• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นาฬิกาชีวิตกับวิถีแห่งธรรมชาติ (4)

นาฬิกาชีวิตกับวิถีแห่งธรรมชาติ (4)


แพทย์แผนจีนกับเรื่องของเวลา

แพทย์แผนจีนให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ของสรรพสิ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกันในการส่งเสริม พึ่งพาอาศัย กัน และควบคุม ขัดแย้งกัน การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ของสรรพสิ่ง จึงไม่ใช่โดดเดี่ยว อิสระ แต่ล้วนอยู่ในกฎเกณฑ์ของการผลักดันส่งเสริมหรือควบคุมซึ่งกันและกัน
 
ความสัมพันธ์ระหว่าง "ฟ้า " กับ "มนุษย์ "

มนุษย์เกี่ยวข้องกับฟ้าดิน มนุษย์อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ มนุษย์อยู่บนโลก (ดิน) มีดวง อาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว จักรวาล (ฟ้า) อยู่โดยรอบการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติโดยภาพใหญ่เป็นผลของ ปฏิสัมพันธ์ของฟ้าและดิน ย่อมส่งผลกระทบต่อตัวมนุษย์ ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของจักรวาล ผลกระทบทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ฤดูกาล มีผลต่อการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์
ถ้าธรรมชาติเป็นระบบใหญ่ มนุษย์ก็คือส่วนย่อย เป็นระบบเล็กๆ ในระบบใหญ่ (ธรรมชาติ)
ตัวของมนุษย์เอง ก็ถือเป็นองค์ประกอบที่มีระบบภายในของตนเอง
ถ้าวิเคราะห์โดยองค์รวม การเปลี่ยนแปลงของยินหยาง (การเกิดและการดับของสภาพยินหยาง) ของวัน เดือน ปี ซึ่งทำให้เกิดกลางวัน กลางคืน น้ำขึ้น น้ำลง ฤดูกาลก็ย่อมมีผลต่อสมดุลยินหยางของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การแพทย์แผนปัจจุบัน พูดถึงความสมดุลของสิ่งแวดล้อมภายในของเซลล์หรือ (Homeostasis) เป็นการเปลี่ยนแปลงของเมแทบอลิซึมของเซลล์และการทำงานของเซลล์ ปัจจุบันพบว่า เวลามีส่วนสัมพันธ์กับการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ฮอร์โมน ความดันเลือด การหายใจ การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
 
การสร้างสมดุลอีกนัยหนึ่งคือ การเข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย เมื่อปรับสภาพวิถีชีวิตที่เหมาะสม ก็สามารถสร้างภาวะสมดุล (Homeostasis) ให้เกิดกับร่างกายได้ 

ช่วง 1 วัน หลังเที่ยงคืนถึงก่อนเที่ยงวัน พลังหยาง (ความสว่าง) ค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น จนถึงเที่ยงวันพลังหยางจะสูงสุด
หลังเที่ยงวันถึงเที่ยงคืน พลังยิน (ความมืด) ค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น จนถึงเที่ยงคืน พลังยินจะสูงสุด
ผู้ป่วยที่มีภาวะหยางพร่อง (พลังในร่างกายอ่อน) ควรจะเสริมหยางช่วงก่อนเที่ยงวัน หรือจะบำรุงพลังหยางควรบริหารยาในช่วงนี้
คนที่ร่างกายมียินมาก (เกิดภาวะเย็นเนื่องจากยินมาก) ควรจะใช้ยาอุ่นร้อนขับความเย็น ในช่วงพลังยินกำลังเพิ่มมากขึ้น
คนที่หยางแกร่ง ควรใช้การขับระบายความร้อนช่วงกลางวัน
 
ผลกระทบของฤดูกาลทั้ง 4

ฤดูหนาว
พลังยินสูงสุด จากนั้นค่อยๆก่อเกิดพลังหยาง พลังหยางค่อยๆ เพิ่มพลังยินค่อยๆ ลด ฤดูใบไม้ผลิ
พลังหยางเริ่มมากกว่ายิน และค่อยๆ มากขึ้นจนสูงสุดในฤดูร้อน
ฤดูร้อน
พลังหยางสูงสุดและค่อยๆ ลดลง พลังยินค่อยๆ มากขึ้น จนถึงฤดูใบไม้ร่วง
ฤดูใบไม้ร่วง
พลังยินเริ่มมากกว่าพลังหยาง พลังยินค่อยๆ มากขึ้น จนสูงสุดในฤดูหนาวการเลือกกินอาหารหรือใช้ยาช่วงที่ยินมาก ควรปรับใช้ยาอุ่นร้อนเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ในทางกลับกันช่วงที่หยางมาก (ฤดูร้อน) ควรปรับใช้ยาเย็นให้มากกว่าปกติ
 
ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
1. คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบหยาง เช่น เวลากลางวัน หรือทำงานท่ามกลางแสงไฟสว่างตลอดเวลา จะมีสาร cyclic AMP สูง (สามารถนำฮอร์โมนกลูคากอน และอะดรีนาลินเข้าเซลล์เกิดการใช้พลังงาน)
ส่วนคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบยิน เช่น เวลากลางคืน หรือทำงานในที่มืดตลอดเวลา จะมีสาร cyclic GMP สูง (ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือด)
ปริมาณ บี-ลิมโฟไซต์ ที-ลิมโฟไฟไซต์ และเม็ดเลือดขาวชนิดติดสีกรด จะสูงสุดเวลา 00.00-04.00 น. และต่ำสุดช่วงเวลา 12.00-16.00 น. เช่นเดียวกับเซลล์เม็ดเลือดขาว โมโนไซต์ที่จะเพิ่มสูงช่วงหลังพลบค่ำ และลดต่ำลงช่วงฟ้าสาง

สำหรับสัตว์ที่หากินกลางคืน เช่น หนูขาว จากการทดลองพบว่า ผลตรงกันข้ามคือเซลล์เม็ดเลือดขาวจะต่ำสุดช่วงกลางคืนเวลา 00.00-24.00 น. และสูงสุดช่วงกลางวันเวลา 06.00-08.00 น.

สรุป

สำหรับคน เวลากลางคืน ช่วงพักผ่อน ร่างกายจะมีการคลายตัว มีการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการเก็บกวาด ทำลายสิ่งแปลกปลอมมากกว่ากลางวัน
 
การประยุกต์ใช้ทางคลินิกตามศาสตร์แพทย์แผนจีน
1. ยาที่ต้องการให้ออกฤทธิ์กระจายออกด้านนอกหรือขึ้นบน เช่น กลุ่มขับเหงื่อ ยาช่วยอาเจียน ขับพิษ ขับลม ควรกินก่อนเที่ยงวัน เพราะพลังหยางยังมีมาก อยู่ระหว่างขาขึ้น การออกฤทธิ์ของยาจะมีประสิทธิภาพสูง

2. ยาบำรุงอุ่นหรือยาฤทธิ์ร้อน ควรกินตั้งแต่ช่วงเช้าถึงก่อนเที่ยง เพราะจะสอดรับกับการเพิ่มขึ้นของพลังหยางทำนองเดียวกัน ยาบำรุงยิน บำรุงเลือด ควรกินช่วงกลางคืนถึงก่อนนอน ขณะที่พลังยินกำลังเพิ่มขึ้น

3. ยาที่ขับปัจจัยก่อโรคที่เป็นหยาง (กลุ่มร้อน แกร่ง คนที่ร่างกายแข็งแรง มีไข้สูงหรือมีกลุ่มอาการร้อน เช่น ฝ้าบนลิ้นเหลือง ตัวลิ้นแดง ชีพจรเร็ว) ควรกินยาช่วง เช้า ส่วนคนที่มีภาวะยินพร่องและเกิดไฟ  การขับไฟจากยินพร่อง ควรกินยาช่วงกลางคืน

4. ยาช่วยนอนหลับ (ยาสงบตับ ) ควรกินช่วงเวลา 17.00-19.00 น. เพราะเป็นช่วงพลังไตสูงสุด การเสริมธาตุน้ำจะลดความแกร่งของตับ

5. ยาบำรุงกระเพาะอาหารและม้าม ควรกินตอนค่ำ เนื่องจากพลังของกระเพาะอาหารและม้ามจะสูงสุดช่วงเช้าเวลา 07.00-09.00 น. และ 09.00-11.00 น. กลางคืนพลังลมปราณจะต่ำ การกินอาหารตอนดึกจะทำให้กระเพาะอาหารและม้ามอ่อนแอ การย่อยไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดโรคอ้วนและของเสียตกค้าง คนโบราณจึงแนะนำการกินอาหารมื้อเย็นปริมาณน้อยตอนพลบค่ำไม่ให้กินตอนดึก

การบำรุงกระเพาะอาหารและม้าม ต้องบำรุงตอนที่พลังลมปราณต่ำสุด เข้าสุภาษิตที่ว่า "ให้ถ่านเชื้อเพลิงท่ามกลางหิมะ" คือสอดคล้องกับเวลาที่ต้องการที่สุด

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ข้อมูลสื่อ

336-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 336
เมษายน 2550
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล