• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กะเพรา ผักพื้นบ้านและพืชศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

กะเพรา ผักพื้นบ้านและพืชศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

ในบรรดาผักพื้นบ้านที่นำมาเขียนลงในคอลัมน์ “ต้นไม้ใบหญ้า” หลายสิบตอนที่ผ่านมานั้น แต่ละชนิดต่างก็มีจุดเด่นต่างๆกันไป มากบ้างน้อยบ้าง อันเป็นลักษณะเด่นของพืชพันธุ์ในเขตร้อน (tropical) ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าเขตอบอุ่น (temperate) หรือเขตแห้งแล้ง (arid) อย่างมากมาย ความร่ำรวยทางทรัพยากรชีวภาพนั้น นำมาซึ่งความร่ำรวยทางวัฒนธรรมด้วย ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมของชนเผ่าหรือเชื้อชาติต่างๆในเขตร้อน ซึ่งมีอยู่หลากหลายเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิต(พืช สัตว์ ฯลฯ)ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น

ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่างก็อิงอาศัยกันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ร่วมกัน หากสิ่งใดสูญสลายหรือเสื่อมโทรมลงด้วย ดังนั้นแนวโน้มใหญ่ของโลกในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมควบคู่กันไป ในขณะที่ผู้นำของประเทศล้าหลังบางประเทศกำลังดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศไปในทางตรงกันข้าม ทั้งๆที่ประเทศของตนมีความร่ำรวยทรัพยากรทั้งสองด้านมากกว่าอีกนับร้อยประเทศ

ผักบางชนิดที่เป็นเพียงพืชธรรมดาในประเทศหนึ่งจึงอาจกลายเป็นพืชพิเศษยิ่งในอีกประเทศที่มีวัฒนธรรมต่างกันได้ ดังเช่นตัวอย่างที่จะยกมาเขียนนำเสนอในตอนนี้ นั่นคือพืชที่คนไทยเรียกว่า กะเพรา

                                                         ***********************
กะเพรา : พืชที่มีฐานะแตกต่างกันใน 2 วัฒนธรรม

ในประเทศไทย คนไทยรู้จักกะเพรามานานแล้วเช่น หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ.2416 คือเมื่อ 124ปีมาแล้วเขียนถึงกะเพราว่า “กะเพรา : ผักอย่างหนึ่งต้นเล็กๆ ใบกลิ่นหอม ใช้แกงกินบ้าง ทำยาบ้าง” นั่นคือกะเพราในวัฒนธรรมไทย ซึ่งในปัจจุบันฐานะของกะเพราก็ไม่ต่างไปจากเดิม คือเป็นพืชซึ่งใช้เป็นอาหารและยาได้เช่นเดียวกับผักพื้นบ้านอีกหลายชนิด ไม่มีความพิเศษแต่อย่างใด

แต่เมื่อไปดูฐานะของกะเพราในสังคมชาวฮินดู เช่นที่อินเดียและเนปาลแล้ว เราจะพบว่ากะเพรามิใช่พืชธรรมดาอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพบูชาอย่างสูงยิ่ง ยากจะหาพืชชนิดอื่นมาเทียบเคียงได้เลยทีเดียว

ชาวฮินดูที่นับถือพระวิษณุ(นารายณ์) เชื่อว่า กะเพราคือพระนางลักษมี ซึ่งเป็นชายาของพระวิษณุที่ครั้งหนึ่งเคยอวตารลงมาเป็นนางสีดาชายาของพระราม ซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ(นารายณ์)นั่นเอง

เมื่อเชื่อว่ากะเพราคือพระนางลักษมี  ผู้ที่นับถือบูชาพระวิษณุจึงนับถือบูชากะเพราไปด้วย ทุกบ้านจะปลูกกะเพราเอาไว้ทำพิธีกรรมต่างๆ ประกอบอาหาร ทำยา นอกจากนั้นยังเชื่อว่ากะเพรามีฤทธิ์อำนาจป้องกันภูตผีหรือสิ่งเลวร้ายมิให้มากล้ำกรายบ้านเรือนและผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านนั้นด้วย

