• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โหระพา ผักใบที่มีกลิ่นหอมหวานและหลากสายพันธุ์

โหระพา ผักใบที่มีกลิ่นหอมหวานและหลากสายพันธุ์                                      

เมื่อผู้เขียนยังเด็กและอาศัยอยู่ในชนบทภาคกลางอันเป็นบ้านเกิดนั้น จำได้ว่าแม้ภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมจะอุดมสมบูรณ์จนกระทั่งสามารถเก็บหาอาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมาบริโภคได้มากมายตามฤดูกาล โดยเฉพาะผักชนิดต่างๆที่มีอยู่อย่างหลากหลาย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มักจะปลูกผักบางชนิดเอาไว้ในบริเวณบ้าน เรียกว่า การทำสวนหลังบ้านหรือสวนครัว นโยบายส่งเสริมให้ชาวไทยปลูกผักทำสวนครัวนี้เป็นนโยบายสำคัญในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ความจริงการปลูกผักสวนครัวนั้นเป็นสิ่งที่ชาวชนบททำสืบต่อกันมาเนิ่นนานแล้ว  จอมพลป.พิบูลสงครามเพียงแต่นำมาส่งเสริมเป็นนโยบายระดับชาติเท่านั้น ผลที่ได้รับจริงๆก็คงเป็นในเขตเมืองซึ่งปกติไม่เคยปลูกผักสวนครัวมาก่อน

คนไทยยุคปัจจุบันเมื่อได้ยินคำว่า “ปลูกผักสวนครัว” ก็คงนึกถึงผักที่คุ้นเคย เช่น คะน้า กวางตุ้ง หัวไชเท้า กะหล่ำปลี ฯลฯ แต่ในยุคสมัยก่อนโน้น คนไทยไม่นิยมปลูกผักเหล่านี้(ที่เรียกรวมว่าเป็น “ผักจีน”) ยิ่งกว่านั้นยังไม่นิยมปลูกผักแท้ๆ (ที่ใช้กินเป็นผักเท่านั้น) แต่นิยมปลูกผักที่ใช้เป็นเครื่องปรุงในครัวได้ด้วย เช่น ข่า ตะไคร้ พริก กระชาย หอม กระเทียม ผักชี กะเพรา ฯลฯ และผักที่ใช้เป็นเครื่องปรุงรสและกลิ่นชนิดสำคัญ ซึ่งขาดไม่ได้สำหรับสวนครัวของคนไทยในสมัยโน้นก็คือ โหระพา อีกชนิดด้วย

 

                                             **************************

                

 

โหระพา : พี่น้องคลานตามกันมาของกะเพรา
คนไทยมีศัพท์แสงที่ใช้เป็นสำนวนเปรียบเทียบความใกล้ชิดกันมากๆว่า เหมือนเป็น “พี่น้องคลานตามกันมา” ทำให้มองเห็นภาพพจน์ว่านอกจากเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกันแล้ว ยังมีลำดับติดกันและอายุใกล้เคียงกันมาก(ประเภทหัวปีท้ายปี)อีกด้วย สำนวนนี้อาจนำมาใช้ได้กับกะเพราและโหระพา เพราะต่างก็อยู่ในวงศ์เดียวกัน (Labiatae) และยังอยู่ในสกุลเดียวกันด้วย (Ocimum) ชื่อในภาษาอังกฤษก็ใช้ใกล้เคียงกันคือ กะเพราใช้ Sacred Basil ส่วนโหระพาใช้ Sweet Basil หรือ Common Basil จะเห็นได้ว่าเป็นพี่น้องชาว Basil เหมือนกัน

โหระพา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum basilicum Linn จากชื่อชนิด คือ basilicum จะสังเกตเห็นว่า มีคำ basil อยู่ด้วย แสดงว่า โหระพา เป็นพืชพวก Basil ที่แพร่หลายที่สุดในประเทศแถบยุโรป(เขตอบอุ่น) หรือชื่อสามัญที่ใช้ Common Basil ก็ถือว่าเป็น Basil ที่รู้จักคุ้นเคยมากกว่า basil ชนิดอื่นๆ (เช่น กะเพรา แมงลัก ฯลฯ)

เนื่องจากโหระพาอยู่ในสกุลเดียวกับกะเพรา จึงมีลักษณะต่างๆร่วมกันอยู่หลายประการ เช่น ขนาดของทรงพุ่มสูงราว ๒ ฟุต (๖o เซนติเมตร) ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก ฯลฯ

ลักษณะพิเศษบางประการของโหระพาคือ ปกติมีสีม่วงตามกิ่งก้านและลำต้น ใบและลำต้นไม่มีขนอ่อนปกคลุม ใบค่อนข้างหนา ขนาดยาวตั้งแต่ ๒ เซนติเมตรขึ้นไป บางสายพันธุ์ใบโตมากแต่มักบิดหรือย่นเป็นรอยพับ ช่อดอกมีทั้งชนิดยาวและเป็นพวง ดอกขนาดเล็กมีสีขาวแซมม่วง เมล็ดขนาดเล็กสีดำคล้ายเมล็ดแมงลัก  เมื่อแช่น้ำจะพองตัวได้เช่นเดียวกับเมล็ดแมงลัก

โหระพามีถิ่นกำเนินอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือแถบประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แต่ได้กระจายไปทั่วโลกหลายพันปีมาแล้ว กล่าวกันในบางตำราว่าอาณาจักรโรมันได้นำโหระพาไปเผยแพร่ทั่วทวีปยุโรป แล้วจึงกระจายไปทั่วโลกในเขตร้อนและอบอุ่น โหระพาจึงนับเป็นพืชจากแถบโลกเก่าทางตะวันออกที่แพร่หลายที่สุดชนิดหนึ่งจนอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันการปลูกโหระพาในประเทศตะวันตกแถบอบอุ่น มีมากกว่าถิ่นกำเนิดเดิมคือเขตร้อนของเอเชียเสียอีก

โหระพายังเป็นพืชประกอบการศึกษาการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมในวิชาพันธุศาสตร์อีกด้วย โดยสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตร ได้จัดพิมพ์แผ่นภาพชุดบทเรียนพันธุศาสตร์จากโหระพาและสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำไปบรรจุในหลักสูตรวิชาชีววิทยาของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ต้องขอบันทึกไว้เป็นเกียรติในที่นี้ว่าผู้มีส่วนบุกเบิกค้นคว้าเกี่ยวกับพันธุกรรมของโหระพาจนได้รับการบรรจุในหลักสูตรวิชาชีววิทยาก็คือ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ซึ่งได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโหระพาอย่างจริงจัง รวมทั้งการเขียนบทความออกเผยแพร่อย่างกว้างขวางด้วย

โหระพานอกจากจะมีประโยชน์มากมายดังกล่าวแล้ว ยังเป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่ายอีกด้วย หากผู้อ่านซื้อโหระพาจากตลาดมาประกอบอาหารแล้วเหลือกิ่งก้าน ก็เพียงนำไปปักชำในกระบะทรายหรือขี้เถ้าแกลบดำชื้นๆก็จะแตกรากออกมาให้ย้ายไปปลูกได้ในไม่ช้าและเมื่อปลูกแล้วหากหมั่นดูแลเอาใจใส่พอสมควรก็จะใช้ประโยชน์จากโหระพาได้นานเป็นปีๆ เนื่องจากเมื่อโหระพามีดอกแล้ว หากตัดแต่งกิ่งให้ ก็จะแตกกิ่งก้านใหม่ได้อีกหลายครั้งกว่าจะหมดอายุจนต้องปลูกใหม่

 

                                             ************************
อาหาร : โหระพาในฐานะผัก

เนื่องจากโหระพามีใบหนานุ่งกว่ากะเพรา รวมทั้งกลิ่นและรสชาติไม่เผ็ดร้อนเท่ากะเพรา จึงนิยมนำมาใช้เป็นผักจิ้มหรือกินสดมากกว่ากะเพรา นิยมใช้กินร่วมกับอาหารที่มีรสจัดและกลิ่นแรง เช่น จำพวกหลน (หลนไส้กรอก หลนแหนม หลนกะปิคั่ว ฯลฯ) จำพวกลาบ (ลาบปลาดุก ลาบเลือด ลาบเป็ด ฯลฯ) จำพวกยำ เมี่ยง แจ่ว ก้อย ส้มตำ ฯลฯ เป็นผักกินกับขนมจีนน้ำยา ปลาร้า ซ่าหมู ใช้ใส่ในแกงบางชนิด เช่น แกงเขียวหวาน แกงโสฬส และแกงเผ็ดหมู แกงเผ็ดไก่ การใช้โหระพาเป็นผักอาจพัฒนาให้กว้างขวางได้อีกมากเนื่องจากโหระพามีสายพันธุ์มากมาย ลักษณะต่างๆมีความหลากหลายมาก จึงอาจคัดเลือกให้เหมาะสำหรับอาหารต่างๆได้กว้างขวาง ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้พัฒนาพันธุ์โหระพากับผู้ประกอบอาหารหรือผู้บริโภค เช่น พัฒนาพันธุ์โหระพาให้มีใบที่ได้ขนาด สี ความหนา นุ่ม กลิ่น และรสชาติ เหมาะสมกับอาหารแต่ละชนิด เป็นต้น

 

                                           ***************************

สมุนไพร
โหระพาในฐานะสมุนไพร

ในใบและลำต้นของโหระพามีน้ำมันหอมระเหยอยู่มากจึงมีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคได้หลายชนิด เป็นพืชที่ใช้เป็นสมุนไพรอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยมีปรากฏคุณสมบัติทางสมุนไพรของโหระพา ดังนี้

  • ใบ : กลิ่นฉุน รสร้อน แก้ลมวิงเวียน ขับลมในลำไส้ ขับผายลม แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง ทำให้เรอ แก้จุกเสียดในท้อง แก้พิษตานซาง
  • ทั้งต้น : แก้พิษตานซาง แก้เด็กนอนสะดุ้งผวาเพราะโทษน้ำดี
  • เมล็ด : แก้บิด ทำให้อุจจาระไม่เกาะลำไส้ ถ่ายสะดวก เป็นยาระบาย ใช้พอกฝี

ในอินเดียใช้แก้ไข้ แก้ไอ ขับพยาธิ และโรคเกาต์ น้ำคั้นจากใบใช้หยอดจมูก ทาผิวหนังแก้โรคผิวหนัง เมล็ดกินแก้อาหารไม่ย่อย

ในมาเลเซีย ใช้น้ำคั้นจากใบแก้ไอ ส่วนในเด็กใช้น้ำคั้นจากช่อดอกเพราะมีกลิ่นรสอ่อนกว่าน้ำคั้นจากใบ
ในยุโรปใช้ใบโหระพาตากแห้งชงน้ำร้อน อมกลั้วคอแก้กลิ่นปากหรือลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

ประโยชน์ด้านอื่นๆ

ใบและลำต้นของโหระพาเมื่อนำมากลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยซึ่งใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ใช้แต่งกลิ่นอาหารพวกลูกกวาด ซอสมะเขือเทศ ผักดอง น้ำส้ม ไส้กรอก เครื่องดื่มชนิดต่างๆ ฯลฯ ใช้แต่งกลิ่นยาสีฟันและยาที่ใช้กับปากและคอ  ทำโลชั่น ครีม แชมพู และสบู่ ฯลฯ

น้ำมันโหระพายังใช้ไล่แมลง หรือฆ่าแมลงบางชนิดได้ เช่น ยุงและแมลงวัน

เมล็ดโหระพามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเมล็ดแมงลักมาก คือเมื่อนำมาแช่น้ำจะพองตัวเป็นเมือกขาวใสและไม่มีรส ใช้กินกับน้ำกะทิเป็นของหวานได้ หรือใช้เป็นอาหารลดความอ้วนได้เช่นเดียวกับเมล็ดแมงลัก

ประโยชน์อีกด้านหนึ่งของโหระพาคือด้านใช้เป็นไม้ประดับ เนื่องจากโหระพามีสายพันธุ์มากมาย ซึ่งมีลักษณะต่างๆหลากหลายจึงคัดเลือกนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี โดยอาจปลูกแบบจัดสวนหย่อม ปลูกตามขอบถนนหรือปลูกในกระถางและภาชนะแขวนก็ได้

 

 

ข้อมูลสื่อ

216-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 216
พฤษภาคม 2540
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร