• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคตา

ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญส่วนหนึ่งของร่างกายเรา เพราะถ้าปราศจากสิ่งนี้แล้วก็คงจะดำเนินชีวิตได้ยากลำบาก ดังนั้นการเกิดโรคตาจึงเป็นอันตรายอย่างมาก และโรคที่เกิดกับดวงตาก็มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ในเด็กจนถึงผู้ใหญ่
ขอเชิญฟังคำอธิบายจาก ผศ.น.พ.เลิศฤทธิ์ จงมั่นคงชีพ จากภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เกี่ยวกับเรื่องโรคตา

ในเด็กจะเป็นโรคตาอะไรได้บ้าง

ในเด็กแรกเกิดบางครั้งเราจะเห็นน้ำตาเด็กไหลมีขี้ตามาก อันนั้นเป็นไปได้ในระยะเด็กแรกเกิด เนื่องจากท่อน้ำตาที่ไหลจากตาลงสู่จมูกและคอของเด็กยังไม่เปิดดี รอไปสักระยะหนึ่งท่อตานั้นอาจจะเปิดเองได้ หรือถ้ามันไม่เปิดแสดงว่าท่อตาเด็กอาจตัน จะต้องรักษาเมื่อเด็กโตขึ้น

ถ้าเรารอดูสักพักแล้วขี้ตาที่เกรอะกรังหายไปเองก็ไม่จำเป็นต้องรักษาใช่ไหม

ถ้าระยะแรกมีขี้ตาเกรอะกรัง เราอาจจะใช้รักษาโดยการหยอดยาปฏิชีวนะและใช้วิธีนวดถุงน้ำตา ซึ่งแพทย์จะสอนวิธีนวดถุงน้ำตาให้และอธิบายวิธีหยอดยาให้ด้วย เมื่อโตขึ้นมันจะหายเอง แต่ถ้าไม่หายก็ต้องใช้วิธีผ่าตัด

ทีนี้โตขึ้นมาหน่อยจะพบโรคตาอะไรได้บ้าง

โตขึ้นสัก 2-3 ขวบ อาจพบว่าเด็กมีตาเข ระยะ 2-3 ขวบเป็นช่วงอายุที่สำคัญมาก ถ้าท่านสังเกตเห็นว่าบุตรหลานของท่านมีตาเข อย่างน้อยที่สุดควรจะพาไปพบแพทย์ เนื่องจากมีโรคมะเร็งบางอย่างที่เกิดขึ้นในตาเด็กช่วงอายุนี้แล้วทำให้เด็กมีอาการตาเขได้ และตาเขบางอย่างต้องผ่าตัด บางอย่างก็ไม่ต้องผ่าตัด การได้รับการตรวจแต่เนิ่นๆจะได้รักษาได้ทันท่วงที เพราะถ้าเด็กโตแล้วเราอาจจะแก้ไขผ่าตัดให้ตาตรงได้ แต่สายตาเด็กจะไม่ดี กลายเป็นคนตาบอดตาใส

แล้วพอโตเข้าโรงเรียนจะเป็นยังไงบ้าง

ตอนเข้าโรงเรียนก็มีปัญหาเรื่องเด็กมองเห็นไม่ชัด อาจจะเป็นเพราะว่าเด็กมีสายตาสั้นหรือสายตาเอียงหรือสายตายาวก็ได้

บางคนพูดว่าถ้าลูกตาเอียงหรือตาสั้นต้องรอถึง 7 ขวบแล้วค่อยพาไปหาหมอ

ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง ควรจะได้รับการตรวจเช็กแต่เนิ่นๆ เนื่องจากว่าถ้าเด็กที่มีสายตาสองข้างไม่กันแล้วไม่ได้รับการรักษาในช่วงก่อน 8-9 ขวบ โตขึ้นแม้เด็กจะใส่แว่นแต่สายตาก็จะไม่ดีขึ้น เนื่องจากตาไม่ได้ใช้งานมาเลยเป็นเวลาหลายปี

แล้วมีพบบ้างไหมครับว่าเด็กสายตายาว
โดยทั่วไปเด็กเกิดใหม่หรือเด็กช่วงอายุน้อยๆ จะมีสายตายาวแต่ไม่มากนัก เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยที่นัยน์ตาเราทุกคนจะมีเลนส์แก้วตาอีกอันหนึ่งซึ่งปรับตัวเปลี่ยนกำลังเลนส์ได้ แต่ถ้าสายตายาวมากเด็กก็ต้องใช้แว่นช่วย

เด็กที่ตาเอียงพ่อแม่จะทราบได้อย่างไรว่าลูกของตนตาเอียง
จะสังเกตได้ว่าเด็กมองไกลๆไม่ชัด จะต้องเข้าไปใกล้ ถ้าสายตาเอียงชนิดสายตาสั้นเด็กจะต้องเข้าไปนั่งใกล้ๆ หรือสังเกตว่าเด็กมีการหยีตาเพื่อต้องการดูอะไร อันนั้นแสดงว่าเด็กสายตาไม่ปกติแล้ว

อาการเช่นนี้ก็เป็นข้อเตือนอย่างหนึ่งใช่ไหมว่าจะทิ้งไว้ไม่ได้

เด็กบางคนอาจจะแสดงด้วยอาการกะพริบตาบ่อยๆ เพื่อช่วยให้ตัวเองเห็นชัดขึ้น เมื่อกะพริบบ่อยๆเข้าก็จะติดเป็นนิสัย ก็ควรได้รับการตรวจเช็กเสีย
 

แล้วพอโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นมีโรคตาอะไรบ้าง
เมื่อเป็นวัยรุ่นหรือวัยที่เรียนมหาวิทยาลัย ปัญหาที่พบได้คือ เด็กช่วงนี้กำลังสอบก็จะต้องดูหนังสือมากไม่มีเวลาพักผ่อน ก็มักจะมีการปวดเบ้าตา ปวดหัวคิ้วหรือร้าวไปที่ขมับ ร้าวไปที่ท้ายทอย เป็นเพราะการใช้สายตายังไม่ถูกต้อง ใช้สายตานานเกินไป ควรจะมีการพักสายตาบ้าง หรือดวงไฟที่ใช้อาจจะไม่ถูกต้องดี การใช้สายตาติดต่อกันถ้าไม่พักเลยจะใช้ได้ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง เพราะในคนที่สายตาปกติถ้าใช้เกินครึ่งชั่วโมงกล้ามเนื้อตาจะเกร็งอาจจะปวดตาได้ การพักสายตาทำได้โดยการเงยหน้า มองไปไกลๆ ชั่วครู่หรือสัก 2-3 นาที แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อก็จะช่วยได้
 

มีบางคนเอาผ้าไปชุบน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นมาประคบตาสักพัก อย่างนี้จะช่วยอาการปวดกระบอกตาได้ไหม
ช่วยได้ในกรณีเป็นกุ้งยิงระยะแรกเริ่มซึ่งยังไม่เป็นหัวหนอง ส่วนการใช้สายตามากมักจะช่วยได้ไม่เท่าไหร่ นอกจากการพักสายตาอย่างเดียว

เมื่อแก่ตัวลงจะพบอาการของโรคตาอะไรบ้าง

คนที่มีวัยตั้งแต่ 4o ขึ้นไปจะมีโรคมากมายที่ทำให้สูญเสียดวงตาได้ อันแรกคือโรคต้อกระจก ซึ่งเกิดจากแก้วตามีการขุ่นมัวลง ทำให้มีม่านมาบังนัยน์ตาเห็นไม่ชัด แต่เมื่อต้อกระจกสุกแล้ว เราก็ผ่าตัดลอกต้อกระจกออก แล้วใส่แว่นตาหรือเลนส์สัมผัสก็มองเห็นได้ แต่อีกโรคที่น่ากลัวกว่าคือต้อหิน โรคนี้ไม่ทำให้เกิดอาการใดๆทั้งสิ้น คนไข้จะไม่รู้เลยว่าเป็น เพราะไม่มีอาการเจ็บหรือเคือง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยที่ไม่รับการตรวจ เมื่อสายตาเสียไปแล้วเราไม่สามารถจะแก้ไขให้สายตากลับคืนดีได้ ส่วนที่เสียไปแล้วจะเสียไปเลย เราเพียงแต่เก็บส่วนที่ไม่เสียไว้

แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นต้อหิน

ต้องไปพบแพทย์เพื่อวัดความดันลูกตาว่า ความดันลูกตาของท่านสูงเกินกว่าปกติหรือไม่ ถ้าความดันสูงเกินกว่าปกติต้องรีบรักษา เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ความดันที่สูงจะไปกดประสาทตา ทำให้ขั้วประสาทตาเสีย แล้วสายตาจะไม่มีทางคืนได้

อาจารย์มีอะไรจะแนะนำว่าเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อป้องกันรักษาดวงตา

การปฏิบัติคือถ้าสมมติว่าเรามีอาการผิดปกติทางสายตา เช่น สายตามัวลงทันทีหรือค่อยๆเป็นค่อยๆไป อย่างน้อยที่สุดควรจะไปพบแพทย์สักครั้งหนึ่ง เพื่อให้แพทย์ตรวจดูอาการ หาสาเหตุ เพราะถ้าท่านปล่อยทิ้งไว้จนสายเกินแก้ แม้ว่าแพทย์ที่เก่งที่สุดก็ไม่สามารถจะดึงสายตาของท่านให้กลับสู่ปกติได้

และที่พบเป็นประจำคือ คนที่เป็นต้อกระจกไปตรวจแล้วแพทย์แนะนำให้ผ่าตัด แต่ว่ากลัวเรื่องการเจ็บปวด ก็ไปพบเพื่อนซึ่งแนะนำหมอเถื่อนให้โดยใช้วิธีมีวัตถุแหลมๆจิ้มเข้าไปในตาแล้วเขี่ยต้อกระจกให้ตกเข้าไปในตา ทำให้คนไข้เห็นชัดขึ้นในระยะแรกเนื่องจากต้อกระจกที่บังแสงมันหลุดไป แต่ต้อกระจกเป็นของที่เสียแล้วเราจะต้องเอาออกจากดวงตา หมอเถื่อนจะเขี่ยต้อกระจกเข้าไปในตา ต้อกระจกที่อยู่ในตาก็คือระเบิดเวลาที่จะทำให้ดวงตาเราเสียได้

ขอแนะนำว่าไม่ควรไปหาบุคคลเหล่านี้เพื่อให้เขี่ยต้อกระจกเข้าไปในตาเรา เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้วยังจะต้องเสียดวงตาอีกด้วย

 

ข้อมูลสื่อ

98-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร