• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อุบัติเหตุ ชีวิต และ ความอดทน

อุบัติเหตุ ชีวิต และ ความอดทน

บันทึกประสบการณ์ชุด “ในทุกข์ยังมีสุข" ซึ่งถ่ายทอดโดย นายแพทย์ รวินันท์ ศิริกนกวิไล ชุดนี้ เป็นการเสนอวิธีคิดใหม่ๆ ในบางแง่มุมของชีวิตที่น่าสนใจให้กับผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่รู้สึกว่าตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง ล้มเหลวในชีวิตคงจะได้ประโยชน์จากข้อเขียนชุดนี้มากทีเดียว

การนำเสนอแนวคิดผ่านประสบการณ์ในชุดนี้จะนำเสนอเป็นตอนๆ โดยแต่ละตอนจะมีบทสรุปจบในตนเอง ผมใช้เวลาหลายวันเลยทีเดียวภายหลังจากการฟื้นรู้ตัวใหม่ด้วยความสับสน ปะติดปะต่อเหตุการณ์ไม่ได้ แต่พยายามจับเรื่องที่ภรรยาเล่าให้ฟัง จึงค่อยๆ รู้ว่าผมฟื้นขึ้นหลังจากนอนอยู่ในไอซียูอยู่หลายวัน และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ แต่ผมก็ยังมีความสับสนอยู่มากและไล่เรียงเหตุการณ์ให้ต่อกับปัจจุบันไม่ได้

ผมใช้เวลาอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์จึงค่อยๆ ฟื้นการรับรู้ได้ว่า ผมมีอาการปวดหัวมาก และยืนเซ และไมโครโฟนหลุดมือในขณะที่ผมกล่าวต้อนรับนักศึกษาแพทย์จากคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมาดูงานชุมชนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจารย์แพทย์ช่วยกันเอาผมส่งโรงพยาบาล เพราะเชื่อว่าหลอดเลือดในสมองของผมแตกเสียแล้ว แต่มันก็กินเวลาอยู่นานหลายวันที่เดียวกว่าผมจะตั้งตัวติด แต่ก็ยังปะติดปะต่อได้ไม่ดี

ผมเริ่มรู้ตัวว่าผมช่วยตัวเองไม่ได้ เพราะร่างกายซีกซ้ายอ่อนรงและเริ่มเข้าใจว่าวิถีชีวิตของผมในช่วงนั้นคือ การนอนอยู่บนเตียงเสียส่วนใหญ่ เมื่อนั้นแหละจิตใจผมเริ่มฟุ้งซ่าน เพราะมันเป็นความทุกข์อันสาหัสที่ได้รู้ว่าตัวเองกลายเป็นอัมพาต ไปไหนมาไหนไม่ได้ดังใจ แต่ก่อนที่ห้วงความคิดจะฟุ้งซ่านไปกว่านี้ ผมพยายามดับทุกข์ของตัวเอง โดยคิดว่าเราคงไม่ใช่คนเดียวที่ทนทุกข์อยู่ในโลกนี้อย่างแน่นอน คงยังเป็นโชคดีของผมที่ผมได้พยายามหันเหไปนึกถึงชีวิตของพี่หมออำพล (นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ) ซึ่งแกต้องสูญเสียภรรยาและลูกสุดที่รักไปพร้อมกันเพราะเหตุผิดปกติอย่างปัจจุบันทันด่วน ซึ่งผมไม่คิดว่ามนุษย์คนไหนจะทนความทุกข์ยากอย่างนั้นได้

แต่ผมก็เห็นแกทนได้อย่างที่อาจารย์ประเวศพยายามเขียนให้สติเรื่องอุบัติเหตุชีวิต ในหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพของครอบครัวพี่อำพล ผมจำได้ว่าอาจารย์ประเวศ เขียนว่า เหตุการณ์แบบนี้เป็นอุบัติเหตุชีวิตซึ่งเกิดได้กับทุกคน และท่านยังเขียนต่อในบทความนั้นว่า ชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็นอนิจจังและด้วยเหตุนี้ อุบัติเหตุชีวิตเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดกับทุกคนได้ ข้อสำคัญคือ เมื่อเกิดแล้วมนุษย์ต้องต่อสู้ ด้วยความอดทน เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่มนุษย์จะทนไม่ได้

