.. ในช่วงที่เขียนบทความเรื่องนี้ (กรกฎาคม ๒๕๖๐) เป็นช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังร้อนระอุด้วยหลายเหตุปัจจัย หนึ่งในจำนวนนั้น คือ ผลงานการประกาศยกเลิก (Repeal) กฎหมายประกันสุขภาพฉบับเดิม ที่มีชื่อเรียกว่า Affordable care Act (ACA) ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี ๒๐๑๐ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี Barack Obama (จึงมีชื่อเล่นเรียกว่า Obama care) แล้วนำกฎหมายใหม่ของประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีชื่อว่า American Health Care Act (AHCA) เข้ามาใช้แทน ..
.. ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่าน ถนนกลางกรุงนิวยอร์ก คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ถือป้ายประท้วงด้วยข้อความดังตัวอย่างต่อไปนี้
“กฎหมายใหม่ เอียงไปช่วยคนรวย”
“ตายแน่ เพราะเสียสิทธิประกันสุขภาพ”
“คนเป็นมะเร็ง ไม่ได้รับการดูแล”
“ถ้ามีโรคประจำตัวมาก่อน ถูกกีดกันการประกันสุขภาพ”
“ผู้หญิงและคนท้องเสียประโยชน์” และอื่นๆ อีกหลายประเด็น ..
.. กฎหมายใหม่ของประธานาธิบดี Trump แม้จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วแต่วุฒิสภาที่จะผ่านรับรองกฎหมายดังกล่าวก็ยังลังเล ด้วยความวิตกกังวลหลายอย่าง เพราะคาดว่าจะมีคนอเมริกัน ถึง ๒๒ ล้านคน จะสูญเสียสิทธิประกันสุขภาพที่เคยได้
.. ก่อนกฎหมาย OBAMA CARE จะประกาศใช้ในปี ๒๐๑๐ นั้น มีคนอเมริกันไม่ได้ทำประกันสุขภาพไว้กับระบบใดระบบหนึ่ง สูงถึง ๒๐% หรือกว่า ๔๐ ล้าน คนเหล่านี้บางครั้งต้องเดือดร้อนกับความพลิกแพลงของธุรกิจสุขภาพที่กำหนดโดยบริษัทประกัน บริษัทยา และกลุ่มทุนด้านสุขภาพมาโดยตลอด จนมีคนอเมริกาเอง เอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์เสียดสีระบบบริการสุขภาพของอเมริกา ซึ่งภาพยนตร์ คือ SICKO ซึ่งท่านที่สนใจสามารถ download ดูได้ใน Website ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
.. คนเมืองลุงแซมนั้น ปกติจะมีกลไกในการคุ้มครอง และดูแลในด้านการมีหลักประกันสุขภาพ อยู่ ๓ ระบบ ด้วยกัน อันได้แก่
๑. Medicaid เป็นระบบสงเคราะห์สำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งละม้ายคล้ายกับโครงการ สปร ของประเทศไทย สมัยรัฐบาลคึกฤทธ์ ปราโมช
๒. Medicare เป็นระบบช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนปรัชญาที่ว่าจ่ายภาษีมานานแล้ว ซึ่งระบบนี้ไม่ได้ดูแลเฉพาะเรื่องความเจ็บป่วย แต่ยังครอบคลุมไปถึง Nursing Care Home เบี้ยยังชีพ และปัญหาทางสังคมอื่นๆ
๓. Health Management Organization (HMO) เป็นระบบคล้ายๆ กองทุนประกันสังคม (ซึ่งมีทั้งของเอกชนและของรัฐ) เป็นกลไกที่ถูกกำหนดให้มีทั่วประเทศ บางรัฐมีเป็นร้อยกองทุน บางรัฐที่ใหญ่หน่อยมีเป็นพันๆแห่ง โดยประชาชนมีหน้าที่ (Mandate) ที่จะต้องลงทะเบียนเป็นรายปี คนอเมริกันส่วนใหญ่จะซื้อประกันสุขภาพในระบบนี้...
ระบบ Medicaid และ Medicare นี้ ก่อกำเนิดในสมัยประธานาธิบดี Lyndon Johnson ในปี ๑๙๖๕ (๕๒ ปีมาแล้ว) ทุกวันนี้ แต่ถึงกฎหมายนี้จะมีมานานแต่ก็ยังมีคนอเมริกันบางส่วนที่ไม่มีประกันสุขภาพ มิหนำซ้ำคนที่มีประกันสุขอยู่แล้วก็อาจถูกปฏิเสธ การให้บริการในรูปแบบต่างๆ เช่น
- การถูกปฏิเสธการต่อประกัน เพราะมีเหตุเจ็บป่วยมาก่อน
- การถูกปฏิเสธการรักษากลางคัน เพราะการกรอกเอกสารไม่ถูกต้อง
- การถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะความเป็นผู้หญิงและสภาวะเฉพาะบางอย่าง
เรียกได้ว่าที่ผ่านมา ยังมีคนล้มละลายเพราะความเจ็บป่วย (Catastrophicillness) ยังมีคนเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ยังมีคนตายอย่างไร้เกียรติและศักดิ์ศรี
.. ประเทศสหรัฐอเมริกานี้แปลกอยู่ตรงที่ว่า ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ารัฐบาลกลางมีหน้าที่แค่ออกกฎหมาย และกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานของประเทศในเรื่องสำคัญ เช่น ความมั่นคง หรือเรื่องทางการทหาร แต่การไปทำระบบริการเอง เช่น ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา นั้น ห้ามไว้เป็นเรื่องราวของรัฐบาลท้องถิ่น (State government) รัฐบาลกลางจึงไม่มีสิทธิ์ไปทำอะไรแบบสำนักงานประกันสังคม หรือ สปสช. ของไทยได้อำนาจการจัดการในเชิง delivery service ตกไปอยู่กับรัฐบาลระดับรัฐและท้องถิ่น ซึ่งมีอิสระในทางนิติบัญญัติและการบริหารสูง ถึงขั้นสามารถออกกฎหมายอาญาได้ เช่น กฎหมายการกำหนดอายุ การขายเหล้า การเก็บภาษีเหล้า การพกพาอาวุธปืน หรือกฎหมายการทำแท้ง ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างกันไปไม่เหมือนกันในแต่ละรัฐ..
... สิ่งที่กฎหมาย ACA ของ OBAMA พยายามทำที่ผ่านมา มีหลายเรื่องนับตั้งแต่
๑. ให้ประชาชนมีหลักประกันด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับหลักเกณฑ์ให้กองทุน Medicaid ครอบคลุมประชากรได้มากขึ้น
๒. พัฒนาระบบให้มีงบประมาณไปดูแลคนสูงอายุมากขึ้น
๓. ลดค่าใช้จ่ายบางด้าน และใช้กลไกทางภาษี นำเงินจากกลุ่มคนรวย มาช่วยคนจนหรือด้อยโอกาส
๔. ควบคุม กำกับ (Regulate) บริษัทประกันสุขภาพ ไม่ให้เอาเปรียบชาวบ้านมากเกินไป
๕. พัฒนาคุณภาพบริการสาธารณสุขให้ดีขึ้น
.. ที่ผ่านมา ๕-๖ ปี บางด้านก็เริ่มเห็นผล แต่บางด้านก็ยังไม่ชัดเจน สิ่งที่ประธานาธิบดี Trump พยายามรื้อกฎหมาย Obama care นั้น มีคนวงในวิเคราะห์ว่า Trump ยังคงอาศัยเค้าโครงเดิม (Frame) ของ Obama care ในกฎหมายฉบับใหม่แต่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการและแนวทางปฏิบัติใหม่ซึ่งดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างกลุ่มคนรายได้สูง และภาคอุตสาหกรรม ยกเลิกการขยายกองทุน Medicaid ไปจนถึงใช้ระบบภาษี (Tax Credit) ตามเกณฑ์อายุ (ของเดิมใช้เกณฑ์รายได้) ซึ่งดูเผินๆโดยสรุป คือ นาย trump พยายามลดภาระงบประมาณรายจ่ายของประเทศ ที่ต้องไปแบกรับค่ารักษาพยาบาล แต่สวนทางกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ...
…ผลการสำรวจเมื่อเร็ววันนี้ พบว่าผู้ว่าการรัฐหลายรัฐทั้งที่มาจากพรรค Democrat และ Republican ของประธานาธิบดี Trump เอง ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายใหม่นี้เพราะเป็นการเดินย้อนทางกับคำมั่นสัญญาที่หลายรัฐเคยสัญญากับประชาชนในพื้นที่ว่าจะขยายสิทธิในกองทุน Medicaid ให้คนเข้ามาลงทะเบียนได้มากขึ้น นักวิชาการบางท่านมองว่าการรื้อกฎหมายฉบับนี้ของประธานาธิบดี Trump เปรียบเสมือนการฆ่าตัวตายทางการเมือง (Political Suicide) ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ามีคนอเมริกันเพียง ๒๐% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายใหม่นี้
.. Dr.Martin Luther King นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า ผู้นำที่ดีต้องเป็นแสงสว่างนำทาง (Headlight) ไปสู่ ๓ สิ่งคือสิ่งที่ถูกต้อง (Right) สิ่งที่ยุติธรรม (Fair) และสิ่งที่สมเหตุสมผล (Just) ปัญหาก็คือสิ่งทีป่ระธานาธิบดี Trump ทำไป อาจจะกำลังขัดแย้งกับหลักการดังกล่าว
.. ตอนหาเสียง Trump เคยสัญญาไว้ว่า “จะทำให้คนอเมริกันมีความครอบคลุมด้านหลักประกันสุขภาพมากขึ้น และไม่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องไปตกระกำลำบากอยู่บนท้องถนน แต่ถ้าดูสาระอย่างที่กฎหมายใหม่ของ Trump เสนอมา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สวนทางกับ Trump พูดไว้ ตัวอย่างง่ายๆ คือจะมีคนหลายล้านคนที่หลุดจากระบบ Medicaid
..ดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Obama Care แล้ว ผมก็อดคิดไม่ได้แล้วว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเรา จะโดนหางเลขอะไรบ้างหรือเปล่าเพราะกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการทบทวนแก้ไขกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการ การแยกหรือรวมเงินเดือนไว้ในระบบ การให้ประชาชนผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมจ่าย ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่เป็นประเด็นร้อนแรงทั้งนั้น..
- อ่าน 6,935 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้