• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไฝและปาน

ไฝและปาน


“ฝูงชนกำเนิดคล้ายคลึงกันใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณแผกบ้าง”

คำประพันธ์ข้างต้นตรงกับความจริงที่ว่า คนเราเกิดมาย่อมมีผิวพรรณแตกต่างกันไป แบ่งกว้าง ๆ ก็คือ เชื้อชาติ มีชาติผิวดำ ผิวขาว ผิวเหลือง แต่ละชาติก็ยังแตกต่างกันไปอีกในรายละเอียด ตัวกำเนิดความแตกต่างนี้ คือกรรมพันธุ์ ซึ่งแม้แต่ผู้ที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกันก็อาจมีลักษณะของผิวแตกต่างกันได้เล็กน้อย

ผิวพรรณแม้จะผ่องใสสะอาดหมดจดเพียงใด ก็ย่อมจะต้องมีไฝฝ้าปนอยู่บ้าง ไม่มีใครผิวเกลี้ยงจนปราศจากริ้วรอยหรือจุดด่างดำเสียทีเดียว ส่วนจะมีมากหรือน้อยหรือเป็นชนิดใดก็ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน

ทั้งไฝและปานอาจเป็นมาตั้งแต่เกิดหรือมาเป็นทีหลังก็ได้ จะเริ่มเป็นในวัยใดก็ได้ทุก ๆ วัย บางชนิดพบเริ่มเป็นตั้งแต่หลังคลอดเล็กน้อย บางชนิดเป็นในเด็ก บางชนิดเป็นเมื่อมีอายุมาก ความผิดปกติที่ทำให้เกิดเป็นไฝและปาน ไม่ว่าจะเป็นขี้แมลงวัน ไฝดำ ปานดำ หรือกระดำที่ผิวหนังจัดอยู่ในกลุ่มของโรคผิวหนังกลุ่มเดียวกันทั้งนั้น อันเกิดจากการรวมกลุ่มของเซลล์สร้างสีที่เรียกว่า เมลาโนไซด์ สีที่สร้างขึ้นเรียกว่าเมลานิน สีผิวของคนเราที่ต่างกันคือ มีผิวดำ ผิวขาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนสีเมลานิน ในคนดำมีเมลานินมาก ในคนขาวมีน้อย ในคนเผือกไม่มีเลย

จุดดำชนิดเลนไทโก้หรือที่รู้จักกันดีในชื่อไทยว่า ขี้แมลงวัน เป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลอ่อน หรือแก่ไปจนกระทั่งดำ แบบราบเรียบเสมอผิว เมื่อใช้มือคลำไม่มีรอยนูน รูปร่างกลมหรือรี ขอบเรียบ มักมีขนาดเล็กประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร เกิดเป็นได้ทั่วร่างกาย จุดดำชนิดนี้ ไม่มีอันตราย บางคนเป็นขึ้นมามาก ทำให้เกิดกังวลโดยเฉพาะเมื่อเป็นบริเวณใบหน้า อาจรักษาได้โดยใช้จี้น้ำยาหรือจี้ไฟฟ้า ซึ่งดีกว่าวิธีตัดออก เพราะการตัดจะทำให้เกิดแผลเป็น

มีขี้แมลงวันอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบในคนสูงอายุพบเป็นที่ใบหน้า ขนาดใหญ่กว่าขี้แมลงวันธรรมดา สีไม่เสมอ ขอบไม่ชัด ผิวไม่เรียบ แพทย์เรียกว่าเลนไทโก้ชนิดร้าย เพราะอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งของเซลล์สีที่เรียกว่า เมลาโนมา แต่ขี้แมลงวันชนิดนี้พบน้อยมาก ผู้ที่เป็นขี้แมลงวันธรรมดาจึงไม่ควรต้องวิตกกังวลใด ๆ

ไฝมีหลายชนิด มีสี ลักษณะและขนาดแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเซลล์ไฝและจำนวนสีเมลานินที่รวมตัวกันอยู่ในชั้นต่าง ๆ ของผิวหนัง

