• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความรัก มิตรภาพ ชีวิต กับผู้ติดเชื้อเอดส์

ความรัก มิตรภาพ ชีวิต กับผู้ติดเชื้อเอดส์


ในปี พ.ศ. 2527 พบผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นคนไทยรายแรก ในขณะนั้นเข้าใจว่า โรคเอดส์เป็นโรคที่พบกันในชายรักร่วมเพศเท่านั้น และไม่คิดว่าโรคเอดส์จะเข้ามาแพร่กระจาย ในคนทั่วไป มาตรการในการป้องกันและเผยแพร่ความรู้จึงเน้นกลุ่มเป้าหมายคือ ชายรักร่วมเพศ หรือกลุ่มเกย์

ในปี พ.ศ.2530-2531 พบผู้ติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มผู้ฉีดยาเสพติดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยติดจากการใช้เข็มและหลอดฉีดยาร่วมกัน

ในปีต่อมา พบผู้ติดเชื้อเอดส์ ในกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศสูงขึ้นตามลำดับ การติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากที่เคยคิดว่าติดเฉพาะในชายรักร่วมเพศ กลับพบการติดเชื้อสูงในหญิงโสเภณี และชายชอบเที่ยวที่มาตรวจรักษาที่คลินิกกามโรค

นับแต่ปี พ.ศ.2535 พบทารกป่าวเป็นโรคเอดส์มากขึ้นเป็นลำดับ เพราะได้รับเชื้อจากแม่ที่ติดเชื้อ ที่กรุงเทพฯมารดาที่มาฝากครรภ์ ตรวจเลือดพบติดเชื้อร้อยละ 2 ในจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย พะเยา ลำปาง พบว่าแม่ติดเชื้อถึงร้อยละ 10 ทารกที่เกิดจากแม่ติดเชื้อประมาณ 1 ใน 4 ป่วยเป็นโรคเอดส์

เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษาให้หายขาด และยังไม่มีวัคซีนป้องกันที่ได้ผลแน่นอน การป้องกันจึงต้องเน้นในเรื่อง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความรู้ว่าเชื้อติดต่อทางใด และจะหลีกเลี่ยงไม่รับเชื้อได้อย่างไร รัฐบาลจึงจัดตั้งคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนนำในการรณรงค์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอดส์

การให้ความรู้ผ่านสื่อมวลชนระยะแรก เน้นให้เห็นความน่ากลัวของโรคเอดส์ คือ เป็นแล้วตายลูกเดียว และได้ลงรูปผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย ที่น่าเกลียดน่ากลัว เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก มีผิวหนังเน่าเปื่อยทั่วตัว ด้วยความคิดว่า การใช้แนวทางนี้จะทำให้ผู้ชายกลัว และเลิกเที่ยวโสเภณีได้
เมื่อเวลาผ่านไปพบว่า แนวทางการให้ความรู้โดยสร้างความกลัวโรคเอดส์ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ชายเที่ยวหญิงโสเภณี ยังคงมีอยู่แม้จะลดน้อยลงบ้าง และที่สำคัญคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความกลัวโรคเอดส์เป็นอย่างมากคือ ผู้ติดเชื้อเอดส์ถูกสังคมรังเกียจ ครอบครัวไม่ยอมรับให้อยู่ร่วมบ้าน เพราะกลัวติดโรค

ภาพที่น่ากลัว และความตาย ทำให้คนบางกลุ่มที่ไม่มีความรู้เพียงพอไม่ยอมรับผู้ที่ติดเชื้อ และพยายามกีดกันเขาเหล่านั้นออกจากสังคม บางคนถูกไล่ออกจากงาน บางคนถูกขับออกจากหมู่บ้าน และที่เจ็บปวดไปกว่านั้นคือ บางคนถูกคนในครอบครัวไล่ออกจากบ้าน ให้ไปตายเอาดาบหน้า!
การกระทำเหล่านี้ทำให้ผู้ติดเชื้อเหมือนคนแค่ครึ่งคน พวกเขาไม่กล้าออกมายืนอยู่ในมุมสว่างของสังคม ได้แต่หลบอยู่ในวอกมืด ทำให้เพวกเขาขาดโอกาสอีกหลายอย่าง เช่น โอกาสที่จะได้รับความช่วย-เหลือจากรัฐฯ โอกาสได้รับการดูแลจากแพทย์ โอกาสในการใช้ชีวิตอย่างปกติ โอกาสทางสังคมอื่น ๆ อีกมากมาย

