• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

“ไวน์” กับโรคหลอดเลือดหัวใจ

“ไวน์” กับโรคหลอดเลือดหัวใจ

ในโลกของข้อมูลข่าวสารทำให้ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงคุณภาพและประโยชน์ของสินค้าตนเองมากขึ้น ปัจจุบันเราจะพบเห็นสินค้าต่างๆ โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์คุณภาพสินค้าของตนเองให้เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะมีคุณประโยชน์เพียงบางส่วนหรือเท่าไรก็ตาม ก็จะถูกนำมากล่าวถึงเป็นส่วนสำคัญหลักของสินค้านั้น หรือบางครั้งอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมเป็นผู้กินผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสเรื่องไวน์เพื่อรักษาสุขภาพในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้แพร่ขยายออกไปทั่วโลก จนกลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์(เหล้า เบียร์ ต่างๆ)อยู่แล้วหันมาดื่มไวน์หรือเพิ่มการดื่มไวน์เข้าไปอีก และดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ดื่มไวน์ โดยเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ จากสถิติของกรมสรรพสามิตพบว่าประเทศไทยของเราได้นำเข้าไวน์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ดังนี้

ในปี พ.ศ. 2518ปริมาณนำเข้า 190,000.-
ในปี พ.ศ. 2530 ปริมาณนำเข้า 400.000.-
ในปี พ.ศ. 2534 ปริมาณนำเข้า 1,200,000.-
ในปี พ.ศ. 2538 ปริมาณนำเข้า 4,880,000.-
ในครึ่งปี พ.ศ.2539 ปริมาณนำเข้า 4,400,000-

เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องไวน์กับโรคหลอดเลือดหัวใจ “หมอชาวบ้าน” ฉบับนี้จึงขอพาท่านมาพบกับ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปในเรื่องนี้มีการศึกษาอย่างไรจึงมีคนกล่าวว่าไวน์ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ

การศึกษาอันหนึ่งที่เรียกว่าโมนิก้าโปรเจก(MONICA project)ซึ่งเป็นขององค์การอนามัยโลกได้ศึกษาถึงอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจและอัตราการตายที่เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจในประเทศต่างๆทั่วโลก ได้ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ อัตราการตายของคนในประเทศจีน เช่น ในปักกิ่ง อัตราการตายของโรคหลอดเลือดหัวใจจะต่ำคือประมาณ 76 ต่อ 1oo,ooo คนเพราะคนในประเทศจีน มีระดับโคเลสเตอรอลต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 163

ในขณะที่คนในประเทศอังกฤษอย่างในเมืองกลาสโกว์(Glasgow) ในสก็อตแลนด์ อัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจจะสูงมาก 512 ต่อ  1oo,ooo คน มีระดับไขมันในเลือดสูงเฉลี่ยถึง 224

เพราะฉะนั้นก็เป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าคนในอังกฤษมีระดับไขมันในเลือดสูงก็จะมีอัตราการตายของโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือมีเมืองในฝรั่งเศสชื่อเมืองทูรูส (Toulouse) ระดับไขมันในเลือดเขาก็ค่อนข้างสูงเหมือนกันคือ 228 แต่อัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำมากอยู่ที่ 89 คือใกล้เคียงกับปักกิ่ง

คนก็ถามกันว่าทำไม? ก็มีการคนในเมืองนี้ปรากฏว่าคนในเมืองนี้มีการกินอาหารที่มีระดับไขมันสูงเช่นเดียวกันกับในประเทศอังกฤษ ไม่ได้ต่างกันเลย แต่คนในเมืองนี้ดื่มไวน์แทนน้ำ เขาก็บอกว่าคงจะเป็นจากการดื่มไวน์ที่ทำให้คนในประเทศนี้มีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำและมีอัตราการตายจากโรคต่ำกว่าที่อื่นๆในแถบเดียวกัน เขาเรียกปรากฏการณ์อันนี้ว่าเฟรนช์พาราดอกซ์ (French paradox) คือข้อมูลที่ถูกนำมาอ้างอิงเพื่อใช้ในการโฆษณาขายไวน์ในปัจจุบันอย่างมากมาย แต่ว่าถ้าเรามามองการศึกษานี้ให้ดี เราต้องเข้าใจว่าการศึกษานี้ไม่ใช่เป็นการศึกษาแบบการทดลอง คือไม่ได้เอาคนกลุ่มหนึ่งมากินไวน์แล้วอีกกลุ่มไม่กินไวน์ แล้วเอาผลการทดสอบมาเปรียบเทียบกัน แต่เป็นการศึกษาโดยการสังเกต

