• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตลาดสีเขียว เมืองน่าน

“บ้านนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน” คือ ปรัชญาความร่วมมือขอกลุ่ม อสม. ในอ.เวียงสา จ.น่าน ที่ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องตลาดสีเขียว เพื่อให้คนในชุมชน ได้บริโภคพืชผักที่สะอาดปลอดภัย ไร้สารปนเปื้อนเคมี( โดยหลักปรัชญาดังกล่าว) ทั้งนี้ในตลาดตำบลกลางเวียง จะเป็นตลาดตัวอย่างของอำเภอที่เน้นความเป็นตลาดสีเขียว ในโรงพยาบาลเวียงสา ก็มีการจัดซุ้ม “กินเปลี่ยนน่าน” เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในความปลอดภัยของอาหารที่บริโภค 

                ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยของหลายหน่วยงาน  ด้วยผลการศึกษาที่ใกล้เคียงกันว่าพืชผักที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ มีปริมาณสารเคมี ยาฆ่าแมลงอยู่ในปริมาณที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคถึง ๑ ใน ๓

                จังหวัดขนาดเล็กอย่าง จ.พะเยา พบว่ามีการจำหน่ายสารเคมียาฆ่าแมลงปีล่ะ ๔,๐๐๐ ล้านบาททั้งจังหวัด  การวิจัยเก็บข้อมุลใน จ.หนองบัวลำภู พบว่าในแต่ละตำบล มีการใช้ยาฆ่าแมลงในผลผลิตทางเกษตรประมาณ ๒๐-๔๐ ล้านบาท/ปี

                ความตื่นตัวเรื่อง การบริโภคอาหารปลอดภัย นับวันจะมีมากขึ้น คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองจำนวนมาก พยายามปลูกผักกินเอง แม้จะอาศัยอยู่บนตึกระฟ้า คอนโด การพยายามเลือกซื้อผักบ้าง  ผลไม้จากผู้ผลิตและร้านค่าที่เน้นผลผลิตอินทรีย์ หรือ ชีวภาพ  หลายคนหลีกเลี่ยงการกินอาหารนอกบ้าน นำอาหารที่ปรุงเองจากบ้านไปเป็นมื้อเที่ยงที่ทำงาน

                แต่ก็ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่เลยตามเลย แล้วแต่บุญแต่กรรม ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ “ใม่ใส่ใจ” ต่อปัญหา ไม่เข้าใจต่อปัญหา  ไปจนถึงกลุ่มที่ “ทำใจ” กับปัญหา เพราะขี้เกียจดิ้นรนลำบากต่อวิถีการกิน

                ...เป็นสิ่งที่น่ายินดี ว่าประชาคม “ตลาดสีเขียว”  ในจังหวัดน่าน ซึ่งเกิดความร่วมมือของหลายภาคส่วน ในหลากหลายอำเภอ  ได้ร่วมมือกันสร้างจิตสำนึกในด้านนี้ อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น 

-          อำเภอปัว  ในตำบลศิลาเทพ และตำบลอื่นๆ มีกิจกรรมส่งเสริมการปลูกผัก ปลอดสารเคมี จำหน่ายในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว และโรงงพยาบาลประจำจังหวัดน่าน มีกิจกรรมโรงเรียนชาวนาและหลักสูตรโรงเรียนชาวนา

-          อำเภอสองแคว มีความร่วมมือของโครงการหลวง มูลนิธิศุภนิมิต กระทรวงเกษตรและกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจสารพิษในเกษตรกร และกลุ่มเสี่ยงมีการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผักบริโภคเอง  มีการเพิ่มพื้นที่การปลูกผักการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด

-          อำเภอเชียงกลาง  เป็นอำเภอหนึ่งซึ่งมีความเข้มแข็งเรื่องนี้มาก มีตลาดสีเขียวตั้งแต่กันยายน ๒๕๕๖ มีการนำผักไปจำหน่ายในโรงพยาบาลอาทิตย์ละ ๒ วัน  อาหารที่ประชาชนให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากโครงการดังกล่าว ทั้งนี้โดยความร่วมมือของทั้ง ๖ ตำบลในอำเภอ

-          อำเภอบ้านหลวง มีระบบสารวัตรอาหาร ช่วยดูแลอาหารที่ผลิตและจำหน่ายในชุมชน  องค์การบริหารส่วนตำบลและกระทรวงเกษตรสนับสนุนเมล็ดพันธ์สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มาช่วยศึกษาวิจัยและคัดกรองโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นกันมากในอำเภอนี้ มีการรณรงค์ใช้ยาฆ่าหญ้าให้น้อยลง

-          อำเภอสันติสุข มีเจ้าอาวาสและผู้นำชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม มีโครงการปิดทองหลังพระ เป็นกลไกชี้นำ อบจ.ช่วยสร้าฝายชะลอน้ำ  เกษตรสนับสนุนพันธ์ผัก  มีการสร้างศูนย์เรียนรู้ มีป่าชุมชน และการทำน้ำหมักชีวะภาพมาใช้

-          อำเภอนาหมื่น  ใช้ปรัชญาเศรษกิจพอเพียงชี้นำ  มีการห้ามฉีดยาฆ่าหญ้าในชุมชนมีการรวมกลุ่มของชุมชนต่างๆ ในการปลูกผักกินเอง และแบ่งปัน

-          อำเภอทุ่งช้าง  ทุกวันศุกร์ จะมีตลาดสีเขียวในโรงพยาบาล เน้นผักพื้นบ้าน โดยผ่านทางชมรมรักษสมุนไพร

อยางไรก็ดี การดำเนินงาน “ตลาดสีเขียว” ในแทบทุกอำเภอ ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคซึ่งเป็นข้อสังเกตุที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ควารให้ความใส่ใจ และร่วมมือกันพิจารณาแก้ไขอย่างต่อเนื่องอันได้แก่

๑.      ขาดการรวมกลุ่มที่เป็นระบบ  และขาดการบริหารจัดการ ด้านระบบข้อมูล (เช่น ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วม  ชนิดพันธ์ผักที่ปลูก การลดต้นทุนการผลิต ฯลฯ)

๒.    ขาดการจัดการทางการตลาด โดยเฉพาะการเข้าไปร่วมเกาะเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพดูแลด้านการตลาดได้ เช่น องค์กรของส่วนท้องถิ่นโรงพยาบาลชุมชน โรงเรียน และศูนย์บริการเด็กเล็กในพื้นที่

๓.     ผลผลิตไม่พอเพียง ทำให้บางครั้งเกิดความไม่ต่อเนื่องของโครงการ บางครั้งมีการแย่งชิงผลผลิตกันของผู้บริโภค รายย่อย

๔.     การสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ และการประชาสัมพันธ์

๕.     การถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุน  เช่น กรณีโรงงานลิกไนต์ที่เมืองหงษา แขวงชัยบุรี  ประเทศลาว ขอเหมาผักพื้นบ้าน ของบางตำบลไปจำหน่ายที่โรงงานทั้งหมด ซึ่งกระทบผู้บริโภคในชุมชน หรือ แม้กระทั่งข้อเสนอ ด้านเกษตรพันธะสัญญา จากกลุ่มทุนห้าสรรพสินค้าขนาดใหญ่

๖.      จิตสำนึกของเกษตรกรจำนวนมาก ที่ยังเน้นการปลูก “เพื่อขาย” ปลูกเพื่อรวยมากกว่าการปลูกเพื่อบริโภคเพื่อแบ่งปัน  และใช้สอยในชุมชน

 

ตลาดสีเขียวเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของกลไกสุขภาพ  ทำจะทำให้คนไทยมีสุขภาพดี  มีจิตสำนึกและความตื่นตัวด้านการบริโภค  ซึ่งถือเป็นมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประโยชน์ยิ่ง  สมควรที่ภาคส่วนต่างๆควรให้ความสนับสนุนและพัฒนาอย่างจริงจังต่อเนื่อง

ข้อมูลสื่อ

428-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 428
ธันวาคม 2557
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