• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไอเรื้อรัง

ไอเรื้อรัง


มีอาการแพ้เมื่ออากาศเปลี่ยนกะทันหัน ทำอย่างไรจึงจะหาย


ข้าพเจ้าอายุ 15 ปี เป็นผู้หนึ่งซึ่งมีอาการไอเรื้อรัง ซึ่งข้าพเจ้าเป็นมาตั้งแต่อายุ 1o ขวบ มีอาการแพ้อากาศ คือ ถ้ามีฝุ่นละอองหรืออากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน จะไอทันทีและจะไอติดต่อกัน 1-2 วัน ข้าพเจ้าจึงอยากจะทราบวิธีการรักษาตัวให้หายขาดด้วย เพราะข้าพเจ้าได้ไปหาหมอมาแล้วแต่ก็ไม่หายขาด

                                                                                             

                                                                                                 ผู้ถาม เทวิน/อุบลราชธานี

 

                                                         *********************************
ผู้ตอบ อาจารย์จริยาวัตร คมพยัคฆ์

อาการไอ เมื่อได้รับฝุ่นละอองหรืออากาศเปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะอาการแพ้อย่างหนึ่ง ซึ่งร่างกายแสดงอาการตอบโต้ด้วยการไอ ซึ่งคุณเป็นมาตั้งแต่อายุ 1o ปี จนปัจจุบันอายุ 15 ปี ทั้งนี้อาจมีบุคคลในครอบครัวที่มีอาการแพ้เช่นเดียวกัน เช่น คุณพ่อ คุณแม่ หรือคุณปู่ คุณย่า เป็นต้น ดังนั้น การหลีกเลี่ยงสถานที่มีฝุ่นละออง เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เช่น ขณะมีการกวาดบ้าน กวาดถนน ฝุ่นจากยานพาหนะขณะที่มีลมพัดแรง ถ้าคุณจะกวาดบ้านควรใช้วิธีใช้ผ้าชุบน้ำถูบ้านแทน นอกจากนี้การดูแลให้ร่างกายได้รับอาหารเพียงพอ ทั้งอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ ไขมัน แป้ง ผักผลไม้ นม จะสามารถมีความต้านทานต่ออาการแพ้ดังกล่าวได้

การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สามารถต่อสู้อาการแพ้ได้ ซึ่งการแนะนำข้างต้น เป็นการป้องกัน แต่ถ้ามีอาการไอเนื่องจากการแพ้เกิดขึ้นแล้ว การกินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิลามีน (4 มิลลิกรัม) 1 เม็ด ก่อนนอน หรือเช้า-เย็น จะช่วยได้ และเมื่อกินยาแล้ว จะง่วงนอน จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร (ประมาณ 1-2 วัน ควรจะดีขึ้น)

เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหนาวให้ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะกับอากาศ ไม่อาบน้ำเย็นจัด ควรอาบน้ำตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน ถ้าจะสระผมด้วยให้สระผมก่อนแล้วเช็ดผมให้แห้งจึงอาบน้ำ เวลานอนสวมเสื้อหนาพอควร บริเวณคอถ้าพันผ้าไว้จะดี ถ้าอากาศร้อนจัดอย่านอนถอดเสื้อให้ใส่เสื้อบางๆ เปิดพัดลมไว้ปลายเท้าให้ส่ายไปมา พยายามดื่มน้ำมากๆ

สรุป  การป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ (ว่ายน้ำ วิ่ง ขี่จักรยาน) และนอนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย คิดว่าเราต้องชนะ

 

 

                                                         **************************************


 

ข้อมูลสื่อ

207-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 207
กรกฎาคม 2539
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์