• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลำโพง : พืชพลังลึกลับจากอดีตสู่อนาคต

"มกราคม" อันถือเป็นเดือนแรกตามปฏิทินสากลที่นับเวลาตามสุริยคติ มีคำทำนายจากโหรหลายท่าน แต่ส่วนใหญ่ออกมาเป็นเรื่องร้ายๆ ตลอดปี พ.ศ. ๒๕๔๙
ทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนจากการเขียนต้นไม้สำหรับวันแห่งความรัก มาเป็นต้นไม้ชนิดอื่น ในที่สุดก็ตกลงนำเสนอพืชที่ชื่อลำโพง

                                                    

ลำโพงพืชใกล้ตัวที่ดูเหมือนห่างไกล
ลำโพง
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Datura metel Linn. อยู่ในวงศ์ Solanaceae เช่นเดียวกับพริกและมะเขือ ลักษณะหลายอย่างจึงคล้ายกับมะเขือ เพียงแต่ต้นมีขนาดใหญ่กว่ามะเขือทั่วไปอยู่มาก (ยกเว้นมะเขือพวง) กล่าวคือเป็นไม้พุ่มล้มลุกอายุยืน ๑-๒ ปี สูง ๓-๖ ฟุต (๑-๒ เมตร) ใบรูปไข่ปลายแหลมกว้างราว ๗-๑๑ เซนติเมตร ยาว ๑๔-๒๒ เซนติเมตร ผิวใบไม่เรียบ ขอบใบเป็นรอยหยัก ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามโคนก้านใบ

ดอกลำโพงมีลักษณะทรงกรวยยาวปากบานคล้าย แตรทรัมเป็ต หรือดอกผักบุ้งแต่ขนาดใหญ่กว่า มีความยาวประมาณ ๑๗ เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ (มีเกสรตัวผู้และรังไข่อยู่ในดอกเดียวกัน) กลีบดอกมีสีขาว สีเหลือง หรือสีม่วง มีกลีบชั้นเดียว

สำหรับลำโพงที่มีกลีบซ้อนหลายชั้น (๒-๔ ชั้น) เรียกว่าลำโพงกาสลัก (Datura metel Linn. Var. fastuosa Safford) กลีบดอกของลำโพงกาสลักมักเป็นสีม่วงเช่นเดียวกับสีลำต้น กิ่งและก้านใบ
เชื่อว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของลำโพงอยู่แถบภูเขาภาคตะวันตกของประเทศปากีสถานและประเทศอัฟกานิสถาน ต่อมาได้แพร่กระจายออกไปในเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติทั่วทุกภาค

ผลของลำโพงมีรูปร่างกลม และผิวปกคลุมด้วยหนามแข็งและแหลม เมื่อแก่เต็มที่จะแตกออก ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อนเป็นจำนวนมาก

ชื่อเรียก "ลำโพง"Ž
"ลำโพง" มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปดังนี้
ภาคกลาง (ลำโพง, ลำโพงขาว, ลำโพงกาสลัก) ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มะเขือบ้า) ส่วย-สุรินทร์ (ละอังกะ) เขมร-สุรินทร์ (เลี๊ยก) จีน-กรุงเทพฯ (มั่งโต๊ะโล๊ะ) ภาษาอังกฤษ (Thorn Apple.)

ประโยชน์ของลำโพง
ลำโพงมีสรรพคุณทางสมุนไพร ปรากฏในตำราแพทย์แผนไทยหลายประการ เช่น
ใบ : รสเมาเบื่อ ตำพอกฝีทำให้ยุบ แก้ปวดบวม อักเสบ
ดอก : หั่นตากแดดให้แห้ง ใช้มวนสูบแก้ริดสีดวงจมูกและหอบหืด
ผล : แก้ไข้พิษ แก้ไข้ที่ทำให้กระสับกระส่าย
เมล็ด : คั่วพอหมดน้ำมัน ปรุงทำกินเป็นยา บำรุงประสาท แก้ไข้พิษ
น้ำมันจากเมล็ด : ฆ่าเชื้อโรค แก้กลากเกลื้อน หิด เหา เชื้อโรคที่มีตัว
ราก : รสเมาหวานน้อยๆ แก้ฝีกาฬทั้งปวง ดับพิษ ร้อน แก้ปวดบวมอักเสบ
ถ่านจากราก : รสเย็น แก้ไข้พิษ เซื่องซึม แก้ไข้กาฬ

นอกจากนี้ บางตำรายังระบุว่า รากลำโพงใช้แก้หมาบ้ากัด แก้วิกลจริต และลำโพงทั้งต้นตากแห้งหั่นสูบแก้โรคหืด

แม้แพทย์แผนโบราณของไทยจะใช้ลำโพงรักษาโรคได้มากมาย แต่ก็เตือนให้ระวังเป็นอย่างยิ่งถึงการใช้เมล็ดลำโพง เพราะเชื่อว่ามีพิษทางเมาเบื่ออย่างรุนแรง อาจทำให้เป็นบ้า หรือถึงตายได้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามะเขือบ้า รวมทั้งคนไทยในอดีตเรียกคนบ้าบางจำพวกว่า "บ้าลำโพง" เพราะเชื่อว่าเกิดจากการกินหรือสูบลำโพงนั่นเอง

อาการเป็นพิษ
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่าสารออกฤทธิ์ที่พบมากใน เมล็ด และใบลำโพงคือ โทรเพน อัลคาลอยด์ ได้แก่ สโคโพลามีน (scopolamine) และไฮออสไซอะมีน (hy-oscyamine)
ถ้ากินเมล็ดและใบของลำโพงเข้าไป จะปรากฏอาการภายในเวลา ๕-๑๐ นาที
อาการที่พบคือ กระหายน้ำรุนแรง ปากและคอแห้ง ตาพร่า ม่านตาขยาย สู้แสงไม่ได้ น้ำลายแห้งทำให้กลืนน้ำลายยากและพูดไม่ชัด ผิวหนังร้อนแดงและแห้ง ตัวร้อน ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน มึนงง มีอาการประสาทหลอน (ผู้เขียนเคยได้ยินการหายใจช้าและขัด ผิวหนังเป็นสีคล้ำเพราะขาดออกซิเจน
เด็กบางคนอาจมีอาการชัก ชีพจรเต้นเร็วและอ่อน

นอกจากนี้ ยังมีอาการปัสสาวะคั่ง ท้องผูก รายที่รุนแรงจะหมดสติและโคม่า
ดังนั้น ทุกคนทั่วโลกจึงเกรงกลัวลำโพงมาก ถือว่าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าชนิดหนึ่ง

การรักษา
ให้กินผงถ่าน เพื่อลดการดูดซึม แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อล้างท้อง
อาจฉีดยาไฟโซสติกมีน (physostigmine) เข้าหลอดเลือดอย่างช้าๆ ถ้ามีอาการชักให้ไดอะซีแพม (diazepam) ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย

ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ถือว่าลำโพงเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของคนในอดีต

สักวันหนึ่งในอนาคต อาจจะมีคนนำ "ดอกลำโพง" มามอบให้กันในวันวาเลนไทน์ก็เป็นได้

ข้อมูลสื่อ

322-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
กุมภาพันธ์ 2549
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร