• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถึงเหนื่อยหนัก.... ยังรักเกาะพะลวย

                        เกาะพะลวยเป็นเกาะเล็กๆ อยู่ห่างอำเภอดอนสัก   ๑๘ กิโลเมตร  แต่เขตการปกครองขึ้นกับตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย (ห่างเกาะสมุย ๒๐ กิโลเมตร)  มีประชากรอาศัยบนเกาะ ๑๐๒ ครัวเรือน (๔๓๘ คน)  พื้นที่บางส่วนของเกาะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เพราะยังมีทั้งป่าดิบแล้งขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ป่าเขาหินปูน และป่าชายเลน  โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่หายากบางชนิด ได้แก่ นากขนาดใหญ่หัวปลาดุก, ค่างแว่น, ลิงแสม และหมูป่า  นอกจากนี้ยังมีนกอีกไม่น้อยกว่า ๕๐ ชนิดบนเกาะ  พื้นที่ส่วนที่เหลืออยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

                                สภาพของเกาะพะลวยส่วนมากเป็นเขาหินปูน  แต่ก็มีพื้นที่บางส่วนทำสวนยาง สวนมะพร้าวและสวนผลไม้ได้  อาชีพหลักของชาวบ้านบนเกาะมีทั้งทำประมง หารังนกนางแอ่น ทำสวนและปศุสัตว์ (เลี้ยงโค)บ้าง

                                ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนเกาะพะลวยบ้าง แต่ไม่มากนัก บนเกาะมีร้านอาหารอยู่แห่งเดียว คือ พะลวยซีฟู้ด  สถานที่พักแรมจะเป็นแบบ Home stay หรือ กางเต็นท์นอน หรือเป็นรีสอร์ทส่วนตัว  ตอนนี้มีไว้บริการพร้อมสรรพครบครัน ราคาไม่แพง และมีโอกาสได้สัมพัสถึงวิถีชีวิตชาวบ้านและธรรมชาติอย่างแท้จริง

                                บนเกาะพะลวย มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (สถานีอนามัย) ๑ แห่ง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ ๒ ท่านเป็นลูกจ้าง ๑ ท่าน ข้าราชการ ๑ ท่าน โดยมีคุณนิเวศน์  ศักดิ์ศรี ทำหน้าที่ผู้อำนวยการอยู่บนเกาะนี้กว่า  ๑๐ ปีแล้ว(ปัจจุบันไม่ได้อยู่ประจำ แต่ไปๆ มาๆ เนื่องจากได้รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. แม่น้ำ อ.เกาะสมุย อีกตำแหน่งหนึ่ง)ข้าราชการที่ทำงานบนเกาะมักถูกมองว่า ต้องเป็นคนเรียบง่าย ใช้ชีวิตพอเพียง ถึงจะทำงานอยู่ได้  ในฉบับนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณนิเวศน์ถึงมุมมองและปัญหาต่างๆที่ได้ประสบในการทำงานบนพื้นที่พิเศษแบบนี้ 

• บ้านเดิมอยู่ที่ไหนครับ  อยู่ที่นี่มานานเท่าไหร่แล้ว

                บ้านเดิมผมอยู่ อ.ท่าฉาง ครับ  อยู่ที่นี่มา ๒ รอบแล้ว  รอบแรกปี  ๔๒ ถึงปี  ๔๔  รอบหลังนี่ตั้งแต่มีนาคม  ๕๐ มาจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า ๑๐ ปีแล้วครับ

• ความภาคภูมิใจที่ได้มาทำงานที่นี่ มีเรื่องอะไรบ้างครับ

                ผมภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นหมออนามัย ได้ช่วยเหลือและดูแลสุขภาพชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เกาะพะลวย ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก นอกจากผมจะใช้ยาในการรักษาชาวบ้าน ผมยังใช้ใจที่เต็มไปด้วยความรัก คิดว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นเหมือน พ่อ แม่ ญาติพี่น้องของเรา ต่อให้เกาะพะลวยลำบากแค่ไหนผมก็มีความสุขที่ได้ดูแลสุขภาพของชาวบ้าน เห็นมีพวกเขาเหล่านั้นมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมก็ดีใจมากแล้ว และผมภูมิใจที่ชาวบ้านให้การยอมรับและดูแลเจ้าหน้าที่ดุจญาติมิตร มันเป็นความสุขเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ สำหรับหมออนามัยอย่างผมจริงๆ

•  อยากได้รับการสนับสนุนอะไรบ้างครับในการทำงาน เพื่อทำให้ดูแลชาวบ้านได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

          จากการที่ได้ไปปฏิบัติงานที่เกาะพะลวยนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับการสนับสนุนและยอมรับจากชาวบ้านและแกนนำชุมชนเป็นอย่างดี แม้จะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร หน่วยงานต้นสังกัด เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเกาะสมุย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้จัดทีมมาตรวจเยี่ยมนิเทศงานเป็นประจำทุกปี   ปัญหาของที่นี่คือการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ต้องใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว แต่ละบ้านจึงต้องมีภาชนะรองรับน้ำฝนจำนวนมาก ทางจังหวัดก็สนับสนุนสร้างที่เก็บน้ำไว้ที่อนามัย ชาวบ้านก็ได้มาร่วมดูแล รวมใช้ ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับชาวบ้านทั้งเกาะ ถ้าขาดแคลนน้ำจะมีเรือมาจากกองทัพเรือมาส่งน้ำให้ ที่เกาะไม่มีไฟฟ้าใช้  คนที่มีฐานะหน่อยก็มีเครื่องบั่นไฟประจำบ้านไว้ปั่นใช้เอง แต่ในปี  ๒๕๔๙ ก็ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานพัฒนาโซลาเซลล์ไว้ใช้ประจำทุกหลังคาเรือน  สามารถเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ตอนกลางคืนได้ถึง ๓-๔ ชั่วโมง  บนเกาะไม่มีแหล่งบันเทิงใดๆเลย

ในด้านการคมนาคม อดีตเจ้าหน้าที่อาศัยเรือหางยาวของชาวบ้านในการเดินทางไปราชการและกลับเกาะพะลวย เรือหางยาวไม่ค่อยปลอดภัยการเดินทางต้องเสี่ยงเอาถ้ามีคลื่นลมแรง  ก็ไม่ได้ไปแผ่นดินใหญ่ ยาวัสดุการแพทย์ก็ขาดแคลนบ้าง บางครั้งก็ขาดประชุม จนปลายปี ๒๕๕๖  มีบริการเรือประจำทาง จากดอนสักไปเกาะพะลวยเป็นเรือขนาดใหญ่กว่าเรือหางยาว วิ่งวันละ ๑ เที่ยว ทำให้การคมนาคมดีขึ้น   ซึ่งใช้เวลาในการเดินทาง ๒ ชั่วโมงครึ่ง ทำให้ลดการใช้เรือหางยาวลง แต่ถ้าชาวบ้านเจ็บป่วยไม่สบายอาการหนักเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. รับได้ ก็ยังใช้เรือหางยาวนำคนไข้มา รพ.ดอนสัก ในความยากลำบากนั้นอยากให้มีการสนับสนุนเรือส่งต่อคนไข้กรณีฉุกเฉิน  และสนับสนุนลูกหลานของชาวบ้านเกาะพะลวยให้ได้ไปเรียนทางด้านสาธารณสุข เช่น หมอ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข ทันตาภิบาล แพทย์แผนไทย เป็นต้น หรือมีโควต้าสำหรับลูกหลานชาวเกาะพะลวย เพราะเมื่อเรียนจบแล้ว น้องๆเหล่านั้นได้กลับมาดูแลคนในชุมชนของตนเอง และน่าจะดูแลได้ดีเพราะเป็นคนในพื้นที่ เข้าใจชุมชน และอยู่ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ทำให้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในเกาะพะลวย เพราะคนส่วนใหญ่รู้ว่าเกาะพะลวยเป็นพื้นที่ทุรกันดาร เดินทางลำบาก ไม่มีแสงสี ไม่มีความสะดวกสบายเหมือนในเมือง จึงไม่มีใครอยากมาประจำที่ เกาะพะลวย

•อยู่ที่นี่เหงาไหม ครอบครัวมีปัญหาไหม

                อยู่เกาะพะลวยไม่เหงา เราอยู่กันแบบครอบครัว มีการพึ่งพาอาศัยกันมีอะไรก็แบ่งกันกิน กับข้าวไม่ต้องซื้อมีอาหารทะเลที่สดๆกินทุกวัน .......ครอบครัวมีปัญหาบ้างไม่ว่าใครที่ทำงานบนเกาะทั้งสมุย พะงัน เกาะเต่า คือการคมนาคมที่ไม่สะดวก ถ้าพ่อแม่ญาติพี่น้องไม่สบาย หลัง ๖ โมงเย็น เราไม่สามารถทำอะไรได้  เพราะไม่มีเรือ ได้แต่รอให้สว่างของอีกวัน ไม่สะดวกสบายเหมือนคนบนแผ่นดินใหญ่ จะกลับบ้านตอนไหนเวลใดก็ได้ มันเป็นความลำบากใจอย่างมากแต่ต้องอดทน และค่าครองชีพของคนบนเกาะก็แพงกว่าคนบนแผ่นดินใหญ่

•คิดว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่ต้องมาทำงานอยู่ที่นี่

          คิดว่าโชคดีที่ได้อยู่เกาะพะลวย ได้เรียนรู้การใช้ชีวิต  วิถีชุมชน ที่แตกต่างออกไป ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำใช้ ไม่มีรถยนต์ ไม่มีห้างสรรพสินค้า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆก็ต้องอยู่ให้ได้ สิ่งต่างๆเหล่านั้นสอนให้ผมรู้จัก คำว่า ชีวิต รู้จักคุณค่าของความเป็นคน มันเป็นอะไรที่แตกต่างจากบนแผ่นดินใหญ่ การพึ่งพาอาศัย ความมีน้ำใจ ความเป็นพี่น้องของชาวบ้านเกาะพะลวยยังมีอยู่มาก และอีกอย่างคือผมภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นหมออนามัยและได้ดูแลสุขภาพของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้ผมรู้ว่า ยังมีชาวบ้านอีกมากมายที่ลำบากที่ต้องการหมออนามัยมาดูแลสุขภาพพวกเขา

•อนาคตชีวิตวางไว้อย่างไร

                ผมจะดูแลชาวบ้านเกาะพะลวยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่แม่ของผมอยู่ที่อำเภอท่าฉาง สักวันผมต้องกลับไปบ้านไปดูแลครอบครัวในความคิดว่างานสาธารณสุขของเกาะพะลวยถ้าให้มั่นคงต้องเป็นคนเกาะพะลวยดูแลคนเกาะพะลวย ส่วนราชการกระทรวงสาธารณสุข ต้องเปิด

โควต้าพิเศษให้ลูกหลานชาวบ้านเกาะพะลวยในการไปศึกษาด้านสาธารณสุขเพื่อมาพัฒนาเกาะพะลวยหรือใครที่ไปเกาะพะลวยหรือไปปฏิบัติราชการตามเกาะต่างๆต้องได้รับค่าตอบแทนพิเศษ เพื่อขวัญกำลังใจ เพราะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานบนเกาะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ

ข้อมูลสื่อ

436-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 436
สิงหาคม 2558
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