นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดจันทร์ เฉลิมพระเกียรติ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า นายอำเภอเคยเจ็บป่วยต้องนอนที่โรงพยาบาลวัดจันทร์อยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกจากอุบัติเหตุรถยนต์แหกโค้ง ครั้งที่สองถูกกับดักสัตว์ของชาวบ้านหนีบข้อเท้า ซึ่งทั้งสองครั้งต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ท่านต้องนอนอยู่แผนกสามัญห้องรวมกับผู้ป่วยอื่นๆ เพราะว่าโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กแค่ 10 เตียง ไม่มีห้องพิเศษอยู่ในแบบแปลนอาคาร
โชคดีที่นายอำเภอเป็นคนติดดิน เรียบง่าย ท่านจึงไม่ติดใจอะไร แต่ถ้าเป็นข้าราชการผู้ใหญ่บางท่าน คงต้องนั่งรถเกือบ 4 ชั่วโมงเข้าเมืองเพื่อหาห้องพิเศษนอน
ปัญหาเรื่องห้องพิเศษไม่เพียงพอในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐบาลเป็นปัญหาเรื้อรังอมตะนิรันดร์กาล ซึ่งเป็นมาตลอดไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ หัวเมือง ชนบท ล้วนแล้วประสบปัญหาแบบเดียวกันทั้งสิ้น จะต่างกันตรงที่ว่า ที่ไหนคิวสั้น คิวยาว มากน้อยกว่ากัน
ผู้เขียนเอง แม้ไม่ได้ทำงานในโรงพยาบาลมานานแล้ว แต่ก็ต้องรับโทรศัพท์จากพรรคพวกเพื่อนฝูงบ้าง ญาติบ้างอยู่เป็นประจำเพื่อให้ช่วยใช้ความคุ้นเคย เส้นสายหาห้องพิเศษให้ (บางครั้งก็เหมือนลัดคิวนั่นแหละครับ)
สาเหตุที่คนไข้และญาติส่วนใหญ่ต้องการนอนห้องพิเศษ ยินดีควักกระเป๋าจ่ายเงินเอง แม้จะมีโครงการหลักประกันสุขภาพรองรับค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลให้แล้ว เพราะตึกสามัญ ห้องรวม มักมีเสียงดัง พลุกพล่าน มีญาติคนไข้เดินเข้าออก บางครั้งมีเสียงร้องครวญคราง หรือมีกลิ่นหยูกยา กลิ่นเลือด ทำให้รบกวนสมาธิพักผ่อนของผู้ป่วย
ระยะหลังๆมานี้ นับตั้งแต่มีการติดต่อของโรคระบาดทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคSAR หลายโรงพยาบาลต้องกันห้องพิเศษไว้เป็นห้องแยกโรคต่างหากอีก บางโรงพยาบาลต้องมีห้องแยกให้ผู้ป่วยวัณโรคที่ยังอยู่ในระยะแพร่เชื้อ ทำให้จำนวนห้องพิเศษในโรงพยาบาลยิ่งร่อยหรอลงไปอีก...
โรงพยาบาลรัฐบาลเนื่องจากมีงบประมาณจำกัด และมีปริมาณผู้ป่วยมาก จึงทำให้จำนวนห้องพิเศษมีน้อย ไม่พอเพียงต่อความต้องการ ในสภาวะที่งบประมาณของแต่ละโรงพยาบาลล้วนแล้วแต่ต้องบริหารด้วยความระมัดระวังและประหยัด การมีห้องพิเศษถือเป็นรายได้เข้าโรงพยาบาลที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน
สมัย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยมีดำริที่ให้รัฐและเอกชนร่วมมือกัน โดยให้เอกชนเข้าไปลงทุนก่อสร้างอาคารที่มีห้องพิเศษในโรงพยาบาลของรัฐได้ แล้วแบ่งรายได้ ผลประโยชน์กัน แต่ก็ไม่สำเร็จ พ้นจากวาระสมัยไปก่อน
พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาย จ.แม่ฮองสอน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง มีห้องพิเศษอยู่ประมาณไม่ถึง 10 ห้อง เล่าว่า อำเภอของท่านนอกจากต้องดูแลคนพื้นที่ประมาณ 20,000 คน ยังต้องดูแลคนที่มาจากจังหวัดอื่นที่มาทำงานในสถานประกอบการโรงแรม รีสอร์ท ที่สำคัญคือ มีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะฝรั่งและคนจีนเข้ามาใช้บริการทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 20 ราย มีอุบัติเหตุจราจรซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากนักท่องเที่ยวกว่าวันละ 10 ราย ทำให้ไม่สามารถมีห้องพิเศษไว้รองรับได้พอเพียง
ติดรั้วโรงพยาบาลปาย มีรีสอร์ทขนาด 3 ดาว มีห้องพักกว่า 60 ห้อง ซึ่งกิจการไม่ค่อยดีนัก ด้านหลังรั้วโรงพยาบาลปาย ก็กำลังมีการก่อสร้างโรงแรมขนาด 4 ดาว อีก 1 แห่ง ผมยังอดสงสัยว่าแค่เปิดรั้วให้เดินทะลุเข้าหากันได้แล้วให้ใช้ห้องพักของเอกชนเป็นห้องพิเศษได้ โดยมีเพียงหมอและพยาบาลเดินเข้าออกได้ อย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เรียกว่าอยู่ในสถานะ win-win ทั้งผู้ป่วย โรงพยาบาล และสถานประกอบการเอกชน ลักษณะของการบริหารจัดการแบบนี้ เรียกว่า “รัฐร่วมเอกชน” (Private-Public Partnership)ซึ่งควรเปิดระเบียบให้สามารถกระทำได้ โดยรัฐไม่ต้องไปลงทุนเองทั้งหมด ทั้งที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
ประเทศไทยของเรานั้น จริงๆแล้วไม่ได้ขัดสนเงินทองมากนัก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหลักซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการดูแลประชาชนด้านสุขภาพอนามัยอย่างหนึ่งคือ ระเบียบราชการที่ติดกรอบ กลัวคนโกง กลัวจะรั่วไหล หรือ ราชการเสียผลประโยชน์ ตลอดจนกรอบวิธีคิด (Mindset) ที่ยังรวบอำนาจการตัดสินใจต่างๆไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป
ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีพัฒนาการของรัฐร่วมเอกชนที่ก้าวหน้ามากในโรงพยาบาลหนึ่งแห่ง อาจมี 2 ซีก คือ ซีกที่บริหารแบบราชการ และอีกซีก บริหารแบบเอกชน โดยใช้ผู้บริหาร (CEO) ชุดเดียวกัน (ดังนั้นเราจะเห็นอาคารหลังเดียวกันที่มีระบบราชการอยู่ปีกหนึ่ง และระบบเอกชนอยู่ปีกหนึ่ง) นอกจากนี้ยังมีระบบแบบที่แยกผู้บริหารเป็น 2 ชุดก็มี ระบบดังกล่าวมีประโยชน์ตรงที่สามารถนำผลกำไรจากภาคบริหารแบบเอกชนมาเสริมส่วนขาดในภาครัฐได้
ในประเทศไทยนี้ กำลังมีการออกกฎหมายฉบับใหม่ที่มีชื่อพระราชบัญญัติกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ให้ความสำคัญกับองค์กรแบบใหม่ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงกำไร แต่นำผลกำไรนั้นบางส่วนไปเกื้อกูลประโยชน์ต่อสังคมโดยตรง
กรณีห้องพิเศษในโรงพยาบาลนั้น หลายโรงพยาบาล ผู้อำนวยการใช้วิธีของบบริจาคภาคส่วนต่างๆมาสร้างห้องพิเศษรองรับ บางแห่งใช้ชื่อว่าตึกสงฆ์อาพาธ แต่มีส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์สำหรับพระสงค์ ที่เหลือใช้เป็นห้องพิเศษ หลายโรงพยาบาลใช้วิธีเลี่ยงบาลีแบบนี้ ในการสร้างอาคารโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน เพื่อสร้างห้องพิเศษในโรงพยาบาล ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และฝีไม้ลายมือของผู้บริหารโรงพยาบาลแต่ละแห่ง
เรื่องจริงที่น่าเศร้าใจคือ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐบาลต้องการห้องพิเศษอีกมากมายแต่ไม่พอ ในโรงพยาบาลเอกชน กลับมีห้องพิเศษเหลืออยู่อีกจำนวนมาก ปล่อยว่าง ทิ้งไว้ ไม่ได้ใช้งาน...
ขอห้องพิเศษให้ชาวบ้านหน่อยเถิดครับ...ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย อย่าอ้างแต่ว่าไม่มีวงบประมาณ ผิดระเบียบ...
- อ่าน 4,655 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้