• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัตรปฏิบัติในชีวิตเมือง

          การดำรงชีพที่เป็นปกติสุข ทั้งกายและใจ เป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามใฝ่ฝันและปรารถนา โดยเฉพาะการมีสุขภาพดี เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมาก ในทางวิชาการ มีข้อสรุปว่ามีปัจจัยหลัก 4 ประการ ที่เป็นตัวกำหนดสถานะทางสุขภาพของบุคคลอันได้แก่

          ก. กรรมพันธุ์ คนบางคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคไทรอยด์มากกว่าคนอื่นๆ เพราะเหตุทางกรรมพันธุ์

          ข. เชื้อโรคต่างๆ ที่เราได้สัมผัส เชื้อโรคแต่ละชนิดมีความรุนแรงในการทำให้เกิดการเจ็บป่วย อาการข้างเคียงและผลแทรกซ้อนที่แตกต่างกันไป

          ค. พฤติกรรม นับตั้งแต่พฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตหรือการนอน เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งสิ้น

          ง. สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมทุกอย่างที่อยู่รอบๆตัว ล้วนส่งผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ อากาศ เสียงต่างๆไปจนถึงเรื่องใกล้ตัว เช่นสิ่งแวดล้อมในครัวเรือน หรือที่ทำงาน

          ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมเมือง (Urban Society) มากขึ้นและมากขึ้นจนถึงขณะนี้ ในปี 2560 มีคนไทยกว่า 33 ล้านคนหรือกว่าครึ่งประเทศอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งมีบริบทของสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมต่างๆที่เป็นรูปแบบเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่นละออง ความเร่งรีบ การแข่งขัน ปัญหาการจราจร การอยู่อาศัยและทำงานอยู่ในอาคารสูง การพึ่งพาอินเตอร์เน็ต และอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดรูปแบบความเจ็บป่วยต่างๆ ตามมา

          หนทางสู่ความเป็นปกติสุขในชีวิต ทั้งด้านร่างกายและจิตใจนั้น จำเป็นต้องมีวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เหมาะสม ซึ่งวัตรปฏิบัติที่ผงกำลังจะกล่าวนี้ จะต้องถูกกำหนดโดยกรอบความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) โดยในที่นี้จะขอเน้นในส่วนของการบริหารจิตให้มีสติ การรู้จักผ่อนคลาย การลดความตึงเครียดและบีบคั้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีรูปธรรมดังต่อไปนี้

          1. การปฏิบัติ ขณะรถติดไฟแดงเรามักรู้สึกรำคาญหงุดหงิดว่าเมื่อไรเราจะได้ไปซะที การติดตามลมหายใจ ขณะรถติดไฟแดง จะทำให้ใจเย็นลง เวลาผ่านไปรวดเร็วขึ้น สงบขึ้น กระวนกระวายน้อยลง

          2. การฟังเทปธรรมะ ในรถยนต์ ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า “การได้เห็นสมณะเป็นมงคล” การได้ฟังธรรมะบรรยาย โดยเฉพาะจากพระสงฆ์ที่แตกฉานและมีทักษะการสอนธรรมะที่ลุ่มลึก ถือได้ว่าเป็นมหามงคลยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดปัญญาญาณ และจิตใจคลายความรุ่นร้อน เบื่อหน่ายบนท้องถนน

          3. การปฏิบัติ ขณะรอลิฟท์ ใช้หลักการเช่นเดียวกันกับข้อ 1 หรือแม้ขณะอยู่ในลิฟท์ที่เลื่อนขึ้น ลง การกำหนดลมหายใจ เจริญอานาปานสติสามารถทำควบคู่ไปได้

