• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โลกที่สามสูบบุหรี่มากกว่าผลิตประชากร

ชาวแอฟริกันสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 41.5 % ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นเพียง 23.4% ... และองค์การอนามัยโลกประกาศเตือนประชาชนในโลกที่สามให้ระวังภัยจากบุหรี่ โดยเฉพาะมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ

แม้ว่าผู้สูบบุหรี่แต่ละรายในประเทศอุตสาหกรรม จะมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าในประเทศกำลังพัฒนา แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เราพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในโลกที่สามได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าล้ำหน้าการขยายตัวของจำนวนประชากรเลยทีเดียว

จากการวิเคราะห์เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของประชากรในวัยผู้ใหญ่ระหว่างปี พ.ศ.2523 - 2525 ประมาณการได้ว่า ผู้สูบบุหรี่ที่อายุมากกว่า 15 ปีในประเทศอุตสาหกรรม สูบบุหรี่ถึงปีละ 2,000-3,500 มวนต่อคน ในขณะที่คนในประเทศโลกที่สามสูบปีละ 2,000 มวน

การวิเคราะห์ดังกล่าวนี้อาศัยข้อมูลจากการผลิตใบยาสูบ การนำเข้าและส่งออก โดยยังไม่ได้รวมถึงการผลิตบุหรี่แบบที่ชาวบ้านในประเทศโลกที่สามนิยมมวนกันเองเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน

หนังสือสถิติอนามัยโลกประจำปี พ.ศ.2529 ขององค์การอนามัยโลก ได้เสนอทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า “มีความเป็นไปได้ที่อันตรายจากการสูบบุหรี่ในประเทศกำลังพัฒนานั้น มีมากกว่าตัวบ่งชี้ของการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว” เมื่อเปรียบเทียบการขยายตัวของการสูบบุหรี่กับการขยายตัวของจำนวนประชากรในวัยผู้ใหญ่ ก็จะเห็นว่า อุบัติการณ์การสูบบุหรี่ในยุโรปกำลังลดลง ส่วนในประเทศพัฒนาแล้วนอกเหนือจากยุโรปไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่การสูบบุหรี่ในประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศกลับสูงขึ้น

ในระหว่างปี พ.ศ. 2514 - 2524 ทั่วทั้งยุโรปมีจำนวนตัวเลขของจำนวนบุหรี่ที่สูบสูงขึ้นคิดเป็น 5.3% ขณะที่อัตราการขยายตัวของประชากรในวัยผู้ใหญ่เท่ากับ 9.8% ในเวลาเดียวกัน ประเทศพัฒนาทางอุตสาหกรรมนอกเหนือจากยุโรปคือ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกามีจำนวนบุหรี่ที่สูบสูงขึ้นคิดเป็น 13.6% ขณะที่จำนวนประชากรในวัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 12.9% หนังสือขององค์การอนามัยโลกดังกล่าว ได้กล่าวด้วยว่า “เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมีอุบัติการณ์การสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นมากที่สุด”

จำนวนบุหรี่ที่คนในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกสูบกัน สูงกว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในประเทศเหล่านี้ ในทวีปแอฟริกาจำนวนบุหรี่ที่ชาวแอฟริกันสูบคิดเป็น 2 เท่าของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ ชาวแอฟริกันสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 41.5% ขณะที่ประชากรแอฟริกันเพิ่มขึ้นเพียง 23.4%

ส่วนประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา มีจำนวนบุหรี่ที่สูบเพิ่มขึ้น 31.4% และประเทศในเอเชียมีจำนวนบุหรี่ที่สูบเพิ่มขึ้น 28.5% ซึ่งล้วนเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราเพิ่มของจำนวนประชากรในวัยผู้ใหญ่ของทั้งสองทวีป ซึ่งมีเพียง 24.5% 21.8% ตามลำดับ

พร้อมๆกับการชี้ว่า อุตสาหกรรมยาสูบของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่กำลังขยายตัวโดยไม่มีการจำกัดขอบเขต องค์การอนามัยโลกก็เตือนให้ประชาชนในโลกที่สามระวังภัยจากการระบาดของโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน
จาก “Cigarettes smocked Outstrip Population Growth” , World Health, March 1987.
 

 


 

ข้อมูลสื่อ

99-003-3
นิตยสารหมอชาวบ้าน 99
กรกฎาคม 2530
พีระพล เวชพงศา