ผมต้องขยายความการศึกษาโดยการสังเกตเพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อยก็คือว่า การศึกษาโดยการสังเกตก็คือไปดูว่าคนในเมืองนี้ตายจากโรคนี้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็ไปดูความเป็นอยู่ของเขาเป็นอย่างไร  เขากินไวน์อยู่เท่าไรมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ได้เป็นการสรุปว่าการกินไวน์นั้นจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยลงไปจริงตามนั้น เพราะอาจจะมีปัจจัยลวงต่างๆอยู่อีกมากมายในกลุ่มคนที่เราทำการศึกษา

ถ้าจะยกตัวอย่างก็จะเหมือนการศึกษาในสมัยก่อนที่ไปสรุปว่า คนดื่มกาแฟแล้วทำให้เป็นมะเร็งตับอ่อน เป็นความเชื่อของนักวิชาการอยู่นานทีเดียว ด้วยเหตุว่าไปศึกษาดูว่าคนที่เป็นมะเร็งตับอ่อนกับคนที่ไม่เป็นแตกต่างกันอย่างไร

เขาพบว่าคนที่เป็นมะเร็งตับอ่อนจะดื่มกาแฟมากกว่าคนที่ไม่เป็นมะเร็งตับอ่อนอย่างมาก ก็เลยไปสรุปว่ากาแฟทำให้เกิดมะเร็งของตับอ่อน อีกหลายปีให้หลังถึงได้รู้ว่าจริงๆแล้วไม่ใช่เป็นเพราะกาแฟหรอก แต่เกิดจากบุหรี่ที่คนไข้สูบต่างหาก เลยทำให้เป็นมะเร็งตับอ่อน แต่บังเอิญคนที่สูบบุหรี่จะดื่มกาแฟ คนไม่สูบบุหรี่ไม่ค่อยดื่มกาแฟ อันนี้เป็นตัวอย่างว่าเราอาจจะไปสรุปผิดในลักษณะคล้ายคลึงกันก็ได้

ผมยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมขึ้นก็คือว่าคนที่ดื่มไวน์ในเมืองทูรูสซึ่งเป็นเมืองกสิกรรม เป็นเมืองชนบทของฝรั่งเศส ถึงแม้จะกินอาหารที่มีไขมันสูงแต่เขาก็มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสังคมชนบทที่มีความเครียดต่ำ ซึ่งแตกต่างกับคนในกลาสโกว์ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมของอังกฤษอย่างชัดเจน คนเหล่านั้นมีความเครียดสูงอยู่ในสังคมเมือง มีการออกกำลังกายน้อย มีระดับโคเลสเตอรอลที่สูงกว่ามาก และก็ยังมีลักษณะของสังคมเมือง คือไม่ออกกำลังกายแต่มีความเครียดมาก สิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในปริมาณที่สูง

เพราะฉะนั้นการที่ไปสรุปว่าคนในเมืองทูรูสดื่มไวน์มากกว่าคนในกลาสโกว์แล้วเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่านั้น ผมจึงคิดว่ายังไม่เป็นข้อสรุปที่เหมาะสมนะครับ

ในเชิงวิชาการไวน์มีความสัมพันธ์อย่างไรกับโรคหลอดเลือดหัวใจ ? ?

ถ้าเรามาดูสารในไวน์ก็จะพบว่าประกอบด้วยสาร 2oo-3oo ชนิด แต่ถ้าพูดถึงสารที่สำคัญที่มีอยู่อาจจะแบ่งออกเป็น 4 อย่าง

ตัวแรกคือ แอลกอฮอล์ซึ่งมีมากน้อยตามชนิดของไวน์
ตัวที่ 2 คือ ฟลาโวนอยด์ สารตัวนี้มีคุณสมบัติช่วยในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
ตัวที่ 3 คือ แทนนิน เป็นยาฝาดสมานที่ใช้ทางการแพทย์ไทยแผนโบราณ
ตัวที่ 4 คือ น้ำตาลซึ่งเป็นน้ำตาลที่เหลือจากการหมักที่มาจากองุ่นนั่นเอง
สารฟลาโวนอยด์เป็นสารที่มีการพูดถึงมากที่สุดว่าป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและจะพบปริมาณสารนี้ในไวน์แดง 1-2 กรัมต่อลิตร ในขณะที่ไวน์ขาวมีเพียง o.2 กัมต่อลิตร

ไวน์แดงแต่ละชนิดก็มีปริมาณฟลาโวนอยด์ที่ไม่เท่ากัน ไวน์ที่มีการหมักเปลือกและเมล็ดองุ่นในปริมาณมากอยู่นานก็จะมีฟลาโวนอยด์มาก
ฟลาโวนอยด์เป็นสารที่พบอยู่ในเปลือกองุ่นเป็นชั้นที่อยู่ใต้ผิวของเปลือกองุ่นและอยู่ที่เปลือกของเมล็ดองุ่น ความแตกต่างกันระหว่างไวน์ขาวกับไวน์แดงนั้น ไม่ได้ต่างกันที่องุ่นขาวหรือองุ่นแดง แต่จะต่างกันที่ไวน์แดงจะต้องหมักน้ำองุ่นพร้อมเปลือกและเศษของเมล็ดที่ได้จากการบด ทำให้สารที่อยู่ที่เปลือกหรือเมล็ดขององุ่นออกมาอยู่ในน้ำด้วย ทำให้น้ำมีสีเข้มเป็นสีแดง ซึ่งสารที่ออกมาจากเปลือกและเมล็ดองุ่นจะทำให้ไวน์แดงมีคุณสมบัติแตกต่างกับไวน์ขาว เพราะไวน์แดงจะมีรสฝาดกว่าเพราะสารที่ได้จากเปลือกและเมล็ดองุ่น แต่องุ่นที่ใช้ทำไวน์แดงส่วนใหญ่จะเป็นองุ่นแดงเพื่อให้สีสันมันดี และองุ่นแดงก็สามารถทำไวน์ขาวได้ก็เพียงแต่เอาน้ำองุ่นแล้วเอาเปลือกออกเท่านั้นเอง

ควรแนะนำให้ดื่มไวน์เพื่อได้สารฟลาโวนอยด์ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ ? ?

คำตอบก็คือไม่จำเป็น สาเหตุที่ไม่จำเป็นเพราะว่าฟลาโวนอยด์เป็นสารที่พบมากในผักและผลไม้ต่างๆที่มีรสฝาด และถ้ายิ่งกินเปลือกด้วยจะยิ่งได้ฟลาโวนอยด์มาก ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล พุทรา ฯลฯ พวกนี้จะเป็นผลไม้ที่มีฟลาโวนอยด์รวมทั้งชา

ถ้าเราอยากให้ประชาชนได้รับฟลาโวนอยด์เพิ่มขึ้นแล้วมีผลในการลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจก็แนะนำให้กินผักผลไม้ให้มากขึ้น เช่น กินฝรั่งวันละ 1 ผล ในต่างประเทศก็จะแนะนำให้กินแอปเปิ้ลวันละ 1 ผลทำไม เพราะว่าในการดื่มไวน์เพื่อให้ได้ ฟลาโวนอยด์นั้นเราได้แอลกอฮอล์เข้าไปด้วยและผลที่เกิดต่อร่างกายนอกเหนือไปจากหลอดเลือดหัวใจก็คือ มีผลต่อสมองทำให้ตัดสินใจช้าลง การสั่งงานของกล้ามเนื้อทำงานน้อยลง ง่วงนอน แล้วก็ที่สำคัญ แอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูงสัมพันธ์กันกับการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองแตก เพราะว่าแอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูงทำให้มีโอกาสเกิดเส้นเลือดในสมองแตกสูงกว่าในคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นแอลกอฮอล์ยังมีผลต่อระดับทางเดินอาหาร ทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารตอนต้น อย่างที่เรียกว่าเกิดอาเจียนเป็นเลือดหลังจากดื่มเหล้า นอกจากนั้นยังทำให้เกิดตับอักเสบ ถ้าดื่มในระยะยาวทำให้เกิดภาวะตับแข็งซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ดีเลย แต่อันตรายมากที่สุดกลับไม่ใช่สองอย่างนั้นกลับเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นจากแอลกอฮอล์ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ที่เราเรียกว่า ดริ๊งก์แอนด์ไดรว์ (Drink & Drive) ซึ่งแปลว่า “ดื่มแล้วขับรถ”

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด

ค่านิยมในการดื่มไวน์นอกจากเรื่องสุขภาพแล้วมีอะไรบ้าง

ก็มีเรื่องรายละเอียดที่ฉลากของไวน์ ซึ่งจะแตกต่างจากแอลกอฮอล์อื่นที่บอกเพียงจำนวนเปอร์เซ็นต์ แต่ไวน์จะบอกว่าผลิตมาจากไร่องุ่นที่ไหน มาจากภาคใดของประเทศนั้น บอกด้วยว่าองุ่นที่เอามาใช้ชื่อองุ่นอะไร ในตัวไวน์องุ่นจะมีลักษณะรายละเอียดมาก บางคนก็ถึงกับบอกว่าไวน์เหมือนมีชีวิต ไวน์ของบางสถานที่จะบอกละเอียดไม่ใช่แต่ว่าชนิดขององุ่น บอกด้วยว่าเก็บเมื่อวันไหน ซึ่งการบอกวัน เดือน ปี ก็จะเป็นการบอกถึงผลผลิตของปีนั้น ในมณฑลนั้น แคว้นนั้นเป็นอย่างไร ในปีที่ดีอากาศดีผลผลิตก็จะดี ปริมาณน้ำตาลและสารต่างๆที่มีอยู่ในองุ่นก็จะมีปริมาณสูง รสชาติของไวน์ที่เกิดขึ้นก็จะมีรสชาติดี

เพราะฉะนั้นคนที่นิยมดื่มไวน์จะกลายเป็นการผสมผสานระหว่างเรื่องแอลกอฮอล์ รสชาติที่มีอยู่ในไวน์ไปผสมผสานกับประวัติของไวน์แต่ละขวดที่มีอยู่ ซึ่งของต่างๆที่มีรายละเอียดมาก คนที่มีความสนใจก็จะยิ่งศึกษาและก็มีความหลงใหลในรายละเอียดเหล่านั้น เหมือนกับการสะสมแสตมป์ การสะสมของเก่า เลยทำให้ไวน์มีเสน่ห์ขึ้นในตัว

ของฝากแก่นักดื่ม

เปอร์เซนต์แอลกอฮอล์ในเครื่องดี่มแอลกอฮอล์

  • เบียร์ 3-7%
  • ไวน์ซ่า 6-12%
  • เทเบิลไวน์ 7-15 %
  • ฟอร์ติไฟด์ไวน์ 14-23 %
  • วิสกี้,บรั่นดี 40%

การดื่มไวน์ในคนไทยนั้นไม่เหมือนกับคนฝรั่งเศสดื่มไวน์กัน คนไทยจะดื่มไวน์แทนเหล้าแล้วก็ดื่มจนเมา ปริมาณการดื่มก็ดื่มเกิน 3 ดริ๊งก์ขึ้นไป ซึ่งปริมาณการดื่มขนาดนั้นทำให้ขาดสติโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางจราจรจะสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจร ทำให้เกิดความรุนแรงต่างๆเพิ่มขึ้น แล้วก็ยังไม่เป็นการสมควรที่เราจะไปแนะนำให้ประชาชนทั่วไปดื่มไวน์เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ถ้าใครที่ดื่มอยู่แล้ว คำแนะนำที่สำคัญก็คือจะต้องควบคุมปริมาณการดื่มไม่ให้เกิน 2-3 ดริ๊งก์ (1 ดริ๊งก์เทียบเท่า 80 มิลลิลิตร) ต่อวันหรือ 1 ใน 3 ของขวด และก็ไม่ใช่เอาการที่หยุดดื่มหลายๆวันมาทดแทน แล้วดื่มรวมกันในวันเดียวในปริมาณสูงได้

 

 

                                               ******************************


 

ข้อมูลสื่อ

211-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 211
พฤศจิกายน 2539
บทความพิเศษ
รศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา