• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สร้างครอบครัวให้เป็นสุข

สร้างครอบครัวให้เป็นสุข


คุณเคยลองตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า

“ทำไมคุณจึงอยากมีครอบครัว”

“คุณฝันที่จะมีครอบครัวแบบไหน”

“คุณคิดจะสร้างครอบครัวให้มีสุขด้วยวิธีอะไร”

แม้คุณจะเคยถามตัวเองมาแล้ว ก็ขอให้ลองถามซ้ำและหาคำตอบอีกครั้งหนึ่ง

คำตอบที่คุยได้รับจากตัวเองในวันนี้ อาจแตกต่างจากคำตอบเมื่อหลายเดือนหรือหลายปีก่อน หลายคนอาจใช้ชีวิตครอบครัวมานาน บางคนอาจเพิ่งเริ่ม หรือกำลังจะเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวรุ่นใหม่หรือครอบครัวรุ่นลายคราม เราเชื่อว่าทุกคนต่างก็มุ่งหวังที่จะมีครอบครัวที่มีความสุข

การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวในหมอชาวบ้านครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นประการหนึ่งที่จะร่วมสร้างสรรค์ให้ชีวิตครอบครัวเป็นสุข แม้จะเป็นเพียงการนำเสนอทัศนะและประสบการณ์ในบางแง่มุม แต่เราก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวหมอชาวบ้านในการสร้างครอบครัวบ้างไม่มากก็น้อย และเพื่อเป็นการต้อนรับวันที่ 14 เมษายน 2537 ซึ่งเป็นวันครอบครัวและต้อนรับปี 2537 ซึ่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นปีครอบครัวสากลด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวไม่งดงามดั่งฝัน

ตามธรรมเนียมไทยแล้วชีวิตคู่หรือครอบครัวชุดใหม่เริ่มต้นหลังจากเข้าพิธีมงคลสมรส รับศีลรับพรจากญาติผู้ใหญ่ ทุกๆ คู่ ทุกๆ ครอบครัวต่างก็ช่วงกันประคับประคองเรือชีวิตให้แล่นไปตามที่ตนเองฝันไว้ แต่ตามที่สุภาษิตโบราณว่าไว้ การใช้ชีวิตคู่ก็เหมือนลิ้นกับฟันที่ต้องมีการกระทบกระทั่งกันเป็นของธรรมดา บางครอบครัวรู้แจ้งถึงข้อเท็จจริงอันนี้ ก็สามารถพาเรือฝ่าคลื่นลมไปได้ แต่หลายๆ คู่พลาดพลั้ง เรื่องเล็กจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ บรรยากาศภายในบ้านเต็มไปด้วยเมฆหมอกของความขัดแย้งและความไม่สบอารมณ์ ทำไมจึงเป็นแบบนั้น!

1. การเลือกคู่ครอง

  • คนส่วนมากเลือกสิ่งที่ตัวเองขาด

ในการเลือกคู่ครอง คนส่วนใหญ่มักไม่เลือกคนที่เหมือนกับตัวเอง แต่จะเลือกคนที่มีลักษณะต่างจากตนเองเพื่อมาเติมส่วนขาดให้ตัวเราโดยที่ลืมนึกไปว่าส่วนขาดที่มาเติมให้นั้นเติมให้กันไม่ได้ เพราะเป็นคนละคนกัน ในทางตรงกันข้ามเมื่อเราต้องมาอยู่กับคนที่ไม่เหมือนกับเราความต่างทำให้กลายเป็นข้อขัดแย้งเสียมากกว่า เช่น เรารู้สึกว่าเราเป็นคนช่างคิด เราอยากได้คนแบบที่มีอารมณ์ความรู้สึกหน่อยพอยู่กันไปกลายเป็นอีกฝ่ายบอกว่า “เอะอะอะไรนิดหน่อย ทำไมเธอกลายเป็นคนคิดมาก” นี่คือ ข้อขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้น

  • มีความคาดหวัง

เมื่อตอนเราเป็นคนรักกัน เราจะมีความคาดหวัง เราคิดว่าเรามีคนรักที่เข้าใจเราดีทุกอย่าง ฉะนั้นเราก็หวังมากกว่าการมีคนรักจะทำให้เรามีชีวิตที่อบอุ่นไม่มีปัญหา ความคาดหวังเหล่านี้อันตราย เพราะว่าชีวิตคนเราพอผิดคาดผิดหวังจะมีอารมณ์ มีความน้อยใจ มีความขุ่นข้องหมองใจเกิดขึ้น

  • บทบาทที่แปรเปลี่ยนไปในปัจจุบัน

สมัยก่อนเราแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูกผู้ชายออกไปทำงาน สมัยนี้ทั้งสองคนออกไปทำงานนอกบ้าน ฉะนั้นการเข้ามาอยู่ร่วมกันในบ้านต้องเป็นลักษณะมาช่วยเหลือกัน ซึ่งตรงนี้ผู้ชายไม่เคยทำมาก่อน เพราะฉะนั้นผู้ชายส่วนมากก็ไม่ค่อยได้ช่วย ผู้หญิงอยากให้สามีช่วย ก็ไม่รู้ว่าจะใช้วิธีอย่างไรบอกเขา บางทีใช้วิธีบ่นว่า “นี่ทำไมคุณไม่เก็บจานเสียทีนะ” ก็ยิ่งทำให้มีปัญหาทั้งสองฝ่าย เพราะผู้ชายไม่ได้ถูกต้องดูมาให้ช่วยงานภายในครอบครัว ผู้หญิงเองก็ไม่รู้ว่าวิธีการยังไงจึงทำให้เขามาช่วยเราบ้าง

2. พฤติกรรมการสื่อสารภายในครอบครัว

ในสมัยก่อนบทบาทของครอบครัวมีลักษณะแบ่งสรรหน้าที่กัน พ่อทำงานนอกบ้าน หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว ไม่มีเมียน้อย ไม่เที่ยวกลางคืน ภรรยาก็ดูแลบ้าน ดูแลลูกไม่ไปเล่นไพ่ เป็นครอบครัวที่อบอุ่น แต่สมัยนี้ไม่ได้ผูกพันด้วยหน้าที่แล้ว เพราะทั้งสองฝ่ายต่างทำงานนอกบ้าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะผูกพันกันได้ต้องเป็นเรื่องของการสื่อสาร พูดจากัน

ปัจจุบันความต้องการของครอบครัวไม่ได้อยู่ตรงที่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเอง แต่อยู่ที่ว่าได้มีความเข้าใจ ได้มีการให้กำลังใจสนับสนุนซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะได้มาก็ต้องมีการพูดจากัน การพูดจาทางลบจะนำมาซึ่งปัญหามากมาย มีวิธีการพูดหลายๆ แบบที่ทำให้ความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ดี แล้วเขาก็จะตอบโต้เราไม่ดีด้วย

วิธีการพูดที่ก่อผลทางลบ พอจะประมวลได้ ดังนี้

  • วิธีการสั่ง

เช่น บอกว่า “คุณเอาจานไปเก็บด้วยนะ” หรือ “วันนี้คุณเอาลูกไปส่งให้ทันเวลานะ” นี่เป็นวิธีการที่เรียกว่า “สั่ง คนที่ถูกสั่งก็รู้สึกว่า “ฉันเป็นอะไร ฉันไม่ใช่คนใช้ของเธอนะ” หรือ “ฉันไม่ใช่ลูกจ้างเธอนะ”

  • วิธีการสอน

เช่น บอกว่า “สมัยนี้ผู้ชายเขาต้องช่วยงานบ้านนะ คุณน่ะกินข้าวไม่เคยเก็บจานเลย” พอสอนก็ส่งผลแบบเดียวกัน คือ คนฟัง ฟังแล้วรู้สึกไม่ดี คือปัญหาเขาไม่ได้ไม่รู้ แต่เขาไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ฉะนั้นการไปสอนเขาก็ทำให้คนฟังรู้สึกไม่ดี

  • วิธีการเปรียบเทียบ

เช่น “คุณดูสิ สามีข้างบ้านไม่เห็นเหมือนกับคุณเลย” หรือว่า “คุณดูข้างบ้านสิ ภรรยาเขาไม่เห็นพูดมากเหมือนกับคุณเลย” วิธีการเปรียบเทียบนี้คนเกลียดมาก พอเปรียบเทียบ อีกฝ่ายจะต่อต้านทันที โดยอาจจะเถียงกลับ หรืออาจจะเก็บกดเอาไว้ ไม่พูด แต่ว่าตกตะกอนเป็นความรู้สึกขัดแย้งในจิตใจ

  • ใช้วิธีสืบสวน

เช่น “ทำไมคุณถึงกินข้าวแล้วไม่เอาจานไปล้าง” หรือ “ทำไมคุณส่งลูกไปโรงเรียนสาย”

  • การกล่าวหา

เช่น “คุณไม่เคยเอาจานไปเก็บเลย” หรือ “คุณไม่เคยส่งลูกตรงเวลาเลย”

  • วิธีขู่

เช่น “ถ้าคุณไม่เอาจานข้าวไปเก็บ ฉันก็ไม่ล้านจานให้คุณแล้ว” แต่จริงๆ ก็ล้างให้ คือ คาดคั้นว่าเราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่า “ถ้าต่อไปคุณไปส่งลูกไม่ตรงเวลา ผมว่าคุณจ้างรถมารับดีกว่า” หรือว่า “ต่อไปผมจะไม่ให้คุณไปส่งแล้ว” อันนี้ก็เป็นการขู่

  • การประชดประชัน

เช่น “คุณไม่มีมือหรือไง” หรือ “นาฬิกาคุณเดินตรงหรือเปล่า”  ลักษณะการพูดด้านลบ จะมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ พูดแล้วอีกฝ่ายเขารู้สึกเหมือนกับเขาถูกกล่าวหา ถูกลดคุณค่า ขณะที่การอยู่ด้วยกัน ความรู้สึกว่าตัวเองมีค่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะคนเราตอนที่รักกันครั้งแรก ตัวที่ผูกพันกัน คือความหวานชื่น แต่พอมาแต่งงานกันอยู่ด้วยกันไปสักพักความหวานชื่นจะลดลงไปเรื่อย จนกระทั่งอยู่ในระดับพื้นๆ ใครที่หวังว่าชีวิตสมรสจะต้องหวานเหมือนตอนก่อนแต่งงานนั้น อาจลงเอยด้วยการหย่าทุกราย เพราะหวังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความหวานชื่นอยู่เลย แต่จะหวังไว้สูงเหมือนตอนแรกไม่ได้ ฉะนั้นครอบครัวจะอยู่ได้ต้องมีความผูกพัน ความผูกพันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีค่า แล้วเราก็ผูกพันกันได้ เพราะเรารู้สึกว่ามีอะไรเราพูดกันได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับครอบครัว

จะสร้างสรรค์ครอบครัวให้อบอุ่นได้อย่างไร

  • มีการพูดจาที่ดีต่อกัน

การพูดจาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ถ้าเรามีวิธีพูดจาที่ดี ปัญหาก็จะไม่ใหญ่โต ขณะเดียวกันถ้าเราปล่อยให้ปัญหาใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะพูดจากันดีๆ ไม่ได้ เวลาเราพูดกัน สื่อสารกันทางลบ เราจะรู้สึกว่าเราไม่มีค่า เมื่อรู้สึกเช่นนั้นความผูกพันจะลดลง

วิธีที่จะสื่อสารที่ดีที่สุด คือ การบอกเจตจำนงตัวเองอย่างตรงไปตรงมา หรือบอกความต้องการของเรา
เช่น “พี่คะเค้าอยากให้พี่ช่วยเก็บจานด้วยนะหลังจากกินข้าวแล้ว” ลักษณะการพูดแบบนี้ดีที่สุด คือ เริ่มต้นจากตัวเรา ฉันอยากให้ เค้าอยากให้ อยากให้เขาทำอะไรก็บอกอีกฝ่ายจะไม่รู้สึกว่าถูกลดคุณค่าตรงกันข้ามจะรู้สึกว่าตนเองได้รับเกียรติ เพราะว่าเขาขอความช่วยเหลือ ถ้าทำให้เขาได้ คือ เรามีค่า และถ้าจะให้ดี ควรมีการสื่อสารสองทาง เช่น ถามต่อว่า “ได้ไหมคะ” ส่วนใหญ่คนจะบอกว่า “ได้ / โอเค ผมลืมไป ขอโทษทีนะ ทุกครั้ง ได้นึกถึงเลย” ถ้าเราสื่อสารด้วยความตรงไปตรงมาแบบนี้จะไม่ค่อยมีปัญหา ที่สำคัญคือ เราต้องเป็นเริ่มก่อน อย่าไปบอกว่าฉันพูดดีอยู่ฝ่ายเดียว เขาก็ไม่พูดดีด้วยหรอก

ระบบครอบครัวเป็นระบบความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน เวลาฝ่ายหนึ่งเปลี่ยน อีกฝ่ายหนึ่งก็จะเปลี่ยนตาม ไม่จำเป็นว่าทั้งสองฝ่าย พร้อมกัน แล้วจะต้องนัดแนะกันเปลี่ยนว่า ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป 8 โมงเช้า เราต้องเปลี่ยนมาพูดอย่างนี้ แต่เกิดจากการที่ว่าต้องมีฝ่ายริเริ่มว่าคุณเป็นฝ่ายหญิงเราริเริ่มก่อนก็ได้ ถ้าคุณเป็นฝ่ายชายริเริ่มก่อนก็ได้ พอริเริ่มแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็จะเห็นเอง แล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็จะเปลี่ยนด้วย หากยังมีการพลั้งเผลอ พูด แบบด้านลบออกไปบ้าง วิธีแก้ไข คือ ขอโทษ บางคนอาจจะบอกว่าไม่ขอโทษ ก็ฉันไม่ผิดนี่

จริงๆ แล้วการขอโทษเป็นสิ่งสำคัญ เวลาที่เราทำแล้วเขารู้สึกไม่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดก็เป็นเรื่องที่ขอโทษได้ เหมือนกับเวลาเราขอโทษคน ไม่ใช่เพราะเราเจตนาทำผิด แต่ผลที่ออกมาไม่ดี เราก็สามารถขอโทษได้ เรามักขอโทษคนอื่นได้ แต่เราไม่ค่อยขอโทษคนภายในครอบครัว แล้วเวลาขอโทษก็ควรจะขอโทษอย่างจริงใจ ไม่ใช่ “เออ ขอโทษก็ขอโทษ” อย่างนี้อีกฝ่ายหนึ่งเขาก็ไม่รู้สึกว่ายกโทษให้ การพูดจาที่ดีต่อกัน ไม่ใช่หมายถึงการใช้คำพูดอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้ภาษาท่าทางอีกด้วย เช่น เราตะโกนบอกว่า “วันนี้คุณอย่ากลับบ้านดึกนะ” นี้เป็นวิธีการพูดที่ไม่ดีเลย เพราะเป็นการตะโกนและไม่ได้พูดกันต่อหน้า ทางที่ดีก่อนที่เขาจะออกจากบ้าน เราพูดกับเขาต่อหน้า มองตาเขาแล้วบอกว่า “วันนี้ฉันอยากให้คุณกลับบ้านแต่วันหน่อยได้มั้ยค่ะ”

ไม่ว่าน้ำเสียง หรือระยะห่างที่พูดกัน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในการปฏิเสธก็เช่นกัน ไม่ควรปฏิเสธด้วยน้ำเสียแบบแสดงความไม่พอใจ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน การปฏิเสธด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล จะทำให้ความรู้สึกขัดใจกัน หรือไม่เข้าใจกัน ไม่เกิดขึ้น

อย่าเอาชนะกันด้วยเหตุผล

เวลาที่เกิดความขัดแย้งนั้น สาเหตุที่ลงเอยกันไม่ได้ เพราะคนเรามักจะเอาชนะกันด้วยเหตุผล เช่น สมมติว่าพูดไม่ดี หลายคนมักจะบอกว่า “ขอโทษทีนะ แต่ที่ฉันโมโหเพราะเธอเริ่มก่อน” ถึงตอนนี้เราใช้เหตุผลแล้วว่า เพราะคุณเริ่มก่อนฉันจึงเริ่มบ้าง หรือมีสามีภรรยาคู่หนึ่งไปซื้อของ

ฝ่ายชาย “อย่าซื้อ”

ฝ่ายหญิง “ทำไมล่ะ”

ฝ่ายชาย “โอ๊ย มันแพง ผมเคยเห็นถูกกว่านี้”

ฝ่ายหญิง “ที่คุณเห็นน่ะมันไม่สวยเท่านี้หรอก”

นี่แสดงว่า เริ่มสู้กันด้วยเหตุผลแล้ว บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งบานปลาย เพราะการเถียงกันด้วยเหตุผล โดยที่เราเข้าใจว่าเหตุผล คือ ความถูกผิด สามีภรรยาอีกคู่หนึ่งไปตลาด ภรรยาเห็นเห็ดหอมสดก็บอกว่า “คุณช่วยซื้อเห็ดหอมสดให้ครึ่งโลสิ” สามีบอกว่า “ที่บ้านก็มีเห็ดหอมแล้ว” “ที่บ้านมี แต่เป็นเห็ดหอมแห้ง นี่มันเห็ดหอมสด” ฝ่ายชายก็บอกว่า “เห็ดหอมแห้งกับเห็ดหอมสดไม่ใช่เห็ดหอมเหมือนกันหรือ”

คราวนี้ผู้หญิงโมโหแล้ว “คุณนี่บ้าหรือเหล่า เห็ดหอมแห้งกับเห็ดหอมสดมันเหมือนกันเหรอ” ก็ทะเลาะกันต่อหน้าผู้คนในตลาดนั่นเอง แต่ถ้าเราเริ่มต้นกันง่ายๆ ว่า “ฉันอยากกินเห็ดหอมสดเราซื้อกันสักครึ่งโลนะ” จะไม่มีปัญหาเลย เพราะเรา ‘อยากกิน’ ความอยากกินไม่มีความถูกความผิด การมองด้ว

เหตุผลทำให้ต่างคนต่างก็เอาชนะ แต่ครอบครัวเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ควรมีการเอาชนะ เพราะคนที่แพ้ก็รู้สึกว่าฉันแพ้ ก็ไม่มีใครอยากแพ้ และก่อเป็นความขุ่นข้องหมองใจต่อกัน ฉะนั้นเวลาที่ขัดแย้งกันอย่าเอาชนะด้วยเหตุผล พยายามพูดความรู้สึกตัวเองดีกว่า เวลาเราอยากขอความร่วมมือ หรืออยากได้อะไรสักอย่างในครอบครัวที่ไม่ธรรมดา ก็บอกเจตจำนงตรงไปตรงมา อย่าพยายามเอาชนะด้วยเหตุผล เช่น การซื้อของ ก็ไม่ต้องไปเถียงกันว่าของแพง ขณะที่อีกคนบอกว่าสวย แต่บอกไปตามตรงเลยว่า “พูดตรงๆ เลยนะ ถ้าคุณไม่ถามผม ผมก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าคุณถาม ผมรู้สึกว่าแพงเกินไปสำหรับรายได้ที่เรามีอยู่” ฉะนั้นพอเราบอกว่าเป็นความรู้สึกของเรา อีกฝ่ายจะหาทางประนีประนอม การบอกด้วยความรู้สึกทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามความเข้าใจต่อกันจะดีกว่า

ยอมรับความเป็นตัวของตัวเองของทั้ง 2 ฝ่าย

เราต้องคิดง่ายๆ ว่า การที่เราเป็นครอบครัวกัน เราต้องมีสองส่วน คือ ในส่วนที่เราต้องมาปรับเข้าหากัน และในส่วนที่เราต้องเป็นตัวของเราเอง ซึ่งอีกฝ่ายก็ควรคิดเหมือนกัน เราจะหวังว่าทุกสิ่งเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ แต่ละคนก็คงไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ ทุกคนต้องมีศักดิ์ศรี มีความเป็นตัวของตัวเองตรงนี้สำคัญ ซึ่งเรามักจะลืมนึกไป บางทีเราหวังดี เราอยากให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ เช่น ผู้หญิงถูกสอนมาอย่างหนึ่งในเรื่องการดูแลตัวเอง ว่าแต่งตัวแบบนี้ ใส่รองเท้าแบบนี้ เราก็มักนึกไปว่า สามีควรต้องเป็นอย่างนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าคุณค่าของเขาอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้น

ผู้ชายก็เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่ผู้ชายถูกสอนมาเรื่องประโยชน์ใช้สอย เวลาซื้ออะไรต้องดูความคุ้มค่า แต่ผู้หญิงเขามองคุณค่าบางอย่างที่แตกต่างออกไปจากนี้ เช่น เรื่องความสวยงาม ละเอียดอ่อน ความประณีต ถ้าเป็นแบบนี้เราจะบอกว่าทุกครั้งที่ซื้อเขาต้องซื้อแบบเรา มันก็ไม่ได้ ฉะนั้นตัวนี้เป็นเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง เป็นเรื่องนิสัยใจคอ รสนิยม แล้วก็ค่านิยมต่างๆ อะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เราต้องยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับในความเป็นตัวเองของแต่ละคน ก็จะใช้ชีวิตครอบครัวลำบาก

ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความเป็นตัวเราเองด้วย เช่น สามีชวนว่า “ไปงานศิษย์เก่ากับผมหน่อย” แต่เราไม่อยากไป เพราะว่าเขาเป็นพวกวิศวะ คุยกันแต่เรื่องเครื่องจักรกล เราไม่รู้เรื่อง เราเบื่อ เราไม่ต้องการไป ก็พูดกันดีๆ ดีกว่า การที่เรายอมไปแล้วรู้สึกว่าฉันยอมเพื่อเธอ พอมีเรื่องอะไรขึ้นมาสักวันหนึ่ง ก็อาจจะมีเรื่องเหมือนกับเป็นการทวงบุญคุณกันขึ้นมาได้

ฉะนั้นเราต้องยอมรับในความเป็นตัวของตัวเองของเขา ซึ่งเป็นคุณค่าของเขาด้วย อย่าไปเปลี่ยนแปลงเขาทุกอย่าง ความขัดแย้งของคู่สมรสส่วนมาก คือ ฝ่ายหนึ่งพยายามเปลี่ยนอีกฝ่ายให้เหมือนตัวเอง เพราะถือว่าเรามาเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว โดยเราไม่ได้เข้าใจว่าการที่เขาไม่มีสิ่งนี้ไม่ได้เป็นความเลวร้ายที่ตรงไหน ก็เป็นความเป็นตัวของเขา ถ้าเรายอมรับได้และถือว่าเป็นจุดที่เราไม่ต้องไปแตะต้องกัน นี่เป็นตัวช่วยลดความขัดแย้งลงไปได้มาก

สร้างกฎกติกามารยาทในครอบครัว

การที่มีใครบอกว่าครอบครัวไม่มีความขัดแย้งคงเป็นไปไม่ได้ คนสองคนอยู่ด้วยกันต้องมีความขัดแย้งกัน จะรักกันแค่ไหนก็ตาม แต่ประเด็นสำคัญ คือ เราแก้ไขความขัดแย้งได้ดีแค่ไหน ในทางปฏิบัติเราอาจต้องมีกฎเกณฑ์ หรืออาจจะเรียกว่า กฎกติกามารยาทของครอบครัว

กติกาเหล่านี้มาจากประสบการณ์ที่ทั้งสองคนขัดแย้งกัน แล้วทั้งสองฝ่ายก็ค่อยๆ หาทางออก บางทีอาจไม่ได้พูดกัน แต่เป็นสิ่งที่เราตกลงกันโดยไม่รู้ตัว หรือว่าเราจะตกลงกันโดยเรารู้ตัวก็ได้ เช่น

  • เราจะไม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูกเด็ดขาด

กฎข้อนี้อาจเกิดจากตัวอย่างกฎกติกามารยาที่สำคัญ เช่น มีการปรึกษากันว่า “เออ นี่เธอเห็นมั้ยว่าคราวที่แล้วเราทะเลาะกันต่อหน้าลูก ลูกตัวสั่นเลย เขากลัวมาก ต่อไปถ้าเรามีเรื่องกันไว้เราพูดกัน อย่าทะเลาะให้ลูกเห็นเลยนะ” อันนี้เรียกว่าเป็นการตกลงกันอย่างเป็นทางการ

  • เวลาทะเลาะกันเราไม่เอาเรื่องไปบอกญาติ

อันนี้สำคัญ บางคนเขาถือมากว่าถ้าเกิดเอาเรื่องไปพูดให้ญาติพี่น้องฟัง เขาจะยอมรับไม่ได้ อันนี้ก็ต้องเป็นกติกาทีตกลงกัน

  • เวลาเราโมโหกันเราจะไม่พูดกัน จนกว่าเราจะในเย็นแล้วค่อยมาพูดกัน

เวลาคนเราโกรธ จะพูดกันแรง ซึ่งที่จริงไม่ได้คิดขนาดนั้น แต่จะพูดไกลเกินกว่าความเป็นจริงเยอะเพราะอารมณ์ การมีกติกาพวกนี้จะช่วยลดความขัดแย้ง แต่ละครอบครัวอาจจะมีกติกาไม่เหมือนกัน และต้องอยู่บนพื้นฐานที่ยืดหยุ่นกันได้ ไม่จำเป็นต้องตายตัว บางครั้งอาจจำเป็นต้องออกไปนอกกติกาบ้าง บางครั้งเราต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้ครอบครัวจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น

การตั้งกติกาทุกครอบครัวต้องพึงสังวรไว้ว่าต้องมาจากประสบการณ์ จะให้แต่งงานปั๊บแล้วตั้งกติกากันเลยคงลำบาก แต่จะมาจากประสบการณ์แง่มุมต่างๆ ที่ผ่านมาในช่วงชีวิตของการครองคู่

ขอให้มีครอบครัวที่เป็นสุข

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในครอบครัว ล้วนแล้วเป็นผลมาจากวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของคน 2 คน คือ สามีและภรรยา เมื่อถึงช่วงเวลาของการมีทายาท มาร่วมเป็นบุคคลที่ 3 หรือ 4 ของครอบครัว ถึงตอนนั้นทั้งสามีและภรรยายิ่งจะต้องผนึกความคิดและกำลังใจกันยิ่งขึ้น ในการดูแลสมาชิกใหม่ของครอบครัวให้เขาก้าวเดินเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

แม้สังคมปัจจุบันที่หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการแก่งแย่งแข่งขันกันสูง และค่านิยมในการดำรงชีวิตก็แปรเปลี่ยนไปเน้นวัตถุกันมากขึ้น จะส่งผลกระทบและเขย่าเสถียรภาพของครอบครัวพอสมควร แต่เราเชื่อมั่นว่า หากทุกคนในครอบครัวดำรงความเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน และแผ่ขยายไปสู่ครอบครัวอื่น ชุมชนอื่น และสังคมอื่น  คำว่า “ครอบครัว คือ รากฐานที่มั่นคงของสังคม” ก็คงมิใช่เป็นเพียงคำขวัญที่บันทึกไว้บนแผ่นกระดาษเท่านั้น

ข้อมูลสื่อ

180-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 180
เมษายน 2537
บทความพิเศษ
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์