“คุณอาจตายได้ง่ายๆ ถ้าไปอยู่ผิดที่ ผิดเวลา”
คำพูดที่ใครบางคนกล่าวไว้ข้างต้นนี้ ไม่ได้เป็นคำกล่าวที่เกินเลยความจริงเลย นักท่องเที่ยวบางคนที่ชอบเดินป่า ชอบเที่ยวแบบลุยๆ มีโอกาสที่จะเสียชีวิตกลางป่าเมืองกาญจน์ หรืออุ้มผางได้ถ้าถูกผึ้งต่อย หรือโดนงูพิษกัด คนที่เส้นโลหิตในสมองแตกอาจมีโอกาสเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้มากกว่าปกติ เพราะตอนนั้นอยู่ในอำเภอห่างไกลทุรกันดารของเชียงใหม่ หรือ แม่ฮ่องสอน ฝรั่งนักท่องเที่ยวที่ไปช็อค เมาหล้า หัวฟาดพื้นอาจตายได้ ถ้าคุณไปอยู่บนเกาะเต่า หรือเกาะลันตาในระหว่างช่วงฤดูมรสุมที่คลื่นลมแรง
สำหรับพื้นที่พิเศษที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นเรื่องของโรงพยาบาลของรัฐบาลที่อยู่บนเกาะกลางทะเล ซึ่งตัวเลขข้อมูลล่าสุดในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน ๗ แห่ง คือ
๑. โรงพยาบาลเกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี)
๒. โรงพยาบาลเกาะพงัน (สุราษฎร์ธานี)
๓. โรงพยาบาลเกาะยาว (พังงา)
๔. โรงพยาบาลเกาะพีพี (กระบี่)
๕. โรงพยาบาลเกาะสีชัง (ชลบุรี)
๖. โรงพยาบาลเกาะช้าง (ตราด)
๗. โรงพยาบาลเกาะกูด (ตราด)
ทั้งนี้ผมขออนุญาตไม่นับภูเก็ต ซึ่งมีสะพานเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ มีการคมนาคมสะดวก โรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งนี้ มีคุณลักษณะที่แตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วๆไปหลายประการ อันเนื่องมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพอื่นๆ (เศรษฐกิจ อาชีพ วัฒนธรรม เป็นต้น) ซึ่งบางครั้งกลายเป็นอุปสรรค์ต่อการเข้าถึงบริการของประชาชนบนพื้นที่
๑. จำนวนประชากรที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพงัน และอำเภอเกาะช้าง เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรหนาแน่น นอกนั้นที่เหลือเป็นเกาะขนาดกลาง (เกาะยาว เกาะสีชัง) และขนาดเล็ก (เกาะพีพี เกาะกูด) ทำให้ขนาดและศักยภาพในการดูแลประชาชนลดหลั่นไปตามขนาดของโรงพยาบาล
ผมได้ข่าวมาว่า เกาะลันตาที่กระบี่กำลังจะได้งบประมาณมาสร้างโรงพยาบาลในเร็วๆนี้ ส่วนเกาะเต่าที่ขึ้นกับอำเภอเกาะพงัน ก็เคยมีความพยายามที่จะหางบประมาณมาสร้างโรงพยาบาล แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างจึงทำให้ในขณะนี้มีแต่โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ (ชื่อเดิมสถานีอนามัย) ดูแลประชากรและนักท่องเที่ยวบนเกาะ
เกาะหลายแห่ง มีจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละวันมากกว่าคนพื้นที่ เช่น เกาะเต่า มีประชากรแค่พันกว่าคน แต่มีนักท่องเที่ยวในแต่ละวันมากกว่านั้น ๒-๓ เท่า จนน้ำบริโภคอุปโภคไม่พอใช้ เมื่อเวลาเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน มักต้องอาศัยเรือเร็ว (Speed boat) เดินทางขนส่งไปที่ฝั่งชุมพรซึ่งอยู่ใกล้กว่า
