• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แตงไทย

แตงไทย

ผักและผลไม้ที่มีกลิ่นและรสชาติแบบไทยๆ

“มันยกร่อง ฟักทอง แตงไทย
อีสาวหน้ามล ทำไมเป็นคนหลายใจ...”

เนื้อเพลงข้างบนนี้เป็นตอนขึ้นต้นเพลงลูกทุ่งยอดนิยมในอดีต ซึ่งขับร้องโดย ชาย เมืองสิงห์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งยังคงร้องเพลงอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน เพลงนี้ชื่อ “มันยกร่อง” ซึ่งไม่ได้เป็นชื่อมันชนิดพิเศษหรือพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นมันที่ปลูกบนพื้นที่ยกร่องสวน อันเป็นเทคนิคการปรับปรุงพื้นที่ของเกษตรกรในเขตภาคกลางที่ราบลุ่มและมีน้ำท่วมขังเป็นประจำแทบทุกปี

พืชที่ปลูกบนพื้นที่ยกร่องสวนดังกล่าวมักมีคำว่า “ยกร่อง” หรือ “สวน” พ่วงอยู่ข้างท้ายด้วย เพื่อแสดงถึงแหล่งที่มาหรือวิธีการปลูก เช่น “มันยกร่อง” หมายถึงมันที่ปลูกในพื้นที่ยกร่องสวน ต่างจากมันทั่วไปซึ่งปลูกในสภาพไร่บนที่ดอน  หรือ “กล้วยสวน” หมายถึงกล้วยที่ปลูกในพื้นที่ยกร่องสวน มิใช่กล้วยที่ปลูกในพื้นที่ไร่ทั่วไป เป็นต้น คนไทยเชื่อ(หรือทราบดี)ว่า คุณภาพของพืชผักหรือผลไม้ที่ปลูกบนร่องสวนในระบบร่องนั้นมีคุณภาพดีกว่าปลูกในสภาพไร่(ที่ไม่มีการยกร่อง) ตัวอย่างที่ชัดเจนและยอมรับกันทั่วไปได้แก่ทุเรียนสวน (ปลูกในระบบยกร่อง แถบจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง) มีคุณภาพและรสชาติดีกว่าทุเรียนจากภาคตะวันออก(ระยอง จันทบุรี ฯลฯ)  ซึ่งปลูกในพื้นที่ไม่ได้ยกร่อง

แม้จะใช้ทุเรียนพันธุ์เดียวกันและนำไปจากต้นแม่พันธุ์เดียวกันก็ตาม เช่น ทุเรียนหมอนทองจากสวนยกร่อง จังหวัดนนทบุรี มีรสชาติดีกว่าและแพงกว่าทุเรียนหมอนทองจากจังหวัดระยอง(ปลูกโดยไม่ยกร่อง) เป็นต้น

ที่ขึ้นต้นมายืดยาวเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพของพืชผลที่ได้จากระบบยกร่องสวน ก็เพราะปัจจุบันสวนผลไม้แบบยกร่องบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล(นนทบุรี ปทุมธานี)กำลังเสื่อมโทรมและหมดไปทุกที

เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ(น้ำและอากาศเสีย) รวมทั้งความเจริญที่แผ่ขยายเข้าไปทำให้พื้นที่สวนผลไม้ที่ดีที่สุดของประเทศไทย กลายสภาพเป็นตึกรามบ้านช่องหรือโรงงานไปเรื่อยๆ สวนผลไม้ที่เกิดขึ้นใหม่ก็มักไม่ใช้วิธีการยกร่อง เช่น สวนทุเรียนในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เป็นต้น

ในอนาคตคนไทยคงหาโอกาสชื่นชมหรือมีความสุขกับรสชาติดีเยี่ยมของทุเรียนสวนได้ยากขึ้นทุกทีแล้ว

คนไทยนั้นมีความละเอียดประณีตมากในเรื่องรสชาติของอาหาร ดังนั้นจึงทราบดีว่า รสชาติ(รวมทั้งกลิ่น)ของผักและผลไม้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆมากมาย ทั้งสภาพดิน ฟ้า อากาศ วิธีการปลูก ปุ๋ย การให้น้ำ... ฯลฯ และจากชนิดพันธุ์ของพืชด้วย

แตงไทยเป็นพืชชนิดหนึ่งซึ่งคนไทยตั้งแต่อดีตทราบดีว่า มีความแตกต่างด้านกลิ่นและรสชาติอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับแตงชนิดอื่นๆ หรือแม้แต่ระหว่างพันธุ์ต่างๆในแตงไทยชนิดเดียวกัน
แตงไทย : จากแดนไกลมาเป็นไทยเต็มตัว
แตงไทย เป็นพืชในวงศ์เดียวกับ บวบ ฟัก หรือแตงต่างๆนั่นเอง คือวงศ์ Cucurbitaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo Linn เป็นไม้ล้มลุกที่มีเถาเลื้อยไปบนพื้นดิน มีมือจับตรงง่ามใบ ใบมีขนาดใหญ่คล้ายๆใบแตงกวา ทุกส่วนของลำต้นมีขนสีขาวปกคลุม ดอกสีเหลือง แยกเป็นดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ผลมีขนาดโตกว่าแตงกวา แต่เล็กกว่าแตงโม รูปร่างกลมรี หรือกลมยาว หัวท้ายมน ผิวเปลือกบาง ผิวสีขาว ครีม เหลือง เขียว หรือมีลาย  เนื้อเมื่ออ่อนสีขาว  เมื่อสุกสีขาว เขียวอมเหลือง แสด ฯลฯ เนื้ออ่อนนุ่ม บางพันธุ์ค่อนข้างร่วน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวค่อนข้างแรง รสหวานไม่มากเท่าแตงโม ขึ้นอยู่กับพันธุ์และวิธีปลูก เมล็ดแบนสีขาวครีมเล็กและสั้นกว่าเมล็ดแตงกวา
แตงไทยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบภาคใต้ของทวีปแอฟริกาเช่นเดียวกับแตงโม และแพร่หลายไปทั่วโลกเหมือนกัน แตงไทยเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่เมื่อใดไม่มีบันทึกเอาไว้แต่คงเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว  จึงพบว่ามีปลูกอยู่ทั่วไปทุกภาครวมทั้งคนกลุ่มน้อย เช่น ชาวไทยภูเขาต่างๆ ก็ปลูกแตงไทยมานานแล้วเช่นกัน

ในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ กว่าร้อยปีมาแล้ว  อธิบายเกี่ยวกับแตงไทยเอาไว้ว่า “แตงไท : เป็นชื่อแตงอย่างหนึ่ง ลูกลายๆ ถ้าสุกกินรสหวานเย็นๆที่เขากินกับน้ำกะทินั้น” แสดงว่าชาวไทยรู้จักเพาะปลูกและกินแตงไทยกันมากว่าร้อยปีแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังเรียกว่า แตงไท และนิยมกินแตงไทยกับน้ำ(เชื่อม)กะทิเหมือนในปัจจุบันอีกด้วย

แตงไทย เป็นชื่อที่เรียกในภาคกลาง ภาคเหนือเรียกแตงลาย มะแตงลาย หรือมะแตงสุก  ภาคอีสานเรียก แตงจิง ภาษาอังกฤษเรียก Musk melon และ Cantaloupe ซึ่งเป็นแตงชนิดเดียวกัน แต่รูปร่างผล กลิ่น และรส แตกต่างจากแตงไทย ดังนั้น คนไทยจึงเรียก Musk melon และ Cantaloupe ว่าแตงฝรั่ง หรือเรียกทับศัพท์ว่า แตงแคนตาลูปบ้าง

แตงไทยจึงเป็นผักและผลไม้ที่น่าปลูกอย่างยิ่งไม่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น หากรวมถึงผู้อ่านที่มีพื้นดินหรือบริเวณบ้านพอแบ่งเป็นสวนครัวหลังบ้านได้บ้าง เพราะแม้จะไม่เคยปลูกแตงไทยมาก่อนเลยก็อาจปลูกแตงไทยได้โดยไม่ต้องอาศัยสารเคมีชนิดใดๆทั้งสิ้น หรือหากไม่มีพื้นที่สำหรับปลูกแตงไทยเลย ก็ขอให้ช่วยกันกินแตงไทยมากๆ เพราะนอกจากท่านจะได้กลิ่นและรสชาติของแตงแบบไทยๆแล้ว ท่านยังปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างชนิดต่างๆอีกด้วย

                                                          **********************

อาหาร
แตงไทยในฐานะ : ผักและผลไม้

แตงไทยผลอ่อน ใช้เป็นผักจำพวกผักผลสดเช่นเดียวกับแตงกวา นิยมใช้กินสดเป็นผักจิ้มชนิดหนึ่ง รสชาติคล้ายแตงกวาแต่เนื้อแน่นกว่า(น้ำน้อยกว่า) นอกจากนั้นยังนำไปยำและแกงเช่นเดียวกับแตงกวา รวมทั้งใช้ดองเป็นแตงดองได้ดีอีกด้วย นิยมดองให้มีรสออกหวานและเค็มเล็กน้อยมากกว่าดองเปรี้ยว
น่าเสียดายที่คนไทยยุคปัจจุบันไม่นิยมนำผลแตงไทยอ่อนมาใช้เป็นผักมากเหมือนในอดีต เท่าที่สังเกตดูจะมีแต่ภาคอีสานเท่านั้นที่ยังนิยมมากพอสมควร

ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่รู้จักแตงไทยในฐานะผลไม้ชนิดหนึ่ง เพราะยังนิยมกินกันอยู่ โดยเฉพาะขนมประเภทน้ำแข็งใส จะขาดแตงไทยน้ำ(เชื่อม)กะทิไปไม่ได้ เนื่องจากมีกลิ่นและรสชาติพิเศษไม่เหมือนผลไม้อื่น นับว่าแตงไทยน้ำกะทิเป็นขนมยอดนิยมของคนไทยยืนยาวมากว่าร้อยปี และคงนิยมต่อไปอีกนาน

นอกจากทำขนมแล้ว แตงไทยผลสุกยังนำมากินโดยตรงได้เช่นเดียวกับแตงโม แต่ไม่นิยมเท่าแตงโมเพราะไม่หวานเท่า รวมทั้งไม่นิยมเท่าแตงฝรั่ง(แคนตาลูป) เพราะรสชาติไม่หวานเท่าและเนื้อเละกว่า  อย่างไรก็ตาม แตงไทยก็มีข้อดีตรงที่แข็งแรง ทนทาน ปลูกได้ง่ายกว่า และปลูกได้ตลอดปี สามารถปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีเลย(แบบอินทรีย์)ได้ดีกว่าแตงโมหรือแตงฝรั่ง นอกจากนี้แตงไทยยังมีสายพันธุ์หลากหลายมาก มีโอกาสปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณภาพดีได้อีกมาก หากมีการปรับปรุงพันธุ์แตงไทยกันอย่างจริงจังแล้ว อีกไม่นานชาวไทยคงได้กินแตงไทยที่มีรสชาติและคุณสมบัติต่างๆ เท่าเทียมหรือดีกว่าแตงฝรั่ง รวมทั้งปลูกได้ตลอดปีโดยไม่ต้องใช้สารเคมีทุกชนิดอีกด้วย

กลิ่นและรสชาติของผลแตงไทยสดยังเหมาะสำหรับทำน้ำแตงไทย เพราะทำได้ง่าย กลิ่นและรสดี สีสวย คุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากมีวิตามินเอสูงมาก นอกจากนี้ยังมีวิตามินซี ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม ฯลฯ อยู่มากด้วย

ประโยชน์ด้านอื่นๆ

เนื่องจากแตงไทยเป็นแตงที่ปลูกง่าย บางครั้งจึงนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย เช่น หมู ไก่ เป็ด และปลา เป็นต้น โดยเฉพาะชาวไทยภูเขาซึ่งใช้วิธีเพาะปลูกแบบดั้งเดิม คือปลูกข้าวไร่พร้อมๆไปกับผักและผลไม้หลายชนิดในแปลงเดียวกัน

สมุนไพร
แตงไทยสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้หลายส่วน เช่น

  • เนื้อผลอ่อน  : รสเย็นจืด แก้กำเดา(เลือดออกทางจมูก)
  • เมล็ดแก่ : ใช้ขับปัสสาวะ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ
  • โคนก้านผล : มีสารรสขม ชื่อ elaterin แก้ไอ ทำให้อาเจียน

 
 

ข้อมูลสื่อ

213-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 213
มกราคม 2540
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร