• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

10 คำถามของผู้สูงอายุ

10 คำถามของผู้สูงอายุ

ท่านคงได้อ่านบทความพิเศษเรื่องผู้สูงอายุใน “นิตยสารหมอชาวบ้าน” ฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว  และเปิดโอกาสให้ท่านผู้อ่านช่วยกันแนะนำหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ผมเองก็จะพยายามเขียนถึงผู้สูงอายุต่อไปเท่าที่ความรู้ความสามารถอันจำกัดของผมจะทำได้ เพื่อวัตถุประสงค์ให้ผู้สูงอายุในเมืองไทยได้ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความหมายมากขึ้น ได้รับความสนใจเอาใจใส่จากสังคมไทยมากขึ้น เพราะการเจริญชีวิตในช่วงสุดท้ายของอายุน่าจะเป็นช่วงที่ควรจะอยู่อย่างมีความหมาย มีประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง ลบความรู้สึกเผินๆ ที่ว่า คนวัยนี้หมดความสำคัญในสังคม ต้องพักผ่อนอยู่กับบ้าน หรือทำอะไรตามใจชอบเพียงอย่างเดียว สภาพของผู้สูงอายุเป็นอันมากก็เลยอยู่อย่างเพียงเพื่อลืมตาขึ้นมองฟ้าแล้วดำเนินชีวิตตามความเรียกร้องต้องการของธรรมชาติเพียงด้านเดียว

คราวนี้ผมขอนำความรู้ความคิดเห็นของ ดร.ริชาร์ด สปรอตต์ ผู้เชี่ยวชาญทางพฤติกรรมของผู้สูงอายุ ท่านทำงานอยู่ที่สถาบันผู้สูงอายุแห่งชาติ ในตำแหน่งผู้อำนวยการร่วม และรับผิดชอบพิจารณาให้รางวัลผลงานวิจัยในเรื่องนี้ด้วย

ดร.สปรอตต์ เกิดที่เมืองแพนป้า รัฐฟลอริด้า ศึกษาจบปริญญาโทและเอกในสาขาวิชาพฤติกรรมทางกำเนิดจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา เมื่อปี 1965 เป็นอาจารย์สอนจิตวิทยาและทำงานวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จนถึงปี 1979 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาสถาบันอนามัยแห่งชาติในปี 1980 ได้ย้ายเข้าประจำสถาบันผู้สูงอายุแห่งชาติ

ดร.สปรอตต์ได้ตอบคำถามที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. ทำไมคนถึงกลัวความแก่
เพราะวัฒนธรรมยกย่องชื่นชมคนหนุ่มสาว ในขณะเดียวกันก็สร้างภาพพจน์ให้เห็นว่า คนชรามีสภาพเหมือนคนตายแล้วทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งวัฒนธรรมในเรื่องนี้มีการประมาณกันว่าปี ค.ศ. 1994 คนอเมริกันใช้เงินร้อยพันล้านดอลล่าร์เพื่อเสริมสร้างปรุงแต่งร่างกายเพียงเพื่อให้เห็นว่าตัวเองยังไม่แก่

2. การศึกษาทางอายุรศาสตร์(เรื่องความแก่)เป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง
อย่าไปคอยให้มีเวทมนต์หรือสิ่งอัศจรรย์ใดๆ มาหยุดหรือชะลอความแก่ของเรา แต่ละคนต้องดูแลรับผิดชอบตนเอง ฉะนั้นแนวทางดำเนินชีวิตจึงมีผลต่ออายุขัยของเราโดยตรง

ยกตัวอย่าง ถ้ามีหนุ่มคนหนึ่งกินข้าวโอ๊ตเป็นอาหารเช้าเป็นประจำทุกวัน แล้วคิดว่าเท่านี้ก็ช่วยให้สุขภาพดีมากแล้ว แต่ระหว่างทางจากบ้านไปทำงาน เขาสูบบุหรี่ 2-3 มวนทุกวัน แน่นอนหมอนี่ต้องได้รับบทเรียนทางลบเข้าสักวันไม่เร็วก็ช้า

ชีวิตของแต่ละคนเหมือนทอดลูกเต๋าหรือเล่นพนันอะไรสักอย่าง ทุกคนเกิดมาต่างมีส่วนประกอบทางกรรมพันธุ์ไม่เหมือนกัน เราไม่รู้ว่าเมื่อเกิดมาเรารับมรดกทางกรรมพันธุ์อะไรมาบ้าง แม้ว่าจะพอเดาได้บ้างอย่างตระกูลของผมนี่ไม่มีใครเป็นมะเร็งเลย ส่วนใหญ่ตายด้วยโรคหัวใจ ฉะนั้นผมก็ไม่น่าจะตายด้วยโรคมะเร็งมากกว่าด้วยโรคหัวใจ

ถ้าเป็นอย่างนี้ผมก็โอเค ผมจะได้รู้แนวทางปฏิบัติ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่านี่เป็นกรรมพันธุ์ของผม ผมเปลี่ยนมันไม่ได้แต่ผมก็สามารถจัดการกับกรรมพันธุ์ของผมได้ ผมอาจเลิกสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลัง

 3. การต้องควบคุมตัวเองอยู่เสมอไม่เบื่อบ้างหรือ
ก็น่าเบื่ออยู่หรอก แต่มันก็จำเป็น

นอกนั้นผมยังต้องเรียนรู้ถึงความสำคัญของการฝึกปฏิบัติทางสมองให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ คิดดูซิว่าพวกทำงานใช้กำลังกายจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงกว่าพวกทำงานใช้สมอง เราจึงเข้าใจกันว่า คนทำงานใช้กำลังอายุยืนกว่าคนทำงานใช้สมอง แต่จริงๆแล้วมันไม่เป็นอย่างที่เข้าใจพวกที่ทำงานใช้สมองกลับมีอายุยืนกว่า

เหตุผลก็คือพวกทำงานใช้สมองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า มีการเอาใจใส่สุขภาพอนามัยดีกว่า สูบบุหรี่ ดื่มสุราน้อยกว่า และที่สำคัญคือมีโอกาสทำให้สมองเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง ช่วยให้ความรู้สึกนึกคิดตื่นตัวอยู่เสมอ

ถ้าอยากมีอายุยืนต้องมีครอบครัว การมีเพื่อนร่วมชีวิตมีอิทธิพลต่อการเจริญชีวิต มันอาจจะเป็นเพราะว่าความเป็นอยู่ในลักษณะครอบครัวดีกว่าความเป็นอยู่อย่างคนโสด โดดเดี่ยว ที่เห็นชัดๆคือชีวิตคู่เอาชนะความเหงาความซึมเศร้าได้

ผู้หญิงมีอายุยืนกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ย 7 ปี เหตุผลจากทางสรีรภาพและวัฒนธรรม ผู้หญิงมีโครงสร้างแข็งกว่าผู้ชาย มีงานที่ต้องเครียดน้อยกว่าผู้ชาย แต่ปัจจุบันกลับเปลี่ยนไป ถึงอย่างไรผู้หญิงก็ยังได้เปรียบกว่า มีสารอะไรบางชนิดที่คุ้มครองอยู่ ผู้หญิงมีโครโมโซม x ถึง 2 ตัว

4. คนเรากลัวสมองเสื่อม จำอะไรไม่ได้ มีปฏิกิริยาตอบโต้สิ่งต่างๆ ได้เชื่องช้า   
สภาพเช่นนี้เราจะสังเกตได้เมื่ออายุ 3o ปี หรือ 4o ปี ทำให้เราวิตกกังวล แต่ที่จริงแล้วสภาพความจำเสื่อมเริ่มตั้งแต่อายุราวๆ 18 ปี  คนอายุ 21 ปี มีความจำส้คนอายุ 18 ปีไม่ได้ จะเห็นได้จากการเล่นวิดีโอเกมส์ สภาพความจำดีที่สุดของคนเราจะมีอยู่แค่อายุ  17-18 ปี หลังจากนั้นก็ค่อยๆลดถอยไป
ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัว เราไม่ใช่กลัวเฉพาะความตายเท่านั้นแต่ยังกลัวสูญเสียการควบคุม ความสามารถที่จะดูแลตัวเราเอง

ฉะนั้น อย่างผมนี่ต้องหาวิธีแก้หรือชดเชย ตอนนี้ผมอายุ 54 ปี นอกจากผมจะต้องบันทึกประจำวันว่าวันนั้นๆ จะต้องทำอะไรบ้าง แต่บัดนี้ผมต้องมีสมุดบันทึกแยกออกไปอีกต่างหากว่าผมเก็บสมุดบันทึกที่จะต้องทำแต่ละวันไว้ที่ไหน

ยิ่งมีความรู้มากยิ่งช่วยเราให้สามารถหาหนทางที่ดีกว่าในการทำงานหรือแก้ไขปัญหา ประสบการณ์ช่วยเราไม่ให้หักโหมกับงานหรือปัญหาจนเกินไป  ซึ่งมีผลไปถึงตอนอายุมากด้วย

สภาพความจำเสื่อมอย่างช้าๆของคนเรานั้น  มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสื่อมอย่างช้าๆ ของสมอง  แต่มันไม่สลักสำคัญอะไรนักเพราะสมองมีความสามารถเกินกว่าที่เราต้องการ เราจึงไม่เดือดร้อนเมื่อมันจะเสื่อมไปบ้าง

ถ้าจะมีใครเดือดร้อนเพราะความจำเสื่อมสาเหตุใหญ่มาจากเพราะเขามีเรื่องที่จะต้องจำมาก และต้องนำออกใช้เมื่อต้องการมากเกินไป เปรียบเหมือนลิ้นชักตู้เอกสารมีแฟ้มเอกสารบรรจุข้อมูลอยู่เต็มจนแน่นลิ้นชัก เวลาจะเอาข้อมูลอะไรออกมาทีจึงทำไม่ได้ง่ายๆเหมือนมีแฟ้มอยู่น้อยๆ

5. คนเราอยากมีชีวิตยืนยาวแค่ไหน
วัยรุ่นบอกว่าอยากอยู่ถึง 1oo ปี แต่วัยกลางคนกลับขอแค่ 75-8o ปี เพราะกลัวว่าถ้ามากกว่านี้โอกาสพิการช่วยตัวเองไม่ได้จะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นสภาพที่น่าสงสารมากกว่าน่าชื่นชม ทั้งแก่ตัวเอง ผู้เกี่ยวข้องและผู้พบเห็น

คนส่วนใหญ่อยากมีอายุถึง 12o ปี แต่ก็กลัวว่า ช่วง 3o ปีสุดท้ายนี่มีหวังต้องไปอยู่สถานพยาบาล
แต่ก็มีการพูดกันในเชิงไม่แน่ใจว่าคนอายุยืนยาวขึ้นอีกมากนั้นเป็นเรื่องดีจริงหรือเปล่า ถ้าช่วงที่มีอายุยาวขึ้นเป็นช่วงของร่างกายพิการ ไม่สมประกอบ เจ็บออดๆแอดๆ แบบสามวันดีสี่วันไข้ เป็นอย่างนี้ก็จะเป็นการเพิ่มความน่าเวทนามากกว่าความน่าชื่นชม

ที่เห็นได้มากคือผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องเข้าไปอยู่ในในสถานพยาบาลสาเหตุส่วนมากมาจากกระดูกสะโพกเคลื่อน   ค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาล จากค่าหมอ  ค่ายา ค่าบำบัด ค่ากินอยู่ ฯลฯ ตกราวปีละ 14 พันล้านดอลล่าร์

ถ้าเราเอาชนะเรื่องกระดูกของผู้สูงอายุได้เพียงเรื่องเดียว และเอาชนะแค่ครึ่งเดียว เราจะช่วยเพิ่มคุณภาพของผู้สูงอายุได้เป็นจำนวนมาก เราจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงปีละ 7 พันล้านดอลล่าร์
การรณรงค์ในเรื่องนี้ก็คือให้ความรู้ เตือนผู้หญิงที่วัยตั้งแต่ 3o ปีขึ้นไปให้ตระหนักถึงความสำคัญของธาตุแคลเซียม และกินอาหารที่มีแคลเซียมให้มากกว่าปกติ ขั้นตอนเล็กๆ ง่ายๆ แค่นี้ แต่มีผลดีมากมายมหาศาล

ถ้าเราเอาชนะโรคใหญ่ๆในผู้สูงอายุได้ทีละโรค จะช่วยได้ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศได้มากทีเดียว

คนอเมริกันที่อายุ 65 ปี ขึ้นไปมีถึงร้อยละ 13 ของประชาการทั้งประเทศ แต่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านดูแลรักษาพยาบาลได้ถึงร้อยละ 35 ของงบประมาณในเรื่องสาธารณสุขทั้งหมด

6. สภาพของผู้สูงอายุเกี่ยวกับ 3 เอส(S) คือ SKIN = ผิวหนัง STRESS = ความเครียด และ SEX = เพศ เป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องผิวหนังนี่เป็นจุดที่แสดงออกถึงสภาพของผู้ป่วยได้เด่นชัดมาก ผิวหนังของมนุษย์เปรียบเหมือนนาฬิกาที่บอกเวลาอย่างเปิดเผย ผิวที่แสดงปฏิกิริยากับแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ผิวหนังที่แตกและย่นจากการสูบบุหรี่ สารนิโคตินเป็นตัวเร่งให้ผิวหนังดูแก่เร็วขึ้น

การแก้ปัญหาเรื่องโรคผิวหนังไม่ยุ่งยากซับซ้อน อย่าตากแดดที่ร้อนจัดๆ และนานๆ อย่าสูบบุหรี่ แค่นี้ก็รักษาผิวหนังได้ ถ้าอยากให้แสงอาทิตย์สัมผัสผิวหนังของเราบ้างก็ได้โดยการใช้กระจกสะท้อนเข้ามา เท่านี้ผิวหนังก็จะพ้นอันตรายจากแสงอาทิตย์โดยตรงได้

เรื่องเครียดหรือวิตกกังวลเร่งให้คนเราดูแก่เร็วขึ้นได้มากที่สุด ยิ่งเครียดมากๆ จนเกินระดับ จะมีผลกระทบมากขึ้น มีการพิสูจน์ใหม่ว่า ถ้าเครียดพอประมาณจะช่วยให้อายุยืนขึ้น จะเห็นได้จากผู้ครองเรือนผู้มีครอบครัวจะช่วยแบ่งความเครียดกันได้

มาถึงเรื่องเพศ คุณบ๊อบ บัตเล่อร์ เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อ “เซ็กซ์หลังหกสิบ” สรุปว่า เซ็กซ์ก็เหมือนสมอง ถ้าไม่ได้ใช้มันจะค่อยๆฝ่อ หมดสภาพไป

ในด้านสรีรศาสตร์แล้ว ไม่เห็นมีเหตุผลใดที่จะไปรังเกียจหรือต่อต้านเรื่องเพศ ผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนจะรู้สึกผ่อนคลายไร้กังวลเมื่อมีเพศสัมพันธ์ (อย่างที่เรียกกันว่า “วัยทอง”) แม้จะมีปัญหาเรื่องช่องคลอดอาจแห้ง ปริมาณอสุจิของผู้ชายจะน้อยลง แต่คนอายุ 8o-9o ปีแล้ว ก็ยังแสดงพลังทางเพศได้อยู่

มีการพูดกันแบบติดตลกว่า เรื่องของความจำยอมให้เสื่อมหรือหมดไปได้ แต่เรื่องเพศต้องรักษาไว้ให้กระปรี้กระเปร่าอยู่จนตลอดชีวิต

7. อะไรที่ผู้สูงอายุควรรักษาไว้เป็นอันดับแรก อันดับสองและสาม

  • อันดับแรก พลังกล้ามเนื้อต้องรักษาไว้ให้แข็งแรงอยู่เสมอ กำลังกายนั้นอาจรักษาให้คงอยู่ได้ด้วยการทำงาน ออกกำลัง  แต่การรักษากล้ามเนื้อไว้ให้แข็งแรงได้สัดส่วนนั้นออกจะยากเย็น
  • อันดับสอง ได้แก่การรักษาสมรรถภาพในการตอบสนองของประสาทส่วนต่างๆ ให้ว่องไวฉับพลัน เพราะวัยชราต้องใช้ขบวนการที่ยาวนานกว่าที่จะตอบสนองอะไรสักอย่าง
  • อันดับสาม สายตาหรือภาพทัศน์ ที่จะเสื่อมไปอย่างช้าๆ แต่ค่อนข้างจะเริ่มเสื่อมเร็วสักหน่อย คืออย่างช้าสุดก็ปลายอายุ 4o ปี ปัญหาสำคัญมาจากกล้ามเนื้อเล็ก ที่ควบคุมเลนส์ตาทั้ง 2 ข้าง

8. เรื่องหลับยากล่ะ
คุณอาจเคยเห็นผู้สูงอายุหลับหรือสัปหงกเวลาประชุม เพราะตอนกลางคืนเขาหลับไม่พอ กลางคืนเขาเข้านอนเป็นปกติก็จริงแต่มักตื่นเช้ามืดแล้วหลับต่ออีกไม่ได้ ผมเองก็เจอปัญหานี้

สาเหตุก็คือ ลานนาฬิกาของเราหย่อนยานลงไปทุกขณะ มันชอบปลุกให้เราตื่นทั้งที่ยังไม่ถึงเวลา เมื่อหลับไม่พอตอนกลางคืน พอสายๆ หรือตกบ่าย  หรือพอหัวค่ำเราก็ง่วงและผล็อยหลับไป

สภาพเช่นนี้ถูกซ้ำเติมจากคนที่มีกระเพาะปัสสาวะเล็กกว่าปกติ โดยเฉพาะในผู้ชายต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น แล้วหลับต่อไม่ได้ ผู้หญิงก็มีปัญหาเหมือนกัน เมื่ออายุมากขึ้นเวลาหัวเราะหรือไอหนักๆ จะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จะเล็ดลอดออกมามากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็อาจรักษาอาการเช่นนี้ได้โดยการฝึกด้วยวิธีเฉพาะ

9. ปัจจุบันค้นพบอะไรที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
เราค้นพบว่าถ้ากินอาหารโดยลดแคลอรีลงจะเพิ่มอายุให้ยืนยาวขึ้นในทุกส่วนของอวัยวะที่ได้ทำการมาแล้วกว่าทศวรรษ ถ้าเราลดแคลอรีลงสักร้อยละ 35 ก็จะเพิ่มอายุของอวัยวะต่างๆให้ยาวขึ้นอีกราวร้อยละ 35 เช่นกัน

ต้องเข้าใจว่า นี่หมายถึงร่างกกายรับแคลอรีเข้าไปไม่ใช่รับอาหาร ร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องได้รับวิตามินแร่ธาตุต่างๆจากอาหาร การจำกัดแคลอรีโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพร่างกายเป็นอันตรายมาก

ต่อไปก็คือเรื่องเกี่ยวกับยีน ส่วนประกอบของร่างกายที่เป็นส่วนสำคัญตามธรรมชาติต่อขบวนการของอายุขัย

คงไม่ใช่เป็นการบังเอิญที่พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า  สุนัขมีอายุระหว่าง 7-17 ปี ม้ามีอายุระหว่าง 17-25 ปี ส่วนมนุษย์ ปรากฏว่า อายุมากกว่า 3 เท่า บวกอีก 1o ปี ปัจจุบันเฉลี่ยอายุสูงสุดของมนุษย์ตรงกับที่พระคัมภีร์บันทึกไว้ มีคนจำนวนน้อยมากที่อายุยืนยาวกว่านี้

10. ได้บทสรุปอะไรบ้างเกี่ยวกับผู้สูงอายุ
การเปลี่ยนแนวดำเนินชีวิตที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้นเป็นเรื่องสำคัญและถูกต้องกว่าการตามแก้ปัญหาต่างๆของผู้สูงอายุดังกล่าวแล้ว

ผมเรียนรู้ว่า การจะเจริญชีวิตอย่างสัมฤทธิ์ผลก็คือต้องพอใจในชีวิต มีความสนุก ความสุขกับชีวิต และต้องรักษาสภาพเช่นนี้ไว้ให้คงอยู่ตลอดชีวิต

ผมยังเรียนรู้อีกว่า การค้นคว้าวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ต้องมุ่งไปที่การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุมากกว่าจะไปเรียนรู้วิธีเยียวยารักษาโรคนั้นๆ คุณภาพชีวิตของมนุษย์จะดีขึ้น ถ้าเรายึดมั่นในแนวทางนี้เราจะพบคนพิการ คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บน้อยลง  ทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

ในที่สุดผมหวังว่าประชาชนของเราจะปฏิบัติตนเหมือนประชาชนของรัฐฮาวาย ชาวฮาวายจะไม่ยอมให้ผู้สูงอายุยืนอยู่ท้ายแถวตามป้ายรถประจำทางทุกคนจะหลีกทางให้ผู้สูงอายุได้ขึ้นรถเป็นคนแรก เขาให้ความเคารพนับถือและเอื้ออาทรต่อผู้สูงอายุมาก

ผมขอให้สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นที่นี่ก่อนที่ผมจะมีอายุถึงวัยนั้น

 

                                                **********************************


 

 

ข้อมูลสื่อ

212-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 212
ธันวาคม 2539
บทความพิเศษ
สามมิติ