⇒ ไฝดำ

เป็นไฝชนิดที่พบบ่อย ลักษณะเป็นตุ่มนูนเดี่ยว ๆ ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว มักพบเป็นบริเวณใบหน้าและคอ เซลล์ไฝชนิดเดียวกันนี้อาจรวมตัวกันเกิดเป็นปื้นดำทำให้ดูคล้ายปาน ลักษณะนูน สีดำ ขอบเรียบ มีขนาดต่าง ๆ ในรายที่ผิดปกติมากอาจมีขนาดใหญ่เกือบครึ่งลำตัว เรียกว่า “ไฝยักษ์” มักมีขนขึ้นด้วย ชนิดหลังนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงในเซลล์กลายเป็นเนื้อร้ายได้ เพราะฉะนั้นรายที่มีขนาดใหญ่จึงควรตัดออก โดยใช้ศัลยกรรมพลาสติก ถ้าเป็นบริเวณกว้าง แพทย์จะใช้วิธีตัดออกแล้วเอาผิวจากบริเวณอื่นมาปะทดแทน ไฝดำบางชนิดมีวงขาวเกิดขึ้นล้อมรอบ ทำให้มีลักษณะเหมือนพระจันทร์ทรงกลด นาน ๆ ไปจุดไฝที่อยู่ตรงกลางจะค่อย ๆ สลายตัวหายไปได้ เมื่อรู้เช่นนี้การรอให้หายเองย่อมดีกว่าไปด่วนตัดทิ้ง เพราะการตัดจะเกิดรอยแผลเป็นขึ้น

⇒ ไฝแดง
เป็นที่รู้จักกันดี ลักษณะเป็นตุ่มนูนน้อย ๆ สีแดงสด ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด รูปร่างกลมเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย เกิดในคนสูงอายุ สาเหตุเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดฝอยใต้ผิว เกิดขดตัวรวมกันเป็นกระจุกทำให้เห็นเป็นตุ่มสีแดง ไม่มีอันตรายอะไร หากเจ้าของไม่ชอบก็รักษาได้โดยใช้วิธีจี้ด้วยไฟฟ้า จะหายได้ดีโดยไม่มีรอยแผลเป็น

ปานคือ รอยสีผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ผิว อาจเป็นตั้งแต่เกิดหรือมาเป็นภายหลังก็ได้ หรือเมื่อเกิดมีขนาดเล็กแล้วมาโตขึ้น หรือสีเข้มขึ้นในเวลาต่อมา ปานต่างจากไฝที่ลักษณะของเซลล์ที่เป็นต้นเหตุ ปานมีรูปร่าง ขนาดและสีต่าง ๆ กัน เช่น ปากแดง ปานดำ ปานน้ำเงิน และปานขาว

⇒ ปานแดง
เกิดจากหลอดเลือดฝอยใต้ผิวมารวมตัวกันเป็นกลุ่ม และหลอดเลือดมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้มีเลือดคั่งในบริเวณนั้น จึงเห็นเป็นรอยแดงขึ้นที่ผิวปานแดงมีทั้งชนิดราบ และชนิดนูน ปานแดงชนิดราบจะเห็นเป็นรอยแดงกระจายรูปร่างไม่แน่นอน ไม่มีขอบเขต มีขนาดต่าง ๆ มักพบบริเวณใต้ผมที่ต้นคอ อาจเป็นที่หน้า แต่พบน้อยกว่าที่คอ ปานชนิดนี้พบเป็นตั้งแต่เกิด ไม่มีอันตราย มักไม่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากในรายที่เป็นมากบริเวณหน้าอาจพบร่วมกับความผิดปกติในระบบประสาท เช่น เกิดเป็นร่วมกับโรคลมชักได้
ปานแดงชนิดนูนมีสีแดงสดถึงสีแดงคล้ำ ผิวนุ่ม ไม่เรียบ ลักษณะคล้ายผิวผลสตรอเบอรี่ พบเป็นได้ทุกส่วนของร่างกาย มีขนาดต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตรก็มี ข้อดีของปานชนิดนี้ คือ เมื่อเด็กโตขึ้นปานจะค่อย ๆ ยุบหายไปเองได้ภายใน 2-5 ปี โดยไม่ต้องรักษา นอกจากบางรายเกิดเป็นในบริเวณที่บาดเจ็บง่ายหรือในที่ ๆ ทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะอื่นตามมา เช่น เป็นบริเวณหนังตาทำให้เด็กลืมตาไม่ได้ หรือเป็นบริเวณปาก ทำให้อ้าปากกินอาหารไม่ได้ หรือเป็นบริเวณก้นเมื่อเด็กนั่งจะกดทับทำให้เกิดเป็นแผลได้ง่าย ในกรณีดังกล่าว อาจต้องพิจารณาให้การรักษา การรักษาทำได้โดยการจี้ด้วยไฟฟ้าหรือด้วยความเย็น

⇒ ปานดำ
พบบ่อยที่ใบหน้า เป็นครึ่งหน้าซีกเดียว เป็นรอยดำราบระดับเดียวกับผิว อาจเป็นที่ตาขาวด้วย สีอาจดำเข้มหรือดำอ่อน หรือบางทีเห็นเป็นสีน้ำเงินดำ ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนสีเมลานิน
ปานดำอีกชนิดหนึ่งมักเกิดเป็นตามตัว เป็นสีน้ำตาลอ่อน สีเสมอ ผู้อธิบายว่าสีเหมือนกาแฟใส่นม ผิวเรียบ รูปร่างต่าง ๆ กัน ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เรียกชื่อตามสิว่าปานสีกาแฟใส่นม อีกชนิดหนึ่ง มักเกิดเป็นตามตัวเช่นเดียวกัน มีสีน้ำตาลอ่อนแต่สีไม่เสมอ เห็นเป็นจุด ๆ อยู่รวมกันเป็นบริเวณกว้างและมีขนขึ้นร่วมด้วย เมื่อเด็กโตขึ้นปานจะลามกว้างขึ้นได้ด้วย เรียกปานชนิดนี้ว่า “ปานขน”

⇒ ปานสีน้ำเงิน

ในเด็กแรกคลอดบริเวณก้นและหลัง เห็นเป็นรอยสีน้ำเงินอมเทาเหมือนรอยฟกช้ำ ปานชนิดนี้พ่อแม่เด็กรู้จักดี และจะไม่วิตกกังวลอะไร เป็นที่รู้กันว่าไม่มีอันตราย เมื่อเด็กโตขึ้นสีจะค่อย ๆ จางไป สีที่เห็นเกิดจากการคั่งของสีเมลานินในผิวหนังชั้นล่าง ปานชนิดนี้เรียกว่าปานมองโกเลีย ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะพบเป็นเฉพาะในคนผิวเหลืองหรือชนชาติมองโกลเท่านั้น

⇒ ปานขาว
ลักษณะเป็นรอยสีขาว ขอบชัด ต่างจากโรคด่างขาวตรงที่สีไม่ขาวจัด เกิดจากบริเวณนั้นไม่มีสีเมลานิน อาจเป็นเพราะไม่มีเซลล์สร้างสีหรือมีแต่สร้างไม่ได้ เนื่องจากมีความผิดปกติในเซลล์หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด ทำให้ผิวบริเวณนั้นขาดเลือดจึงทำให้สีผิวซีดลง

ยังมีปานอีกหลายชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ชนิดต่าง ๆ ในผิวหนัง เช่น เซลล์หนังกำพร้า เซลล์ขุมขน เซลล์ต่อมน้ำมัน เซลล์เนื้อเยื่อคอลลาเจน ทำให้เห็นเป็นปานลักษณะต่าง ๆ ตามลักษณะของเซลล์ดังกล่าว บางชนิดอาจกลายเป็นเนื้อร้ายหรือกลายเป็นแผลเรื้อรัง หรือขยายขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ดูน่าเกลียด ซึ่งมีความจำเป็นต้องตัดทิ้ง
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไฝหรือปานที่พึงสังเกตคือ เกิดมีอาการบวมแดง มีสีเปลี่ยนไป เช่น เข้มข้นหรือสีไม่สม่ำเสมอ ขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผิวที่เคยเรียบเกิดขรุขระ มีน้ำเหลืองซึม มีเลือดคั่ง มีอาการเจ็บ เป็นต้น เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีอันตรายเกิดขึ้น ต้องพิจารณาให้การรักษาโดยการตัดทิ้ง การผ่าตัดไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แพทย์จะฉีดยาชาก่อนตัดทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่ควรทำเอง เช่น เอาธูปจี้ น้ำกรดจี้ หรือเอายาพอกอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดเป็นแผลเป็นใหญ่กว่ารอยเดิมก็ได้
ส่วนชนิดที่เป็นไฝหรือปานธรรมดาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางผิดปกติก็ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา นอกจากมีเหตุผลทางด้านอื่น ๆ เช่น ดูไม่สวยหรือบางคนเชื่อถือโชคลางว่ามีไฝหรือปานตรงบริเวณที่ไม่ควรมีจะเกิดโชคไม่ดี ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้การรักษา

 

นอกเหนือจากความรู้ในด้านวิชาการ ไฝบางชนิดมีลักษณะสวยและเผอิญอยู่ในที่ ๆ เหมาะเจาะบนใบหน้าคล้ายเป็นเครื่องเพิ่มความงาม และความมีเสน่ห์ให้แก่เจ้าของได้ไม่น้อยทีเดียว

 

ข้อมูลสื่อ

200-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 200
ธันวาคม 2538
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์