          4. การกินอาหาร (โดยเฉพาะมื้อเที่ยงในที่ทำงาน) อย่างช้าๆ และมีสติ คนเมืองจำนวนมาก จะติดนิสัยกินอาหารอย่างลวกๆ และเร็ว เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลาหากสามารถทำได้ ให้ท่องบท “พิจารณาอาหาร” ซึ่งมีตัวอย่างให้ดูใน website ของมูลนิธิหมู่บ้านพลัม (ซึ่งคุณอาจตัดย่อให้สั้นลงได้) หากสามารถเคี้ยวอาหารช้าๆ 25-30 ครั้งในแต่ละคำ ก็จะทำให้ซึมซับอาหารในรสชาติอาหารได้มากขึ้น

          5. เสียงโทรศัพท์ เป็นสุ้มเสียงหนึ่งที่เราคุ้นเคยดี บางครั้งเรารีบรับโทรศัพท์โดยไม่ได้ตั้งสติ พูดจาไม่เพราะและขาดมารยาทในการสื่อสาร ปรมาจารย์ทางธรรมสอนว่า ควรให้โทรศัพท์ดังครบ 3 ครั้งก่อนจึง   ค่อยรับ ในระหว่างนั้นควรเจริญสติว่า เราจะรับโทรศัพท์อย่างใจว่าง พูดจาอย่างสุภาพ และใส่ใจกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่อยู่ปลายสาย

          6. การตั้งเสียงระฆังในมือถือ เสียงระฆังนั้นในทางพระพุทธศาสนานอกจากเป็นสัญญานนัดทำวัตร การสวดมนต์ของสงฆ์แล้วในลัทธิทางฝ่ายมหายานยังใช้เสียงระฆังเป็นเครื่องมือเจริญสติ คือให้หยุดคิด หยุดกิจกรรมต่างๆ กลับมาสู่ลมหายใจ การอัฟโหลดเสียงระฆังนั้นมีทั้งใช้เสียง Ring Tone โทรศัพท์ปกติ และหรือใช้กำหนดเวลาเจริญสติทุกๆ 1-2 ชั่วโมง หรือตามแต่ที่เราต้องการได้

          7. การเดินจงกรมในที่ทำงาน เราสามารถเดินจงกรมได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา แม้กระทั่งในที่ทำงาน ขณะรอเครื่องบิน รอรถโดยสาร การเดินจงกรมนั้น เพียงมีสถานที่ให้เดินได้เพียงแค่ 8-9 ก้าว ก็เพียงพอแล้ว เพียงแต่ต้องระวัง กาลเทศะ อย่าแสดงความโอ้อวด หรือสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น

          8. การนั่งสมาธิในที่ทำงาน การนั่งสมาธิทำสมถะกรรมฐานนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่วิเวก เงียบสงัด ขอเพียงมีมุมที่ไม่พลุกพล่านจอแจเกินไป อาจใช้โต๊ะทำงานของเราก็ได้ หากสามารถหลับตา                     บริกรรมพุทโธกำหนดลมหายใจได้ สัก 5 นาที (วิทิสาสมาธิ) ก็ถือว่าได้ประโยชน์ในการสร้างพลังจิตแล้ว

          9. การเจริญสติด้วยจังหวะมือ (14 จังหวะ) หรือที่เรียกว่า การเจริญสติแบบกำหนดจังหวะของหลวงพ่อเทียน เป็นวิธีการเจริญสติที่บางคนชอบ เพราะมีการเคลื่อนไหวประกอบ ข้อดีของวัตรปฏิบัติแบบนี้ คือทำได้ในท่านั่ง และในทุกสถานที่ แม้กระทั่งในที่แคบๆ เช่น บนเครื่องบินโดยสาร หรือในห้องน้ำ

          วัตรปฏิบัติ ทั้ง 9 อย่างนี้ ถือเป็น มงคลวัตร  ที่มีประโยชน์ยิ่งสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของคนเมือง หากต้องการดำรงชีพที่เป็นปกติสุข สมควรท่านทั้งหลาย น้อมไปปฏิบัติให้กลายเป็นอนุสัย และเกิดความชำนาญ (วสี) ก็จะเกิดอานิสงส์กับชีวิตนักแล...

ข้อมูลสื่อ

455-01
นิตยสารหมอชาวบ้าน 455
มีนาคม 2560
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