• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฮัลโล! ปลอดภัยไหมเนี่ย

  มีการประมาณว่า  คนไทยจำนวน ๑ ใน ๓ ของประเทศ คือ ราว ๒๐ ล้านคน  ในทุกวันนี้ เดิน ขับรถ กินข้าว ทำงาน หรือ แม้กระทั่งตอนไปจ่ายกับข้าว เดินห้าง แล้วใช้มือถือแนบกับหู คุยไปด้วย ทำภารกิจไปด้วย

 

 แม้กระทั่งเด็กๆก็มีแนวโน้วใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้น  เด็กป.๑ – ป.๒ ในโรงเรียนดังๆในเมืองใหญ่กว่าครึ่งห้อง  เอามือถือไปโรงเรียน และใช้ application ต่างๆในเครื่อง

 

ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการใช้มือถือ  เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอดระหว่างบริษัทผู้ผลิตมือถือ นักวิทยาศาสตร์ และผู้บริโภค  ในปี ๑๙๙๘ มีการประกาศ Vienna Resolution  ในเรื่องผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณคลื่นไมโครเวฟออกมา  ซึ่งรวมทั้งโทรศัพท์มือถือด้วย  หลังจากนั้นก็มีความพยายามศึกษาและการวิจัยถึงอันตรายของโทรศัพท์มือถือต่อสุขภาพมาโดยตลอด....

 

ที่ผ่านมามีการศึกษาถึงผลกระทบจากโทรศัพท์มือถือต่อระบบต่างๆ ดังนี้

-       ความร้อนที่เกิดขึ้นต่อผิวหนัง และเนื้อสมอง

-      ความเสี่ยงต่ออุบัติการณ์เนื้องอกและมะเร็งชนิดต่างๆ

-      DNA และระบบภูมิต้านทานของร่างกาย

-      ผลกระทบต่อหญิงมีครรภ์ และเด็กทารกในท้องแม่

-      ผลกระทบต่อความดันโลหิต และหัวใจ

-      โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โรคสั่นในคนสูงอายุ (Parkinson) และโรค Multiple Sclerosis

-      อาการปวดศรีษะ เวียนหัว และสมาธิหลุดง่าย

-      ผลกระทบต่อระบบประสาท

เอาเป็นว่าอะไรที่เรายังไม่แน่ใจในความปลอดภัยจริงๆ  ก็เป็นหน้าที่และความใส่ใจของผู้บริโภคที่จะต้องระวังระไวไว้ก่อน

ในที่นี้  ผมขอเสนอข้อพึงใส่ใจ ๒๐ เรื่องที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือควรให้ความสำคัญดังต่อไปนี้

๑.       การใช้แบตเตอรี่ราคาถูก หรือของปลอม  มีความเสี่ยงที่อาจได้แบตเตอรี่อายุสั้น คุณภาพต่ำ เก็บไฟได้น้อย และเสี่ยงต่อการระเบิดได้

๒.    พยายามอย่าใช้มือถือขณะกำลังชาร์จไฟอยู่  เพราะการระเบิดมักเกิดขึ้นตอนชาร์จไฟ  และเคยมีคนตาบอดไปแล้วเพราะเหตุดังกล่าว

๓.     สายเสียบปลั๊กชาร์จไฟ  ที่เสียบคาทิ้งไว้นานๆมักจะร้อน และมีการวิจัยพบว่า  เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไฟช๊อต เกิดอัคคีภัยในบ้านได้  ควรถอดออกเมื่อเลิกใช้

๔.     ควรใช้หูฟังสายเสียบ หรือ Loud speaker ขณะใช้เครื่อง เพื่อลดคลื่นไฟฟ้าที่ส่งผลต่อสมอง  ถ้าจำเป็นต้องแนบหูก็ควรสลับข้างบ่อยๆและอย่าโทรนาน

๕.     สาเหตุที่แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว หรือหมดอายุใช้งาน หรือไฟแบตเตอรี่หมดเร็วมีได้ตั้งแต่

a.              เปิด function ไฟหน้าจอไว้ที่ on ตลอด

b.             เปิด Mode Internet ระบบต่างๆ ทิ้งไว้ที่ on ตลอด

๖.      อย่าเอามือถือใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋าต่างๆที่แนบติดไปกับ Key Cardห้อง หรือบัตร ATM เพราะทำให้รหัสแม่เหล็กเปลี่ยน  ใช้งานไม่ได้