นอกจากชาวฮินดูแล้ว ชาวคริสต์บางกลุ่มในประเทศกรีกก็เชื่อว่ากะเพราเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพืชที่งอกขึ้นบนหลุมฝังพระศพของพระเยซู จนทำให้มี Saint Basil’s Day หรือวันนักบุญกะเพราขึ้นเฉลิมฉลองเช่นเดียวกับ  Saint Valentine’s Day หรือวัน(นักบุญ)วาเลนไทน์ ที่ชาวไทยรู้จักกันในนามวันแห่งความรัก (๑๔ กุมภาพันธ์ ) นั่นเอง เมื่อถือว่ากะเพราเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกชื่อกะเพราในภาษาอังกฤษว่า Holy Basil หรือ Sacred Basil ส่วนในภาษาฮินดีเรียกว่า Tulsi หรือ Tulasi ซึ่งแปลว่า “ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบได้” แสดงถึงฐานะอันสูงส่งของกะเพราในวัฒนธรรมทั้งสองแหล่ง (คริสต์และฮินดู) ได้อย่างชัดเจน

                                                      **********************
กะเพรา : ข้อมูลทางธรรมชาติบางอย่าง

ในทางพฤกษศาสตร์ กะเพราเป็นพืชอยู่ในวงศ์ Labiatae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum sanctum Linn เป็นพืชจำพวกพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 ฟุต ต้นอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนปกคลุม กิ่งและแขนงเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีกิ่งก้านมาก ใบรูปไข่ยาวปลายแหลม ยาว 2-4 เซนติเมตร ใบมีกลิ่นหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก ดอกตั้งขึ้นเป็นช่อยาวประมาณ 5-14 เซนติเมตร บนช่อมีดอกเรียงเป็นชั้นๆคล้ายฉัตร ดอกขนาดเล็กสีชมพูอมม่วง ช่อดอกชั้นล่างจะบานก่อนชั้นบน กะเพราแบ่งออกเป็น 2 พันธุ์คือกะเพราขาว มีกิ่งและใบสีเขียว กับกะเพราแดง(หรือกะเพราดำ) มีใบและลำต้นสีแดงหรือม่วงเข้ม เชื่อกันว่ากะเพราะแดง(ดำ)มีรสชาติแรงกว่ากะเพราขาว จึงนิยมนำไปใช้ทำยามากกว่านำมาประกอบอาหาร ส่วนกะเพราขาวนิยมใช้ปรุงอาหาร ในขณะเดียวกันก็ใช้ทำยาด้วย

กะเพราเป็นพืชที่ปลูกง่ายที่สุดชนิดหนึ่ง เพียงแต่โรยเล็ดลงบนพื้นดินแล้วรดน้ำพอชุ่มชื้น กะเพราก็จะงอกงามได้ดี เท่าที่ผู้เขียนเคยเดินทางไปหลายแห่งพบว่ากะเพราสามารถขึ้นเองได้ตามสองข้างทางขอบถนนในชนบทของหลายประเทศเช่นเดียวกับวัชพืชอื่นๆ ยากจะหาพืชชนิดใดทนทานเท่า

ดังนั้นหากท่านผู้อ่านจะปลูกกะเพราเอาไว้ในบ้านจึงเป็นสิ่งที่ทำได้แน่นอน ไม่ว่าจะปลูกในสวนครัวหลังบ้านหรือในกระถางก็ตาม

                                                *************************************

อาหาร กะเพราในฐานะผักและอาหาร

เนื่องจากกะเพรามีกลิ่นหอมฉุนและรสเผ็ดร้อน ชาวไทยจึงไม่นิยมกินกะเพราโดยตรงเหมือนผักชนิดอื่นๆ แต่นิยมนำไปเป็นเครื่องปรุงรสชาติและกลิ่นในการประกอบอาหารต่างๆ ตัวอย่างเช่น คนไทยส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงกะเพรา ก็มักจะนึกถึงเมนูหรือรายการอาหารยอดนิยมจากกะเพรา นั่นคือ “ผัดกะเพรา” (หมู ไก่ เครื่องใน ฯลฯ) อาหารจานเดียวของคนไทยในเมือง ต้องมีข้าวราดด้วยผัดกะเพราร่วมอยู่ในรายการยอดนิยมอย่างหนึ่งเป็นแน่ ผู้อ่านหลายท่านคงจำกลิ่นผัดกะเพราที่ทั้งหอมทั้งฉุนตลบอบอวลไปทั่วทั้งร้านและบริเวณใกล้เคียงจนทำให้เกิดเสียงไอจามดังระงมได้เป็นแน่

กะเพรามีกลิ่นและรสที่รุนแรงเฉพาะตัว จึงมักนิยมใช้ดับกลิ่นคาวในตำรับอาหารไทย เช่น ผัดกบ ผัดปลาไหล(ผัดขี้เมา) ผัดเนื้อ ผัดเป็ด ผัดหมู ฯลฯ พล่าปลาดุก พล่าแย้ ฯลฯ นอกจากนั้นเป็นจำพวกแกงต่างๆ เช่น แกงเลียงใบกะเพรา สำหรับมารดากินหลังคลอดใหม่ๆ เพื่อขับลมบำรุงธาตุให้ปกติ เป็นยาขับน้ำนม นอกจากนี้ยังมีแกงป่า แกงเขียวหวาน แกงคั่ว แกงเผ็ดหนูนา แกงส้มมะเขือขื่น แกงเผ็ดปลากระเบนย่าง แกงนอกหม้อ(หอยแมลงภู่) แกงเจ้าลาว(ปลาร้า) ฯลฯ

นอกจากนี้กะเพรายังใช้ปรุงต้มส้มน้ำพริก หรือนำใบกะเพราไปทอดจนกรอบแล้วนำมาโรยหน้าอาหารอื่นได้ด้วย

                                                             ***************************
สมุนไพร
กะเพราเป็นพืชที่จัดเป็นสมุนไพรได้อย่างเต็มตัวชนิดหนึ่ง เพราะมีสรรพคุณรักษาโรคได้หลายชนิด ทั้งตำราไทยและต่างประเทศต่างก็ระบุความเป็นสมุนไพรรักษาโรคได้ของกะเพราเอาไว้หลายด้านเช่น ตำราสมุนไพรไทย บรรยายสรรพคุณด้านยาของกะเพราเอาไว้ว่า “รสฉุนปร่า ร้อน ขับลม แก้ซาง แก้ท้องขึ้น ปวดท้อง บำรุงธาตุ แก้จุกเสียดในท้อง ช่วยย่อยอาหาร”

ในตำราสมุนไพรไทย แบ่งสมุนไพรเป็นจำพวกต่างๆ รวมทั้งพิกัดอีกมากมาย ในจุลพิกัดซึ่งมีสมุนไพรกลุ่มละ 2 ชนิดนั้นระบุถึงกลุ่มที่เรียกว่า “กะเพราทั้ง 2” หมายถึงกะเพราขาวและกะเพราแดง  ส่วนที่เรียกว่า  “กะเพราทั้ง 5” หมายถึงส่วนราก ต้น ใบ ดอก และผล ของกะเพรา ซึ่งใช้ด้วยกันทั้งหมดในตำรานั้น

ในตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ซึ่งมีอยู่ 16 ตำรับนั้น มีอยู่ตำรับหนึ่งชื่อว่า “ยาประสะกะเพรา” หมายถึงมีกะเพราเป็นส่วนผสมอยู่ครึ่งหนึ่งโดยน้ำหนัก ยาประสะกะเพรานี้ แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ปวดท้อง แน่นท้อง อันเป็นสรรพคุณหลักของกะเพรานั่นเอง

นอกจากนี้กะเพรายังเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาอีกมากมาย เช่น ยารักษาตานขโมยสำหรับเด็ก ยาแก้ทรางเด็ก และยากินให้มีน้ำนมสำหรับมารดา เป็นต้น

ในต่างประเทศมีการใช้กะเพราเป็นยารักษาโรคอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าในประเทศไทยเสียอีก โดยเฉพาะในอินเดียถือว่ากะเพราใช้รักษาโรคได้ทุกโรคเลยทีเดียว ผู้เขียนซื้อตำราเล่มหนึ่งมาจากอินเดีย เป็นเรื่องยาจากกะเพราทั้งเล่ม(อ่านได้เพียงบางส่วนเท่านั้น)  พบว่าคนอินเดียมีความรู้ในการใช้กะเพราเป็นยาอย่างลึกซึ้งและมากมายจริงๆ สมกับที่เคารพบูชากะเพรามาหลายพันปี สรรพคุณด้านต่างๆที่บรรยายอยู่ในหนังสือเล่มนั้นคงไม่สามารถนำมาถ่ายทอดในคอลัมน์นี้ได้ เพราะผู้เขียนเองไม่มีเนื้อที่เหลือพอ คงต้องผลัดไปในโอกาสหน้า

                                                        ****************************
ประโยชน์ด้านอื่นๆ

สรรพคุณที่น่าสนใจอย่างอื่นของกะเพราก็คือ น้ำมันหอมที่กลั่นได้จากใบกะเพรานั้นใช้ฆ่าเชื้อโรคก็ได้ ใช้ไล่แมลงก็ได้ (เช่น ทากันยุงได้นาน 2 ชั่วโมง) หรือใช้หยดลงในน้ำสำหรับอาบก็ทำให้สดชื่น หายเครียด ฯลฯ

 

                                                ************************************

 

ข้อมูลสื่อ

215-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 215
มีนาคม 2540
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร