• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตีนเป็ด :คุณค่าจากผืนป่าสู่ชีวิตปัจจุบัน

ตีนเป็ด :คุณค่าจากผืนป่าสู่ชีวิตปัจจุบัน


ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติเรื่อง "นิเวศน์เกษตร" (Ecological Agriculture)
จัดโดย องค์กรจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2529 ยังจำได้ว่าวิชาสำคัญอย่างหนึ่งที่เขาสอนและฝึกฝนให้คือ การสังเกต (observation) เพราะหัวใจของระบบเกษตรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศหรือธรรมชาติก็คือ เข้าใจและทำให้สอดคล้องเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยการสังเกต
และนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้จากประสบการณ์ที่ได้รับการอบรมฝึกฝนดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนพยายามตั้งใจสังเกตสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติของทุกสถานที่ซึ่งมีโอกาสพบเห็น

เนื่องจากงานที่ทำอยู่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปในที่ต่างๆ อยู่เสมอประกอบกับผู้เขียนขับรถยนต์ไม่เป็น จึงมีเวลาสังเกตสภาพสองข้างทางได้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพืชพันธุ์หรือต้นไม้ชนิดต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในสถานที่นั้นๆ สิ่งที่พบเห็นบางครั้งก็น่าสนใจ และเกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ หรืออยากนำไปถ่ายทอดให้รับรู้กันกว้างออกไป เช่น การนำมาเขียนในคอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้านี้ ตัวอย่างเช่น ระหว่างทางจากกรุงเทพฯ มาสุพรรณบุรี ผ่านอำเภอบางบัวทอง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร ซึ่งผู้เขียนนั่งรถประจำทางไปกลับทุกสัปดาห์นั้น มีร้านค้าริมถนนที่ขายพันธุ์พืชอยู่หลายร้าน ส่วนใหญ่เป็นไม้กระถางจำพวกไม้ดอกไม้ประดับ มีไม้ผลยืนต้นอยู่บ้าง และยังมีร้านขายต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ไปขุดย้ายมาจากตามทุ่งนาหรือป่าเขา ต้นไม้เหล่านี้มีอายุหลายสิบปีแล้ว การขุดย้ายมีเทคนิคการตัดแต่งเอากิ่งบางส่วนและรากบางส่วนออก สามารถย้ายไปปลูกในที่แห่งใหม่ได้โดยไม่ต้องปลูกจากต้นเล็กๆ

ต้นไม้เหล่านี้มีราคาค่อนข้างแพง แต่เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้บริโภคที่มีฐานะดีไม่ต้องการ เสียเวลารอคอย นอกจากนั้นยังสามารถเลือกรูปทรงของต้นไม้ได้ตามต้องการ เช่น ตะโกที่มีลำต้นและกิ่งคดงอจากสภาพดินหรือสิ่งแวดล้อมที่แห้งแล้งกันดาร กลายเป็นความงดงามเมื่อนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในส่วนหย่อม หรือบริเวณคฤหาสน์ราคาหลายสิบล้านบาท นไม้ที่นิยมขุดย้ายต้นใหญ่มาขายนั้น ต้องมีคุณสมบัติร่วมกันบางอย่าง เช่น เป็นที่นิยมหรือต้องการของลูกค้า มีขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ (ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้พื้นเมืองของไทย) มีความแข็งแรงทนทานต่อการตัดแต่ง และขุดย้ายได้ดี) จากคุณลักษณะต่างๆ ดังกล่าวนี้ ผู้เขียนพบว่ามีต้นไม้ ชนิดหนึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้มีอาชีพขุดย้ายต้นไม้ใหญ่จากธรรมชาติ และลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือต้น ตีนเป็ด


ตีนเป็ด : จากป่าสู่นาคร

ตีนเป็ด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (Linn.) R.Br. อยู่ใน วงศ์ Apocynaceae เช่นเดียวกับโมกบ้าน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ อาจ สูงได้ถึง 35 เมตร ลำต้นตรง มีกิ่งออกเป็นชั้นๆ คล้ายต้นหูกวาง ใบมีลักษณะพิเศษ คืออยู่รวมกันเป็นวงรอบข้อกิ่งหรือลำต้น ปกติมี 7 ใบต่อ วง เป็นใบเดี่ยว รูปร่างยาวรี ปลายมน โคนใบสอบ ยาว 12-15 เซนติเมตร ก้านใบสั้น ดอกออกเป็นช่อตามยอด หรือปลายกิ่ง แต่ละช่อมีแยกออกไปราว 7 กลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กหลายสิบดอก ลักษณะเป็นหลอดยาวคล้ายดอกเข็ม กลีบดอกเป็นสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมแรง ช่วงค่ำจะส่งกลิ่นแรงกว่าเวลาอื่น หากอยู่ใกล้จะได้กลิ่นฉุนร้อนคล้ายสมุนไพรรสเผ็ด ปกติจะออกดอกช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม

ตีนเป็ดเป็นพืชท้องถิ่นดั้งเดิมของทวีปเอเชียเขตตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ในประเทศไทยพบขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้นทางภาคใต้และภาคตะวันออก และพบขึ้นอยู่ตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณของภาคเหนือและอีสาน จึงอาจกล่าวได้ว่าตีนเป็ดเป็นพืชป่าดั้งเดิมของทุกภาคของไทย เนื่องจากตีนเป็ดเป็นพืชอยู่ในวงศ์เดียวกับโมกบ้าน จึงมีผลเป็นฝักยาวออกเป็นคู่เช่นเดียวกับโมก แต่มีหลายคู่ในแต่ละช่อ ฝักตีนเป็ดมีลักษณะกลมเรียวยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกออกเมล็ด ภายในมีปีกเป็นขนติดอยู่ตรงปลาย 2 ข้างของเมล็ด ทำให้ปลิวตามลมไปได้ไกล ในเปลือก ก้าน และใบตีนเป็ด มียางสีขาวอยู่ภายใน เมื่อถูกกรีดหรือหักจะมีน้ำยางไหลออกมา ชื่อที่เรียกคือ ตีนเป็ด ตีนเป็ดต้น พญาสัตบรรณ สัตบรรณ (ภาคกลาง)  หัสบัน (กาญจนบุรี) จะบัน (ปราจีนบุรี)

 

ประโยชน์ของตีนเป็ด

เนื่องจากตีนเป็ดเป็นต้นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย คนไทยจึงรู้จักคุ้นเคยและนำมาใช้ประโยชน์มาเนิ่นนาน โดยเฉพาะด้านสมุนไพร จากตำราแพทย์แผนไทย บ่งบอกสรรพคุณด้านสมุนไพรของตีนเป็ด คือ

เปลือก : แก้ไข้เพื่อดีพิการ แก้บิด ขับพยาธิไส้เดือน แก้ไข้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ สมานลำไส้ เจริญอาหาร เป็นยาขม

กระพี้ : ขับเลือดให้ตก

ราก : ขับผายลม

ใบ : แก้ไข้หวัด แก้ไข้ตัวร้อน พอกดับพิษต่างๆ

ดอก : แก้เลือดพิการ แก้ไข้ตัวร้อน

ยาง : ทำยารักษาแผลเน่าเปื่อย ผสมกับน้ำมันแก้ปวดหู บำรุงร่างกาย

เนื้อไม้ตีนเป็ดค่อนข้างเหนียวและทนทาน สีขาวอมเหลือง ใช้ทำหีบใส่ของ ทำแจง ทำใบพาย ทำของเล่น ไม้จิ้มฟัน เป็นต้น

ปัจจุบันคนไทยใช้ประโยชน์จาก ตีนเป็ด ด้านประดับตกแต่งมากกว่าด้านอื่นๆ เพราะตีนเป็ดเป็นต้นไม้ท้องถิ่นที่รูปทรงงดงาม (คล้ายฉัตร) ใบรูปร่างแปลก ดอกกลิ่นหอมแรง แข็งแรงทนทาน ขึ้นได้ในดินทุก   ชนิด ขุดย้ายต้นใหญ่ได้ง่าย เติบโตเร็ว เป็นต้น จึงมีผู้นำไปปลูกตามบ้านเรือน สวนสาธารณะ ทางเดิน โรงแรม รีสอร์ต เป็นต้น ความนิยมของคนไทยที่มีต่อตีนเป็ด ส่วนหนึ่งมาจากชื่อที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า พญาสัตบรรณ เพราะนอกจากฟังไพเราะแล้ว ยังให้ความรู้สึกเป็นไม้มงคลอีกด้วย
เพราะคล้ายชื่อ "สัตตบรรณ" ซึ่งเป็นบัวสายดอกสีขาว เนื่องจากคนไทยถือว่า ดอกบัวเป็นพืชมงคล ดังนั้น พญาสัตบรรณจึงยิ่งเพิ่มความเป็นมงคลขึ้น ไปอีก เพราะมีคำว่าพญาเพิ่มเข้าไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณเป็นต้นไม้ยอดนิยม ของคนไทยอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้มีฐานะยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อต้นขนาดใหญ่ที่ขุดย้ายจากธรรมชาติมาปลูกไว้ใกล้ตัว สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียเงินมากก็อาจปลูกต้นขนาดเล็กแทน เพราะเพียงไม่กี่ปีก็จะได้ต้นโตเท่าเทียมกันแล้ว 

ข้อมูลสื่อ

303-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 303
กรกฎาคม 2547
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร