หวาดระแวง
กรณีข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ จนกระทั่งกลางเดือนมีนาคม พ.ศ.2550 ที่มีผู้ป่วยรายหนึ่งถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช มีอาการซึม หวาดระแวง ไม่ไว้ใจคนรอบข้าง และตรวจพบสารเสพติดชนิดหนึ่งคือเอฟริดีน ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทคล้ายแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เป็นสารต้องห้าม
คอลัมน์ "เรียนรู้จากข่าว" ฉบับนี้ ขออธิบายเรื่อง " หวาดระแวง" ให้ผู้อ่านและคนในสังคมได้รับรู้และเข้าใจ รวมทั้งการอยู่กับคนใกล้ตัวที่มีอาการ " หวาดระแวง" อย่างปลอดภัยได้อย่างไร
"หวาดระแวง " คืออะไร
ถ้าพูดถึง "หวาดระแวง " หมายความว่าเป็นอาการ ทางจิตอย่างหนึ่ง เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นความหวาดระแวง เรียกทับศัพท์ว่า พารานอยด์ (paranoid)
" หวาดระแวง "ได้แก่ความสงสัยคิดเกินเลยจนเป็นความระแวงนั้น มีตั้งแต่น้อยๆ นั่นคือคนอื่นอาจจะไปพูดคุย โน้มน้าวใจด้วยเหตุผลก็พอจะโยกคลอนได้ ไม่เชื่อแบบฝังแน่น แต่หวาดระแวงมากๆ คือฝังแน่นอย่างสุดลิ่ม ไม่ว่าใครจะนำหลักฐานอะไรมาก็ไม่เชื่อ เชื่อตัวเองอย่างเดียวก็มีประการหลังนี่เองที่เรียกว่าเป็นความผิดปกติหรือมีอาการทางจิต
พอพูดถึง "อาการหวาดระแวง" สามารถพบได้จากหลายโรค เช่น โรคจิตเภท (schizophrenia) ซึ่งมีหลายประเภท มีอาการแสดงอย่างหนึ่งคือหวาดระแวง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจิตเภททุกคนจะหวาด ระแวง มีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นและพบในคนอายุน้อย
มีอีกโรคหนึ่ง เรียกว่าโรคหลงผิด (delusional disorder) พบได้ในคนอายุมาก เช่น 40 50 หรือ 60
โรคหลงผิดที่ว่านี้ส่วนใหญ่จะออกมาในแนวหวาดระแวง เช่น ระแวงว่าภรรยาไปคบชู้ บางคนก็ระแวงว่าเพื่อนบ้านจะนำยาพิษมาใส่ อะไรพวกนี้
เมื่อมีอาการนี้แล้ว แพทย์จะต้องตรวจเพิ่มเติม ว่ามีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ โดยปกติจะไม่มีอาการเดียว แต่จะมีหลายๆ อาการร่วมด้วย ทำให้แพทย์ วินิจฉัยและรักษากันไป ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไป
มีบางรายที่ระแวงแล้ว อาจจะเป็นชั่วครั้งชั่วคราวรักษาไม่ยาก พบได้ในกลุ่มที่มีปัญหาทางอารมณ์ หรือปัญหาบุคลิกภาพ นั่นก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ระแวง นานๆ แต่รายที่เป็นข่าวระแวงอยู่นาน ก็น่าจะอยู่ในกลุ่ม ของอาการทางจิตแบบหนึ่ง แต่ว่าก็ต้องเข้าใจว่าอาจจะ เป็นจากสาเหตุอื่น เช่น สารพิษ สารเสพติดที่พบมากก็คือยาบ้า ยาอี รวมทั้งสารระเหยต่างๆ
สังเกตคนที่แสดงอาการ "หวาดระแวง"ได้อย่างไร
การสังเกตว่าคนที่เรารู้จักหรือพบเห็นหวาดระแวง นั้น อาจจะไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะคนหวาดระแวงที่อายุมาก หรือมีการศึกษา เวลาระแวงจะสังเกตได้ยาก เพราะ เขาพอจะรู้ตัวว่าควรระแวงแบบไหน ทำให้ดูไม่ผิดปกตินัก สำหรับรายที่ระแวงมากๆ หรืออายุน้อย เช่น วัยรุ่น 15-16 ปีกลุ่มโรคจิตเภท ค่อนข้างชัดเจน และไม่มีระแวงอย่างเดียว มีอาการหูแว่วประสาทหลอน ไม่อาบน้ำ ไม่แปรงฟัน ไม่ดูแลตัวเอง เคยเรียนหนังสือก็ไม่ไปเรียน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังเกตได้ชัด
นอกจากการสังเกตอาการหวาดระแวงแล้ว ควรจะต้องดูอาการทั่วๆ ไป (ทำงานได้มั้ย เรียนได้มั้ย) ซึ่งเป็น ตัวบอกว่าเขาผิดปกติ เพราะถ้าเกิดระแวงแล้วไม่ไปเรียน ไม่ไปทำงาน แสดงว่าผิดปกติชัดเจน แต่ถ้าทำงานอะไรได้ตั้งหลายอย่าง จะต้องดูอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
ถ้าญาติไม่แน่ใจอาจจะไปปรึกษากับแพทย์ก่อนก็ได้ บางรายอาจจะตรวจสอบยาก ต้องใช้การทดสอบทางจิตวิทยาเข้าช่วย เหมือนกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือรายที่มีอายุมาก สาเหตุไม่ชัดเจน จะต้อง ตรวจร่างกายด้วย