หากเรามีความรู้เรื่องโรคเอดส์ รู้ว่าเอดส์นั้นติดได้โดยการร่วมเพศ ร่วมเข็ม หรือร่วมเลือด ไม่ได้ติดต่อง่าย ๆ เหมือนหวัดหรือวัณโรคที่หายใจ ไอ จาม รดกันก็ติดเชื้อได้ หรือโรคกลากเกลื้อนที่ติดทางการสัมผัส เราอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์หรือแม้แต่ผู้ป่วยเอดส์ได้ กินข้าวด้วยกัน พูดคุยกัน จับต้องตัวกันได้โดยไม่ติดเชื้อ

ที่สำคัญคือ ผู้ที่ติดเชื้อยังสามารถอยู่ได้อย่างปกติอีกนาน หากได้รับการดูแลสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในทางกลับกันหากสังคมใกล้ตัวไม่ให้โอกาส ความกดดันจะทำให้ผู้ติดเชื้ออายุสั้น
ถ้าหากคุณมีญาติพี่น้อง หรือเพื่อนติดเชื้อเอดส์ คุณและเขาจะปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไม่เดือดร้อน
 

                                               การปฏิบัติตนของผู้ติดเชื้อ

1. เลิกพฤติกรรมที่จะมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสเอดส์ซ้ำอีก ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์อยู่แล้ว อย่าคิดว่าไม่ต้อง
ป้องกันตัว เชื้อเอดส์ที่ได้รับครั้งแรก มักได้มาเมื่อร่างกายแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี เชื้อถูกควบคุมไม่ให้เพิ่มจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อสามารถมีชีวิตปกติอยู่ได้อีกนาน ถ้าเชื้อในตัวอยู่ในระยะสงบ แต่ถ้ารับเชื้อใหม่มาอีกจะกระตุ้นให้เชื้อที่มีอยู่หรือเชื้อที่รับเข้าไปใหม่เพิ่มจำนวน ทำให้เกิดโรคเอดส์เร็วขึ้น และยังเกิดโรคแทรกจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง วิธีป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อเพิ่ม ได้แก่
- งดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรส ถ้ามีเพศสัมพันธ์ควรใส่ถุงยางทุกครั้ง พยายามอย่ามี
เพศสัมพันธ์รุนแรงจนเกิดบาดแผล
- ไม่ใช้กระบอกฉีดยา เข็มฉีดยา ของมีคม (เช่น มีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น

2. วางแผนครอบครัว หญิงที่ติดเชื้อเอดส์ไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เชื้อที่สงบอยู่ถูกกระตุ้น
ให้เพิ่มจำนวนเป็นโรคเร็วขึ้น และลูกที่เกิดมาก็มีโอกาสคิดเชื้อ

3. ดูแลสุขภาพของตนเอง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนอย่างน้อย วันละ 6-8 ชั่วโมง
- ไม่ควรเข้าไปในที่แออัด เพราะอาจติดโรคอื่น ๆ จากผู้อื่นได้ โดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางลมหาย
ใจ
- ไม่ควรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และสิ่งเสพติด
- ไม่ควรกินอาหารรสจัด อาหารดิบ อาหารหมักดอง อาหารค้างคืนซึ่งอาจบูดเสีย กินอาหารให้
เป็นเวลา กินผักและผลไม้จำนวนมาก ๆ ในผัก ผลไม้ต่าง ๆ จะมีแร่ธาตุ วิตามิน และสารกันพิษที่เรียกว่า แอนติออกซิแดนท์ (antioxidant) ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
- ออกกำลังกายทุกวัน แต่ไม่ควรออกมากจนเหนื่อยล้า ไม่ควรเข้าแข่งขันกีฬาซึ่งต้องออกแรงหัก-
โหม
- หางานอดิเรกทำให้เกิดความเพลิดเพลิน อย่าให้เกิดเวลาว่างมากเกินไป

4. หาเพื่อนหรือผู้ไว้ใจได้ สำหรับปรึกษาหารือ ควรมีหมอที่จะติดต่อด้วยเป็นประจำ ถ้าเจ็บไข้ได้
ป่วยควรรีบพบแพทย์ ถ้าได้รับการรักษาจากแพทย์ ที่ไม่รู้ประวัติขอให้บอกด้วยว่า ตนเองอาจมีเชื้อที่ติดต่อทางเลือดได้

5. ควรมีการติดต่อรวมกลุ่มระหว่างผู้ติดเชื้อด้วยกัน เพื่อจะได้ติดตามข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเป็นประ
โยชน์ และให้คำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

*** จังหวัดแรกที่มีผู้ติดเชื้อเอดส์มากที่สุด10

จังหวัด

จำนวนผู้ป่วย

    เอดส์

เชียงใหม่

เชียงราย

กรุงเทพฯ

ลำปาง

พะเยา

ลำพูน

ระยอง

ชลบุรี

ขอนแก่น

ราชบุรี

             4,405

             3,395

             2,143

             1,470

             1,433

               895

               863

              596

              564

              444


6. ใช้ชีวิตในครอบครัวตามปกติ กินอาหารร่วมกับผู้อื่นได้แต่ควรใช้ช้อนกลาง ถ้วยชาม ที่ใช้ไม่จำ
เป็นต้องแยก สำหรับผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ชุดชั้นใน เสื้อผ้าหรือของใช้ที่เปรอะเปื้อนเลือดหรือสิ่งปฏิกูลขับถ่าย ควรแช่ในน้ำยาฟอกผ้าขาวที่เจือจางประมาณ ๕ เท่าสักครึ่งชั่วโมง ส่วนเสื้อผ้าปกติสามารถซักรวมกันได้
ผู้ติดเชื้อสามารถพูดคุย เล่นกับเพื่อน บุคคลในครอบครัว และคนรอบข้างได้เหมือนปกติ

7. เรื่องการติดเชื้อเป็นเรื่องส่วนตัว แม้จะไม่ใช่ความผิดที่ต้องปิดบัง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องป่าวประ
กาศให้ใครรู้ว่ามีเลือดบวก บอกเฉพาะผู้ที่ไว้ใจได้ว่ามีสติไม่ตื่นตกใจ และช่วยเหลือได้

8. ป้องกันไม่ให้คนอื่นได้รับเชื้อจากตนเอง ถ้ามีบาดแผล ให้ปิดแผล ถ้ามีเลือดออก ให้วับให้แห้ง
แช่สำลีหรือผ้าเปื้อนเลือดในน้ำยาฟอกผ้าขาว ไม่บริจาคเลือด น้ำอสุจิ หรืออวัยวะต่าง ๆ

                                   การปฏิบัติตนของครอบครัวผู้ติดเชื้อ

1. พูดคุยเล่นกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยได้ตามปกติ สามารถจับต้องตัวได้ กิจกรรมที่เคยทำร่วมกัน
เช่น กินข้าว ดูโทรทัศน์ ปฏิบัติได้ตามปกติ
การปฏิบัติตัวให้เป็นปกติเหมือนเดิมก็เป็นการให้กำลังใจผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยทางหนึ่งว่า คนในครอบ
ครัวไม่มีใครกลัว หรือรังเกียจ

2. ระวังไม่ให้รับเชื้อจากผู้ป่วย การติดเชื้อนั้นต้องสัมผัสโดยตรงกับน้ำคัดหลั่งที่ออกจากร่างกาย
ของผู้ป่วย เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำหลั่งจากช่องคลอด น้ำอสุจิ เป็นต้น จึงควรระวังไม่ให้น้ำคัดหลั่งเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ช่องคลอด ทวารหนัก ปาก เยื่อบุตา หรือผิวหนังที่มีบาดแผล

3. หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม เช่น มีดโกน เข็ม แปรงสีฟัน ร่วมกัน ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควร
มีการทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนและหลังใช้ ต้องระวังในเรื่องนี้สำหรับบุคคลทั่วไปด้วย เพราะเราจะไม่ทราบว่าใครติดเชื้อเอดส์หรือเชื้อไวรัสตับอักเสบ

4. เสื้อผ้านำมาซักรวมได้ แต่เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หรือผ้าที่เปื้อนน้ำหลั่งต่าง ๆ ควรแยกซักต่างหาก
ก่อนซักให้แช่น้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกผ้าขาว หรือผงซักฟอกสักครึ่งชั่วโมง

