พริกขี้หนูสัญลักษณ์ของขนาดและคุณภาพ
“เล็กพริกขี้หนู”
สำนวนที่ยกมาข้างต้นนี้ เป็นสำนวนในภาษาไทยที่ใช้เปรียบเทียบสิ่งซึ่งมีขนาดเล็ก แต่มีความสามารถสูง เช่นเครื่องใช้ประเภทอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่าในอดีตอย่างมากมาย แต่มีความสามารถสูงขึ้นหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคิดเลข เครื่องเล่นแผ่นซี.ดี. (Compact Dise) หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ความหมายของสำนวนนี้ก็คล้ายกับสำนวน “จิ๋วแต่แจ๋ว” นั่นเอง
เหตุผลที่คนไทยเลือกพริกขี้หนูมาใช้ในสำนวนดังกล่าว คงเป็นเพราะลักษณะเด่นของพริกขี้หนูสองประการ คือ หนึ่ง ผลของพริกขี้หนู มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่าพริกอื่น ๆ ทุกชนิด และประการที่สอง ผลของพริกขี้หนูมีความเผ็ดมากกว่าพริกอื่นทุกชนิด ลักษณะเด่นทั้งสองประการนี้คนไทยรู้จักกันดีทั่วไป จึงนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบเทียบ และนิยมใช้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับความนิยมนำพริกขี้หนูมาเป็นเครื่องปรุงอาหารของคนไทย ที่ยังคงแพร่หลายและมั่นคงอยู่อย่างไม่รู้คลาย
พริกขี้หนู : ทำไมต้องเป็นขี้หนู
พริกขี้หนูเป็นพริกชนิดหนึ่งอยู่ในสกุล Solanaceae เช่นเดียวกับพริกชนิดอื่น ๆ เช่น พริกหยวก พริกหวาน พริกชี้ฟ้า เป็นต้น ชื่อทางพฤกษศาสตร์ของพริกขี้หนูคือ Capsicum frutescens Linn. ชื่อภาษาอังกฤษคือ Bird-chili
พริกขี้หนูเป็นชื่อที่นิยมเรียกในหมู่คนไทยภาคกลาง แต่บางทีเรียกพริกขี้นกหรือพริกแกวก็มี ในภาคเหนือเรียกพริกแด้ พริกนก พริกก้นปิ้น ส่วนภาคใต้เรียกว่าดีปลีขี้นก
น่าสังเกตว่าทั้งสามภาคเรียกพริกขี้หนูว่า พริกขี้นก พริกนก และดีปลีขี้นก ซึ่งเกี่ยวข้องกับนกด้วยกันทั้งสิ้น สันนิษฐานว่านกบางชนิดชอบกินผลของพริกชนิดนี้ แล้วถ่ายเมล็ดขยายพันธุ์ไปตามที่ต่าง ๆ จึงเรียกว่าพริกขี้นก เช่นเดียวกับฝรั่งพันธุ์หนึ่งเรียกว่าฝรั่งขี้นกก็มีวิธีขยายพันธุ์อย่างเดียวกัน
สรุปว่าในอดีตพริกขี้หนูคงถูกขยายพันธุ์ด้วยนกเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกว่าพริกขี้นก คล้ายกันทุกภาค คงมีคนไทยภาคกลางเท่านั้นที่นิยมเรียกว่าพริกขี้หนู เป็นไปได้มั้ยว่าหนูก็ชอบกินพริกชนิดนี้แล้วช่วยขยาย-พันธุ์เช่นเดียวกับนก หรือมีเหตุผลอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับขี้หนู
คำตอบเกี่ยวกับชื่อพริกขี้หนูนี้พบในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเลย์ ฉบับ พ.ศ.2516 อธิบายคำว่าพริกและพริกขี้หนูติดต่อกันดังนี้
“พริก : เป็นชื่อต้นผักอย่างหนึ่ง เป็นไม้เล็กสูงสักสองศอก มีผลเป็นเมล็ด รสเผ็ดร้อน เป็นเครื่องกินกับข้าว
พริกขี้หนู : ต้นมันเท่ากัน (กับพริกอื่น ๆ) แต่เมล็ดนั้นเล็กเท่าแท่งดินสอดำ รสเผ็ดกว่าพริกใหญ่นัก เพราะเมล็ดมันเล็กจึงเรียกพริกขี้หนู”
จากคำอธิบายของหนังสืออักขราภิธานศรับท์เมื่อ 122 ปีก่อน เราจึงทราบว่าพริกขี้หนูได้ชื่อนี้เนื่องจากผล (หรือเมล็ด) มีขนาดเล็ก ที่เรียกว่าขี้หนูคงเป็นเพราะขนาดของผลพริกชนิดนี้ใกล้เคียงกับขนาดของขี้หนูนั่นเอง
น่าสังเกตว่าขนมไทยชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้ง มีลักษณะเป็นขุยหรือก้อนขนาดเล็กมากก็มีชื่อว่าขนมขี้หนูเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่าในบ้านเรือนของคนไทยสมัยก่อนคงมีหนูอาศัยอยู่มาก จึงพบเห็นและคุ้นเคยกับขี้หนูเป็นอย่างดี จนกระทั่งนำขนาดของขี้หนูมาเปรียบเทียบและใช้ตั้งชื่อพริกกับขนม นอกจากนี้ผู้เขียนยังเคยพบตำราทำนายโชคชะตาของคนไทยโบราณเล่มหนึ่งชื่อตำราหนูกัดผ้า ทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ จากรอยขาดของเสื้อผ้าที่เกิดจากหนูกัด แสดงว่าสมัยนั้นหนูคงชุกชุมจริง ๆ
ลักษณะและถิ่นกำเนิด
พริกขี้หนูเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 เมตร อายุ 1-2 ปี ใบรูปไข่ปลายแหลม ผิวใบไม่เรียบ ใบออกสลับกัน ดอกสีขาวออกตามง่ามกิ่ง ผลขนาดเล็ก เมื่อยังไม่แก่จัด มีสีเขียว เมื่อสุกสีแดงเข้ม ปลายผลชี้ลงสู่พื้นดิน (ตรงข้ามกับพริกชี้ฟ้า)
คนไทยรู้จักคุ้นเคยและใช้พริกปรุงอาหารมายาวนานจนหลายคนคิดว่าพริกมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เช่นเดียวกับผักพื้นบ้านหลายชนิด ความจริงพริกชนิดต่าง ๆ รวมทั้งพริกขี้หนูมีถิ่นกำเนิดไกลถึงคนละฟากโลก คือทวีปอเมริกาเขตร้อนเช่นบริเวณประเทศเม็กซิโก เป็นต้น แต่พริกมาถึงประเทศไทยนานหลายร้อยปีแล้ว จึงปรับตัวกลายเป็นพืชพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ประกอบกับคนไทยนำพริกมาประกอบอาหารตามตำรับ หรือวิธีของไทยเองจนติดใจในรสชาติของพริกจนแทบจะขาดไม่ได้ โดยเฉพาะพริกขี้หนู ดังจะเห็นได้จากคนไทยหลายคนต้องพกพาพริกไปด้วย เมื่อยามเดินทางไปต่างประเทศ
พริกขี้หนู : เครื่องปรุงรสที่โดดเด่นของคนไทย
คนไทยชอบอาหารรสเผ็ด เช่นเดียวกับชาวทวีปเอเชียอีกหลายประเทศ และประเทศในทวีปอื่น ๆ บางประเทศรวมทั้งประเทศในทวีปอเมริกาเขตร้อน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพริก แต่คนไทยดูจะชอบรสเผ็ดจากพริกมากกว่าความเผ็ดจากพืชชนิดอื่น และในบรรดาพริกต่าง ๆ นั้นคนไทยชอบพริกขี้หนูมากที่สุด
