• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รองเท้านั้นสำคัญไฉน

“เราใส่รองเท้าไปทำไม”

คำตอบที่พื้นๆที่สุดคือ  ปกป้องเท้าเปื้อนเศษดิน  ป้องกันเท้าจากสิ่งสกปรกเชื้อโรคต่างๆ หรือโดนของมีคมบาดตำ  แต่หลายท่านที่คิดลึกซับซ้อนขึ้นไป  ก็คงมีคำตอบอีกหลายข้อ หลายประเด็น

แพทย์อาวุโสท่านหนึ่ง  เคยตั้งข้อสังเกตุให้ผมฟังว่า  ในร่างกายคนเรามีอวัยวะทั้งภายในและภายนอก  อวัยวะภายในอาจดูแลรักษายากเพราะมองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้  แต่อวัยวะภายนอกซึ่งดูแลง่ายกว่าบางอย่าง  กลับไม่ได้รับการดูแลให้ดีเท่าที่ควร  หนึ่งในอวัยวะที่ว่านั้น คือเท้าของเรา

ไม่เชื่อท่านลองสังเกตุดูว่า  ตอนอาบน้ำชำระร่างกาย  ท่านถูสบู่และทำความสะอาดฝ่าเท้านิ้วเท้า ซอกเท้า เล็บเท้าดีขนาดไหน... เมื่อเทียบกับนิ้วมือ ลำตัว หรือ ใบหน้า

รองเท้าถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน  ซึ่งทุกคนต้องมี ต้องใช้  บางคนมีรองเท้าแค่ ๒ – ๓ คู่  แต่บางคนมีเป็นร้อยคู่  รองเท้ามีทั้งทำจากวัสดุที่หาง่าย  ราคาถูก เช่น ฟาง ผักตบ  ที่ดีขึ้นไปก็ทำจากหนังวัว  หนังควาย  นอกจากนี้ยังมีรองเท้าที่ทำจากพลาสติค ไฟเบอร์ และอื่นๆ  ถ้าวิเคราะห์โดยถี่ถ้วนแล้ว  รองเท้าเป็นได้ตั้งแต่

๑.    วัสดุป้องกันสิ่งแปดเปื้อน และการบาดเจ็บแก่เท้า

๒.    เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เราเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขึ้น  การเดินไปในเส้นทางที่ราบเรียบขรุขระ  หากเดินด้วยเท้าเปล่า เราจะเคลื่อนไหวช้าๆอย่างระมัดระวัง  นักกีฬาประเภทต่างๆจึงต้องมีรองเท้าที่ใส่เฉพาะประเภทกีฬานั้นๆ  อาทิเช่น

-นักฟุตบอล  คือต้องมีปุ่มแหลมที่รองเท้าเพื่อการยึดเกาะ และกันลื่นล้ม

-นักวิ่ง  ปุ่มกลมที่พื้นรองเท้าช่วยในการออกตัว และเร่งจังหวะความเร็ว

-นักบาสเก็ตบอล  ต้องใส่รองเท้าที่พื้นไม่ลื่นและหุ้มข้อเพื่อป้องกันการกระแทกและข้อเท้าแพลง

-นักโบลิ่ง  ต้องใส่รองเท้าที่สไลด์ตัวไถลไปข้างหน้าได้ดี เวลาโยนลูก

-นักปีนเขา  ต้องใส่รองเท้าที่เกาะเกี่ยวได้ง่าย และทนทาน

๓.    รองเท้าเป็นอุปกรณ์เสริมบุคลิก  เช่น  รองเท้าทำงานต้องหุ้มส้นและสีเข้ม รองเท้าผู้หญิงส้นสูงจะทำให้ผู้หญิงดูสูงขึ้น และดูดีมีเสน่ห์  การใส่รองเท้าจึงต้องคำนึงถึงกาลเทศะด้วยเสมอ

๔.    รองเท้าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบ (Uniform) เช่น  รองเท้านักเรียน รองเท้าทหาร รองเท้างานพระราชพิธีต่างๆ 

๕.    รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่น  รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน รองเท้าผู้ป่วยที่ขายาวใส่ไม่เท่ากัน รองเท้าเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความพิการของกระดูกอุ้งเท้า

๖.    รองเท้าเป็นเครื่องประดับ สื่อแสดงรสนิยม  ทุกวันนี้เราจะเห็นรองเท้าแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยตลอดเวลา  รองเท้าประดับประดาที่ราคาแพงมาก  รองเท้าสำหรับคนวัยอายุต่างๆกัน

สำหรับผู้สูงอายุ...ยิ่งมีความจำเป็นต้องใส่ใจ พิถีพิถัน กับรองเท้ามากเป็นพิเศษ  เพราะผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องการทรงตัว  หกล้มง่าย  รองเท้าที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ คือ

รองเท้าที่มีส้นเตี้ย ขอบมน

รองเท้าควรเป็นพื้นดอกยาง  เพื่อป้องกันการลื่น

รองเท้าควรมีหน้ากว้าง  เพื่อทำให้นิ้วเท้าเคลื่อนไหวได้สะดวก 

พื้นรองเท้าด้านหน้าควรเชิดขึ้นจากพื้นเล็กน้อย  เพื่อให้เดินได้มั่นคง  และป้องกันการสะดุดเท้าตนเอง  ในกรณีผู้สูงอายุต้องเดินทาง  ควรใส่รองเท้าที่หุ้มส้นและข้อเท้าที่มั่นคง  เพื่อเป็นการพยุงข้อเท้า ทำให้ทรงตัวดีขึ้น

ท้ายที่สุด  ผมขอเสนอแง่มุมข้อพึงระวังบางประการเกี่ยวกับการสวมรองเท้า  ซึ่งอาจเรียกว่า “ภัยจากรองเท้า”  อันได้แก่

๑.   การเลือกรองเท้าใส่ขับรถ  ควรเป็นรองเท้าที่สวมใส่ได้มั่นคง  ไม่หลุดง่าย  พื้นไม่ลื่น  เคยมีกรณีรองเท้าส้นสูงผู้หญิงหลุดไปติดคาคันเบรค  ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชน  รองเท้ายางที่พื้นลื่นๆ  อาจไถลลื่นออกจากแป้นเบรคได้  ทำให้เสียจังหวะการเบรครถ  เกิดอุบัติเหตุตามมา

๒.  รองเท้ากัด  มักเป็นรองเท้าใหม่ที่หนังยังด้านแข็ง  แก้ไขโดยใช้วาสลินทา หรือใช้ปลาสเตอร์ปิดทับขอบหลังที่หนาด้านแข็งของขอบรองเท้า

๓.  รองเท้าปลายแหลม  บีบรัดด้านหน้าเกินไป  ทำให้นิ้วเท้าด้าน และเป็นแผลได้

๔.  รองเท้าส้นสูงตกร่องทำให้ขาแพลง  กรณีเดินที่ลาดเอียงก็เกิดหกล้มได้ง่าย

๕.  กลิ่นจากรองเท้า  ซึ่งเกิดจากเจ้าของมีเหงื่อออกมากที่ฝ่าเท้า  และรองเท้าไม่ค่อยได้ทำความสะอาด  ผึ่งแดดหรือซักล้าง  ทำให้ผู้สวมใส่เสียความมั่นใจ และบุคลิกไม่ดี

๖.  หากวางรองเท้าไว้ใกล้ป่า หรือบริเวณที่มีสัตว์มีพิษ  บางครั้งอาจมีแมลงป่อง ตะขาบ คางคกหรือสัตว์พิษอื่น เข้าไปนอนอยู่ภายใน  จึงควรเก็บรองเท้าให้อยู่สูง และสังเกตุสังกาก่อนสวมใส่  โดยเฉพาะเมื่อเก็บรองเท้าไว้ข้ามคืน

.....ด้วยข้อมูลทั้งหมด  ตามที่เสนอทำให้เราจำเป็นต้องใส่ใจกับการเลือกซื้อ  ดูแลและรู้จักเลือกสวมใส่ที่เหมาะสมกับกาลเทศะ  และความสะดวกสบายของเรา  เพราะเท้าของเราถือเป็นอวัยวะที่สำคัญ  ที่จำเป็นต้องมีการดูแลรักษา  ใส่ใจโดยสม่ำเสมอ....

ข้อมูลสื่อ

430-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 430
กุมภาพันธ์ 2558
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