อย ๆ หมดไป เมื่อผักตบชวาเข้ามาในประเทศไทย เพราะผักตบชวามีจุดเด่นหลายประการเหนือกว่าผักตบ ซึ่งได้กลายเป็นผักตบไทยไป เช่น ผักตบชวาใช้เป็นผักได้เช่นเดียวกับผักตบไทย ผักตบชวามีช่อดอกใหญ่และงดงามกว่าผักตบไทย (ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีผู้นำจากเกาะชวามาสู่ประ-เทศไทย) ที่สำคัญคือผักตบชวาแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าผักตบไทยมาก ผักตบไทยจึงค่อย ๆ ถูกทอดทิ้งหลงลืมโดยคนไทยมาจนถึงยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของผักตบชวา คือการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วนั้นได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในเวลาต่อมา นั่นคือผักตบชวากลายเป็นวัชพืชน้ำที่ร้ายแรงยิ่งของประเทศไทย และแทบทุกประเทศที่นำผักตบชวาเข้าไปเผยแพร่ โดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม ต่างจากผักตบไทยซึ่งไม่เคยมีปัญหาว่าจะกลายเป็นวัชพืชเลย ตรงข้ามกลับเหลือน้อยลงทุกทีจนแทบจะสูญหายไปในปัจจุบัน
 

ประโยชน์ด้านอื่น ๆของผักตบไทย
นอกจากใช้เป็นผักตามชื่อแล้ว ผักตบไทยยังนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายประการ เช่น ด้านสมุนไพร หนังสือประมวลสรรพคุณยาไทย บรรยายคุณสมบัติทางยาของผักตบไทยเอาไว้ว่า “รสเย็น ใช้ทาหรือพอก ถอนพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน” ในเกาะเซลีเบส ของอินโดนีเซีย นำเหง้าผักตบมาตำรวมกับถ่านไม้ ใช้พอกแก้ขี้รังแคบนศีรษะ ในเกาะเซลีเบสยังใช้ต้น( เหง้า ) และใบผักตบมาต้มเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย เช่นเดียวกับที่ชาวไทยนำผักตบชวามาเลี้ยงหมู ในอดีตเมื่อผักตบยังหาได้ง่ายนั้น (และยังไม่มีผักตบชวา) ชาวไทยก็คงใช้ผักตบเป็นอาหารสัตว์ด้วยเหมือนกัน
เนื่องจากผักตบไทยมีก้านใบแข็งและยาวกว่าผักตบชวา รวมทั้งใบเรียวแหลมงดงามกว่าผักตบชวา เติบโตช้า ดอกมีสีสวยงามเฉพาะตัว จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านเรือนได้ เช่นปลูกในกระถางที่ใส่โคลนเลนและขังน้ำได้ เหมือนกระถางปลูกบัวประดับที่นิยมกันในปัจจุบัน


จึงขอแนะนำว่าผู้อ่านที่มีบริเวณบ้านพอสำหรับตั้งกระถางกลางแจ้งได้ ลองหาผักตบไทยมาปลูกเอาไว้บ้าง เพราะนอกจากจะได้ผัก สมุนไพร และไม้ประดับเอาไว้ใกล้ตัวแล้ว ยังจะได้มีส่วนอนุรักษ์ผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยชนิดหนึ่ง เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก และใช้ประโยชน์อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

ข้อมูลสื่อ

193-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 193
พฤษภาคม 2538
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร