• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัดเยอรมัน

หัดเยอรมัน

พอเข้าหน้าหนาวทีไร เด็กๆมักออกหัดไปตามๆกัน บางคนเป็นแล้วก็เป็นอีก หัดมีทั้งหัดแท้และหัดเยอรมัน ผู้ที่เป็นหัดเยอรมัน ตามตัว แขน ขา มีเม็ดแดงขนาดเท่าหัวเข็มหมุดขึ้นติดกันยิบ แต่ไม่คัน ตาแดงเล็กน้อย ไม่ไอ ไม่มีผื่นในปาก ที่สำคัญคือต่อมน้ำเหลืองที่หลังหู คอ และท้ายทอยจะโตขนาดตั้งแต่เม็ดถั่วเขียวถึงถั่วลิสง เจ็บเล็กน้อย ส่วนหัดแท้จะมีอาการตาแดงจัดกว่า มีไอและเป็นไข้ 4-5 วัน ก่อนผื่นขึ้นและมักมีผื่นขึ้นในปากด้วย

ติดต่อได้อย่างไร

หัดเยอรมันเป็นโรคติดต่อซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อนี้จะออกมาแถวลำคอ จมูก ตั้งแต่ 7 วัน ก่อนผื่นขึ้น และ 5 วัน หลังผื่นขึ้น เชื้อจะแพร่จากผู้ป่วยเวลาไอ จาม และออกมากับลมหายใจ ฟุ้งกระจายในอากาศ ถ้าผู้อยู่ใกล้เคียงหายใจรับเชื้อเข้าไปก็ติดได้ แต่ปัจจุบันเด็กเล็กๆ อายุ 15 เดือน สามารถฉีดยาป้องกันหัดแท้ หัดเยอรมัน และคางทูมได้แล้ว

ถ้าไวรัสหัดเยอรมันเกิดขึ้นในเด็กโตและผู้ใหญ่อาจมีอาการหลายอย่างกว่าเด็กๆ บางรายมีปวดข้อ ข้อบวม เป็น 2-3 อาทิตย์ก็หาย บางคนมีจ้ำเลือดขึ้นเพราะหัดเยอรมันไปกดไขกระดูกทำให้มีเกร็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย

ถ้าไวรัสหัดเยอรมันเป็นกับคนที่ตั้งครรภ์ น้อยกว่า 3 เดือน เชื้อตัวนี้จะผ่านทางรกจากแม่ไปสู่ลูกทำให้ลูกเกิดความพิการสูง ทารกที่เกิดมาอาจจะหัวใจรั่ว สมองไม่โต ตาเป็นต้อกระจก หูหนวก และที่สำคัญคือ สมองพิการ ปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

เหตุการณ์ที่กระตุ้นเตือนให้มีการศึกษาไวรัสชนิดนี้อย่างละเอียดคือ หัดเยอรมันได้ระบาดครั้งใหญ่ในปีพ.ศ.2483-2484 หัดเยอรมันจะมีวัฎจักรการระบาดทุกๆ 7-12 ปี และค่อยๆลดความร้ายกาจลงภายหลังที่ได้ค้นพบวัคซีนที่สามารถแยกเชื้อไวรัสได้ในปี พ.ศ.2504 เป็นเวลา 20 ปี หลังจากที่มีการระบาดครั้งใหญ่ของโลกครั้งนั้น

สำหรับในประเทศไทย เคยมีการระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2510 , พ.ศ.2514 และ พ.ศ.2522 ตามสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน โรงพยาบาล และห้างร้านบริษัทต่างๆ

คนทั่วๆไปส่วนใหญ่จะเคยเป็นหัดเยอรมันมาตั้งแต่วัยเด็กแล้ว เราจึงพบคนหนุ่มสาวเป็นหัดเยอรมันไม่มากนัก ประมาณร้อยละ 15-20 ในจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย ภายหลังจากได้รับเชื้อไวรัส ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาภายใน 60 วัน ภูมิคุ้มกันนี้จะคงอยู่นานหลายปี

สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ไปสัมผัสโรคหัดเยอรมันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ทำงานหรือกินอาหารร่วมกับผู้ป่วยในระยะติดต่อไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นหัดเยอรมันด้วยเสมอไป อาจจะไม่ติดต่อถ่ายทอดมาถึงก็ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องดูด้วยว่า สตรีผู้นั้นมีอายุครรภ์เท่าไร หากอายุครรภ์มากกว่า 16 สัปดาห์ ไม่ต้องดำเนินการใดๆทั้งสิ้น แต่ถ้าอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. รีบไปเจาะเลือดตรวจหาภูมิต้านทานต่อไวรัสทันที
2. กรณีมีภูมิต้านทานแล้วไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เพราะปลอดภัยค่อนข้างแน่นอน
3. กรณีไม่มีภูมิต้านทาน หากอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ทำแท้งไม่ได้ ให้ฉีดภูมิคุ้มกัน (Standard Immune Serum Globulin) ทันที ซึ่งในระยะเวลาไม่ควรนานเกิน 7 วัน หลังจากสัมผัสโรค
หากอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ทำแท้งได้และผู้ป่วยยินยอม ให้รอดูอาการ 2-4 สัปดาห์ และตรวจหาภูมิต้านทานซ้ำ ถ้าระดับภูมิต้านทานต่อไวรัสหัดเยอรมันสูงเกิน 4 เท่า ให้พิจารณาทำแท้งทันที

สำหรับภูมิคุ้มกัน (PASSIVE IMMUNIZATION) ที่ฉีดให้สตรีตั้งครรภ์กรณีสัมผัสโรคแต่ไม่ยินยอมทำแท้งนั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากมารดาและทารกได้ทุกราย เพราะฉะนั้นไม่ควรให้ในสตรีตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรกเพื่อหวังผลการป้องกันโรค

การรักษา
โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่หายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษา ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ยกเว้นมีภาวะแทรกซ้อน ถ้าต้องมีการรักษาก็เป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น ลดไข้ แก้ปวด

การป้องกัน
ถือว่าสำคัญที่สุด วิธีป้องกันง่ายนิดเดียว เพียงแต่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันเท่านั้น ปัจจุบันนิยมฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน 2 ครั้ง ครั้งแรกขณะอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 12-16 ปี

ในสตรีที่แต่งงาน เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันแล้ว ควรคุมกำเนิด 3 เดือน เพราะวัคซีนทำจากเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ เคยมีรายงานว่า บางรายได้เกิดการแท้งบุตรขึ้น แต่ถ้าบังเอิญไปฉีดในสตรีตั้งครรภ์ ก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลเพราะเท่าที่มีรายงานในโลกนี้ ไม่มีทารกรายใดเลยที่พิการด้วยการฉีดวัคซีน

สำหรับหญิงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าจะคลอดบุตรเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ในการฉีดวัคซีนก็มีข้อห้าม ได้แก่

ผู้ที่กำลังมีไข้รุนแรง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีความไวต่อองค์ประกอบต่างๆ ของวัคซีน ผู้ที่กำลังรักษาด้วยยาสตีรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษามะเร็ง
ผลข้างเคียงของวัคซีนนั้น พบเพียงร้อยละ 2-5 ได้แก่ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดข้อ ข้ออักเสบ และปลายประสาทอักเสบ

หลายคนอาจจะคิดว่า ถ้าเคยเป็นหัดเยอรมันมาแล้ว คงจะไม่เป็นอีก ความจริงแล้วอาจจะมีโอกาสเป็นหัดเยอรมันซ้ำได้ร้อยละ 3-10 เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสโรค อีกประการหนึ่งคือ ประวัติการฉีดวัคซีนของสตรีตั้งครรภ์นั้นบางรายเชื่อถือไม่ได้ เนื่องจากวัคซีนที่ฉีดในวัยเด็กนั้นมีหลายชนิด จึงทำให้สตรีเหล่านั้นเข้าใจผิด

การควบคุมโรค

กระทำได้โดยแยกผู้ที่กำลังป่วยออกจากผู้อื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพราะเป็นระยะติดต่อได้ง่าย

สำหรับบุคคลที่ไปสัมผัสโรคมาใหม่ๆ ถ้าติดเชื้อจะเกิดอาการขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ ดังนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ควรระมัดระวังในการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์

เพียงแค่มีไข้เล็กน้อยร่วมกับออกผื่น 3 วัน ได้สร้างความเสียหายแก่มวลมนุษยชาติมากมาย โดยเฉพาะความพิการแต่กำเนิด ตาบอด หูหนวก หัวใจพิการ และปัญญาอ่อน

ความพิการแต่กำเนิดเหล่านี้ สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน กาลข้างหน้าในเวลาไม่นานนัก หากความรู้เรื่องหัดเยอรมันเผยแพร่กระจายไปในทุกท้องที่ คงไม่มีเด็กพิการแต่กำเนิดที่เกิดจากแม่เป็นหัดเยอรมัน ให้เห็นอีกต่อไป
 

ข้อมูลสื่อ

213-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 213
มกราคม 2540
บทความพิเศษ