• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คันฉ่องส่องสวนยางพารา

                ประเทศไทยเริ่มมีการปลูกยางพารา  ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้แถบลุ่มน้ำอเมซอน  ตั้งแต่เมื่อใดไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานที่แน่นอน  แต่คาดว่าน่าจะเริ่มในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๔๔๔ (สมัยรัชกาลที่ ๕)  ซึ่งพระยารัษฏานุประดิษฐ์  มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  เจ้าเมืองตรังได้นำเมล็ดพันธ์มาปลูกที่อำเภอกันตัง  จังหวัดตรังเป็นครั้งแรก  และขยายพันธ์ไปยังจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ทั้ง ๑๔ จังหวัด  ในเวลาอีก ๑๐ ปีต่อมาก็ขยายไปภาคตะวันออกของประเทศ  โดยเริ่มบริเวณจังหวัดจันทบุรีก่อน  ต่อมาได้ขยายไปสู่ทุกภาคของประเทศประมาณตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา

                ขณะนี้ประเทศไทยมีการปลูกยางพาราในพื้นที่ ๖๕ จังหวัด  คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ล้านไร่  พื้นที่การเพาะปลูก ๖๐% อยู่ในภาคใต้ (๑๔ จังหวัด) ประมาณ ๒๕% อยู่ในภาคอิสาน (๑๙ จังหวัด) ภาคกลาง ๑๐% นอกนั้นเป็นภาคอื่นๆ

                จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศ  สำหรับในภาคอิสาน  จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุด คือ จังหวัดบึงกาฬ  ผลผลิตที่ผลิตได้ของทั้งประเทศแซงหน้าประเทศอื่นๆ (จีน  อินเดีย อินโดนีเซีย)  จนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาได้หลายปีแล้ว  ส่งรายได้เข้าประเทศปีละ ๓.๕ – ๔ แสนล้านบาท/ปี

                สวนยางพาราแต่ละแห่งต้องใช้แรงงานดูแลหลังจากเพาะปลูกแล้ว คือ การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การกำจัดวัชพืช และที่สำคัญคือ เมื่ออายุได้ที่เกิน ๗ ปี หรือเส้นรอบวงที่ระดับความสูง ๑ เมตรเหนือพื้นดินมากกว่า ๕๐ ซม.  ก็จำเป็นต้องใช้แรงงานในการกรีด  การเก็บน้ำยาง  การทำยางก้อน  ยางแผ่น  การตาก  และการเก็บเข้าโรงอบยาง

                แรงงานแต่ละครอบครัว (๒ คน) จะดูแลสวนยางพาราในแต่ละวันได้ประมาณ ๒๐ ไร่ หรือ ๑,๕๐๐ ต้น  ขณะนี้มีตัวเลขประมาณการว่า  มีภาคแรงงานทำงานอยู่ในสวนยางพาราทั้งประเทศประมาณ ๑.๕ ล้านคน  ซึ่งมีทั้งคนไทย และคนต่างด้าว

                กิจกรรมประจำวันและลักษณะเฉพาะบางอย่างของชาวสวนยางพารา (ทั้งเจ้าของ และคนงานในสวนยาง)  ย่อมมีทั้งด้านบวกและลบต่อคุณภาพชีวิต  โดยเฉพาะด้านสุขภาพอนามัย  ซึ่งผมขออนุญาตเรียบเรียงประเด็นเป็นข้อๆไปดังนี้

๑.       คนงานกรีดยาง  มักจะทำงานตอนกลางคืน โดยเฉพาะช่วงตี ๒ – ๖ โมงเช้า  เพราะน้ำยางจะออกดีที่สุดในช่วงนั้น  นอนพักกลางวัน  บางครั้งต้องเหลื่อมเวลาทำงานและพักผ่อน  ทำให้ร่างกายต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา  เกิดความอ่อนล้าเป็นครั้งคราว

๒.    การทำงานในช่วงยามวิกาล  ทำให้เสี่ยงต่อการถูกสัตว์มีพิษกัด เช่น งู  (โดยเฉพาะ งูกะปะในภาคใต้)  แมลงป่อง  ตะขาบ  สวนยางที่ดีจึงต้องมีทางเดินที่เตียนสะอาดไม่รกด้วยวัชพืช ใบไม้ กิ่งไม้

๓.     การก้มๆเงยๆอยู่ตลอดเวลา  คนงานสวนยางจึงต้องพึ่งพายาแก้ปวด  และยาแก้อักเสบ เพื่อคลายอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ  บางครั้งเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาประเภทนี้เป็นเวลานาน หรือบริโภคในขนาดที่ไม่เหมาะสม

๔.     น้ำกรดฟอร์มิค – ความเข้มข้น ๑๐% ที่เติมลงในถ้วยยางเพื่อทำให้ยางตกตะกอนจับตัวได้เร็ว  ถ้ากระเด็นเข้าตาหรือผิวหนังบ่อยๆก็อาจเป็นอันตราย  คนกรีดยางบางคนที่สูดดมน้ำกรดตลอดเวลา  ก็เกิดอาการทางเดินหายใจอักเสบอันเป็นผลจากการระคายเคือง  ชาวสวนบางคนหลีกเลี่ยงไปใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่นน้ำกล้วยหมักแทน  แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย

๕.     ในการทำยางแผ่น  คนงานมีโอกาสได้รับบาดเจ็บที่มือ จากเครื่องนวดและรีดแผ่น หรือถูกไฟฟ้าช๊อตได้

๖.      ในกรณีขายขี้ยาง  ซึ่งมักมีกลิ่นเหม็น  ทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ แพ้ และบางครั้งมีแมลงวันมาตอม กลายเป็นแหล่งเพาะพันธ์เชื้อโรค

๗.     น้ำเสียจากการแปรรูปยาง จะมีฤทธิ์เป็นกรด และมี Nitrogen สูง  มีผลทำให้เกิดมลพิษทางดิน (ต้นไม้อื่นๆตาย) และมลพิษทางน้ำ (BOD ต่ำ และมี Nitrogen เกิน)  โรงงานแปรรูปยางจึงต้องอยู่ห่างลำน้ำสาธารณะพอสมควร

๘.     การกรีดยางยามวิกาลทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากมีดกรีดยาง  อุบัติเหตุการจราจร หรือแม้กระทั่งปัญหาจากโจรผู้ร้าย

๙.      ถ้วยยางพาราที่หล่นคว่ำ หงาย จากลวดมัดลำต้น  บางครั้งเจ้าของไม่มีเวลาเก็บกวาด  ทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายอย่างดี  ข้อมูลทางระบาดวิทยาของกระทรวงสาธารณสุขในหลายปีที่ผ่ายมา  จังหวัดที่มีสวนยางพารามากๆมักมีอุบัติการณ์ของไข้เลือดออกสูงมากอย่างมีนัยสำคัญ

๑๐.  น้ำยางพาราสีขาวขุ่นที่อยู่ในระหว่างการลำเลียงเคลื่อนย้าย  หากมีการหกกระเด็นลงบนถนนลาดยาง หรือถนนซีเมนต์จะทำให้ถนนลื่นมาก  มีรายงานรถลื่นไถลตกถนน หรือจักรยานยนต์ล้มคว่ำ เพราะสาเหตุนี้อยู่เนื่องๆ  จังหวัดบางจังหวัด เช่น จังหวัดเลย  จึงต้องมีป้ายเตือนผู้ขับขี่ในข้อนี้

๑๑. ยาฆ่าปลวก (Furadan) ยาฆ่าวัชพืช และปุ๋ยเคมี  บางครั้งก็เกิดพิษสะสมกับคนงานและผู้ดูแลสวนได้

๑๒.โรคผิวหนัง และภูมิแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสน้ำยาง และสารเคมีต่างๆ

 

ขณะนี้แม้ราคายางพาราจะตกต่ำลง  แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังนิยมแห่แหนปลูกยางมากขึ้น  โดยเฉพาะในภาคอิสานและภาคเหนือ  ซึ่งจะทำให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขมีโอกาสได้สัมพันธ์กับปัญหาด้านสุขภาพอันเกิดจากการประกอบอาชีพของชาวสวนยางพารามากขึ้นเรื่อยๆ

ชาวสวนยางพาราที่ฉลาดจึงควรเฉลียวใจ  ในการดูแลสุขภาพของตัวเอง  ระมัดระวังความเจ็บป่วยและอุบัติเหตุต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว  ในการดำรงชีวิตประกอบอาชีพเกี่ยวกับสวนยางพาราทั้งปวง ดังกล่าวข้างต้น....

ข้อมูลสื่อ

424-084
นิตยสารหมอชาวบ้าน 424
สิงหาคม 2557
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