• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แสงแดด-คุณหรือโทษ

แสงแดด-คุณหรือโทษ


ความเชื่อเรื่องแสงแดดมีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเป็นที่รู้กันมานานตั้งแต่สมัยโบราณก่อนคริสต์ศักราช 3,000 ปี คือตั้งแต่กรีก อียิปต์ และเปอร์เชียนโบราณ ชนชาติบางเผ่า บูชาแสงแดดเป็นเทพ
เจ้าแห่งสุขภาพ สมัยฮิปโปเครตีสมีการสร้างวิหารเสียงดนตรี วิหารยารักษาโรค และวิหารแสงแดด ซึ่งแสดงการยอมรับว่า 3 สิ่งนี้มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มากที่สุด

คนโรมันในสมัยต่อมาก็ได้สร้างโซลาเรียมหรืออัฒจรรย์แห่งแสงแดดเพื่อสุขภาพ การแพทย์ในต้นศตวรรษที่ 19 ได้นำเอาแสงแดดมารักษาโรคหลายชนิดโดยเฉพาะโรคผิวหนัง โดยใช้แสงแดดอย่างเดียว หรือโดยให้กินยาหรือทายาก่อนอาบแดด จากความรู้ดังกล่าวที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา ทำให้คนเชื่อในความสำคัญและเห็นประโยชน์ของแสงแดดต่อร่างกายโดยเฉพาะคนผิวขาว เนื่องจากดินฟ้าอากาศเป็นลักษณะมีแดดน้อย

ในฤดูที่มีแดดออกก็จะพากันชื่นชมออกจากที่อยู่อาศัยมานั่งนอนตากแดดกันเป็นกิจวัตร ผู้ที่พอจะขวนขวายออกไปนอกประเทศได้ก็จะเลือกไปประเทศที่มีแดดตลอดปี เพื่อหาโอกาสไปนอนผึ่งแดด เช่น ตามชายฝั่งทะเลของประเทศในเขตร้อน ด้วยความเชื่อว่าทำให้สุขภาพดีและทำให้ผิวเป็นสีน้ำตาลเกรียมแดด ซึ่งจัดเป็นสีผิวที่สวยงามของคนผิวขาว

แสงอาทิตย์มีประโยชน์มหาศาลต่อมวลมนุษย์ในด้านให้กำเนิดความร้อนและแสงสว่างในด้านแพทย์ ความร้อนจากแสงแดดมีประโยชน์ในการฆ่าเชื้อโรค ด้านประโยชน์ต่อสุขภาพของร่างกายเมื่อแสงแดดสัมผัสผิวจะเกิดปฏิกิริยาการสร้างวิตามินซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระดูก และความร้อนที่ได้จากแสงแดดสามารถกระตุ้นให้หลอดเลือดที่ผิวขยายตัวทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น โรคผิวหนังหลายชนิดเมื่อถูกแดดแล้วอาการดีขึ้น

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาวิทยาการก้าวหน้าของวิชาผิวหนังมนุษย์เริ่มสังเกตเห็นอันตรายของแสงแดดที่มีผิวหนัง โดยมีฤทธิ์ทำให้เซลล์มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปและมีการสลายตัวของเซลล์บางชนิด ส่วนอันตรายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแรงของแสง ระยะเวลาที่ถูกแสงและลักษณะของผิวแต่ละคน การเปลี่ยนแปลงของผิวแต่ละคน การเปลี่ยนแปลงของผิวเมื่อถูกแสงแดดมีตั้งแต่ผิวไหม้ ผิวตกกระ ผิวเหี่ยวย่นก่อนวัย ไปจนเกิดผลเสียร้ายแรงคือ เกิดมะเร็งผิวหนังได้ อาจมีผลต่อเซลล์ของเนื้อเยื่อตาทำให้ตาเป็นต้อเนื้อและต้อกระจก

ช่วงแสงที่มีอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด ได้แก่ แสงอัลตร้าไวโอเลต ซึ่งพบมากในช่วงเวลาที่แดดจัด ได้แก่ ตอนเที่ยง แต่แสงอัลตร้าไวโอเลต กว่าจะผ่านมาถึงผิวโลกจะถูกกรองด้วยสภาวะหลายอย่างในธรรมชาติเช่น เมฆ หมอก ไอน้ำ ฝุ่นละออง และมลภาวะในอากาส เพราะฉะนั้น ปริมาณแสงอัลตราไสโอเลตในเมืองจึงมีน้อยกว่าบริเวณที่อากาศบริสุทธิ์และปลอดโปร่ง เช่น ตามชายทะเล หรือกลางทะเล จะเห็นว่าผิวเกิดไหม้แดดได้ง่ายเมื่อเราไปเที่ยวเรือหรือนอนเล่นตามชายหาด

ภาวะที่ฤดูแดดจัดจนผิวไหม้ แสบร้อนและลอกในเวลาต่อมา จัดเป็นฤทธิ์เฉียบพลันเมื่อไม่มีการตากซ้ำอีกผิวที่ไหม้ก็จะค่อย ๆ หายไป แต่ถ้าถูกแดดเป็นประจำ เช่น ผู้ที่มีอาชีพทำงานกลางแจ้ง ผู้ที่ชอบนอน อาบแดดนาน ๆ เป็นประจำ ผู้ที่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้ง ผิวที่ถูกแดดเป็นประจำจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากเดิมเริ่มเกิดผิวสีคล้ำบริเวณนอกร่มผ้า เช่น เกิดรอยฝ้าที่หน้า ที่คอ ที่แขน ต่อมามีจุดดำสลับขาวที่เรารียกว่า “ตกกระ” นานเข้าผิวจะบางลง
ความยืดหยุ่นของผิวเสียไป เป็นลักษณะของผิวเหี่ยวที่เห็นในคนแก่ ผิวคนแก่ก็คือการเปลี่ยนแปลงของผิวที่กรำแดดมานานกว่าเด็กและหนุ่มสาวนั่นเอง

ผิวขาวจัดจะมีความทนทานต่อแดดน้อยกว่าคนผิวคล้ำเนื่องจากมีจำนวนเม็ดสีที่ผิวน้อย เม็ดสีมีคุณ สมบัติดูดซับแสงแดดทำให้อันตรายเกิดกับผิวน้อยลง คนขาวจึงควรระวังหลีกเลี่ยงการถูกแดดมากกว่าคนผิวคล้ำ คนขาวเกิดเป็นมะเร็งที่ผิวได้ง่ายกว่าคนผิวดำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คนเผือกซึ่งไม่มีเม็ดสีที่ผิว ถ้าถูกแดดบ่อย ๆ ผิวจะเกิดเป็นมะเร็งได้ง่าย

นอกตากแดดทำให้เกิดผิวเยี่ยวย่นเหมือนผิวคนแก่ ยังทำให้เกิดอาการผิวอักเสบเนื่องจากร่างกายเกิดภูมิแพ้ อาจแพ้แดดโดยตรงหรือแพ้แดดหลังจากสัมผัสหรือกินยาบางชนิด ซึ่งเมื่อถูกแดดแสงแดดจะกระตุ้นทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ ถ้าอักเสบบวมแดง พุพอง อาจเป็นมากถึงขนาดมีน้ำเหลืองไหล
ตัวอย่างเช่น ยาประเภทซัลฟา หรือเตตราซัยคลีนบางชนิดหรือยาขับปัสสาวะ หรือการใช้เครื่องสำอางบางชนิด เช่น น้ำหอมซึ่งมีส่วนผสมสารเคมีที่เมื่อถูกกับแสงแดดทำให้ผิวบริเวณที่ทาหรือแต้มเครื่องสำอางนั้นได้เกิดเป็นสีดำ ตัวอย่างเช่น เครื่องสำอางสมุนไพรที่มีสารประเภทโซราเรนผสมอยู่ สารโซราเรนพบได้ในพืชผักหลายชนิดถูกนำมาผสมในครีมนวดหน้า ครีมรองพื้น ซึ่งเมื่อถูกแดดจะทำให้เกิดหน้าดำหรือเป็นรอยฝ้าบริเวณที่ทา

โรคผิวหนังหลายชนิดกำเริบเมื่อถูกแสงแดด เนื่องจากแดดกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ที่ผิวหนัง อันตรายที่ร้ายแรงที่สุดคือ มะเร็งผิวหนังบางชนิดเกิดจากการตากแดดมากเกินไป
เมื่อเรามีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพิษภัยของแสงแดด สิ่งที่ควรปฏิบัติตัวคือการหลีกเลี่ยงแดดจัด ๆ โดยเฉพาะเวลาเที่ยง สวมเสื้อแขนยาวปกปิดผิวไม่ให้ถูกแสงโดยตรงซึ่งเป็นการป้องกันที่ได้ผลดี สวมหมวก กางร่ม ใช้ครีมผสมตัวยากันแดดที่มีคุณภาพดี ควรทาก่อนตากแดดครึ่งชั่วโมงและต้องทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง


สรุปว่า แสงแดดมิใช่สิ่งที่น่าพิสมัยตามที่เคยเชื่อกันแต่โบราณ ความก้าวหน้าทางวิชาการด้านนี้ชี้ให้เห็นถึงอันตรายที่พึงระวัง แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะต้องหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาดจนกลายเป็นสิ่งน่ากลัวจนเกินไป เพียงแต่ให้เราได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อหาทางหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตามสมควร ไม่ต้องถึงขนาดต้องเปลี่ยนอาชีพการทำงานกลางแจ้งหรือหยุดเล่นกีฬาที่ชอบ หรืองดการพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเดินชายทะเล หรือเล่นน้ำทะเลกลางแดดอ่อน ๆ นาน ๆ ครั้ง

ข้อมูลสื่อ

204-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 204
เมษายน 2539
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์