• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยชีวิตผู้ป่วยจากหลอดลมอุดตัน

การช่วยชีวิตผู้ป่วยจากหลอดลมอุดตัน

กลางปี พ.ศ.2531 มีข่าวลงหนังสือพิมพ์หน้า 1 ว่า เด็กนักเรียนชั้นประถม ลูกชิ้นติดคอต่อหน้าบิดา และถึงแก่กรรมขณะนำส่งโรงพยาบาล... การหายใจมีความสำคัญมากต่อชีวิต หากทางเดินหายใจถูกอุดตันอย่างสมบูรณ์ อาจถึงแก่ความตายหรือสมองพิการอย่างถาวรภายใน 4 นาที สำหรับผู้ที่มีออกซิเจนในเลือดน้อยกว่าปกติ เช่น เป็นโรคปอด หรือโรคหัวใจเรื้อรัง เวลาที่จะช่วยชีวิตได้อาจมีน้อยกว่านี้

การอุดตันของหลอดลมอันมีสาเหตุมาจากสิ่งแปลกปลอม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ฟันปลอม ของเล่น หรืออื่นๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และเนื่องจากมีเวลาจำกัด การพยายามพาผู้ประสบเคราะห์ร้ายส่งแพทย์จึงดูเหมือนไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง ประชาชนทุกคนจึงควรทราบวิธีแก้ไขเหตุฉุกเฉินดังกล่าวอย่างถูกต้อง ในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตด้วยทางเดินหายใจอุดตันถึง 3,000 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ นายแพทย์เฮนรี่ ไฮม์ลิชได้ตระหนักถึงความสำคัญของอุบัติเหตุชนิดนี้ จึงคิดวิธีช่วยชีวิตนี้ขึ้น ซึ่งได้รับการทดลองพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับของคณะกรรมาธิการการให้บริการทางแพทย์สำหรับเหตุฉุกเฉินแห่งสภาแพทย์อเมริกันแล้ว

จากการช่วยเผยแพร่ความรู้โดยหนังสือพิมพ์ มีรายงานผู้ได้รับการช่วยชีวิตแล้วมากกว่า 3,000 ราย
หลักการง่าย ใครก็ทำได้ เป็นที่ทราบดีว่าในปอดของคนเรามีอากาศเหลืออยู่เสมอแม้ภายหลังหายใจออกแล้วก็ตาม ดังนั้น หากมีแรงดันที่มากพอขึ้นมากระแทกที่กะบังลมหรือฐานของปอด ก็จะสามารถไล่อากาศบางส่วนนั้น ให้ช่วยดันสิ่งแปลกปลอมในหลอดลมหลุดออกมาได้ (ภาพที่ 1)

ผู้ที่เข้าใจหลักการและทราบวิธีการแล้ว ย่อมสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเคยฝึกหัดมาก่อน ดังเช่นแม่คนหนึ่งสามารถช่วยชีวิตลูกชายวัย 9 เดือนได้ เพียงแค่เคยอ่านวิธีปฏิบัติในนิตยสารสำหรับสตรีเพียงครั้งเดียว และชายตาบอดคนหนึ่ง ซึ่งแค่เคยฟังเกี่ยวกับวิธีนี้เท่านั้นก็สามารถช่วยชีวิตภรรยาตนเองได้ทันท่วงทีเมื่อคนที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวถึงอาการของภรรยาที่เกิดขึ้นต่อหน้าให้ทราบ

อาการของภาวะหลอดลมอุดตัน

อาการที่ผู้ป่วยภาวะหลอดลมอุดตัน จะแสดงออกให้เห็นคือพูดไม่ออก หายใจไม่ออกอย่างกะทันหัน ริมฝีปากและใบหน้าม่วงคล้ำ และหมดสติอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการให้เห็นว่ามีอะไรติดคอ โดยยกมือจับที่บริเวณคอ จากสถิติการตรวจศพของผู้เสียชีวิตในร้านอาหาร 56 ราย พบว่า 55 รายตายจากหลอดลมถูกอุดตัน มีเพียง 1 รายที่ตายจากโรคหัวใจ และเนื่องจากโรคหัวใจมักเป็นในคนสูงอายุ ดังนั้น ถ้าพบคนอายุต่ำกว่า 30 ปีมีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกินอาหาร น่าจะนึกถึงภาวะนี้ก่อนโรคอื่น และลงมือช่วยชีวิตได้ทันที