ผมพยายามจับห้วงความคิดนี้คิดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การที่เราเป็นเช่นนี้ก็เป็นอุบัติเหตุชีวิตเช่นกัน และไม่หนักเท่าพี่อำพลด้วย พี่อำพลทนได้ เราก็ต้องทนได้เช่นกัน ทำให้ความทุกข์หายลงไปมาก และผมกลับคิดถึงเจ็งและลูกเตย และงานที่ผมยังอยากทำต่อ ผมตั้งสติว่าผมจะอยู่ต่อและผมต้องทนให้ได้ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่า ผมจะต้องทนกับอะไรบ้าง แต่มันก็ทำให้ผมกลับมีสติและลดถอยความฟุ้งซ่านลงมาก การป่วยเป็นอัมพาตเป็นทุกข์หรือความล้มเหลวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมันได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ผมได้พบว่า ในความล้มเหลวเหล่านั้นมีด้านที่ดีหรือมีความสำเร็จอยู่ด้วยหลายเรื่อย

เรื่องแรก คือ ผมเข้าใจชีวิตดีขึ้น เข้าใจด้านที่ลำบากและทุกข์ยากของชีวิต ดังที่ปราชญ์ชาวจีนท่านหนึ่งเคยเขียนไว้นานแล้วว่า “หากไม่พบพานความทุกข์ ไม่เคยสู้รบปรบมือกับความลำบาก คงไม่อาจเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งแห่งชีวิตได้" ก่อนป่วยนั้นผมเป็นคนมุมานะแน่วแน่ที่จะใช้ชีวิตแพทย์และนักสาธารณะสุขเพื่อยังประโยชน์แก่ชาวบ้านผู้ทุกข์ยากในชนบท ในส่วนนี้เป็นความตั้งใจที่ดีของผม แต่มีจุดอ่อนคือ มีความร้อนแรงและเรียกร้องจากผู้ร่วมงานมาก การป่วยที่ต้องอยู่นิ่งๆ และมีเวลาว่างคิดพิจารณา และที่สำคัญคือการได้เห็นด้านที่ทุกข์ยากของชีวิตนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจและความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ผมพบว่าผมเป็นคนที่อารมณ์ที่ดีขึ้น ใจเย็นลง เห็นใจเพื่อนผู้ร่วมงานมากขึ้นและมี่มีความเครียด ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ผมได้รับจากความทุกข์ครั้งนี้

เรื่องที่สอง ที่เป็นความสำเร็จ คือ การที่ผมมีกำลังใจอย่างมากเพราะผมได้เห็นผลแห่งการทำความดีซึ่งไม่เคยคิดมาก่อนและจะไม่มีทางได้เห็นมันถ้าผมไม่ได้ตกอยู่ในความทุกข์ยากครั้งนี้ ผมได้รับความช่วยเหลือในทุกด้านจากผู้ใหญ่ เพื่อนๆ น้องๆ อย่างมากมาย ซึ่งเป็นการให้เปล่าด้วยความรัก เพราะผมไม่อยู่ในฐานะที่จะไปตอบแทนหรือให้คุณให้โทษแก่ผู้หวังดีเหล่านี้ได้แล้ว การแสดงออกซึ่งความช่วยเหลืออย่างมากมาย มหาศาลเช่นนี้ จึงเป็นความจริงใจ และจึงเป็นการตอกย้ำให้ผมมีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อพยายามทำความดีงามต่อไป หากผมไม่พบความล้มเหลวครั้งนี้ ก็คงไม่ได้เห็นความสำเร็จของผมเช่นกัน

เรื่องต่อไปเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเกร็ดที่เป็นประโยชน์ เพราะผมละเลยความสนใจในเรื่องสุขภาพมาแต่ไหนแต่ไร และมีความพากเพียรในการกินจนเกินปกติมาตั้งแต่ในวัยเด็ก ทำให้ผมอ้วนมากและไม่เคยลดน้ำหนักสำเร็จ แม้อาจารย์ประเวศจะกรุณาพยายามชักชวนและหาอาจารย์ที่ปรึกษาให้ แต่ก็ไม่สำเร็จอยู่ดี แต่การที่ผมไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในการไปหาของมากิน และด้วยการดูแลเข้มงวดจากภรรยาของตนเอง ทำให้ผมสูญเสียตำแหน่ง “หมอใหญ่ที่สุดในประเทศไทย" ไปจนได้ เพราะน้ำหนักผมลดลง จาก 120 กิโลกรัม เหลือ 87 กิโลกรัม เท่ากับน้ำหนักผมหายไป 33 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักพอๆ กับน้ำหนักตัวของเพื่อนของผม คือ คุณหมอทรงกิจ นายแพทย์สาธารณะสุข จังหวัดสมุทรปราการ

ปัจจุบันผมสบายขึ้นมาก และคิดว่าแข็งแรงกว่าเดิมมาก นี้เป็นความสำเร็จที่มิอาจเกิดได้แน่นอน หากไม่พบความล้มเหลวครั้งนี้
 

ข้อมูลสื่อ

177-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
นพ.รวินันท์ ศิริกนกวิไล