• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดเจ็บจากปืน – โรคระบาดชนิดใหม่ของเด็ก

บาดเจ็บจากปืน – โรคระบาดชนิดใหม่ของเด็ก

เด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืน ไม่ได้เกิดเฉพาะแต่ตัวเด็กที่บาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังทำความเดือดร้อนไปถึงครอบครัวและสังคม และหากเกิดความพิการขึ้นแล้ว ปัญหาทางกายและจิตใจอันเนื่องจากความพิการนั้นก็จะเกิดตามมา

ผลกระทบจากการที่เด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืน ไม่ได้เกิดเฉพาะแต่ตัวเด็กที่บาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังทำความเดือดร้อนไปถึงครอบครัวและสังคม และหากเกิดความพิการขึ้นแล้ว ปัญหาทางกายและจิตใจอันเนื่องจากความพิการนั้นก็จะเกิดตามมา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การบาดเจ็บจากอาวุธปืนเป็นปัญหาทางแพทย์ของชุมชนในเมืองเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง

เมื่อเร็วๆ นี้มีการศึกษาในต่างประเทศ เรื่องเด็กบาดเจ็บจากอาวุธปืนถึง 3 บทความ แสดงว่าปัญหานี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปี การศึกษาเหล่านั้นรวมเด็กอายุถึง 16 ปี เพราะมุ่งไปยังวัยรุ่นที่รวมตัวเป็นกลุ่มวายร้ายอันธพาล ก่อความวุ่นวาย โดยการยิงต่อสู้กัน มีบทความของ Heins และคณะเท่านั้นที่กล่าวถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี Ordog และคณะจากศูนย์การแพทย์คิงส์/ดรู มหาวิทยาลัยยู.ซี.แอล.เอ. ในสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาถึงเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนชนิดที่ไม่ได้เจตนาหรือเด็กถูกทอดทิ้งละเลย หรือมีการทารุณโหดร้าย เพื่อหาปัจจัยเกี่ยวกับระบาดวิทยา และสังคมวิทยาอันเป็นแนวทางนำไปสู่การป้องกัน

โดยการศึกษาจากเวชระเบียนที่ลงรหัสโรคตามระบบนานาชาติในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2517 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ.2531 รายละเอียดเกี่ยวกับระบาดวิทยาและสังคมวิทยาได้รวบรวมจากโทรศัพท์และจดหมายโดยตรง นอกจากนั้นแล้วยังมีหน่วย Scan ช่วยสัมภาษณ์ด้วย ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กถูกทารุณโหดร้าย หรือถูกทอดทิ้ง ผลปรากฏว่า ในบริเวณรอบๆ โรงพยาบาล ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่กว่า 100 ตารางไมล์ พลเมือง 2 ล้านคน เมื่อค้นเวชระเบียน ปี พ.ศ.2517-2523 พบว่า ไม่มีเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนเลย

ตั้งแต่ พ.ศ.2523 มีเด็กจำนวน 34 คน มารับการรักษาเรื่องบาดเจ็บจากอาวุธปืน ทุกคนอายุต่ำกว่า 9 ปี โดยมีอายุเฉลี่ย 5.7 ปี เพศหญิงกับชายพอๆกัน ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำเชื้อสายสเปน เพราะบริเวณโรงพยาบาลมีชนกลุ่มดังกล่าวอยู่มาก ชนิดของอาวุธปืนมีต่างๆ กัน มีทั้ง .38 .22 M-16 ก็มี ผู้ยิงมีกลุ่มวายร้าย พี่น้องยิงกันเอง (อุบัติเหตุ) ปู่ ย่า เพื่อน พ่อ นักปล้น เพื่อนบ้าน และพวกซุ่มยิง อัตราตายถึงร้อยละ 9 เทียบกับการศึกษาในเด็กโตซึ่งตายเพียงร้อยละ 3 คล้ายๆ กับผู้ใหญ่ (ตายระหว่างร้อยละ 0-3) ในจำนวนเด็ก 31 คนที่รอดชีวิต ร้อยละ 40 มีกระสุนคาอยู่ และอยู่โรงพยาบาลเฉลี่ยนาน 11 วัน อวัยวะที่โดนยิงส่วนใหญ่เป็นศีรษะ นอกนั้นที่หน้าอก คอ ท้อง แขน ขา และลูกตา

มีเด็ก 10 รายเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวคือ 3 คนมีสมองพิการต้องอยู่โรงพยาบาลตลอด 1 คนมีลำไส้อุดตันเป็นๆ หายๆ 2 คนต้องผ่าตัดเอาลำไส้ออกหน้าท้อง (ท่ออุจจาระออก) และตาบอด 1 ข้าง 2 คนต้องตัดนิ้วมือ 1 คนมือตกจากเส้นประสาทเรเดียลถูกทำลาย และอีก 1 คน เป็นฝีบ่อยๆ ต้องผ่าออกอยู่เรื่อยๆ

สาเหตุที่ยิงส่วนใหญ่เกิดจากเหตุที่เล่นปืน การทะเลาะวิวาทในครอบครัวตั้งใจจะยิงอีกคนแต่พลาดไปถูกเด็กก็มี กลุ่มวายร้ายก่อความวุ่นวายทำให้เด็กๆ พลอยโดนลูกหลง และพวกโจรปล้นทรัพย์ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า

1. เกิดขึ้นโดยไม่เจตนา

2. เด็กถูกทอดทิ้งปล่อยปละละเลย

3. เด็กถูกทารุณโหดร้าย

4. จากพยายามฆาตกรรมโดยเจตนา

ควรจะหาทางลดโดยไม่ให้มีอาวุธปืนไว้ในบ้าน และดูแลเด็กให้ดี ไม่ทอดทิ้ง หรือปล่อยปละละเลยเด็ก และสิ่งที่จำเป็นคือการให้ความรู้ประชาชนเรื่องอันตรายจากอาวุธปืน การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจช่วยลดโรค “ทำลาย” ชนิดนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกวายร้าย โจรปล้นจี้ ควรที่จะได้ปราบปราม เด็กซึ่งได้รับผลพวงจากอาวุธปืนพวกนี้จะลดน้อยลงทีเดียว

(จาก Ordog GJ, Wasserberger J, Schatg I, et al. Gun shot wounds in children under 10 years of age a new epidemic. AJDC 1988:142:618-622.)

ข้อมูลสื่อ

122-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 122
มิถุนายน 2532
นพ.อำนาจ บาลี