ความเป็นพิษของวิตามินเกินขนาด
ปัจจุบันคนไทยหันมาสนใจ เรื่องสุขภาพกันมากกว่าในอดีต เรื่องของการกินอยู่อย่างไรเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เจ็บป่วย เพราะสิ่งแวดล้อมรอบด้านล้วนแต่เป็นพิษภัยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอากาศ น้ำ ดิน แม้กระทั่งคนซึ่งทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้ตน ทั้งที่ทำโดยความไม่รู้และผู้ที่นำความรู้มาหันเหบิดเบือนจากความเป็นจริง เพื่อให้คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หลงเชื่อ ดังนั้น การมีชีวิตอยู่ในสังคมทุกวันนี้ ต้องมีความหนักแน่น ใช้วิจารณญาณให้มาก เพื่อไม่ให้หลงในคำโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
การใช้ยาเพื่อบำรุงสุขภาพ โดยเฉพาะวิตามิน ในลักษณะของยาเม็ดหรือการใช้วิตามินในขนาดสูง ๆ ในการบำบัดโรคต่าง ๆ เริ่มมีมากขึ้น ขณะเดียวกันการได้รับวิตามินในขนาดสูง ก็จะก่อผลเสียคือเกิดภาวะเป็นพิษได้เช่นกัน การซื้อวิตามินมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอจะทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมจากพิษที่สะสมได้เช่นกัน
ภาวะความเป็นพิษจากการได้รับวิตามินเกินขนาด
วิตามินเอ
เซลล์ตับจะเป็นแหล่งที่สะสมวิตามินเอ ควบคุมดูแลไม่ให้เกิดภาวะวิตามินเอเป็นพิษถ้าได้รับวิตามินเอเกินขนาด กลไกตามธรรมชาติที่ควบคุมการเผาผลาญและการนำวิตามินไปใช้โดยไม่ให้เกิดพิษนั้น มี 2 ประการคือ ร่างกายจะไม่เปลี่ยนสารต้นตอของวิตามินเอจากพืช (provitamin A) ให้เป็นวิตามินเอในทางเดินอาหาร และจะมีเพียงกระบวนการออกซิเตชั่นเท่านั้นที่จะเปลี่ยนวิตามินเอให้อยู่ในรูปที่ทำงานได้ พร้อมกับจะมีการสลายทำลายอย่างรวดเร็ว และขับทิ้งออกจากร่างกาย
อย่างไรก็ดี ตับมีความสามารถจำกัด เพราะเมื่อได้รับวิตามินเกินขนาดเป็นเวลานาน(มากกว่า 1.000 เท่าของความต้องการปกติของร่างกายต่อวัน ปกติร่างกายต้องการวันละ 700 ไมโครกรัม หรือ 23,000 หน่วยสากล) จะพบระดับของวิตามินเอในเลือดสูงมาก ซึ่งจะจับกับไลโปโปรตีนมากกว่าที่จะจับโปรตีน (retinol binding protein) ที่พาวิตามินเอเข้าสู่ตับ ความผิดปกติที่พบได้ในคนคือการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่าง ๆ ในสัตว์จะมีความผิดปกติของกระดูก และพบว่าภาวะวิตามินเอเป็นพิษทั้งในคนและสัตว์ ทำให้ทารกหรือตัวอ่อนที่คลอดออกมามีความพิการแต่กำเนิด เพราะวิตามินเอมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อ และทำให้มีการปล่อยเอนไซม์(lysosomal enzyme) ออกมาทำลายเนื้อเยื่อของตัวเองด้วย
หากร่างกายได้รับวิตามินเอเกินจะเกิดความเป็นพิษต่ออวัยวะต่าง ๆ (ดูตาราง)
วิตามินดี
ปกติวิตามินดีมี 2 รูปด้วยกัน คือ
1) วิตามินดี 2 พบได้ในพืช รา ไลแคน และสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง พวกหอยทาก หนอน
2) วิตามินดี 3 พบได้ในน้ำมันตับปลา น้ำมันปลา
ถ้ากินวิตามินดีเกินขนาด คือ กินมากกว่าความต้องการของร่างกาย 100 เท่า (ความต้องการวิตามินดี
ในทุกอายุคือ 400 หน่วยสากลต่อวัน) จะทำให้เป็นพิษต่อร่างกาย และวิตามินดี 3 จะมีพิษแรงกว่าวิตามินดี 2 มากคือ 10-20 เท่า
การกินวิตามินดีเกินขนาดจนทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ เป็นเหตุให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากทางเดิน
อาหารมากกว่าปกติ และเร่งการสลายแคลเซียมจากกระดูก ทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง(hypercalcernia) ในที่สุดระดับแคลเซียมในเลือดจะเสียสมดุล ผลที่ตามมาคือแคลเซียมและฟอสเฟตจะไปเกาะตามอวัยวะต่าง ๆโดยเฉพาะที่หัวใจ ไต รวมทั้งหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ทำให้อวัยวะเหล่านี้ทำงานผิดปกติ
แต่การสร้างวิตามินดีที่ผิวหนังจะไม่ทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ
อาหารวิตามินดี เป็นพิษที่พบได้ คือ เบื่ออาหาร ทางเดินอาหารปั่นป่วน ไม่สบายท้อง ปวดศีรษะ
เจ็บปวดตามข้อ ปัสสาวะมาก แคลเซียมในเลือดสูง แคลเซียมเกาะตามอวัยวะต่าง ๆ
วิตามินอี
วิตามินอีนับว่าเป็นวิตามินที่มีพิษน้อยมาก การกินวิตามินอีสูงมาก ๆ อาจมีผลกระทบต่อวิตามินตัว
อื่นๆ เช่น ขัดขวางการดูดซึมวิตามินเอและวิตามินเค
มีบางการศึกษาที่รายงานว่าคนที่กินวิตามิอีสูงถึง 1,000 ยูนิตต่อวัน (ร่างกายต้องการวิตามินอีวันละ
12-15 ยูนิต) จะมีอาการปวดศีรษะ เมื่อยล้าตามตัว คลื่นไส้ เห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ท้องไส้-ปั่นป่วน ไม่สบายท้อง และถ้าได้รับวิตามินอี 1,200 ยูนิตต่อวัน จะทำให้เลือดแข็งตัวช้าผิดปกติ
วิตามินเค
ในสัตว์ทดลองยังไม่พบความเป็นพิษของวิตามินเคที่ได้รับจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะให้ขนาดสูงเท่าใด
แต่วิตามินเคที่สังเคราะห์ขึ้นมาจากแบคทีเรียจะทำให้เกิดพิษได้ถ้าได้รับในขนาดสูง (สูงกว่าความต้องการของร่างกาย 3 เท่า ร่างกายต้องการวิตามินเค 140 ไมโครกรัมต่อวัน) เช่น ทำให้ทารกเกิดภาวะโลหิตจาง น้ำดีคั่งในเลือด และมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองรุนแรง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อกระบวนการออกซิเตชั่น และกดการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นมากแต่ถูกทำงานน้อยนี่เองที่จะทำอันตรายต่อเซลล์ปกติ
วิตามินบี 1
ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นพิษของวิตามินบี 1 ยังมีการศึกษากันน้อยมากทั้งในสัตว์ทดลองหรือในคน
เราก็ตาม การศึกษาส่วนใหญ่ที่ทำการเผยแพร่ถึงความเป็นพิษของวิตามินบี 1 จะเป็นวิตามินบี 1 ในรูปของไทอามีนไฮโดรคลอไรด์ที่กินสูงถึง 1,000 เท่าของขนาดที่ใช้ป้องกันการขาด (2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) จะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เพราะศูนย์ควบคุมการหายใจจะถูกกดหรือถ้าได้รับวิตามินบี 1 ทางหลอดเลือดดำ ในขนาดที่สูงกว่าปกติ 100 เท่า (ปกติร่างกายต้องการวิตามินบี 1 วันละ 1 มิลลิกรัม) จะทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ผื่นแพ้ ซีด เกิดอัมพาต หัวใจเต้นผิดปกติ
วิตามินบี 2 (ไรโบเฟลวิน)
ความเป็นพิษของวิตามินบี 2 นั้นมีน้อยมาก ปัญหาทางสุขภาพที่จะเกิดจากการได้รับเกินขนาดจึง
พบได้ยากหรือไม่พบเลย ถึงแม้จะให้ไรโบเฟลวิน 2-10 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ในสุนัขและหนูก็ยังไม่พบอาการความเป็นพิษใด ๆ เลย (ร่างกายต้องการวิตามินบี 2 วันละ 1.2 - 1.7 มิลลิกรัม)
วิตามินบี 3 (ไนอาซีน)
โดยทั่วไปแล้ว ไนอาซีนมีพิษน้อยมาก ต้องให้ขนาดสูงถึง 10-20 เท่าจึงจะเริ่มปรากฏความเป็นพิษ
ในสัตว์ทอลอง ในคนพบว่าจะให้ขนาดสูง ๆ เพื่อใช้ในการรักษาจะมีฤทธิ์ใกล้เคียง คือทำให้เกิดผื่นแดง ลมพิษ ระบบย่อยอาหารถูกรบกวน เช่น อืดอัดแน่นท้อง มีอาการแสบอก แสบกระเพาะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายการได้รับไนอาซินขนาดสูง ๆ ทำให้เกิด glucose tolerance ยูเรียในเลือดสูง (ร่างกายต้องการไนอาซีนวันละ 13-18 มิลลิกรัม)
วิตามินบี 6 (ไพริดอกซีน)
ความเป็นพิษของวิตามินบี 6 นั้นมีน้อย มีรายงานพบความเป็นพิษของวิตามินบี 6 ถ้าได้รับในปริมาณสูงหลาย ๆ กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ร่างกายต้องการวิตามินบี 6 วันละ 2 มิลลิกรัม)จะทำให้ประสาทรับสัมผัสสูญเสียหน้าที่ไป มีอาการชัก ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเกิดจากขนาดที่ใช้ในการรักษาที่มากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่ใช้ยา L-dopa ในการรักษาต้องระมัดระวังการได้รับวิตามินบี 6 เกินขนาด การได้รับวิตามินบี 6 เกินขนาด ในปริมาณ 10-25 มิลลิกรัม จะขัดขวางการทำงานของ L-dopa
วิตามินซี
ได้มีการศึกษาอ้างถึงการได้รับวิตามินซีในขนาดสูง จะเพิ่มอัตราการเกิดนิ่วเนื่องจากมีการขับวิตามินซีออกมาในรูปออกซาเลตและกรดยูริก มากกว่าปกติ เพิ่มอัตราการทำลายวิตามินบี 12 ในลำไส้ ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาขัดแย้งว่าวิตามินซีมิได้มีผลดังกล่าว อย่างไรก็ควรระมัดระวังในการกินวิตามินซีขนาดสูง ๆ แก่คนที่มีแนวโน้มจะเป็นนิ่วในไตหรือเคยเป็นมาก่อน ผลข้างเคียงเพียงอย่างเดียวที่พบแน่นอนเมื่อกินวิตามินซีขนาดสูง ๆ คือ อาการไม่สบายท้อง ปั่นป่วนท้อง และอาจมีท้องเสียร่วมด้วย (ร่างกายต้องการวิตามินซีวันละ 60 มิลลิกรัม)
ส่วนวิตามินบี 12 โฟเลทและไบโอติน
ยังไม่พบว่ามีภาวะเป็นพิษเกิดขึ้น ถึงแม้คนเราจะได้รับขนาดสูงเป็น 100 เท่าของความต้องการของ
ร่างกาย นอกจากโฟเลท ซึ่งบางการศึกษาพบว่ามีผลขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุปริมาณน้อย เช่น สังกะสี แต่ก็ยังไม่ทำให้ภาวะสังกะสีบกพร่องแต่อย่างใด
สรุป
วิตามินคือ สารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น การเลือกกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ก็จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินอย่างครบถ้วน การหวังพึ่งวิตามินในรูปของยาเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็ก
ผลที่ได้จากการใช้วิตามินในรูปของยายังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันอีกมาก เพราะข้อมูลบาง
อย่างยังไม่มีความแน่นอนแล้วยังมีผลเสียตามมา
- อ่าน 137,160 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้