• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ร้านเหล้าหน้าสถาบันการศึกษา

            .. ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ มีข่าวคราวเกี่ยวกับเหล้าสุราอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือข่าวดาราดังชายหญิงหลายคน โดนปรับย้อนหลัง ตามกฎหมาย พรบ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในข้อหามีพฤติกรรมเข้าข่ายการโฆษณาสุราทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ..

            ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือข่าวนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะสำนักตำรวจแห่งชาติ ได้เพิ่มมาตรการกำกับให้มีการสอดส่องดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณใกล้หอพัก และสถานศึกษา รวมทั้งห้ามจำหน่ายสุราแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ทุกวันนี้มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก

            ตัวอย่างเช่น บริเวณด้านทิศเหนือของกำแพงมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก มีถนนเส้นหนึ่งคู่ขนานกับรั้วของสถาบัน ถูกขนานนามว่าเป็น “ถนนโลกีย์” เพราะคลาคล่ำไปด้วยร้านเหล้า Pub Barร้านอาหาร ร้านเกมส์  ไปจนสถานบริการทางเพศแอบแฝง จำนวนมาก เวลาค่ำคืนบรรยากาศจะใกล้เคียงกับ RCA ของกรุงเทพฯในอดีต ..

            เคยมีการสำรวจร้านค้าที่มีการจำหน่ายสุรา ในบริเวณรอบมหาวิทยาลัยในรัศมี 500 เมตร จำนวน 11 แห่ง ในกรุงเทพฯ ระหว่างปี 2552 – 2557 พบว่า ในช่วง 5 ปี ดังกล่าวมีจำนวนร้านจำหน่ายสุรา เพิ่มขึ้นถึง 72% บางมหาวิทยาลัยมีประมาณ 50 ร้าน แต่ที่พบมากที่สุดคือ 700 ร้านเลยทีเดียว

            คนไทยนั้น ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงมากอยู่ในระดับต้นๆของโลก คือ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7 – 9 ลิตร ต่อคนต่อปีซึ่งมีตัวเลขแนวโน้มที่ดีว่าในช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขไม่เพิ่มขึ้น

            ในปี 2557 รัฐบาลสามารถเก็บภาษีสรรพสามิตจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ได้ถึง 67,863 ล้านบาท และภาษีสรรพสามิตจากเหล้าถึง 130,000 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้ 2% ได้ถูกแบ่งไปตั้งเป็นกองทุนสร้างเสริมสุขภาพมานานกว่า 15 ปีแล้ว ล่าสุดรัฐบาลมีมติ ครม. ให้แบ่งอีก 2% ไปช่วยกันตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุแห่งชาติซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้สูงอายุทั้งหลาย

            .. ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2558 พบว่าผู้ชายไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 56 % เคยมีการบริโภคสุราในช่วง 0 – 30 วัน ก่อนการสำรวจแสดงว่าเรื่องการดื่มสุรายังฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยและสังคมถือเป็นเรื่องปกติ ..

            .. คำถาม คือ ทำไมต้องไปยัดเยียดขายเหล้าและอบายมุขในทุกรูปแบบให้กับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นเยาวชน ซึ่งไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้เป็นหลักเป็นแหล่ง ต้องอาศัยทุนทรัพย์จากครอบครัวในการดำรงชีพ บางคนต้องกู้เงินจากกองทุนรัฐบาล (กยศ.) มาเล่าเรียน แต่กลับหมดเงินส่วนหนึ่งไปกับอบายมุขโดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ..

            ปัญหา “เมาแล้วขับ  เมาแล้วเกิดเรื่องวิวาท  เมาแล้วขับรถชนผู้อื่น ก่อคดี” ไปจนถึงความรุนแรงในสังคม ปัจจุบันอีกหลายเรื่อง ล้วนเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีต้นตอมาจากการดื่มสุราทั้งสิ้น ..

            ในปี พ.ศ. 2560 ถือเป็นปีที่ 14 แล้วที่ทางสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้รณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ในปี 2558 มีผู้ที่นิยมดื่มสุรา เปลี่ยนพฤติกรรมโดยงดดื่มเหล้าโดยเด็ดขาดในช่วง 3 เดือนถึงกว่า 30 % และมีอีกบางส่วนที่ลดปริมาณความถี่และจำนวนการดื่มสุราลง  ตัวเลขข้อมูลที่ยืนยันความสอดคล้องตรงกันของงดเหล้าเข้าพรรษา คือ พบว่า อุบัติการณ์ของการตายจากเมาแล้วขับในช่วงเข้าพรรษา ลดลง 15 % (ข้อมูลปี 2548 – 2552 )

            จังหวัดน่านและจังหวัดภูเก็ตเป็น 2 จังหวัดตัวอย่างที่สามารถรณรงค์ให้งดการขายเหล้าในงานแข่งเรือประจำปี และเทศกาลสำคัญ จนสามารถลดอุบัติเหตุลงได้ถึง 80% และ 50% ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ..

            .. จนถึงทุกวันนี้ เรื่องการจำหน่ายเบียร์ เหล้า หน้าสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่ “ปล่อยปละละเลย” กันมากจนเกินไป ..

“ ให้เหล้าเท่ากับแช่ง  ให้บุหรี่เท่ากับบาป”

ข้อมูลสื่อ

461-01
นิตยสารหมอชาวบ้าน 461
กันยายน 2560