วิธีปฏิบัติ

ผู้ช่วยเหลือยืนด้านหลังของผู้ป่วย กำมือข้างหนึ่ง วางด้านนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของกำปั้น (ภาพที่ 2) ลงบนหน้าท้องของผู้ป่วย เหนือสะดือเพียงเล็กน้อย แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งอุ้มกำปั้นไว้ กระแทกมือขึ้นสู่ทิศทางของกะบังลมอย่างรวดเร็ว และแรง (ภาพที่ 1)

การช่วยชีวิตสามารถทำได้ทั้งในท่ายืน (ภาพที่ 3) ท่านั่ง (ภาพที่ 4) และท่านอน (ภาพที่ 5) โดยเฉพาะเด็กซึ่งตัวเตี้ยและมีแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่จะทำได้ง่ายในท่านอน (ศีรษะตรง) โดยใช้น้ำหนักตัวช่วย (โปรดสังเกตการวางมือแทนกำปั้น) นอกจากนี้ยังมีท่าที่ใช้ช่วยตัวเองได้ด้วย (ภาพที่ 6)

สำหรับเด็กเล็ก การช่วยเหลือให้ใช้เพียงปลายนิ้วมือกดกระแทก (ภาพที่ 7) หากช่วยได้ผล สิ่งแปลกปลอมอาจพุ่งกระเด็นออกจากปากโดยแรง แต่บางครั้งอาจหลุดขึ้นมาค้างอยู่ในปาก ต้องใช้นิ้วช่วยเขี่ยออกมา

ถ้าการช่วยครั้งแรกไม่ได้ผลอาจต้องทำซ้ำถึง 6 ครั้งก็ได้ แต่ละครั้งควรทำอย่างหนักแน่นและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่กระแทกเบาๆ ถี่ๆ หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การช่วยชีวิตผู้ป่วยจากหลอดลมถูกอุดตันไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทุกราย จากการวิเคราะห์พบว่า ความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ใน 3 กรณี คือ

1. ทำไม่ถูกวิธี

2. สิ่งแปลกปลอมอุดแน่นเกินไป

3. สิ่งแปลกปลอมมีมาก และกระจายอุดหลอดลมหลายแห่ง

อาการแทรกซ้อน

อาการแทรกซ้อนจะพบได้น้อยมาก ที่เคยมีรายงาน ได้แก่ อาเจียนหรือเจ็บหน้าท้องซึ่งไม่รุนแรง ซี่โครงหัก และมีกระเพาะอาหารแตก 1 ราย ซึ่งได้รับการผ่าตัดอย่างปลอดภัย สันนิษฐานว่าเกิดจากการบีบรัดรอบชายโครงหรือท้องอย่างแรง ซึ่งเป็นท่าที่ไม่ถูกต้องแต่บังเอิญช่วยชีวิตได้

การช่วยชีวิตด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ล้วงคอ และตบหลังนั้น นอกจากจะไม่มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันประสิทธิภาพได้แล้ว ในบางกรณียังปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจะทำให้เป็นอันตรายมากขึ้น

ข้อเสนอแนะ

การสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมอุดหลอดลมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น ไม่พูดคุยหัวเราะเวลามีอาหารอยู่ในปาก ควรตัดอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ และเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ใส่ฟันปลอม และไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากก่อนหรือขณะกินอาหาร เพราะทำให้ขาดสติและสมองควบคุมอวัยวะไม่ได้เหมือนปกติ ต้องไม่ให้เด็กวิ่งเล่นขณะอมอาหารหรือขนมในปาก ควรมีผู้ดูแลใกล้ชิดขณะเด็กเล่นของเล่น รวมทั้งเก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบ เช่น ตะปู เหรียญ ของเล่นของเด็กโต ซึ่งเด็กเล็กอาจหยิบเข้าปากหรือจมูกได้

ควรมีการเผยแพร่ความรู้ด้านการป้องกันและวิธีการช่วยชีวิตผู้ป่วยจากหลอดลมถูกอุดตันให้ประชาชนทุกวัยและทุกอาชีพได้ทราบทางสื่อมวลชนต่างๆ ตามภัตตาคาร ร้านอาหาร และใช้วิธีบอกเล่ากันปากต่อปากด้วย ควรมีภาพแสดงวิธีทำท่าต่างๆ ติดตามฝาผนัง พร้อมคำอธิบายสั้นๆ รวมทั้งบรรจุไว้ในหลักสูตรการปฐมพยาบาลอย่างทั่วถึง เพื่อที่ทุกคนจะมีโอกาสรอดชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยวิธีการช่วยชีวิตจากหลอดลมถูกอุดตัน

(จาก Heimlich HJ, Uhley MH. The Heimlich Maneuver. Henry Clinic symposia. 1979;31:3)

 

ข้อมูลสื่อ

123-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
เรื่องน่ารู้
นพ.มนต์ชัย ไชยพร