“หากคุณอยากรู้ว่า ผู้คนในประเทศนั้นมีมโนทัศน์และความสัมพันธ์กันเช่นไร ทัณฑสถานและเรือนจำเป็นที่หนึ่งที่ตอบคำถามนี้ได้”
เนลสัน เมนเดล่า
(อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้)
…เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ มีข่าวแพร่หลายใน social media เรื่องกรมราชทัณฑ์และรัฐบาลไทย นิรโทษกรรมผู้ต้องขังในเรือนจำทำให้นักโทษ ๓๐,๐๐๐ คนได้รับการปล่อยตัว ความเป็นห่วงเป็นใยของหลายคนคือ อดีตผู้ต้องขังเหล่านี้จะกลับมาก่อคดีและสร้างปัญหาให้กับสังคมไทย ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าหรือไม่ บางคนอาจจะห่วงใยเกินไปกว่าเหตุหรือเปล่า
ไม่ว่าเราจะเรียกเขาว่า นักโทษก็ดี ผู้ต้องขังก็ดี คนคุกก็ดี ขณะนี้ในเรือนจำและทัณฑสถาน ๑๘๘ แห่งทั่วประเทศ มีผู้ต้องขังอยู่ถึง ๓ แสนคน หรือ ๑ : ๒๒ ประชากร หรือ เท่ากับประชากรในจังหวัดพังงาทั้งจังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ ๗๐% เป็นผู้ต้องขังที่ต้องคดียาเสพติด โดยเป็นผู้ต้องขังหญิงประมาณ ๑๕%
ตัวเลขที่น่าตกใจคือ สัดส่วนคนติดคุกของประเทศไทยสูงที่สุดใน ASEAN และสูงเป็นอันดับ ๖ ของโลก (คิดต่อแสนประชากร) หลายคนอาจจะคิดไปไกลถึงว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ที่ผู้คนนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก สอนให้ผู้คนยึดมั่นในการกระทำความดี มีศีลธรรม แต่เหตุไฉนเราจึงมีคนถูกจับติดคุกมากมายขนาดนี้
สถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องผู้ต้องขังในคุกของเรากำลังกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่กำลังจะปะทุในเร็ววันนี้ เพราะเต็มไปด้วยปัญหารุมเร้าทั้งเรื่องความแออัดยัดเยียด บุคลากรในเรือนจำไม่พอเพียง งบประมาณไม่พอ สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ปัญหาด้านสุขภาพผู้ต้องขัง ไปจนถึงการจัดการของกรมราชทันฑ์ กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ละล้าละลัง และตอบสนองปัญหาเหล่านี้อย่างเชื่องช้า...
เคยมีความพยายามและข้อเสนอของกรมราชทันฑ์ในการสร้างเรือนจำเพิ่มอีก ๔๔ แห่ง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่โดนใจรัฐบาล เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ว่าเราจะสร้างเรือนจำเพิ่มขึ้นอีกสักเท่าไร ก็คงไม่พอที่จะดูแลผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว
ปัญหาด้านสุขภาพของผู้ต้องขังถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตมาก ปกติผู้ต้องขังในเรือนจำส่วนใหญ่มีชีวิตเหมือน “บัวแล้งน้ำ” รู้สึกตัวเองด้อยคุณค่า ไม่มีอนาคต ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ความน่าอดสูด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นความแออัดในเรือนนอน (ซึ่งทำให้บางคนนอนไม่พอ หรือนอนไม่หลับ) เวลาอยู่ในโรงนอนที่นานเกินไป (๑๔-๑๕) ชั่วโมง ได้อาบน้ำแค่ ๕ ขัน อาหารการกินที่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการ (มีรายงานผู้ต้องขังในเรือนจำทางภาคใต้แห่งหนึ่งป่วยเป็นโรค Beri Beri หลายรายซึ่งเกิดมาจากการขาด VitaminB1 เพราะบริโภคข้าวที่เสื่อมสภาพ ประมูลมาในราคาต่ำ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก) ไปจนถึงปัญหาทัศนคติของผู้คุมที่มีต่อผู้ต้องขัง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เปราะบางและความเจ็บป่วยที่ตามมา นักโทษจำนวนมากถึงแก่ชีวิตในเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษทั้งๆ ที่อายุยังน้อย เพราะปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ที่สุมรุมเร้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ปัญหาด้านสุขภาพของผู้ต้องขังที่สำคัญ ได้แก่
• การเข้าไม่ถึงบริการ หรือเข้าถึงได้ช้าในเวลาเจ็บป่วย เช่น ปัญหาด้านทันตกรรม โรคชรา ปัญหาด้านสูตินรีเวช เพราะบุคลากรในเรือนจำ เช่น พยาบาล หรือผู้คุมที่จะพาไปโรงพยาบาลมีไม่พอ
• ความแออัดทำให้การเจ็บป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจสูง สถิติพบว่าผู้ต้องขังในเรือนจำมีอัตราการป่วยเป็นวัณโรคที่สูงมาก
• โรคติดต่อทางอาหาร ท้องเสีย เพราะการปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม
• ปัญหาทันตกรรม ซึ่งปกติโรงพยาบาลจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่มาดูแล เพราะบุคลากรไม่เพียงพอในระบบบริการปกติอยู่แล้ว
• ปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า จิตตก บางคนมีอาการเหมือนคนวิกลจริตเมื่ออยู่ในเรือนจำไปนานๆ การฆ่าตัวตายพบอยู่เป็นประจำ
• ระบบการสนับสนุนเงินงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โอนเงินผ่านไปที่โรงพยาบาลประจำพื้นที่ที่ให้กรมราชทัณฑ์ไม่เอื้อต่อการพัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพและรักษาพยาบาลภายในเรือนจำ
• สำหรับผู้ต้องขังหญิง จะมีปัญหาเฉพาะตัวที่แตกต่างบางอย่าง เช่น ไม่มีการคัดกรองและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม บางคนตั้งครรภ์ต้องเลี้ยงลูกในเรือนจำ บางคนถูกละเมิดทางเพศโดยผู้ต้องขังด้วยกัน การใช้เวลาของพวกเธอในแต่ละวันให้ล่วงเลยไปเป็นเรื่องขมขื่นใจมาก
เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงเล็งเห็นปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง จึงได้ทรงพัฒนาโครงการกำลังใจขึ้น ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตอบสนองดำริของพระองค์ท่านโดยการพัฒนามโนทัศน์และโครงการใหม่ๆ ได้แก่
– การเปิดพื้นที่เรือนจำออกสู่สังคม เช่น ศูนย์เชื่อมโยงเรือนจำกับสังคม
– การสร้างพลังชีวิตผ่านการทำงานอิสระและสร้างสรรค์ เป็นการสร้างงานที่มีผลผลิตและมีรายได้แก่ผู้ต้องขัง
– การฝึกโยคะ การนวดแผนไทยในเรือนจำ
– การสร้างกุญแจดอกที่สอง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ต้องขังที่พ้นการจองจำแล้วมีพื้นที่ยืนในสังคม
– การจัดให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าทำงานด้านทันตกรรมในเรือนจำ
สังคมไทย ควรเปิดใจและเข้าใจชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำให้มากขึ้น คนเหล่านี้เมื่อพ้นจากเรือนจำออกมา ก็ยังกลับมาเป็นพลเมืองที่สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศได้ ขอแต่เพียง “ให้โอกาส” เขาบ้าง อย่าตีตราและตอกย้ำความผิดพลาดของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- อ่าน 8,184 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้