• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อันเนื่องมาจากพระเวสสันดร

ขอรวบรัดตัดตรงเข้าสู่เป้าที่มีผู้เรียกร้องให้เขียนกันได้แล้ว นั่นก็คือ การบริจาคลูกเมียนั่นน่ะ มันเป็นการบำเพ็ญบารมีที่ตรงไหน?

กรุณาเดินทางย้อนเวลาไปสัก 400 ปี ปีนั้นเป็นพ.ศ. 2106 พระเจ้าหงสาวดี ยาตราทัพอันยิ่งใหญ่เข้าบดขยี้หัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย จนราบคาบยอมอยู่ใต้อุ้งหัตถ์ แล้วก็รุดลงมากดดัน-บีบรัดกรุงศรีอยุธยาอย่างหนัก จนฝ่ายไทยต้องยอมจำนนตามที่ผู้ชนะสิบทิศต้องประสงค์

เมื่อบุเรงนองจะยกทัพกลับหงสาวดี ก็ตรัสขอพระนเรศวร ซึ่งมีพระชันษาเพียง 9 ขวบ กับพระมหาธรรมราชา โดยใช้สำนวนนุ่มๆว่า จะเอาไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม แต่แท้ที่จริงก็คือ เอาไปเป็นเชลย ใช้เป็นตัวจำนำสำหรับพระมหาธรรมราชาผู้พระบิดานั่นเอง

ตอนนี้เราลองเอากล้องจุลทรรศน์ส่องดูดวงใจพระมหาธรรมราชา ก็จะเห็นได้ชัดว่า กำลังมีการรบอย่างหนักระหว่างความรักลูกสุดสวาทขาดใจของพ่อ กับความรัก ความรับผิดชอบ ความอยู่รอดของประเทศชาติ ในที่สุดฝ่ายความรักชาติรักแผ่นดินมีพลังอำนาจสูงกว่า จึงตัดสินใจยอมเสียสละลูกในไส้ ในวัยน่ารักน่าห่วงให้เข้าไปอยู่ในถ้ำเสือ-ปากจระเข้

พ่อคงจะพูดกับลูกน้อยในทำนองเดียวกับที่พระเวสสันดรตรัสกับสองกุมารนั่นแหละ ขอให้ลูกรักจงมาช่วยแบกภาระอันยิ่งใหญ่หนักหน่วงเหลือเกินบนบ่าของพ่อด้วยเถิด เพื่อความอยู่รอดของคนไทยทั้งชาติ มีแต่ลูกเท่านั้นที่จะช่วยพ่อให้ทำงานใหญ่นี้ได้

องค์ชายดำ (Black prince) ชันษาเพียง 9 ขวบ น้อยกว่าพ่อชาลีด้วยซ้ำ โปรดทราบว่าอัจฉริยบุคคลนั้นแม้วัยจะเพียง 9 ขวบ แต่สติปัญญาเกินอายุได้ ตัวอย่างในคัมภีร์พระพุทธศาสนายืนยันว่า เด็กที่สะสมบารมีมาเป็นพิเศษนั้น อายุเพียง 6 ขวบ ก็มีปรีชาสามารถบรรลุพระโสดาบันได้ องค์ชายดำเข้าใจภารกิจอันยิ่งใหญ่และสำคัญสุดยอดของพ่อ จึงรับอาสาเสี่ยงตายเข้าทำงานครั้งนี้ด้วยความเป็นลูกกตัญญู ภาระของพ่อคือ ภาระของลูก

ไม่ใช่อยู่ในดงอสรพิษเพียง 2-3 เดือน แต่นานถึง 6 ปี จนพระชันษาย่างเข้า 15 ลุ พ.ศ. 2111 จึงได้กลับอยุธยาพร้อมกับบุเรงนอง ซึ่งกรีฑาทัพมาพิชิตดับเอกราชของชาติไทยเป็นครั้งแรก แล้วผู้ชนะสิบทิศก็มอบให้พระมหาธรรมราชาเป็นประมุขในฐานะเป็นเมืองออกของหงสาวสดี

เสร็จศึกพระมหาธรรมราชาก็ขอกับบุเรงนองให้พระนเรศวรได้อยู่ช่วยปกครองบ้านเมือง โดยขอเปลี่ยนตัวยอมถวายพระสุพรรณกัลยาณี พระพี่นางให้เป็นตัวจำนำแทน

พระเวสสันดรได้บริจาคลูก กัณหา-ชาลี เพื่อสัพพัญญูโพธิญาณ เพื่อจะได้มีพลังกอบกู้โลกให้มีสันติสุข (โลกนาถ) ฉันใด พระมหาธรรมราชา ก็ได้บริจาคลูกชายลูกหญิง เพื่องานกอบกู้ชาติให้กลับมีเอกราช ให้ไพร่ฟ้าหน้าใสฉันนั้นและทั้งสองก็ได้ประสบความสำเร็จตามแผนที่ตั้งใจไว้ทุกประการ เพราะยอมบริจาคลูกใช่ไหม

มีใครบ้างไหมที่ตำหนิติฉินพระมหาธรรมราชา ว่าใจไม้ไส้ระกำ ปัญญาอ่อน เห็นแก่ตัว ใจดำ เสือกไสลูกในไส้ให้ไปรับความทุกข์แทนตน อาจจะมีบ้างก็ได้สำหรับคนที่ใจคับแคบเห็นโลกเพียงแค่รั้วบ้านของตนเท่านั้น

แต่นักปราชญ์ท่านยกย่องว่า การเสียสละแบบนั้นว่า
จเช มัตตัง สุขัง ธีโร สัมปัสสัง วิปุลัง สุขัง

ระหว่างประโยชน์สุขอันมีปริมาณจำกัด กับประโยชน์สุขอันไพบูลหาประมาณมิได้นั้น มือชั้นบัณฑิตท่านยินดีจะสละประโยชน์สุขอันแรก เพื่อแลกเอาประโยชน์สุขอันไพศาลไว้เสมอ

ผู้ที่ทำงานด้วยจิตใจที่เป็นธรรมด้วยเหตุผลด้วยปัญญาย่อมจะประสบผลดีเกินคาด สำนวนที่น่าฟังที่สุดก็คือ “ธรรมะจะช่วยจัดสรรให้”

การที่พระมหาธรรมราชาตัดใจเสียสละลูก (พระนเรศวร) ให้ไปเป็นตัวจำนำอยู่ที่หงสาวดี กลับเป็นคุณประโยชน์อเนกประสงค์ต่อชาติไทย เท่ากับส่งพระนเรศวรไปศึกษาการทหารและการปกครองในต่างประเทศถึง 6 ปี ทำให้รู้เขา-รู้เรา ได้ความรู้เท่าเทียมพม่า เป็นทุนให้กลับมากอบกู้เอกราชได้สำเร็จอย่างงดงาม เท่ากับส่งพระนเรศวรไปเพื่อความเป็นมหาราชนั่นเอง

มาดูการเสียสละลูกแบบพระเวสสันดร อีกสักตัวอย่างหนึ่ง คราวนี้ใกล้ชิดกับงานสร้างสันติสุขให้แก่โลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นก็คือ ผลงานของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงสร้างอารยธรรมและวัฒนธรรมให้แก่อินเดียและแก่โลก ด้วยการเผยแผ่พระพุทธธรรมให้เป็นดวงประทีปทั้งในอินเดียและต่างประเทศรวมทั้งเมืองไทยเราด้วย

ผลงานที่เกริกเกียรติของพระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้แก่ การทรงบำเพ็ญบุตรทาน สละพระราชโอรส นามว่า พระมหินทราชกุมาร ให้ออกบวชเป็นพระภิกษุ และบริจาคพระราชธิดาพระนามว่า สังฆมิตตาราชกุมารี ให้ออกบวชเป็นภิกษุณี แล้วยังทรงเสียสละให้ลูกทั้งสองออกไปทำงานสถาปนาพระพุทธศาสนาอยู่จำพรรษายังประเทศศรีลังกาอีกด้วย

ท่านผู้อ่านที่รัก โปรดอย่าด่วน ซ.6.ฑ.เอาง่ายๆว่า สิ่งที่เราทำไม่ได้เหลือวิสัยแล้ว คนอื่นก็ต้องทำไม่ได้ ถ้าบังเอิญมีคนเขาทำได้ ก็มิใช่ว่าเขาจะเป็นคนปัญญาอ่อนหรอก ตรงกันข้าม เขาผู้นั้นเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่โลกต้องบูชาตลอดกาลต่างหาก

 

ข้อมูลสื่อ

98-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน