• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กดื้อเงียบ

เด็กดื้อเงียบ

ผมมีหลานชายอายุ 11 ปี เวลาที่เขาทำอะไรไม่ถูกไม่ควร พอถูกตำหนิเขาจะเฉย ทำไม่รู้ไม่ชี้ ประเภทดื้อเงียบ บางครั้งเขาทำผิดหรือพูดจาโกหก ถ้าถูกจับได้เขาก็จะเถียงและยืนยันว่าถูกต้องแบบหัวชนฝา ไม่ยอมราข้อแม้แต่น้อยเลยละครับ

ผมจะแก้นิสัยเขาอย่างไรครับ
                                                                                                         วิชาญ/กรุงเทพฯ

                                     ***************************************

ป้าหมอรู้สึกดีใจและขอบใจแทนคุณพ่อคุณแม่ของหลาน ซึ่งคุณวิชาญได้สังเกตว่าหลานชายอายุ 11 ปี เป็นเด็กประเภทดื้อเงียบ เด็กอายุ 11 ปี เป็นเด็กวัยรุ่นตอนต้น เด็กวัยนี้ต้องการความภาคภูมิใจในตัวเอง และต้องการภาพพจน์ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ขณะเดียวกันเขาจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อปกป้องไม่ให้คนอื่นเห็นเขาในแง่ไม่ดีหรืออาจจะกำลังหาแบบอย่างเพื่อเลียนแบบและเริ่มมีแบบอย่างเฉพาะตัวถาวรในอนาคต แต่ด้วยความเป็นเด็กคงเป็นไปได้บ่อยที่เขาอาจจะทำอะไรไม่ถูกไม่ควรอย่างที่คุณเล่า แต่ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อย ป้าหมอป้าหมออยากให้คุณวิชาญมองข้ามไปก่อนเพราะการสังเกตเขาทุกเรื่องและคอยบอก จะยิ่งทำให้เขาโกรธทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว และถ้าไปตำหนิโดยตรงนั่นแหละยิ่งสร้างปัญหาใหญ่เพราะเป็นสิ่งที่เขาจะไม่มีวันยอมรับได้ การตำหนิคนทุกคนไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา เราอาจจะต้องหาวิธีที่อะลุ่มอล่วยอยู่ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและชี้ให้หลานเห็นว่าสิ่งที่เขาทำน่าจะเปลี่ยนแปลงไป

ถ้าอยากจะช่วยหลาน อยากจะแก้ปัญหาของเขาต้องเริ่มที่คุณวิชาญก่อน กรุณามองหลานด้วยความเป็นธรรมเทียบกับเด็กวัยรุ่นเดียวกัน ถ้าพฤติกรรมที่เกิดขึ้น วัยรุ่นอื่นๆก็ทำ เช่น เด็กบางคนอาจจะชอบพูดโทรศัพท์นานๆ พูดเป็นชั่วโมงๆ ในสังคมยุคนี้การพูดโทรศัพท์เป็นทางออกอย่างหนึ่งของวัยรุ่นคงห้ามทั้งหมดไม่ได้ แต่อาจจะบอกเด็กด้วยท่าทีที่เป็นมิตรว่าพูดโทรศัพท์ได้แต่ถ้าพูดนานนักคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนก็อาจจะดุเพื่อน หรืออาจจะบอกหลานว่าถ้ารับโทรศัพท์ในเวลาที่เกิน 3-4 ทุ่มไปแล้ว ขอให้พูดสั้นๆ เผื่อมีโทรศัพท์ถึงคนอื่นในบ้านและเป็นเรื่องรีบด่วนก็จะได้ติดต่อกันได้ พร้อมทั้งขอบใจหลานถ้าหลานรีบทำตาม เช่น อาจจะบอกหลานว่าปีนี้หลานเริ่มโตแล้ว ขอบใจจริงๆ ที่ใช้เหตุใช้ผลอยู่ร่วมกัน