ตัวอย่างอาหารไทยที่พริกขี้หนูเป็นเครื่องปรุงสำคัญอย่างหนึ่งคือ น้ำพริก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของอาหารไทย น้ำพริกที่ถือกันว่ารสชาติดีที่สุดต้องใช้พริกขี้หนูและมะนาวไทย (มะนาวแป้น มะนาวไข่ ฯลฯ) ซึ่งมีทั้งรสและกลิ่นหอมเฉพาะตัว พริกขี้หนูนั้นมีรสเผ็ดและกลิ่นหอมที่ไม่เหมือนพริกอื่นเป็นเสน่ห์ของพริกขี้หนูอย่างหนึ่ง ซึ่งคนไทยเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากจุดเด่นนี้อย่างเต็มที่ เช่น การทุบพริกขี้หนูให้แตกแล้วใส่ลงในชามต้มยำร้อน ๆ เพื่อให้กลิ่นของพริกขี้หนูกระจายออกไปยั่วน้ำลายได้รอบวง
นอกจากอาหารไทยแล้วคนไทยยังนำพริกขี้หนูไปประกอบกับอาหารของชาติอื่นเพื่อเพิ่มรสชาติอีกด้วย เช่น ข้าวขาหมูในเมืองไทยมักมีพริกขี้หนูสดใส่จานมาให้ด้วย นัยว่าทั้งกลิ่นและรสของพริกขี้หนูช่วยให้ข้าวขาหมูอร่อยขึ้นอีกมาก
รสเผ็ดของพริกขี้หนูนั้นส่วนใหญ่เกิดจากสาร Capsaicin ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยนอกเหนือ จากช่วยชูรสให้เจริญอาหาร จึงนับเป็นความชาญฉลาดของไทยในอดีตที่นำพริกมาปรุงเป็นน้ำพริกกินกับผัก เพราะช่วยให้กินผักได้มากขึ้น อร่อยขึ้น และยังช่วยควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจติดมากับผัก (โดยเฉพาะผัก-สด) อีกด้วย
ประโยชน์ของพริกขี้หนูนอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีวิตามินเอและวิตามินซีอยู่ปริมาณที่สูง รวมทั้งแร่ธาตุอีกหลายชนิด
บางครั้งยอดอ่อนของพริกขี้หนูก็นำมากินเป็นผัก แต่เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงพริกขี้หนูมักจะนึกถึงแต่ผลอันโดดเด่น จึงมันจะลืมยอดที่ใช้เป็นผักไปเสีย
ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของพริกขี้หนู
ความเผ็ดของพริกขี้หนูนั้น นอกจากใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารแล้ว ยังใช้รักษาโรคได้อีกด้วย ต่างประเทศนิยมนำสาร Capsaicin ที่มีมากในพริกขี้หนูมาปรุงเป็นยาทาภายนอก ใช้ถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น ลดอาการปวดเมื่อย ฟกช้ำบวม ส่วนหมอแผนโบราณของไทยนิยมนำมาปรุงเป็นยาน้ำใช้กินขับลมในกระเพาะอาหาร และเป็นยาเจริญอาหารด้วย
รากพริกขี้หนู : ฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือกวาดคอแก้ไอ เสมหะ และทรางเด็ก
ใบ : รสเย็น แก้ไข้หวัด กำเดา ใช้ใบพริกสด ๆ ดำกับดินสอพองพอกขมับแก้ปวดศีรษะ
พริกขี้หนูราคาค่อนข้างแพง เพราะแม่ค้ามักจะแบ่งขายเป็นกองเล็ก ๆ หากปลูกพริกขี้หนูเอาไว้สักต้นหรือสองต้น ก็คงประหยัดเงินได้ไม่น้อย นอกจากนั้นยังจะได้พริกขี้หนูสดจากต้น ซึ่งมีรสชาติและกลิ่นดีกว่า รวมทั้งปลอดจากสารเคมีตกค้างอีกด้วย
- อ่าน 20,553 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้