• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หญิงไทยเหยื่อเอดส์ (ตอนจบ)

หญิงไทยเหยื่อเอดส์ (ตอนจบ)

หญิงไทยซึ่งมีจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของประชากรไทย และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาของบุตรหลานในครอบครัว และต่อความสัมพันธ์และทุกข์สุขของสมาชิก ในครอบครัวค่อนข้างมาก จึงน่าจะนำมาพิจารณากันว่าหญิงไทยควรมีบทบาทอย่างไรในปัจจุบันในการป้องกัน และลดผลกระทบจากโรคเอดส์ได้อย่างไรบ้าง โดยในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันผู้หญิงซึ่งเป็นเพศเดียวกับตัวที่กำลังตกเป็นเหยื่อของโรคเอดส์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งดีไม่ดี อาจเป็นตัวเองหรือญาติพี่น้องของตัวเองที่ตกเป็นเหยื่อก็ได้

หญิงในฐานะภรรยา
ทำอย่างไรจึงจะพูดคุยกับสามีให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน และมีความตระหนักในการป้องกันโรคเอดส์ ซึ่งจะก่อประโยชน์ต่อครอบครัวเป็นส่วนรวม และจะพัฒนาตัวเองอย่างไรจึงจะผูกใจสามี หรือรักษาความหวานชื่นของชีวิตสมรสไปได้ตั้งแต่ต้นจรดปลาย
ขณะเดียวกันภรรยาจะต้องรู้จักพิทักษ์สิทธิในการป้องกันตนเองจากโรคเอดส์ ถ้ามีเหตุอันเชื่อได้ว่าสามีอาจกำลังจะแพร่โรคเอดส์มาให้ เช่น ภรรยาจะต้องเรียนรู้ทักษะในการปฏิเสธการร่วมเพศกับสามีโดยไม่มีถุงยางอนามัยป้องกัน ถ้าทราบว่าสามีเพิ่งไปเที่ยวนอกบ้านมา หรือยังไม่ได้มีการไปตรวจพิสูจน์ว่าปลอดเอดส์หลังจากไปเที่ยวนอกบ้านมา เกี่ยวกับเรื่องนี้จำต้องมีมาตรการทางกฎหมาย และการรองรับทางสังคมที่จะให้ความช่วยเหลือหญิงที่ถูกสามีที่ไม่รับผิดชอบข่มเหงรังแกทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อถูกภรรยาปฏิเสธการร่วมเพศโดยไม่มีเครื่องป้องกัน
นอกจากนี้หญิงที่มีสามีที่ติดเชื้อเอดส์จะต้องเรียนรู้ วิธีที่จะดูแลรักษาร่างกายและจิตใจของสามี การให้กำลังใจและความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับสามีโดยตัวเองต้องมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อ
 

หญิงในฐานะมารดา
ก่อนจะตั้งครรภ์ควรสำรวจความพร้อมโดยการตรวจเอดส์ทั้งตนเองและสามี เพื่อป้องกันผลกระทบต่อลูกจะเกิดมา ถ้าเกิดตรวจพบเอดส์หลังจากตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้วก็จำต้องรับทราบโอกาส และทางเลือกต่าง ๆ ที่สังคมและวงการแพทย์เปิดให้ในการยุติการตั้งครรภ์หรือการตั้งครรภ์ต่อไป ซึ่งรวมถึงสิทธิการได้ยาที่จะช่วยลดอัตราเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอดส์ไปสู่ลูก
ในฐานะของแม่ทั่ว ๆ ไป แม่จะอบรมลูกชายอย่างไรให้มีทัศนคติที่จะไม่รังแกหรือกดขี่เพศหญิง การให้เกียรติเพศหญิงโดยเลิกคิดว่าหญิงเป็นเพียงของเล่น หรือเครื่องบำเรอความสุขของชาย การสอนลูกเกี่ยวกับค่านิยมของการเป็นชายต้องเปลี่ยนไปจากเดิม
ส่วนการสอนลูกสาว นอกจากจะเน้นเรื่องการรักนวลสงวนตัวเหมือนเดิมแล้ว แม่จะต้องสอนลูกสาวให้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของชาย และกลยุทธ์ในการหลอกล่อหรือป้องกันตนเองจากการถูกเพื่อนชายล่วง-เกินทางเพศ กลยุทธ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยาก แม่ส่วนใหญ่เองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเหล่านี้ คงต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ หรือจากคำแนะนำของท่านผู้รู้ต่าง ๆ การห้ามปราบลูกไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส และการรับคำปรึกษาและตรวจเช็กเอดส์ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรือก่อนสมรสทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายก็เป็นสิ่งสำคัญในยุคเอดส์เฟื่องฟู นอกจากนี้การให้ความรัก ความอบอุ่นแก่ลูกก็จะเป็นวิธีที่ป้องกันไม่ให้ลูกคบเพื่อนที่ไม่ดี หรือหันเหไปติดยาเสพติด
 

หญิงในฐานะนักวิชาชีพ
ผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นครู เป็นแพทย์ หรือเป็นพยาบาล หรือมีอาชีพอะไรก็ตามที่ต้องสัมผัสกับประชา-ชน ก็สามารถทำประโยชน์ในการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์แก่ประชาชนได้ทั้งสิ้น ซึ่งอาจกระทำโดยเป็นภาระหน้าที่โดยตรง (เช่น ครู แพทย์ พยาบาล) หรือกระทำโดยการสอดแทรกไปกับภาระหน้าที่หลักอื่น ๆ ตามโอกาสต่าง ๆ ที่ได้พบปะกับประชาชน หรือตามสื่อต่าง ๆ ของหน่วยงาน เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ ก็สามารถพิมพ์ข้อความที่จะกระตุ้นความตระหนักของประชาชนเกี่ยวกับโรคเอดส์ได้ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมากนัก เป็นต้น เพียงแต่ว่าให้ทุกคนมีความตระหนักว่าการรณรงค์ให้ประชาชนมีความตระหนักเรื่องโรคเอดส์เป็นภาระหน้าที่ของทุกคนในชาติที่ต้องช่วยกันคิดและช่วยกันทำ โดยไม่จำเป็นต้องรอนโยบายหรืองบประมาณมาจากแหล่งเหนือ
 

หญิงในฐานะผู้นำชุมชน
ผู้นำชุมชนที่หมายถึงอาจเป็นนักการเมืองระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น อาจเป็นภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดหรือภรรยานายอำเภอ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัด กาชาดอำเภอ หรือผู้นำสตรีในตำบล เป็นต้น ผู้หญิงเหล่านี้ล้วนอยู่ในฐานะที่จะริเริ่มหรือร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก การรณรงค์หาทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมหรือเพื่อสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อ การสร้างที่พักพิงให้ผู้ติดเชื้อและการอบรมอาสาสมัครให้ช่วยดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ที่บ้านและในชุมชน เป็นต้น

จากที่กล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าหญิงไทยกำลังได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่อาจตกเป็นเหยื่อของโรคเอดส์เอง และได้รับผลกระทบจากการที่สามี ลูก หรือพ่อติดเชื้อเอดส์ ทำให้ขาดรายได้ที่จะช่วยจุนเจือครอบครัวและเป็นภาระที่จะต้องช่วยดูแลรักษาในบ้าน นอกจากนี้พลังหญิงในรูปแบบต่าง ๆ กัน ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการป้องกันและลดผลกระทบจากโรคเอดส์ในครอบครัวและชุมชนได้ จึงใคร่จะเห็นหญิงไทยในทุกฐานันดรและทุกสาขาอาชีพตระหนักถึงศักยภาพและคุณค่าของตัวเอง กระโดดเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์กับภาครัฐฯ และเอกชนที่กำลังดำเนินอยู่ในท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของครอบครัวตนเองและของชุมชนและประเทศชาติในที่สุด

 

ข้อมูลสื่อ

195-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 195
กรกฎาคม 2538
ศ.นพ.ประพันธ์ ภานุภาค