5. ใช้ห้องน้ำห้องส้วมร่วมกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยได้ แต่ควรมีการทำความสะอาดสม่ำเสมอเป็นระยะ ๆ ในการทำความสะอาดควรสวมถุงมือ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อด้วย

6. การล้างมือเป็นการป้องกันโรคติดต่อที่ดีที่สุด ควรล้างมือเมื่อสัมผัสกับน้ำหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย
เมื่อเข้าและออกจากห้องน้ำ ก่อนเตรียมอาหารและก่อนกินอาหาร
ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ แต่ไม่ควรตัดสั้นจนเกินไป หรือไม่ควรตัดตามซอกเล็บจนลึก เพราะจะทำ
ให้เกิดรอยถลอก หรือบาดแผล เป็นทางให้เชื้อเข้าได้

7. ในการดูแลผู้ป่วย หากต้องสัมผัสกับน้ำหลั่งจากบาดแผลควรใส่ถุงมือหรือถุงพลาสติก หลังจาก
ถอดถุงมือควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ในการจับต้องผู้ป่วยทั่ว ๆ ไปที่ไม่โดนน้ำหลั่ง ไม่จำเป็นต้องใส่ถุงมือ

สิ่งเหล่านี้ไม่ยากเกินความสามารถที่จะทำได้ ลองคิดว่า ถ้าตนเอง ลูกรัก หรือเพื่อนสนิทเกิดติดเชื้อ
เอดส์ เราจะทำอย่างไร ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ต้องการเพียงหัวใจที่มีความรัก ความเข้าใจ ห่วงใย และผูกพันของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง
คุณจะเป็นคนหนึ่ง ที่จะให้โอกาสช่วยเหลือผู้ใกล้ชิดที่ติดเชื้อเอดส์ได้หรือยัง

                                                            เวทีทัศนะ

กัลยา (นามสมมุติ) ผู้ติดเชื้อ
(ปัจจุบันสามีซึ่งมีผู้ติดเชื้อเอดส์ได้เสียชีวิตแล้ว)
______________________________________
“ตอนที่รู้ว่าติดเชื้อใหม่ ๆ นั้นมีความรู้สึกเหมือนเราจะตายไปจากโลกนี้จริง ๆ เพราะข่าวที่ออกมารุนแรงมาก จะเก็บตัวเงียบไม่ออกไปพบใครเลย คิดมากถึงขนาดจะฆ่าตัวตาย พอดีพี่ชายลงมาเจอ พี่ชายก็พูดให้กำลังใจ เราจึงมานั่งทบทวนกว่าจะปรับตัวเองได้ถึงจุดนี้ใช้เวลา 1 ปีเต็ม ๆที่พักพิงทางใจอันดับแรกที่เขาต้องการคือ ครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานแรกที่จะรับได้ทุกอย่าง จุดนี้อยากให้รณรงค์เรื่องนี้ให้ชัดเจนที่สุดและให้ลบภาพเก่า ๆ ที่เป็นเอดส์แล้วต้องตายในสภาพที่น่าเกลียดให้มันเบาลงกว่านี้หน่อย คือ ทุกคนต้องตายอยู่แล้ว ไม่ใช่คนเป็นเอดส์ตายคนเดียว เหมือนตอกย้ำเหลือเกินว่าคุณต้องแยกตัวออกจากสังคม คุณอยู่ในโลกนี้ไม่ได้นานแล้วนะ คุณควรจะไป จะรู้สึกอย่างนี้ตลอด
เราไม่ต้องการความสงสาร ความสมเพช เพราะเราก็เป็นคนๆ หนึ่ง เพียงแต่โชคร้ายกว่าคนอื่น เราเป็นแม่บ้าน เราไม่ได้แสวงหามันเลย อยากให้สื่อทุกชนิดให้ความยุติธรรมกับผู้ติดเชื้อด้วย ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนแก่คนทั่วไปด้วยว่า การอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อไม่ใช่จะติดง่าย ๆ ผู้ติดเชื้อยังมีแรงมีพลังที่จะต่อสู้ ถ้าขาดตรงนี้ก็เหมือนไปปิดประตู แต่ก็อยากจะขอร้องผู้ติดเชื้อด้วยว่าให้รู้จักหน้าที่ตัวเองด้วย เรามีครอบครัวเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อครอบครัวของเรา เพื่อเราจะได้อยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างปกติที่สุด”


 