หลานคงไม่อยากถูกตำหนิ พอถูกตำหนิเขาก็เฉยทำไม่รู้ไม่ชี้และดื้อเงียบนับว่าเป็นหลานที่ดีนะคะ เพราะว่าเขายังพยายามอดทนฟังเพราะรู้ว่าตัวเองผิด แต่เป็นการดื้อเงียบที่เราเรียกว่าเป็นการต่อรองกับผู้ใหญ่แบบก้าวร้าวทางอ้อม ถ้าอยากจะให้เขายอมจำนนว่าเขาทำผิดหรือพูดจาโกหกโดยไม่ต้องให้เขาเถียงและยืนยันว่าถูกต้องแบบหัวชนฝา คุณวิชาญต้องเข้าใจว่านั่นได้เกิดสงครามขึ้นแล้วระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กหรือวัยรุ่นนั่นเอง

สงครามนี้แน่นอนเด็กไม่ยอมแพ้แน่ ถึงแพ้ด้วยเหตุและผลคุณวิชาญอาจจะต้องใจเย็นๆ ค่อยๆอธิบายโดยไม่ตำหนิเขา แล้วพูดลงท้ายว่า ที่พูดนี้ก็เข้าใจว่าเขาไม่ได้เจตนา เพียงแต่ว่าเราลองมาพูดคุยกันแล้วลองติดต่อว่าที่คุณวิชาญพูดเขาเห็นด้วยแค่ไหน เท่านี้แหละก็จะสามารถสยบเขาได้ อย่าไปคิดให้เขาราข้อ เพราะเขาจะราข้อได้ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าคนที่พูดนั้นเขามีความรัก มีความเชื่อใจ มีเหตุมีผลในการพูดกับเขาโดยไม่กล่าวโทษหรือติเตียนเขา

แต่อย่างไรก็ดี คุณวิชาญคงต้องให้ความสำคัญกับคุณพ่อคุณแม่ของหลานด้วยว่าเขาเลี้ยงดูลูกอย่างไร เพราะบางครั้งถ้าคุณเห็นปัญหาแต่คุณพ่อคุณแม่ของหลานคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ป้าหมอก็ไม่แน่ใจว่าคุณจะสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้หรือเปล่า หรือคุณควรจะเริ่มแก้ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ของหลานก่อน โดยการพูดเรื่องนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ของหลานฟังแล้วขอความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ของหลานให้ใช้วิธีอย่างเดียวกับคุณ

ถ้าทุกคนร่วมมือกันด้วยการไม่ติเด็ก ด้วยการอธิบายกับเด็กดีๆ แน่นอนเด็กย่อมรู้สึกว่าบรรยากาศเป็นมิตร ไม่ใช่เป็นการพิพากษาหรือเป็นการต่อสู้ เด็กก็จะเริ่มลดการต่อรองลงและให้โอกาสเด็กในการพูดอธิบายแสดงความรู้สึก เด็กก็จะเกิดการเลิกก้าวร้าวทางอ้อม แต่สามารถอธิบายได้อย่างสร้างสรรค์  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตข้างหน้า เพราะคงไม่มีใครที่จะสามารถทำอะไรถูกไปหมด แต่ถ้าเราพูดกันดีๆ ใช้เหตุใช้ผลและมีความรู้สึกที่ดีๆต่อกัน ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไรก็น่าจะมีทางออกที่ดีได้

หลานเป็นเด็กที่โชคดีเหลือเกินที่มีคุณวิชาญคอยดูแล มีเด็กอีกหลายคนที่อยู่ในวัยของหลานที่ว้าเหว่ขาดคนแนะนำ และทำอะไรโดยที่ไม่รู้ผิดหรือถูก ซึ่งทำให้ชีวิตข้างหน้าประสบปัญหาซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ขอให้คุณวิชาญพยายามต่อนะคะ ป้าหมอคิดว่าคุณต้องประสบความสำเร็จและชนะใจหลานอย่างแน่นอน สวัสดีค่ะ


 

ข้อมูลสื่อ

214-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 214
มีนาคม 2540
ป้าหมอ