• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์ตะวันตกในศตวรรษที่ 20

การแพทย์ตะวันตกในศตวรรษที่ 20

จากจุดเปลี่ยนของการแพทย์ตะวันตกในศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งมีการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์และมีการพัฒนาของวิชาเคมีเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 18-19 วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาไปสู่ยุคเซลล์วิทยาและและจุลินทรีย์วิทยา อย่างไรก็ตาม วิธีการศึกษาก็ยังคงเป็นแบบเจาะลึก ไม่สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้

ในศตวรรษที่ 20 การแพทย์ตะวันตกได้แยกสาขาย่อยออกไปอีก การมองปัญหาก็เริ่มมีลักษณะผสานระหว่างจุลภาคและมหภาค ซึ่งพอจะสรุปถึงลักษณะเด่นๆ ของการแพทย์ในศตวรรษนี้ได้ ดังนี้

1. เริ่มศึกษาการเคลื่อนไหวภายในของชีวิตโดยการเจาะลึกในระดับจุลภาค

การศึกษาของการแพทย์ตะวันตกในระยะต้นสามารถเจาะลึกลงไปเพียงระดับเซลล์ แต่การเรียนรู้ถึงกระบวนการเคลื่อนไหวภายในของชีวิตในระดับเซลล์ยังไม่เพียงพอ ในยุคนี้จึงมีการศึกษาลึกลงไปถึงโครงสร้างภายในของเซลล์ ปฏิกิริยาเคมีและกฎเกณฑ์การเคลื่อนไหวทางสรีรวิทยาภายในเซลล์ อันเป็นที่มาของการค้นพบฮอร์โมน การได้เรียนรู้ถึงบทบาทของฮอร์โมนในการปรับสมดุลในร่างกาย การค้นพบสารดีเอ็นเอ (DNA) ที่มีผลต่อการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เป็นต้น การค้นพบสิ่งต่างๆ ดังกล่าวทำให้การแพทย์ตะวันตกเข้าใจการเคลื่อนไหวภายในของชีวิตอย่างเจาะลึกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

2. การแบ่งเป็นสาขาวิชาย่อยๆ กับการเห็นถึงความสันพันธ์ระหว่างกัน

การเคลื่อนไหวของชีวิตนั้นมีรูปแบบหลายๆ อย่าง คือ ทางฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ซึ่งจะรวมเป็นการเคลื่อนไหวแบบองค์รวมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและเป็นเอกภาพในตัวมันเอง

แต่ในการศึกษาการเคลื่อนไหวของชีวิตนั้น การแพทย์ตะวันตกจะเริ่มต้นจากปรากฏการณ์ด้านใดด้านหนึ่งหรือเฉพาะส่วนเท่านั้น องค์ความรู้จึงมีการแตกเป็นสาขาต่างๆตามพื้นฐานและการปฏิบัติทางคลินิกที่แตกต่างกัน และเมื่อศึกษาลึกยิ่งขึ้นก็จะแบ่งเป็นสาขาวิชาย่อยๆ มากขึ้น เช่น วิชากายวิภาคศาสตร์ได้แตกสาขาออกไปเป็นวิชาเซลล์พยาธิวิทยา (cytophathology) ในปลายศตวรรษที่ 19 เป็นวิชาพยาธิสรีรวิทยา (pathophysiology) ในต้นศตวรรษที่ 20 และในกลางศตวรรษที่ 20 ได้แตกเป็นวิชาภูมิคุ้มกันพยาธิวิทยา (immunophathology) และพันธุกรรมพยาธิวิทยา (genetic phathology) เป็นต้น

นอกจากนี้มีการค้นพบวิตามินต่างๆ เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เป็นโรคขาดอาหาร มีการค้นพบกรดอะมิโนเพราะมีการศึกษาถึงความสมดุลของโปรตีนที่กินเข้าไปกับที่ขับออกมา หรือการขาดความสมดุลของพลังความร้อนในร่างกายทำให้ค้นพบกรดไขมัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดวิชาโภชนศาสตร์ ซึ่งแยกออกมาจากวิชาชีวเคมี ในขณะที่วิชาชีวเคมีก็ได้ศึกษาไปถึงระดับโมเลกุล ซึ่งศึกษาการเคลื่อนไหวของชีวิตในระดับโครงสร้างการทำงาน การเจริญเติบโต การแยก การสลาย การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เป็นต้น

แม้การแพทย์ตะวันตกจะได้ศึกษาเจาะลึกแบบจุลภาคซึ่งนับวันจะละเอียดยิ่งขึ้น และทำให้กลายเป็นการแพทย์ที่ซับซ้อนขึ้น แต่เริ่มมีการให้ความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ของโรคกับกระบวนการของชีวิตมากขึ้น ในกลางศตวรรษที่ 20 มีการค้นพบฮอร์โมนที่หลั่งมาจากต่อมไฮโพทาลามัส และพบว่าฮอร์โมนนี้มีผลต่อเนื่องไปยังต่อมไร้ท่ออื่นๆ ในร่างกาย การค้นพบดังกล่าวทำให้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างส่วนต่างๆ และทำให้มีการหันมาศึกษาในลักษณะผสมผสานระหว่างส่วนเฉพาะกับส่วนทั้งหมดมากยิ่งขึ้น เกิดทรรศนะผสานจุลภาคและมหภาคขึ้น

3. การผสมผสานระหว่างทฤษฎีพื้นฐานทางการแพทย์และการปฏิบัติทางคลินิกซึ่งพัฒนาไปสู่การแพทย์ทฤษฎี (theoretical medicine)
การพัฒนาของการแพทย์ตะวันตกนั้นโดยธาตุแท้แล้วเป็นการพัฒนาของวิชาพื้นฐานทางการแพทย์ (preclinical medicine) เมื่อมีการศึกษาเจาะลึกในรายละเอียดมากขึ้น สามารถอธิบายเหตุแห่งโรคและการรักษาได้ระดับหนึ่งซึ่งไปมีผลในการยกระดับวิชาการแพทย์คลินิก (clinical medicine) ลักษณะดังกล่าวทำให้การแพทย์ตะวันตกกลายเป็นการแพทย์แบบทดลอง (experimental medicine) ซึ่งต่างจากการแพทย์แบบอาศัยการสังเกตและความชำนาญ (empiricism) ในอดีต ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นอกจากจะมีแนวโน้มของการผสมผสานระหว่างทรรศนะแบบจุลภาคและมหภาค การมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ แล้ว วิชาการแพทย์พื้นฐานและการปฏิบัติทางคลินิก ก็เริ่มผสมผสานกันโดยตรงยิ่งขึ้น และพัฒนาไปสู่การแพทย์ทฤษฎี

แต่อย่างไรก็ตาม การแพทย์ทางคลินิกก็ยังเป็นในเชิงสถิติและเปรียบเทียบผลการรักษาการป่วยต่างๆ ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระดับการวิเคราะห์ปรากฏการณ์เท่านั้น วิวัฒนาการของการแพทย์ตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ซึ่งมองปัญหาด้านเดียวโดยเข้าใจว่า โรคเกิดจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบต่อร่างกาย จวบจนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 ที่มีการพัฒนาของวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา และการพัฒนาของกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายมากขึ้น ได้ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย การผสมผสานของการมองปัญหาแบบจุลภาคและมหภาคได้เริ่มแตกหน่อขึ้น อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาการแพทย์ให้มีคุณภาพใหม่ในอนาคต

ข้อมูลสื่อ

122-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 122
มิถุนายน 2532
วิทิต วัณนาวิบูล