• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขวัญนางแย้ม: ความหอมคู่คนไทยนับหลายร้อยปี

"นางแย้มเหมือนแม่แย้ม ยินดี ร่อนา ต้องดุจมือเทพี  พี่ต้อง..."

ที่ยกมาข้างบนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโคลงสี่สุภาพจากเรื่องลิลิตพระลอ อันเป็นวรรณคดีไทยยุคต้นกรุงศรีอยุธยา มีอายุราว 500 ปีมาแล้ว นับเป็นวรรณคดีไทยเก่าแก่ ที่สุดเรื่องหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดี มีผู้รู้ ทางภาษาและหนังสือบางท่านเคย ตั้งข้อสังเกตว่า โครงเรื่องของลิลิตพระลอ มีความเป็นสากลด้านสร้างความสะเทือนใจอย่างสูง เพราะเป็น โศกนาฏกรรมใกล้เคียงกับเรื่องโรมิโอ และจูเลียตของเชกสเปียร์เป็นอย่างยิ่ง

นางแย้ม : หนึ่งในไม้หอมคู่คนไทย

นางแย้ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb. อยู่ในวงศ์ Labiatae เป็นไม้พุ่ม เนื้ออ่อนขนาดเล็ก สูงราว 1-1.5 เมตร ลำต้นค่อนข้างตรง มีขนปกคลุม เล็กน้อย ใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามกันตามข้อต้น ใบใหญ่กว้างรูปไข่คล้าย รูปหัวใจ หรือใบโพธิ์ ปลายใบแหลม แต่ไม่มีติ่ง กว้างราว 14 เซนติเมตร ยาวราว 17 เซนติเมตร มีขนปกคลุม ผิวใบสากระคายมือ ขอบใบหยักเป็น ฟันเลื่อยห่างๆ เมื่อเด็ดใบมาขยี้ดมจะมีกลิ่นเฉพาะ ดอกออกเป็นช่อตาม ยอดและปลายกิ่ง ออกเป็นช่อแน่น ขนาดช่อละประมาณ 10 เซนติเมตร (เส้นผ่าศูนย์กลาง) แต่ละดอกเมื่อบานแล้วกว้างราว 2-3 เซนติเมตร ดอกในช่อบานไม่พร้อมกัน ด้านบนจะเริ่มบานก่อน ดอกมีกลีบซ้อนคล้ายดอกมะลิซ้อน กลีบดอกสีขาว เมื่อบานแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู กลีบดอกชั้นนอกเป็นสีม่วงอ่อน เกสรตัวผู้มี 4 ก้าน เกสรตัวเมีย มีก้านเดียว เมื่อผลแก่แตกออกเป็น 4 กลีบ นางแย้มออกดอกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ดูแล ดอกนางแย้มมีกลิ่นหอมแรง และหอมตลอดวัน ชาวไทยสมัยก่อนนิยมนำดอกนางแย้มไปเป็นเครื่องบูชาพระ

นักวิชาการเชื่อว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของนางแย้มอยู่ในประเทศอินโดนีเซียคือเกาะชวาและเกาะสุมาตรา
แต่นางแย้มคงถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานมาแล้ว เพราะมีหลักฐานว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระ-รมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991) ราว 556 ปีมาแล้ว นางแย้มเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และปรากฏในวรรณคดี ไทยหลายเรื่อง และนิยมนำมาใช้ในวรรณคดีไทยสืบต่อมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ในหนังสืออักขราภิธานรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ.2416 กล่าวถึงนางแย้มว่า
"นางแย้มคือต้นดอกไม้อย่างหนึ่ง ต้นไม่สู้โต ดอกคล้ายกันกับดอกมะลิ กลิ่นดีนัก" แสดงว่าเมื่อ 131 ปีก่อนโน้นคนไทย ก็ยังนิยมนางแย้มกันดีอยู่ สำหรับนางแย้มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยนั้น คือ นางแย้มป่า

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clerodendrum  in for tunatum Gaertn. เกิดตามป่าเบญจพรรณ บริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ตามริมห้วย นางแย้มป่ามีดอกเล็กกว่าและใบเล็กกว่า รวมทั้งรูปร่างใบซึ่งหยักเว้าเป็น 2 หยัก ทำให้ปลายใบมีมุมแหลม 3 มุม เนื่องจากนางแย้มเป็นที่นิยมของคนไทยมายาวนาน จึงถูกนำไปปลูกอย่างกว้างขวางในทุกภาค ทำให้มีชื่อต่างกันไปมากมาย เช่น นางแย้ม (ภาคกลาง  นครศรีธรรมราช) ปิ้งสมุทร (เชียงใหม่) ปิ้งชะมด ปิ้งซ้อน (ภาคเหนือ) ส้วนใหญ่ (โคราช) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนางแย้มจีน มีชื่อภาษาจีนว่า เลงอุ๊ยฮวย

ประโยชน์ของนางแย้ม

ระยะเวลายาวนานที่นางแย้มเป็นต้นไม้ในความนิยมของคนไทย ทำให้เกิดความเข้าใจในคุณสมบัติด้านสมุนไพรมากตามไปด้วย

คุณสมบัติของนางแย้มที่แพทย์แผนไทยระบุไว้พอจะประมวลได้ดังนี้
 
ใบ : รสเฝื่อน ตำพอกแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน

ราก : รสเฝื่อน แก้ปวดข้อ แก้ เหน็บชา ริดสีดวง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่นหลืองแดง แก้หลอดลมอักเสบ แก้เหน็บชา  ริดสีดวงทวาร ฝนน้ำปูนใส (ทารักษา เริม งูสวัด) ต้มกิน (แก้ฝีภายในและแก้ไตพิการ)

ทั้งต้น : แก้กระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง แก้ปวดเอว และปวดข้อ แก้พิษฝี ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ
ประโยชน์หลักอีกด้านหนึ่งของนางแย้มคือ เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งกระแสความนิยมไม้ดอกหอมดั้งเดิม ของไทยกำลังหวนคืนสู่ความนิยมอีกครั้ง

นางแย้มอันเป็นไม้ดอกหอมเก่าแก่จากวรรณคดีของคนไทยจึงมีโอกาสกลับมาอยู่กับคนไทยสมัยใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะคุณสมบัติที่ปลูกง่ายขยายพันธุ์ง่าย ทนทาน ออกดอกตลอดปี หอมตลอดวัน และช่อดอกใหญ่แน่น เป็นต้น ล้วนเป็นคุณสมบัติเด่น เหมาะแก่คน รุ่นใหม่เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ชื่อ ยังเป็นมงคลอีกด้วย ในเดือนอันเป็นมงคลนี้จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยหานางแย้มมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านกันโดยความน่ายินดี ร่อนา


ขอขอบคุณสำหรับภาพจาก :
หนังสือ "สยามไภษัชยพฤกษ์"

ข้อมูลสื่อ

304-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 304
สิงหาคม 2547
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร