• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พิษสุนัขบ้าน่ากลัวกว่าที่คิด

พิษสุนัขบ้าน่ากลัวกว่าที่คิด



สุนัขนับเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักและซื่อสัตย์ประเภทหนึ่ง แต่อาจนำอันตรายหรือโรคร้ายที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งชอบเล่นกับสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ โดยไม่ทันระวังตัว

ดังนั้น เด็กจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะถูกสุนัขกัดสูง มาตรการในการป้องกันจึงควรมุ่งมาที่เด็ก เช่น การให้ความรู้ในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการถูกกัด นอกจากนั้น เจ้าของสุนัขเอง ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเอง เช่น การทำหมันเพื่อลดความดุร้าย การฝึกสุนัข และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี เป็นต้น


โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อเข้าสู่ ร่างกายคนหรือสัตว์แล้วจะเดินทางไปตามเส้นประสาทเข้าสู่สมอง ที่สำคัญคือ เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้ว ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ โอกาสตายจึงมี 100 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2549 จนถึงเดือนพฤศจิกายน มีจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 21 ราย ซึ่งโรคนี้ก็ยังคงเป็นโรคที่นับว่ามีความร้ายแรงที่ควรเฝ้าระวัง
 
สำหรับปี พ.ศ.2548 สำนักระบาดวิทยา ได้รับรายงานผู้ป่วย/ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจากบัตรรายงานผู้ป่วย มีรายงาน 406 ราย เสียชีวิตจากโรคนี้ 20 ราย เป็นเพศชาย 14 ราย เพศหญิง 6 ราย คิดเป็นอัตราส่วน ชายต่อหญิง เท่ากับ 2:3:1

ฤดูกาลที่พบผู้ป่วย พบว่าเกิดขึ้นเกือบทุกเดือนในรอบปี และพบสูงสุดในเดือนธันวาคม คือ 4 ราย ฤดูกาลที่ผู้เสียชีวิตได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นเกือบทุกเดือนในรอบปี โดยพบมากในเดือนพฤศจิกายน 4 ราย

การแพร่กระจายของโรคพิษสุนัขบ้ามักเกิดในฤดูหนาว แล้วนำไปสู่การระบาดในฤดูร้อน เนื่องจากหน้าหนาวในประเทศไทย เริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด
ที่พบบ่อยคือ สุนัข สุนัขตัวผู้จะต่อสู้เพื่อแย่งชิงสุนัขตัวเมียและปกป้องอาณาเขต หากตัวใดเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เชื้อจะถ่ายทอดทางน้ำลายไปสู่ตัวอื่น และนำเชื้อมาสู่คนอีกต่อหนึ่งหลังจากที่มีอาการของโรคแล้ว ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนมากจะแสดงอาการของโรค ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน หรืออาจนานถึง 6 เดือน

ผู้เสียชีวิตทั้ง 20 ราย ในปี พ.ศ.2548 ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสุนัข 14 ตัวดังนี้ 
o ลูกสุนัขที่มีอายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ 3 เดือน 8 ราย
o ลูกสุนัขอายุมากกว่า ๓ เดือนถึง 1 ปี ๓ ราย
o สุนัขอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป 1 ราย
o ไม่ทราบอายุ 2 ราย
o ได้รับเชื้อจากลิง 1 ราย
o จากแมว 1 ราย
o ที่เหลืออีก 4 ราย ไม่ทราบประวัติที่แน่ชัดว่าได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ชนิดใด

จากจำนวนสัตว์ทั้ง 14 ตัว มีเจ้าของ 10 ตัว และไม่เคยได้รับวัคซีนเลย 7 ตัว ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่แน่ชัด 2 ตัว มีประวัติการได้รับวัคซีน 1 ตัว (ได้รับวัคซีน 4 วันก่อนกัดผู้เสียชีวิต) เป็นสัตว์ไม่มีเจ้าของ 4 ตัว ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเลย หรือไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีนที่แน่นอน และผู้เสียชีวิต 3 รายติดเชื้อจากสุนัขตัวเดียวกัน

การป้องกันโรค

สามารถทำได้โดยที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสุนัข ควรดูแลสุนัขของตนอย่างใกล้ชิด นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเริ่มฉีดครั้งแรกเมื่อมีอายุตั้งแต่ 2 เดือน แล้วกระตุ้นอีกครั้งใน 2-3 เดือนต่อมาและฉีดซ้ำทุกปี หรือนำสุนัขเพศเมียไปฉีดยาคุมกำเนิด ถ้าไม่ต้องการให้มีลูก

หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์ กัด เลีย หรือถูกน้ำลายสัตว์ โดยเฉพาะเด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข หากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่หลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น แล้วรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

สังเกตอาการ 10 วัน หากตายให้ตัดหัวส่งตรวจที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์บางแห่ง ในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลบางแห่ง ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ

ข้อมูลสื่อ

333-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 333
มกราคม 2550
โรคน่ารู้
สำนักระบาดวิทยา