                                                 เวทีทัศนะ

สมสกุล (นามสมมติ) ผู้ติดเชื้อ
(ปัจจุบันสามีซึ่งติดเชื้อเอดส์ได้เสียชีวิตแล้ว)
___________________________________
“ตอนติดเชื้อจากสามียังไม่ค่อยรู้ว่าเอดส์เป็นยังไง ก็พยายามศึกษา จะหาหนังสือมาอ่านก็ไม่กล้าไปถามตามร้านหนังสือ กลัวคนรู้ว่าเราเป็น หวาดวิตกไปหมด คิดมาก ทำอะไรก็วิตกทุกอย่าง กลัวเขารู้
พอบอกที่บ้าน ตอนแรกเขารับไม่ได้ ตอนนี้เขารับได้แล้ว จะมีน้องและเพื่อนอีก 2-3 คนที่รู้ ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม แต่ว่าเราจะต้องระวังตัวของเรา ถ้าเรามีแผลในปาก จะแยกซ้อนกับเขา หรือไม่ก็มีช้อนกลางเพราะว่าเรารู้สภาพร่างกายตัวเอง เราก็จะระวังตัวเองได้
ส่วนทางบ้านพ่อแม่สามีเขาก็ใส่ใจดี เขาจะถามด้วยความเป็นห่วงอยู่เสมอว่า เป็นยังไงมั่ง ไหนดูสิ หาหมอมาหรือยัง หมอเขาว่ายังไง ให้ยามากินมั้ย กินยาตามที่หมอสั่งหรือเปล่า และจะคอยเตือนเมื่อถึงเวลานัดไปหาหมอ เขาจะเอาใจใส่เราดีมาก”

 

                                                       เวทีทัศนะ

องอาจ (นามสมมติ) ผู้ติดเชื้อ
_______________________
ผมรู้ตัวว่าติดเชื้อจากการบริจาคเลือด ตอนนั้นเครียดมากไม่รู้จะคุยกับใครดี ตอนแรกคิดว่าตัวเองสามารถบอกทางบ้านได้เลย แต่ก็ยังไม่กล้าที่จะบอก กลัวพ่อแม่เสียใจ คนแรกที่ผมตัดสินใจบอกคือพี่ชายแล้วก็มาน้องชาย ที่บอกเพราะเป็นห่วงเขา เราก็รู้ว่าเขาเที่ยว ไม่อยากให้เขาเป็นอย่างเรา หลังจากบอกน้องชายก็บอกพ่อ แล้วพ่อเป็นคนตัดสินใจที่จะบอกกับคนในครอบครัวให้รู้ยกเว้นเด็ก ที่พ่อบอกคนในครอบครัวให้รู้นั้นพ่อไม่ได้ห่วงเรื่องการติดเชื้อเอดส์จากการอยู่ร่วมกัน แต่เป็นห่วงเด็ก ๆ พ่อก็เตือนผมบางเรื่อง เช่น อย่างเรื่องการใช้ของมีคม ต้องระวัง เพราะเด็กเขาไม่รู้จักระวังตัวเองอยู่แล้ว
โดยส่วนตัว ผมว่าผมโชคดีที่มีครอบครัวอย่างนี้ ไม่รู้ว่าผู้ติดเชื้อคนอื่นจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า แต่ผมว่าทุกครอบครัวที่ติดเชื้อก็สามารถเป็นอย่างครอบครัวผมได้ ถึงแม้ครอบครัวของผมจะมีการศึกษาไม่สูง แต่ก็มั่นใจว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ เราอาจต้องกลับมาเรียนรู้นิดหนึ่งว่าสิ่งที่เราเคยเรียนรู้ มันถูกต้องหรือเปล่า คนที่ติดเชื้ออย่างผมที่ครอบครัวรับได้ก็มีเยอะ เราน่าจะเสนอภาพนี้ออกไปให้สังคมได้รับรู้ ไม่ใช่ว่ารับรู้แต่เรื่องโดนออกจากงาน ครอบครัวไม่ยอมรับ ฯลฯ”

                                                เวทีทัศนะ

ทิวา นภาอัมพร (เจ้าหน้าที่ของแอคเซส)
________________________________
“จากประสบการณ์ของผมที่ทำงานร่วมกับผู้ติดเชื้อ ผมว่าโรคเอดส์มันไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ ผมสัมผัสกับผู้ติดเชื้อมาตลอด 4 ปี และผมก็ยืนยันว่าผมไม่ได้ติดเชื้อ
ผมว่าคนที่กลัวโรคเอดส์นั้น กลัวเพราะว่าเขาไม่รู้จักโรคเอดส์ดีพอ เพราะเขาไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเอดส์คืออะไรเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่เรื่องของความตายเท่านั้นเอง รู้อยู่เท่านั้นไม่รู้อย่างอื่น ไม่คิดว่ามันติดต่อกันอย่างไร บางคนอาจจะรู้ว่ามันติดต่อกันยังไง ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดต่อทางเข็มฉีดยา แต่ก็มักจะมองข้ามมันไป บางคนรู้แล้วละเลย บางคนรู้แล้วแต่ว่าเชื่อใจมากเกินไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมาก ถ้าเขารู้และตระหนักในเรื่องการติดต่อของโรคเขาควรจะคิดด้วยว่าไม่ว่าเขาจะมีเพศสัมพันธ์แบบไหน ถ้าเขาอยู่ที่จุดเสียง โอกาสติดเชื้อมันก็มีได้เสมอ ตรงจุดนี้เราคิดว่าถ้ามีการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ให้เขาเอาความรู้ที่เราให้กลับไปคิดพิจารณา เขาจะแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้มั้ย ถ้าได้ ก็หมายความว่าเขาลดความเสี่ยงลง โอกาสติดเชื้อ มันก็น้อยลง
การรณรงค์ที่ใช้รูปที่มองดูน่าเกลียดเป็นสื่อเพื่อให้ผู้ชายเลิกเที่ยวนั้น ผมว่า ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะจากโทรศัพท์ที่เราได้รับและจากการพูดคุย มันไม่ได้ลดลง ผู้ที่โทรศัพท์มาถามเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ก็ยังคงมีพฤติกรรมทางเพศอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน แล้วในจำนวนนั้นก็มีคนติดเชื้อแล้วรวมอยู่ด้วย ผมคิดว่าสื่อเหล่านี้ที่แสดงเรื่องความรุนแรงของโรคนั้นช่วยไม่ได้ มันอาจจะทำให้คนกลัว แต่ไม่ทำให้เขาเหล่านั้นเลิกเที่ยว แต่สื่อเหล่านี้กลับไปมีผลกระทบด้านลบกับผู้ติดเชื้ออื่น ๆ กับประชาชนทั่วไปในเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคม”
 

ข้อมูล
พ.ญ.จันทพงษ์ วะสี
น.พ.สถาพร มานัสสถิตย์
หนังสือถาม-ตอบปัญหา
โรคเอดส์/กองโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข และโครงการ เข้าถึงเอดส์ แอคเซส
 

หากต้องการทราบข้อมูลเรื่องโรคเอดส์ สามารถสอบถามได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้

1. กองโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข
โทร. 591-8579, 591-8412
2. แอคเซส
โทร. 245-0004-5 ตู้ ป.ณ. 34 ดินแดง 10407
3. มูลนิธิศูนย์ฮอตไลน์
โทร. 277-8811, 275-5759-60, 276-2950-1 เลขที่ 90/269 ซอย ทรงสะอาด หมู่บ้านอยู่เจริญ ถนนวิภาวดี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
4. คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย
โทร. 256-4107-8 เลขที่ 1871 ถนน พระราม 4 กรุงเทพฯ 10300
5. ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (คลิสท์-clist)
โทร. 586-0158 เลขที่ 273/51 ซอย พงษ์เพชรนิเวศน์ ถนนประชาชื่น แขวง ลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
6. สมาคมทำหมันและพัฒนาคุณภาพชีวิตแห่งประเทศไทย (ทีเอวีเอส-TAVS)
โทร. 448-6563 เลขที่ 101 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170
7. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาชุมชนเมือง (ยูดี-เอฟ-UDF)
โทร. 01-924-2573, 392-3705 เลขที่ 133/85 หมู่บ้านพาราไดซ์การ์เด้น แขวงคลองสาม ประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10502
8. ฮอตไลน์ ศูนย์ฯ เอดส์ กทม.
โทร. 224-0218-9 ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ กรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 (เสาชิงช้า) เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200




 

ข้อมูลสื่อ

200-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 200
ธันวาคม 2538
บทความพิเศษ
กองบรรณาธิการ