• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แผลในปาก

แผลในปาก

แผลในปากเป็นปัญหาที่พบบ่อย โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาว ในกลุ่มผู้ที่มีอายุประมาณ 2o ปีขึ้นไป จะมีน้อยคนนักที่ไม่เคยเป็นแผลในปากมาก่อน อย่างน้อยก็คนละ 1-2 ครั้ง มีผู้คำนวณอุบัติการณ์ของโรคแผลในปากชนิดไม่ติดเชื้อว่า พบคนเป็นประมาณร้อยละ 20ของประชากร

แผลในปากเป็นโรคที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนมากนัก เพราะเมื่อเป็นแล้วจะหายได้เองภายในเวลา 7-10 วัน คนส่วนใหญ่อาจเป็น 1-2 ครั้ง แล้วไม่เป็นอีกเลย หรือนานๆเป็นที จึงไม่รู้สึกว่าเป็นโรคที่น่าวิตกกังวล มีคนจำนวนน้อยที่เป็นๆหายๆอยู่ตลอด พอแผลเก่าหายได้ไม่นานแผลใหม่ก็ขึ้นมาอีก บางรายเป็นแผลใหญ่อักเสบจะเจ็บมาก ในรายเช่นนี้ จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนได้มากทีเดียว เกิดเป็นอุปสรรคในการกินอาหาร การพูด การทำความสะอาดฟันและช่องปาก ทำให้เป็นไปไม่ได้ตามปกติ

เมื่อกินอาหารไม่ได้ ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาคือ ร่างกายอ่อนแอ ผ่ายผอม ไม่มีแรง เกิดโรคกระเพาะ ปวดท้อง ท้องเสีย เนื่องจากถึงเวลากินอาหารแล้วไม่ได้กิน เกี่ยวกับการพูดทำให้พูดไม่ชัด ไม่อยากพูดเพราะเจ็บแผล เกิดเป็นปัญหาในการทำงานโดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพที่ต้องติดต่อกับผู้คน เช่น นักประชาสัมพันธ์ นักพูด นักร้อง โฆษก นักจัดรายการ เป็นต้น

นอกจากนี้การรักษาความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟันทำได้ไม่สะดวกทำให้สุขภาพของช่องปากเสียไป จากอาการดังกล่าวทำให้ผู้ที่เป็นแผลในปากบ่อยๆ ขาดความสุข เกิดความวิตกกังวล หงุดหงิด จิตใจไม่สบาย มีผลกระทบไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวันและการงานได้มาก

แผลในปากอาจเกิดร่วมกับโรคของระบบอื่นภายในร่างกายหรือร่วมกับโรคผิวหนังบางชนิด  ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีอาการผิดปกติของระบบอื่นร่วมด้วย และผู้ที่เป็นมีร่างกายแข็งแรงดี แผลชนิดนี้มีชื่อทางการแพทย์ว่า  “แผลแอฟทัส” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แผลร้อนใน”

ลักษณะแผลเมื่อเริ่มเป็นใหม่ๆจะขึ้นเป็นตุ่มแดง มีหัวสีขาวอยู่ตรงกลาง มักเป็นตุ่มเดียว ตุ่มแดงนี้จะแตกออกเป็นแผลภายใน 2-3 วัน แผลที่เกิดขึ้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร มักพบในช่องปากบริเวณแก้มและริมฝีปาก อาจเป็นที่ลิ้นและเหงือกได้ด้วย แผลนี้จะหายไปเองภายในเวลาประมาณ 7-10 วัน ส่วนใหญ่หายโดยไม่มีรอยแผลเป็น มีส่วนน้อยที่แผลมีขนาดใหญ่และลึก หายยาก มีอาการเจ็บมาก เมื่อหายจะเป็นแผลเป็น ปัญหาของแผลแอฟฟัสที่ทำให้ผู้ที่เป็นเดือดร้อนคือ ชนิดที่เป็นๆหายๆ และไม่หายขาด

สำหรับผู้ที่เป็นบ่อยๆ ต้องสำรวจว่า มีความผิดปกติของร่างกายในระบบอื่นร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคท้องเดินเรื้อรัง โรคโลหิตจาง เนื่องจากขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี ๑๒ และธาตุเหล็ก หรือมีโรคของระบบฮอร์โมน พบว่า บางคนมีอาการดีขึ้นขณะตั้งครรภ์  ซึ่งในรายเช่นนี้ ในการรักษาอาจจำเป็นต้องให้ฮอร์โมนเพศหญิงประเภทเดียวกับยาคุมกำเนิด หรือเป็นผู้ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์จากการพักผ่อนไม่เพียงพอและขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

ด้วยเหตุนี้  ผู้ที่มีอาการเป็นแผลในปากบ่อยๆ จึงมีความจำเป็นต้องตรวจโรค เช่น ตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ ตรวจอุจจาระ ตรวจเลือด ถ้าพบว่ามีโรคอื่นร่วมด้วย การรักษาโรคเหล่านั้นให้หาย อาการแผลในปากก็จะหายไปด้วย

แผลในปากอาจเกิดจากสาเหตุอื่นอีกมาก เช่น แผลบาดเจ็บจากแปรงสีฟันกระแทก ถูกฟันกัด ถูกกระดูกเป็ดไก่ทิ่มขณะกินอาหาร อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส ที่เรียกว่า เริมหรือแผลเฮอร์บีส แต่เริมจะเป็นบริเวณผิวที่ริมฝีปากและบริเวณใกล้เคียงมากกว่าที่จะเป็นในเยื่อบุช่องปาก ถ้าเมื่อใดเกิดเป็นในช่องปากแสดงว่า ผู้ที่เป็นอยู่ในสภาพภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ จะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย ซึ่งต่างกับผู้เป็นแผลแอฟทัส ซึ่งไม่มีอาการผิดปกติทางร่างกายให้เห็น

เชื้อราในปากเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบบ่อย เชื้อที่เป็นต้นเหตุคือ เชื้อยัสต์หรือแคนดิดา พบบ่อยในเด็กอ่อน พบว่าในช่องปากมีลักษณะเป็นฝ้าขาว เมื่อลอกรอยฝ้าขาวออกจะเห็นรอยถลอกแดง ซึ่งต้องแยกออกจากคราบขาวหลังเด็กดูดนม ซึ่งจะลอกฝ้าออกได้โดยง่ายและไม่มีรอยแดง ลักษณะเชื้อยีสต์ในปากไม่เหมือนแผลแอฟทัสเพราะไม่มีแผล ในผู้ใหญ่พบเป็นในคนที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือในรายที่กินยาปฏิชีวนะมากและนานเกินไป วินิจฉัยได้โดยขูดฝ้าขาวไปตรวจดูเชื้อ โรคผิวหนังบางชนิดมีแผลในปากร่วมด้วย ซึ่งลักษณะผื่นที่ผิวหนังจะเป็นเครื่องช่วยในการวินิจฉัยโรค ส่วนแผลจากการติดเชื้อแบคทีเรียพบไม่บ่อย อาจติดต่อจากเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อโกโนเรีย เชื้อซิฟิลิส เป็นต้น

การรักษาแผลแอฟทัส  เนื่องจากแผลจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการปวดก็ให้ยาแก้ปวด รักษาความสะอาดของช่องปาก ด้วยการอมและกลั้วปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ไม่มีฤทธิ์ระคายเคืองมาก เช่น น้ำยาโดเบลหรือน้ำเกลือ ส่วนบริเวณแผลใช้ป้ายด้วยยาป้ายแผลสีม่วงที่ใช้ป้ายปากเด็ก ได้แก่ เจนเชียนไวโอเลต ไม่ควรใช้ยาประเภททิงเจอร์ป้ายแผลเพราะจะแสบมาก ในระยะที่ยังไม่แตกเป็นแผลอาจใช้สตีรอยด์ครีมสำหรับป้ายแผลในปาก เช่น เคนาลอกครีม จะทำให้หายเร็วขึ้น

การตรวจหาโรคของระบบอื่นที่อาจเกิดร่วมกับแผลในปากนั้น เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะในรายที่เป็นๆหายๆอยู่เป็นเวลานาน ถ้าเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ แผลในปากก็จะหายไปด้วย

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่เป็นแผลในช่องปากเรื้อรังคือ รักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้เพียงพอและครบทั้ง 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่และวิตามิน ถ้าพบว่ามีสภาพขาดสารอาหาร ต้องให้ทดแทน เช่น วิตามินบีคอมเพล็กซ์หรือธาตุเหล็ก รักษาความสะอาดของช่องปากด้วยการแปรงฟันหลังอาหาร พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้มีฟันผุหรือฟันคมทิ่มแทงแก้มขณะเคี้ยว ต้องระวังการขบเคี้ยวอาหารแข็ง เช่น กระดูกเป็ด ไก่ เมล็ดผลไม้ ไม่ให้กระทบกระแทกเยื่อบุช่องปาก

หากมีความผิดปกติของระบบอื่นในร่างกาย เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ไม่สบายบ่อยๆ มีไข้ หรือมีผื่นที่ผิวหนัง ควรทำการตรวจหาสาเหตุเพื่อการรักษาที่ถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆ

 

ข้อมูลสื่อ

216-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 216
เมษายน 2540
เรื่องน่ารู้
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์