ผู้ป่วยบางรายมีอาการทางกายที่ส่งผลให้เกิดอาการ ทางจิต เช่น ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอก ในสมอง โรคเอสแอลอีขึ้นสมอง ก็ทำให้เกิดความหวาด ระแวงได้ ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อยแต่เป็นสิ่งที่จิตแพทย์จะต้องสังเกตว่าเขามีอาการทางร่างกายด้วยหรือไม่
ป้องกันไม่ให้มีอาการ " หวาดระแวง " ได้อย่างไร
โดยทั่วไปร่างกายมีกลไกตามธรรมชาติอยู่แล้วในการป้องกัน คือเหตุผล เช่น สงสัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะหาเหตุผลว่าใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ล้มเลิกไป
สถานการณ์บางอย่าง เช่น อยู่ในสังคมที่หวาดระแวง อย่างราชการมีการเลื่อยขาเก้าอี้อยู่เรื่อย หรือไปอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบนั้นคิดว่า ถ้ามีความหวาดระแวงนิดหน่อยอาจจะมีประโยชน์ เพราะระมัดระวังป้องกันตัวมากขึ้น แต่หวาดระแวงแบบนี้ไม่ใช่อาการ เป็นความระแวดระวัง
จะป้องกันอย่างไรไม่ให้มีความหวาดระแวงมากเกินไป นั่นคือต้องดูว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ สามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติหรือไม่ ถ้าสมเหตุสมผลทำอะไรได้ตามปกติ ก็ถือว่าดี
สังเกตตัวเองแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไร ทำไมเชื่อจังเลย...น่าสงสัยนะ แต่เวลาเป็นมากๆ คนที่เป็นมักจะไม่ค่อยรู้ตัวนะ แต่มีบางรายเหมือนกันที่รู้ตัว แต่เป็นส่วนน้อย
จะรักษาคนที่ " หวาดระแวง"ได้อย่างไร
คนที่ "หวาดระแวง " มีทั้งหวาดระแวงมากและหวาดระแวงธรรมดาหวาดระแวงธรรมดา
จะยังพอเชื่อฟังคนรอบข้าง เช่น ผู้ป่วยรายหนึ่ง เวลานอนจะต้องมีมีดวางไว้ข้างๆ ตัว สามีเห็นหลายๆ วันเข้าก็สงสัย จึงพาไปพบแพทย์ซึ่งก็ร่วมมือดี
หวาดระแวงมาก เช่น ผู้ป่วยระแวงคนในบ้านจะฮุบสมบัติ ระแวงว่ามีคนจะวางยาพิษในอาหาร แบบนี้ญาติคงลำบากที่จะไปบอกให้เขาไปรักษา เพราะตัวญาติ ก็คือคนที่ผู้ป่วยระแวงด้วย
ดังนั้น คนใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องสังเกตความ ผิดปกติ ใช้วาทศิลป์ในการเจรจาให้ผู้ป่วยร่วมมือและพยายามเป็นพวกเดียวกับผู้ป่วยให้ได้ ต่อจากนั้นนำ ผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์
อยู่นอกบ้านเผชิญคนหวาดระแวงแก้สถานการณ์อย่างไร
ต้องสังเกตให้ได้ก่อนว่าคนนี้น่าสงสัยนะ และอย่า พยายามไปต่อล้อต่อเถียง
คนที่หวาดระแวงคือ คนที่อาจจะระแวดระวังผิดปกติ เช่น หลบมุม ถือวัตถุสิ่งของที่อาจจะเป็นอาวุธ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องรีบออกห่างจากตัวเขาอยู่แล้ว หรือถ้าไม่ทันสังเกต หรือไม่ได้คาดการณ์มาก่อน (บนรถเมล์ รถตู้ ที่ป้ายรถเมล์) สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือ อย่าไปโต้แย้งอะไร กับเขา เขาพูดอะไรมาก็ฟังไปเรื่อยๆ ก่อนและพยายามปลีกตัวออกมา หรือแจ้งตำรวจให้มาตรวจสอบดูว่าต้อง รักษาหรือไม่ หรือคนที่เมายาบ้าอะไรทำนองนี้
กรณีเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้วิชาป้องกันตัว หรือใช้คำพูดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเขาบ้าง โดยธรรมชาติ คนหวาดระแวงจะกังวลว่าตัวเองจะถูกทำร้าย เพราะฉะนั้นเขาต้องป้องกันตัวเอง ทำอะไรที่น่าสงสัยขึ้นมาไม่ดีเขาก็จะทำร้ายก่อน
ดังนั้น เมื่อรู้ว่าคนใกล้ชิดหรือคนรอบข้างในสังคม "หวาดระแวง"ควรแนะนำไปตรวจเช็กสุขภาพจิต เมื่อตรวจแล้วมีปัญหาจะได้รักษากันไป
อย่าปล่อยให้อาการหวาดระแวงเป็นมาก เพราะจะทำให้รักษายากและใช้เวลารักษานาน
- อ่าน 28,844 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้