๒. ต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ในการให้บริการแก่ประชาชนของสถานบริการระดับต่างๆบนเกาะมักสูงกว่าธรรมดา บางแห่งไฟฟ้าดับบ่อย บางแห่งต้องซื้อน้ำอุปโภคบริโภคจากแผ่นดินใหญ่ บางแห่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและเบี้ยกันดารในอัตราที่สูงกว่าพื้นที่ปกติ การก่อสร้างและขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆมีค่าใช้จ่ายสูง
๓. ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร บุคลากรที่ทำงานมักเป็นคนนอกพื้นที่ และมีอัตราการขอโยกย้ายสูง บุคลากรที่ประจำการมักเป็นเจ้าหน้าที่ที่อาวุโสน้อย ประสบการณ์การทำงานน้อย
๔. ปัจจัยทางสังคมเฉพาะที่ เกือบทุกโรงพยาบาลดังกล่าวต้องให้บริการดูแลทั้งคนพื้นที่ และนักท่องเที่ยวซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านความเจ็บป่วยเกี่ยวกับทะเล เช่น การช่วยเหลือคนจมน้ำ การดูแลเบื้องต้นผู้ป่วยโรคน้ำหนีบ (อันเกิดจากการดำน้ำ) โรคที่เกิดจากสัตว์มีพิษในทะเล เช่น แมงกะพรุน
๕. ปัญหาความยุ่งยากในการส่งต่อผู้ป่วย เพราะต้องอาศัยการขนส่งทางน้ำ และบางครั้งประสบปัญหาคลื่นลมแรงในฤดูมรสุม ทำให้ยุ่งยากลำบากในการเคลื่นย้ายผู้ป่วยอาการหนัก ในบางกรณีที่เป็นเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนมาก ต้องอาศัยการขนส่งผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์
นอกจากโรงพยาบาลเกาะทั้ง 7 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับชุมชน (ยกเว้น โรงพยาบาลเกาะสมุย ที่เป็นโรงพยาบาลทั่วไป) เรายังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพซึ่งมีเจ้าหน้าที่ ๒-๕ คน ประจำอยู่บนเกาะเล็กๆอีกประมาณ 10 แห่งทั่วประเทศ เช่น เกาะล้าน เกาะพะลวย เกาะลิบง เกาะหลีเปะ เป็นต้น
โรงพยาบาลที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน ทางสถิติถือเป็นกลุ่มชายขอบ (Outlier) ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่แตกต่างไปจากโรงพยาบาลในระบบพื้นที่ปกติทั่วไปนับตั้งแต่
- การจัดงบประมาณสนับสนุนต่อหน่วยที่ต้องสูงกว่าพื้นที่ปกติ บางแห่งการให้งบสนับสนุนพิเศษเป็นเรื่องจำเป็น
- การมีระบบสื่อสารที่ดี และไว้ใจได้ นอกเหนือจากระบบโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ตแล้ว บางที่ยังต้องมีระบบวิทยุสื่อสารสำรอง
- ระบบน้ำบริโภคสำรอง ระบบพลังงานสำรอง เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นระบบไฟฟ้าในอาคาร ก็เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาเป็นกรณีพิเศษ
- ระบบสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากร เช่น ตำแหน่งบรรจุเป็นข้าราชการ อัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสมและพอเพียง สวัสดิการเกื้อกูลที่ชดเชยการเสียโอกาสบางอย่างเนื่องจากไปอยู่พื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
.......คนไทยไม่แล้งน้ำใจ ผมขอเชิญชวนท่านที่มีจิตศรัทธาอยากทำบุญกุศลที่เกื้อกูลสาธารณประโยชน์ ช่วยกันบริจาคทรัพย์สิน หรือสิ่งของที่จำเป็นกับโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เกาะ ลองมาทำบุญช่วยคนอยู่บนเกาะกันบ้าง.....ดีไหมครับ..
- อ่าน 3,440 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้