๗.     อย่าลืมกดปุ่ม “off” ทุกครั้งที่เลิกรับสาย  เพราะเคยมีคนเสียเงินหลายพันบาท เนื่องจากอีกฝ่ายวางหูไม่สนิทหลังโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศ

๘.     ข้อมูลสำคัญ ข้อมูลส่วนตัว คลิปส่วนตัว ภาพต้องห้ามต่างๆ อาจถูก copy เมื่อไหร่ก็ได้จากร้านซ่อมมือถือ  ควรเก็บไฟล์สำคัญๆสำรองไว้ในcomputer หรือ hard disc อื่นๆด้วย

๙.      ควรใช้วิจารณญาณในการให้เด็กใช้ และมีมือถือไว้ในครอบครอง  เด็กมีกระโหลกศรีษะบาง และยังไม่ค่อยรู้ระแวดระวัง  รังสีที่แผ่ออกจากเครื่อง ผ่านผิวหนังและกระโหลกศรีษะเข้าไปกระทบต่อสมองได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง ๒-๓ เท่า

๑๐.   เคารพและเชื่อฟังข้อแนะนำบนเครื่องบิน  ในโรงพยาบาลและสถานีน้ำมันที่ให้งดการใช้มือถือ  เพราะความเลินเล่อของท่านอาจมีผลต่อชีวิตของผู้อื่นด้วย

๑๑.  อย่าหลงเชื่อ phone in SMS ต่างๆที่หลอกให้ตอบคำถาม เล่นเกมง่ายๆแล้วล่อด้วยรางวัล เพราะท่านจะถูกหลอกให้เสียเงินฟรี  ในบางประเทศ เช่น ในมาเลเซีย กฎหมายไม่อนุญาตให้บริษัทมือถือ เอาเปรียบผู้บริโภคในลักษณะดังกล่าว

๑๒.   อย่าให้เบอร์โทรศัพท์มือถือกับ “คนแปลกหน้า หรือคนที่เรายังไม่คุ้นเคยพอ” ฝรั่งจะถือสาเรื่องนี้มาก แต่คนไทยมักหละหลวมกับเรื่องแบบนี้

๑๓.อย่าโทรไปกวนคนอื่นในตอนดึก หรือเช้ามืด เพราะเขาอาจกำลังพักผ่อน และถือเป็นการไม่ให้เกียรติ

๑๔.กล่าวคำขอโทษ ขออภัย ทุกครั้งที่ต่อผิด

๑๕.อย่ารีบร้อนพูดอะไรเฉพาะเจาะจงลงไป  จนกว่าจะแน่ใจว่า คนที่รับสายปลายทางเป็นคนที่เราต้องการสนทนาด้วย เพราะบางครั้งมีคนอื่นรับสายแทน

๑๖.  รู้จัก “ตัดบท” โทรศัพท์ขายของ ขายประกัน หรือสินค้าต่างๆที่รบกวนเวลาอันมีค่าของคุณ

๑๗.รู้จักควบคุมการใช้มือถือ อย่าหมกหมุ่น หรือเป็นทาสของมือถือทั้งวัน  บางเวลาคุณต้องการ “ความสงบใจ” และอย่าให้มือถือของคุณทำให้ขายหน้าในโรงหนัง ห้องเรียน และห้องประชุม

๑๘.คนที่อยู่ต่อหน้าเรา  มีความสำคัญกว่าคนที่อยู่ปลายสาย (ซึ่งบางครั้งไม่รู้จักกันเลย) ต้องให้เกียรติ, เห็นคุณค่ากับคนที่อยู่ต่อหน้า  หากต้องให้เขารอเรารับสายควรออกตัว เพราะเป็นการขัดจังหวะการสนทนา

๑๙.  มีการฟ้องร้องบริษัทผลิตมือถือในอเมริกา อังกฤษ สแกนดิเนวีย และอีกหลายประเทศในเรื่องผลกระทบบางอย่างต่อสุขภาพ และหลายคดีบริษัทแพ้คดีต้องชดใช้

๒๐.ผลเสียต่อสุขภาพจากโทรศัพท์มือถือ ยังมีอีกหลายเรื่องที่รอการพิสูจน์

 

แม้ว่าการสื่อสาร เป็นเรื่องจำเป็นในโลกทุกวันนี้  แต่เราควรต้องมี “สติ” และมีความ “ตื่นรู้” ในการใช้เครื่องมือสื่อสารประเภทต่างๆ เผื่อมิให้ตกเป็น “เหยื่อ” หรือได้รับความเสียหายจากอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา....

ข้อมูลสื่อ

1330-084
นิตยสารหมอชาวบ้าน 423
กรกฎาคม 2557
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